ยาสมิน ซัตตาร์
การเมืองตุรกีได้เดินทางมาถึงจุดที่น่าสนใจอีกครั้งหนึ่งภายหลังจากที่การเลือกตั้งประธานาธิบดีในเดือนสิงหาคมปีที่ผ่านมา ส่งผลให้อดีตนายกรัฐมนตรีเรเจบ ตอยยิบ แอรโดว์อาน ชนะการเลือกตั้งและกลายเป็นประธานาธิบดีของตุรกี ถัดจากนายอับดุลเลาะห์ กูล และมีนายอะห์มัด ดาวุดโอว์ลู เข้ามาเป็นนายกรัฐมนตรีแทน
เรเจบ ตอยยิบ แอรโดว์อาน
ในวันที่ 7 มิถุนายน 2015 นี้ การเลือกตั้งทั่วไปจะถูกจัดขึ้นอีกครั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 550 คนในชุดรัฐบาลชุดที่ 25 แทนที่ชุดเก่าที่ได้หมดวาระลง ซึ่งครั้งนี้ถือเป็นการเลือกตั้งทั่วไปครั้งที่ 24 ภายหลังจากตั้งเป็นสาธารณรัฐตุรกี การเลือกตั้งครั้งนี้จะมีวาระสี่ปี โดยระหว่างนี้จะไม่เกิดการเลือกตั้งใดๆ ไปจนถึงปี 2019
การเลือกตั้งครั้งนี้ถือเป็นอีกหนึ่งครั้งที่สำคัญ สำหรับพรรคยุติธรรมและพัฒนาหรือพรรคอัค (AK Party) รวมไปถึงอนาคตอิสลามการเมืองในตุรกี เนื่องจากจะเป็นการสร้างความชอบธรรมอย่างแท้จริงให้กับนายกรัฐมนตรีดาวุดโอว์ลูที่ได้ขึ้นตำแหน่งแทนประธานาธิบดีแอรโดว์อาน ครั้งนี้หากดาวุดโอว์ลูและพรรคอัคชนะการเลือกตั้งแล้วก็จะสามารถรักษาตำแหน่งและอำนาจทางการเมืองไว้ต่อเนื่อง หลังจากที่พรรคอัคได้ขึ้นมาเป็นรัฐบาลนับตั้งแต่ปี 2002 เป็นต้นมา ซึ่งนับได้ว่าเป็นการขึ้นมาของพรรคการเมืองแนวทางอิสลามในสังคมเซคิวล่าร์ของตุรกี นับตั้งแต่มุสตาฟา เคมาล อาตาเติร์ก ได้เปลี่ยนอาณาจักรออตโตมานให้กลายเป็นสาธารณรัฐตุรกี
อะห์มัด ดาวุดโอว์ลู
แม้ว่าในช่วงก่อนที่จะมาถึงการขึ้นสู่อำนาจของพรรคอัคจะมีการเคลื่อนไหวของอิสลามการเมืองในตุรกีมาอย่างต่อเนื่องแต่ก็ถูกขัดขวางตลอดมา กระทั่งเมื่อพรรคอัคได้เข้าสู่อำนาจการเมืองตุรกีก็ถูกมองว่าเป็นอีกแนวทางในการปฏิรูปอิสลามในประเทศ หากแต่แนวทางของพรรคอัคนั้นได้วางอยู่บนฐานของกรอบประชาธิปไตย และอาศัยอำนาจอันชอบธรรมจากการเลือกตั้ง แล้วค่อยๆเปิดพื้นที่ให้กับอัตลักษณ์ทางศาสนาที่ถูกปิดกั้น เช่น ในเรื่องการสวมฮิญาบ เป็นต้น รวมไปถึงการมีนโยบายในการเปิดพื้นที่ให้กับชาวเคิร์ดและดำเนินกระบวนการสันติภาพในพื้นที่
ส่วนด้านต่างประเทศ ก็เน้นนโยบายที่เป็นมิตรต่อประเทศมุสลิมและขยายอำนาจอ่อนในการสร้างภาพของความเป็นผู้นำประเทศมุสลิม ไม่ว่าจะเป็นการรับและสร้างที่พักพิงสำหรับผู้ลี้ภัยสงครามจากซีเรีย อิรัก หรืออียิปต์ ตลอดจนช่วยเหลือทางมนุษยธรรมให้กับประเทศที่อยู่ในภาวะสงครามและยากจน รวมถึงสร้างความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกับกลุ่มประเทศบอลข่านและกลุ่มประเทศเชื้อสายเติร์ก อย่างไรก็ดี แนวทางของพรรคอัคไม่ได้เน้นไปในรูปแบบอิสลามทั้งหมด การพัฒนาประเทศยังคงดำเนินคู่ขนานไป จนเศรษฐกิจและโครงสร้างสาธารณูปโภคในประเทศได้พัฒนาอย่างรวดเร็ว จึงเป็นอีกเหตุผลที่ทำให้แม้ว่ามีการวิพากษ์วิจารณ์ถึงแนวโน้มในการใช้อำนาจนิยมและเป็นพรรคที่ครอบครองอำนาจหลัก มาอย่างยาวนาน แต่ก็ยังคงได้รับการตอบรับจากประชาชนชาวตุรกีอย่างต่อเนื่อง
สำหรับการเลือกตั้งในครั้งนี้ อีกหนึ่งประเด็นวิจารณ์นั่น คือ ความพยายามในการเปลี่ยนระบบการเมืองการปกครองตุรกีไปสู่รูปแบบประธานาธิบดี ซึ่งได้ให้อำนาจประธานาธิบดีในการบริหาร แทนที่ระบบรัฐสภาที่กำลังเป็นอยู่ ซึ่งข้อวิพากษ์วิจารณ์ในประเด็นนี้ เนื่องจากว่า จะเป็นการถ่ายทอดและสร้างฐานอำนาจที่ต่อเนื่องให้กับแอรโดว์อาน จนอาจทำให้ตุรกีมีลักษณะคล้ายกับประเทศที่ใช้ระบบอำนาจนิยมในการปกครอง หากแต่ข้อดีของระบบประธานาธิบดี ก็จะทำให้มีการตัดสินใจที่ง่ายขึ้น และสร้างฐานอำนาจในการรองรับความพยายามของตุรกีในการเป็นหนึ่งในประเทศผู้นำในอนาคต
ขณะเดียวกันก็เพื่อรักษาฐานอำนาจของพรรคอัคและสายอิสลามิสต์ในประเทศตุรกีเอาไว้ เนื่องจากต้องยอมรับว่าแอรโดว์อานนั้นถือได้ว่าเป็นสัญลักษณ์ของผู้นำประเทศที่ได้รับการยอมรับค่อนข้างสูง หากต้องการคนมาแทนนั้นก็ยังคงหาได้ยาก แม้แต่ดาวุดโอว์ลูเองนั้นก็ยังถูกเปรียบเทียบในภาวะของความเป็นผู้นำ เนื่องจากบุคลิกของดาวุดโอว์ลูจะดูมีความอ่อนโยนและเป็นนักวิชาการมากกว่านักการเมือง
ขณะเดียวกัน ด้วยกับปัจจัยข้อวิพากษ์วิจารณ์ ในประเด็นการใช้อำนาจในการกำจัดกลุ่มที่เคลื่อนไหวเพื่อสร้างอำนาจซ้อนในประเทศ ก็เป็นอีกหนึ่งประเด็นที่อาจทำให้ฐานเสียงในครั้งนี้อาจลดลง รวมไปถึงการเคลื่อนไหวที่มากขึ้นของพรรคคู่แข่ง ไม่ว่าจะเป็นพรรคประชาชนรีพับลีกัน หรือ CHP ที่มีนายคิลินชฺโอว์ลูเป็นประธานพรรค เป็นพรรคฝ่ายค้าน ที่มีแนวคิดที่เน้นความเป็นเคมาลิสต์ ประชาธิปไตยเชิงสังคม ที่เน้นหนักไปทางอุดมการณ์ฝ่ายซ้าย
หรือ พรรคเคลื่อนไหวชาตินิยมหรือ MHP ที่มีนายบาห์เชลี เป็นหัวหน้าพรรค เป็นอีกหนึ่งพรรคที่มีแนวคิดแบบชาตินิยมแต่จะเป็นแนวทางของฝ่ายขวา ตลอดจนพรรคประชาชนประชาธิปไตย หรือ HDP ซึ่งเป็นพรรคฝ่ายซ้ายที่เน้นสนับสนุนชาวเคิร์ดในตุรกี ก็เริ่มมีบทบาทมากขึ้น พรรคแห่งความผาสุข หรือ SAADET ที่มีแนวคิดอิสลามมิสต์ เช่นเดียวกันกับพรรคอัคหากแต่พรรคอัคจะมีความเป็นสมัยใหม่และเน้นความเป็นกลางมากกว่า และพรรคอื่นๆ เล็กๆ ที่ยังคงมีอยู่ให้เห็น รวมถึงการลงสมัครแบบอิสระของผู้สมัครที่มาจากสายกุลเลนเดิมที่ไม่สังกัดพรรคการเมืองใดๆในครั้งนี้ ความหลากหลายของตัวเลือกจึงเป็นอีกหนึ่งข้อท้าทายของพรรคอัค
อย่างไรก็ดี การคาดการณ์จากหลายฝ่ายก็ยังคงเห็นตรงกันว่า ชัยชนะก็น่าจะยังคงเป็นของพรรคอัคแม้ว่าอาจจะมีอัตราส่วนของเสียงที่ได้รับน้อยลงจากการเลือกตั้งที่ผ่านมา แต่พรรคอัคเองก็จำเป็นที่จะต้องได้รับเลือกตั้งมากกว่า 330 ที่นั่งจึงจะมีสิทธิในการที่จะผลักดันในการแก้ไขรัฐธรรมนูญไปสู่การทำประชามติ หรือมากกว่า 367 ที่นั่งเพื่อที่จะเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญได้ผ่านคณะรัฐมนตรี[1]
(หากได้เพียง 276 ที่นั่งก็จะมีสิทธิในการจัดตั้งรัฐบาล) ขณะเดียวกันก็มีความเป็นไปได้สูงที่จะมีการตั้งรัฐบาลผสมขึ้น ด้วยกับตัวแทนที่มีความหลากหลายมากขึ้นนั่นเอง
ข้อท้าทายสำคัญอาจไม่ได้อยู่ที่การจะได้รับชัยชนะของพรรคอัค แต่อาจเป็นการดำเนินนโยบายที่จะไม่ให้เกิดอำนาจนิยมตามที่หลายฝ่ายกังวล และเช่นเดียวกันข้อท้าทายก็ยังอยู่ที่ปริมาณของเสียงที่จะได้รับ ซึ่งจะส่งผลต่อเป้าหมายการปรับรัฐธรรมนูญและระบบการปกครองของประเทศที่พรรคอัค มี จึงต้องติดตามต่อไปว่าผลของการเลือกตั้งครั้งนี้จะเป็นเช่นไร นักวิเคราะห์หลายท่านยังคงเห็นว่า การพลิกโผที่จะทำให้พรรคฝ่ายค้านและพรรคทางเลือกอื่นขึ้นมาสู่อำนาจนั้นยังมีความเป็นไปได้น้อย แต่หากเป็นไปจริงนั้น คงมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงตุรกีจากภาพที่กำลังเดินไปค่อนข้างสูงเลยทีเดียว โดยเฉพาะในประเด็นด้านความสัมพันธ์ต่อโลกมุสลิมที่ตุรกีกำลังถือบทบาทนำ อย่างไรก็ตามภายหลังจากการได้รับชัยชนะแล้ว วิธีการที่พรรคอัคจะจัดการกับเสียงวิจารณ์ที่เกิดขึ้นตลอดเวลาในการเมืองตุรกี โดยเฉพาะกับเรื่องปัญหาคอรัปชั่นและการใช้อำนาจที่เสี่ยงต่อการเป็นไปในรูปแบบเผด็จการก็ยังคงเป็นข้อท้าทายหลัก ที่จะส่งผลต่อระยะเวลาของอำนาจที่จะมีต่อไปด้วยเช่นกัน