Skip to main content

เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2558 นายศิโรฒ แวปาโอะ ประธานเครือข่ายแก้ปัญหาที่ดินบูโด-สุไหงปาดี เปิดเผยถึงการแก้ไขปัญหาที่ดินอุทยานฯ ทับซ้อนที่ดินชาวบ้านรอบเทือกเขาบูโดว่า คณะกรรมการและคณะทำงานประสานงานการแก้ปัญหาที่ดินในพื้นที่อุทยานแห่งชาติบูโด-สุไหงปาดี กำลังเร่งดำเนินการตรวจสอบเอกสารสิทธิ์ตามมติคณะรัฐมนตรี 14 ตุลาคม 2551 โดยมอบหมายให้สำนักงานที่ดินแต่ละอำเภอเป็นหน่วยงานหลัก โดยเฉพาะผู้ถือครอง สค.1 ให้นำเอกสารมาตรวจสอบเพื่อรับรองสิทธิ์ ส่วนกรณีเอกสารสูญหายหรือถูกยึดคืน สามารถไปตรวจสอบข้อมูลจากต้นขั้วของสำนักงานที่ดินอำเภอ เพื่อออกเอกสารฉบับใหม่ ซึ่งกำลังดำเนินการในพื้นที่ 3 อำเภอ ได้แก่ อำเภอบาเจาะ อำเภอยี่งอ จังหวัดนราธิวาส และอำเภอกะพ้อ จังหวัดปัตตานี รวมทั้งจะเริ่มในพื้นที่ อำเภอสุไหงปาดี และอำเภอรือเสาะ จังหวัดนราธิวาสต่อไป

นายศิโรฒกล่าวว่า ขณะนี้ปรากฏว่ามีผู้ที่ตรวจสอบเอกสารสิทธิ์เสร็จสิ้นแล้ว 8 ราย และได้ทยอยยื่นขอทุนจากสำนักงานกองทุนสงเคราะห์ต้นยาง ที่ชาวบ้านจะมีการโค่นต้นยางเก่าและปลูกทดแทนตามข้อตกลงที่ตัดไม่เกินร้อยละ 4 เพื่อไม่ให้กระทบต่อสิ่งแวดล้อม ส่วนกรณีที่ดินที่ชาวบ้านครอบครองทำกินมาก่อนเป็นอุทยานฯ แต่ไม่มีเอกสารสิทธิ์นั้น ยังไม่สามารถดำเนินการพิสูจน์สิทธิ์ได้ เนื่องจากกฤษฎีกาตีความว่าไม่สามารถอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติการบริหารราชการจังหวัดชายแดนใต้ พ.ศ.2553 มาตรา 9(4) ในการพิสูจน์สิทธิ์เพื่อให้เกิดการแก้ไขปัญหาที่รวดเร็ว เนื่องจากเกรงว่าจะมีความสับสนกับอำนาจของหน่วยงานในพื้นที่

ประธานเครือข่ายฯ กล่าวว่า ดังนั้นจึงต้องมีการหารือร่วมกันว่าจะดำเนินการอย่างไร เพื่อนำไปสู่การคืนสิทธิ์ให้แก่ชาวบ้าน ซึ่งความต้องการของชาวบ้านคืออยากให้การตรวจสอบสิทธิ์มีความชัดเจนและเสร็จสิ้นโดยเร็ว และให้รัฐบาลออกพระราชกฤษฎีกาเพิกถอนเขตอุทยานฯ และมีการกันเขตระหว่างที่ดินชาวบ้านและเขตอุทยานฯ ให้ชัดเจน

“หลังจากนี้เราจะไม่โทษใคร หรือมองว่าปัญหาอุปสรรคอยู่ตรงไหน เพราะได้สรุปร่วมกันแล้วเป็นแนวทางการแก้ปัญหา สิ่งสำคัญที่สุดคือต้องนำปัญหาทั้งหมดขึ้นมาคุยกันบนโต๊ะให้ชัดเจน เพื่อหาทางออกร่วมกัน และจะไม่กลับมาเป็นปัญหาอีกในอนาคต” นายศิโรฒ กล่าว

ด้านว่าที่ร้อยตรีจิรัสย์ ศิริวัลลภ นายอำเภอบาเจาะ จังหวัดนราธิวาส กล่าวว่า ระดับอำเภอกำลังเร่งดำเนินการตามแนวทางที่ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้(ศอ.บต.) ได้กำหนดแนวทางแก้ปัญหาร่วมกันชาวบ้านไว้ คือหากชาวบ้านมีเอกสารสิทธิ์โดยเฉพาะ สค.1 และมีชื่ออยู่ในเอกสารนั้นชัดเจน สามารถดำเนินการตัดโค่นยางหรือขอทุนสงเคราะห์ยางได้ทันที แต่ปัญหาคือเอกสารบางส่วนมีการเปลี่ยนมือหรือชื่อผู้ครอบครองได้เสียชีวิตไปแล้ว จึงจำเป็นต้องนำมาตรวจสอบกับสำเนาของสำนักงานที่ดินเพื่อพิสูจน์เอกสารและความถูกต้องของข้อมูล ซึ่งเป็นไปตามแนวทางที่ได้ตกลงร่วมกัน

นายอำเภอบาเจาะกล่าวว่า กรณีที่ดินที่ไม่มีเอกสารสิทธิ์ยืนยันนั้น ถือเป็นปัญหาที่เกินกว่าอำนาจของหน่วยงานระดับอำเภอ เนื่องจากจำเป็นต้องนำข้อมูลของชาวบ้านและข้อมูลของอุทยานฯ รวมทั้งแผนที่และภาพถ่ายทางอากาศมาหารือตกลงร่วมกัน ซึ่งสุดท้ายต้องเสนอให้รัฐบาลออกพระราชกฤษฎีกาเพิกถอนเขตอุทยานฯ ที่ต้องใช้เวลาอีกนานพอสมควร โดยตนมองว่าหากจะให้การแก้ปัญหาเป็นไปอย่างรวดเร็ว กรมอุทยานฯอาจจะมอบอำนาจให้ ศอ.บต.หรือผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้ดำเนินการ

ที่มา: http://transbordernews.in.th/home/?p=8412