โดย...อนุกูล อาแวปูเตะ ประธานศูนย์ทนายความมุสลิมประจำจังหวัดปัตตานี
ที่มา macmuslim.com
แม้จะยังไม่ได้เห็นรายละเอียดการทดสอบของคณะกรรมการทดสอบประสิทธิภาพเครื่องตรวจระเบิดจีที 200 เมื่อวันที่ 14 กพ.ที่ผ่านมาอย่างเต็มที่ แต่จากเงื่อนไขการทดสอบตามที่เป็นข่าว สำหรับหลายคนแล้วก็น่าจะมากพอและชวนให้เชื่อได้ว่า การทดสอบนั้นเป็นการดำเนินการตามหลักวิทยาศาสตร์ที่มีทั้งการทดสอบทางเคมีในห้องปฏิบัติการ และการทดสอบทางฟิสิกส์ทางภาคสนาม เป็นการทดสอบที่ประกอบไปด้วยหลักเหตุและผล มีเงื่อนไขที่มีที่อ้างอิง ซึ่งคณะกรรมการเองก็แสดงความเชื่อมั่นว่าจะอธิบายต่อสาธารณะได้ ทั้งนี้เพื่อจะสร้างความกระจ่างให้แก่สังคมในประเด็นอันเป็นข้อโต้แย้งและเป็นเรื่องที่จะส่งผลกระทบต่อคนในวงกว้าง
สำหรับคนในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ การทดสอบหนนี้ นอกจากจะตอบโจทก์ความกระหายใคร่รู้ของพวกเขาที่มีไม่ต่างไปจากผู้คนในที่อื่นๆแล้ว การทดสอบดังกล่าวยังมีส่วนช่วยสนับสนุนหลักการธรรมาภิบาลที่เปิดให้ทุกฝ่ายมีส่วนร่วมในกระบวนการตรวจสอบการใช้อำนาจของผู้มีหน้าที่อีกด้วย กล่าวคือในทางอ้อม กระบวนการทดสอบและการประกาศผลต่อสาธารณะจะมีส่วนช่วยสร้างความเชื่อมั่นในระบบการทำงานโดยรวมของรัฐไทยมากยิ่งขึ้น
ประเด็นที่พูดกันมากหลังจากที่ผลการทดสอบออกมาแล้วก็คือ กองทัพจะยังคงใช้เครื่องจีที 200 ในการปฏิบัติงานในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ต่อไปหรือไม่ ซึ่งจนถึงปัจจุบันภาพที่ออกมายังคงคลุมเครือ แม้ว่าตามข่าว นายกรัฐมนตรีในฐานะหัวหน้าคณะรัฐบาลจะยืนยันกับสื่อมวลชนว่าได้เสนอให้ระงับการจัดซื้อเพิ่มเติม แต่ผู้นำกองทัพกลับแถลงว่า แม้จะระงับการจัดซื้อเพิ่มเติม แต่การจะยุติการใช้งานคงจะเป็นเรื่องยากเพราะหาเครื่องมืออื่นมาทดแทนกันไม่ได้ ในสภาวะที่เจ้าหน้าที่จะต้องมีเครื่องมือเพื่อช่วยเหลือในการทำงาน อย่างน้อยที่สุดเครื่องจีที 200 ในสายตาของผู้รับผิดชอบในกองทัพเวลานี้ ก็คือเครื่องมือที่ยังพอจะใช้ได้ ที่สำคัญที่สุดพวกเขาบอกว่า ทหารชั้นปฏิบัติงานยังคงเชื่อมั่นในเครื่องมืออันนี้ว่ามีประสิทธิภาพ เป็นความเชื่อมั่นที่อาจจะอธิบายได้ยากต่อกลุ่มผู้ที่ดำเนินการทดสอบทางวิทยาศาสตร์ แต่ก็เป็นความเชื่อมั่นที่พวกเขากล้ายืนยัน ผู้นำทหารเสนอด้วยว่า ให้เจ้าหน้าที่ที่ดำเนินการทดสอบจีที 200 ไปชี้แจงทำความเข้าใจผลของการตรวจสอบต่อทหารในพื้นที่ ผมเองขอคาดเดาในทางที่ดีว่า ที่ผู้นำทหารเสนอเช่นนี้ ไม่ใช่เพื่อประชดประชันคณะกรรมการตรวจสอบแต่อย่างใด แต่เพื่อจะให้มีการผ่องถ่ายข้อมูลของการตรวจสอบไปให้กับทหารระดับปฏิบัติงานเพื่อให้พวกเขาได้รู้ได้เห็นและเชื่อมั่นต่อผลการทดสอบนั้นจริงๆ แทนที่ว่ากองทัพจะเป็นผู้ออกคำสั่งยกเลิกการใช้งานฉับพลันในขณะที่ทหารในระดับปฏิบัติยังคง “เชื่อมั่น” ในเครื่องมือตัวนี้อยู่
สิ่งที่น่าสนใจก็คือ ในการยืนยันว่าจะใช้หรือไม่ใช้จีที 200 ต่อไปอีกนั้น ทั้งทางรัฐบาลและกองทัพพยายามทำให้สาธารณะเชื่อว่า ที่ผ่านมา เครื่องมือตัวนี้ไม่ได้มีอิทธิพลในการ “บิด” ความยุติธรรมแต่อย่างใด กล่าวคือไม่ได้มีส่วนในการดำเนินคดีต่อจำเลยในคดีต่างๆที่ถั่งโถมกันเข้าไปหาชาวบ้านในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ร่วมหกร้อยคดีในเวลานี้ ด้านหนึ่งพล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ผู้บัญชาการทหารบกในการแถลงข่าวเมื่อวันที่ 15 กพ. ได้ระบุว่าไม่เคยมีการใช้ผลการตรวจสอบจากจีที 200 ไปใช้ในการดำเนินคดีในชั้นศาล และอีกสองสามวันถัดมา โฆษกรัฐบาล คุณปณิธาน วัฒนายากรก็ยืนยันกับผู้สื่อข่าวต่างประเทศที่สโมสรผู้สื่อข่าวต่างประเทศในกรุงเทพฯด้วยความคล้ายกัน
คำยืนยันเช่นนี้อาจทำให้สาธารณะเข้าใจผิดคิดว่า อันตรายของการใช้จีที 200 มีเพียงด้านเดียว นั่นคืออันตรายต่อผู้ใช้คือเจ้าหน้าที่เองที่อาจเข้าใจผิด เช่นในยามที่เครื่องไม่ระบุว่ามีวัตถุระเบิดแต่ในความจริงกลับมี ทำให้ไม่อาจระมัดระวังป้องกันตัวได้ แท้ที่จริงแล้ว นี่ไม่ใช่อันตรายด้านเดียวของการใช้จีที 200 เพราะคนที่ได้รับผลกระทบจากการใช้เครื่องดังกล่าว และรับเข้าไปแล้วเต็มๆจากความเชื่อมั่นของเจ้าหน้าที่ที่ผ่านมา ก็คือชาวบ้านที่ติดคดีในพื้นที่สามจังหวัด แม้ว่าคดีของพวกเขาจะไม่ได้ตัดสินด้วยฐานของข้อมูลจากจีที 200 ทว่าผลทางอ้อมต่อการดำเนินคดีนั้นมากมายอย่างที่คาดไม่ถึง และเผลอๆอาจจะไม่น้อยหน้ากว่าการใช้ผลไปพิสูจน์ในชั้นศาลมากนัก
ในฐานะที่ผมทำงานให้ความช่วยเหลือผู้ที่ถูกดำเนินคดีความมั่นคงในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ผมยอมรับข้อเท็จจริงที่ว่าไม่ได้มีการใช้ผลจากการทำงานของเครื่องจีที 200 ไปพิสูจน์ความผิดหรือถูกของผู้ต้องหาหรือจำเลยในชั้นศาลโดยตรง แต่ผมเห็นว่า มีหลายคดีที่ผลจากการใช้เครื่องมือนี้ไปชี้ช่องเพื่อเปิดทางให้มีการนำตัวบุคคลเข้าสู่กระบวนการซักถาม อันนำไปสู่การดำเนินคดีทางอาญาในเวลาต่อมา และที่สำคัญ เจ้าหน้าที่ที่มีส่วนร่วมในกระบวนการซักถามอันนั้นได้รับอิทธิพลจากการใช้เครื่องจีที 200 ชี้นำทางความคิด และด้วยความเชื่อมั่นถึงความถูกต้องและ แม่นยำของเครื่อง แล้วแปรออกมาเป็นอารมณ์ต่อบุคคลที่ได้ถูกเครื่องมือนี้ชี้ไป โดยไม่ฟังเหตุผลของผู้ที่ถูกควบคุมตัวอย่างรอบด้าน
ผมจะขอยกตัวอย่างเหตุการณ์ระเบิดครั้งหนึ่งในจังหวัดปัตตานีเมื่อประมาณ ปี 2550 จุดสำคัญของเหตุการณ์นี้ที่ผมได้รับรู้ก็คือ หลังจากที่เกิดเหตุประมาณ 1 สัปดาห์ เจ้าหน้าที่ได้นำตัวบุคคลต้องสงสัย 3 คน ไปที่ฉก. หรือหน่วยเฉพาะกิจแห่งหนึ่งของทหารในเมืองปัตตานี หลังจากนั้นก็ได้ใช้เครื่องจีที 200 เข้าร่วมในการตรวจสอบ ซึ่งได้ผลสรุปว่าเจ้าหน้าที่ได้พบทั้งสารระเบิด อาวุธปืน และยาเสพติดในตัวบุคคลทั้งสามคน หลังจากนั้นบุคคลทั้งสามได้ถูกซ้อมเพื่อเป็นบีบบังคับให้รับสารภาพว่ามีส่วนก่อเหตุระเบิด ผลของการถูกซ้อม ทั้งสามคนยอมรับสารภาพ ต่อมาเจ้าหน้าที่ได้นำตัวบุคคลทั้งสามส่งต่อไปยังศูนย์ซักถามคือที่ศูนย์ปฏิบัติการตำรวจส่วนหน้าที่จังหวัดยะลา ทั้งสามคนถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจสอบสวนต่อ ถูกบังคับให้ไปชี้ที่เกิดเหตุตามคำรับสารภาพดังกล่าว และถูกดำเนินคดีในข้อหาร่วมกันวางระเบิด ก่อการร้าย และอื่น ๆ พวกเขาถูกคุมขังระหว่างการพิจารณาคดีนานเกือบ 2 ปี จนกระทั่งเมื่อประมาณปลายปี 2552 ศาลจังหวัดปัตตานีพิพากษายกฟ้องจำเลยทั้งหมด
ในการพิจารณาในชั้นศาลในคดีนี้ ไม่ปรากฏว่าได้มีการอ้างหลักฐานที่ได้จากการใช้เครื่องจีที 200 ไปเป็นพยานหลักฐานแต่อย่างใด เหตุผลเพราะว่าพยานของพนักงานอัยการที่อ้างในชั้นศาลส่วนใหญ่เป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจ คือมีตั้งแต่พนักงานสืบสวนสอบสวนของสถานีตำรวจอำเภอเมือง ปัตตานีกับอีกหลายๆคน แต่ไม่มีการอ้างอิงถึงเจ้าหน้าที่ทหารจากหน่วยเฉพาะกิจที่ได้ใช้เครื่อง จีที 200 ตรวจหาหลักฐานรวมทั้งที่ได้ซ้อมทรมานบุคคลทั้งสามดังกล่าวเพื่อให้ไปเป็นพยานในชั้นศาล พยานหลักฐานที่อัยการนำสืบในชั้นศาลส่วนใหญ่ก็คือคำรับสารภาพของทั้งสามคนที่ได้มาจากในช่วงที่ถูกสอบปากคำระหว่างที่อยู่ในการควบคุมตัวที่ศูนย์ปฏิบัติการตำรวจหรือศปก.ตร.ส่วนหน้ายะลา ซี่งข้อมูลที่ได้จากการสอบปากคำนี้ต่อมาศาลพิจารณาแล้วเห็นว่าไม่มีน้ำหนักพอจะสนับสนุนข้อกล่าวหานั่นเอง สิ่งที่น่าสนใจคือ แม้กระทั่งการสอบปากคำในชั้นที่ถูกควบคุมที่ ศปก.ตร ก็มีเค้าว่าได้รับอิทธิพลจากการสอบปากคำในชั้นของการควบคุมที่ ฉก.ของทหาร ในช่วงแรกอันเป็นผลของการทำงานของเจ้าหน้าที่ทหารผู้ใช้เครื่องจีที 200 ด้วยเหตุนี้หากพิจารณาตามท้องสำนวนจะไม่ปรากฏว่าใช้ จีที 200 ในการพิสูจน์ความผิดของจำเลยในคดี หากแต่อิทธิพลของ จีที 200 มีผลต่อความเชื่อมั่นของเจ้าหน้าที่ทหารว่าจำเลยทั้งสามคือผู้ก่อเหตุระเบิดจริง จึงได้ใช้อารมณ์กระทำต่อจำเลยทั้งสามอย่างเมามัน จนจำเลยทั้งสามต้องยอมรับสารภาพ ผลของการตรวจสอบที่ ฉก. ในครั้งแรก จึงเปรียบเสมือนผลไม้ที่เกิดจากต้นไม้ที่เป็นพิษ นั่นเอง
รายละเอียดจากผลการซักถามและการสอบปากคำในชั้นสอบสวนที่เจ้าหน้าที่นำไปเป็นหลักฐานในชั้นศาล คือความตอนหนึ่งที่ระบุว่า บุคคลที่ถูกจับกุมทั้งสามคนยอมรับว่าก่อนที่จะมีเหตุการณ์ระเบิด พวกเขาได้ติดต่อกันทางโทรศัพท์มือถือ โดยมีรายละเอียดตามหมายเลขโทรศัพท์ที่ใช้ติดต่อกันในเวลานั้นที่ระบุหมายเลขโทรศัพท์ที่ติดต่อระหว่างกัน วันและเวลาในการติดต่อกันไว้ชัดเจน นอกจากนี้ยังมีรายละเอียดเกี่ยวกับการติดต่อระหว่างจำเลยที่ 2 และที่ 3 แต่เมื่อตรวจสอบจากเครื่องโทรศัพท์ของจำเลยทั้งสามที่เจ้าหน้าที่ยึดได้ย้อนหลับ กลับปรากฏว่า ผลของการตรวจสอบหมายเลขโทรศัพท์ของจำเลยทั้งสามในเครื่องที่บันทึกไว้ไม่ตรงกับข้อมูลที่ได้จากการซักถาม คำถามก็คือว่า ระหว่างข้อเท็จจริงจากผลการซักถาม กับข้อเท็จจริงที่ได้จากการตรวจสอบการใช้เครื่องโทรศัพท์ย้อนหลัง อย่างไหนน่าเชื่อถือมากกว่ากัน หลักฐานเช่นนี้เจ้าหน้าที่เก็บมาได้อย่างไรโดยที่ไม่มีการตรวจสอบถึงความถูกต้องของข้อมูลการใช้โทรศัพท์ ลำพังคำรับสารภาพในชั้นซักถาม หรือชั้นสอบสวน ย่อมไม่มีน้ำหนักเพียงพออยู่แล้วหากไม่มีพยานหลักฐานอื่นประกอบ แต่นี่ผลของซักถามกลับมีความขัดแย้งกับข้อมูลของการใช้โทรศัพท์ระหว่างจำเลยด้วยกันเอง ลองพิจารณาดูว่ามันจะน่าเชื่อถือเพียงใด นี่เป็นข้อมูลส่วนหนึ่งที่พิสูจน์ถึงอิทธิพลของการใช้เครื่องจีที 200 ต่อวิธีคิดของเจ้าหน้าที่ในการทำคดีความมั่นคงในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้
นี่เป็นเพียงตัวอย่างเดียวที่ทำให้เห็นได้ว่า เครื่องจีที 200 แม้จะไม่ได้ให้ผลลัพท์ที่กลายไปเป็นพยานหลักฐานสำคัญในการดำเนินคดี แต่หากเจ้าหน้าที่ที่ใช้เชื่อมั่นอย่างไร้ข้อสงสัยจนแทบจะถึงขั้นบูชาเครื่องนี้ปานประหนึ่งว่ามันเป็นสิ่งมหัศจรรย์ ความเชื่อมั่นชนิดสุดกู่อันนั้นย่อมส่งผลต่อความรู้สึกของผู้ปฎิบัติงานให้คล้อยตามการชี้นำของเครื่องมืออย่างหมดหัวใจ ส่งผลกระเทือนต่อการทำงานของพวกเขา และผลกรรมก็จะตกอยู่กับบุคคลที่ถูกเครื่องจีทีชี้ตัวนั่นเอง
นอกจากกรณีนี้แล้ว ศูนย์ทนายความมุสลิมตระหนักว่า ยังมีตัวอย่างอีกมากอันเกี่ยวเนื่องมาจากการใช้เครื่องมือนี้ ซึ่งศูนย์กำลังรวบรวมข้อมูลเพื่อจะสรุปให้เห็นถึงผลกระทบจากการใช้เครื่องจีที 200 ที่มีต่อคนสามจังหวัด ทั้งนี้เพื่อจะได้เป็นอุทธาหรณ์แก่ผู้ที่ยังจะใช้เครื่องนี้ต่อไปในอนาคต เพราะว่าผลของมันจะเท่ากับเป็นการเริ่มก่อเค้าอคติให้มีขึ้นในใจของผู้ปฏิบัติงาน และเจ้าหน้าที่อาจหลงเพริดไปกับอคตินั้นจนหันไปคว้าเอาหลักฐานที่ไม่มีน้ำหนักมาใช้ในชั้นศาลเพื่อจะยืนยันความเชื่อของงตนเอง ดังนั้นจีที 200 จึงเป็นเครื่องมือที่นอกจากจะเป็นอันตรายกับผู้ใช้แล้ว ประชาชนทั่วไปในพื้นที่ก็ได้รับผลกระทบจากการใช้เครื่องนี้ด้วย และผลกระทบนั้นอาจจะไม่ได้น้อยหน้าไปกว่าการใช้หลักฐานจากผลการตรวจชี้ไปประกอบการพิจารณาคดีลงโทษพวกเขามากนัก