Skip to main content

 

วิวาทะการทำหน้าที่ “สื่อมวลชนแบบไทย ไทย ที่ชายแดนใต้ ”

: กับการโต้ตอบของคนสามจังหวัด (ปรับปรุงล่าสุด)
                                                                                
 
 

 

 


                                                             
                                                                         
 
        นายอิสมาอีล เจ๊ะนิ (มะแอ)[1]
บทนำ
          คงเป็นความท้าทายไม่น้อยเมื่อจะหยิบคุย การทำหน้าที่สื่อมวลชนแบบไทย ไทย ที่ชายแดนใต้ กับการโต้ตอบของคนสามจังหวัด เพราะความที่สื่อมวลชนเองนั้นทุกคนต่างก็รับรู้ถึงพลังแห่งอำนาจ ผ่านบทบาทที่มีอิทธิพลต่อชีวิตมนุษย์สมัยใหม่มากขึ้นทุกขณะ แม้ใครจะมองเขาผ่านการทำหน้าที่อันทรงเดช ไร้ประสิทธิภาพ ไร้สมอง  ไร้อย่างคิด แต่อาจปฏิเสธไม่ได้คือ ความเป็นสื่อมวลชนที่ต้องทำหน้าที่กระจก ติดตาม ตรวจสอบ และสะท้อนสังคม ในประเทศอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้  เพราะการที่เราสามารถรับรู้เรื่องราวต่างๆ ที่เกิดขึ้นทั้งในประเทศ และต่างประเทศ ล้วนผ่านเจ้าตัวที่ชื่อว่าสื่อมวลชนแบบไทย ไทย[2] นั้นเอง แต่นั่นไม่ใช่ประเด็นที่คนสามจังหวัดร้อนรน และกลุ้มใจแต่ประการใด แต่คนสามจังหวัดร้อนรน และเฝ้ามองวิธีการทำหน้าที่สื่อมวลชนแบบไทย ไทย ต่างหากที่ทำให้คนสามจังหวัดต้องออกนอกหน้าวิวาทะกับการทำหน้าที่ดังกล่าว เป็นเพราะความเป็นคนสามจังหวัดที่ต้องกล้าตั้งคำถาม หาคำอรรถาธิบาย และแสวงหาหนทาง ภายใต้สภาวะที่สื่อมวลชนแบบไทย ไทย กำลังทำอยู่นั้น มันชวนให้คนสามจังหวัดอย่าง เราๆ ต้องกล้าถอดรหัส และสร้างความจริงท่ามกลางที่สื่อมวลชนแบบไทย ไทย ที่ชายแดนใต้ กำลังเป็นที่สนใจของสังคมพื้นที่แห่งนี้
&ฉบับที่ 1 ฉบับรู้ตัวตนแห่งชื่ออันยิ่งใหญ่ + สื่อมวลชนแบบไทย ไทย  = เนื้อแท้?
คนสามจังหวัด : สวัสดี….จิกโก๋ดื้อๆ มันคงคิดว่าสถานะแห่งชื่อและตำแหน่งแห่งที่ของเจ้านั้น จะชวนให้ใครหลายๆ คนเกรงใจ และอ่อนข้อ กระนั้นหรือ ความจริงการที่สื่อมวลชนแบบไทย ไทย พยายามประกาศตัวอะไรบางอย่างอยู่นั้น ก็ไม่ได้หมายความว่าคนสามจังหวัดอย่างเราๆ จะตัดโอกาสพิสูจน์ตัวตนก็หาไม่เพราะคนสามจังหวัดเข้าใจตลอดว่า การพิสูจน์ตัวตนแห่งชื่อนั้น เป็นขั้นตอนของการยืนยันความอยู่จริง จากสิ่งที่คุณมี  สิ่งที่คุณเป็นออกเช่นกัน แม้สื่อมวลชนแบบไทย ไทย จะแปรสภาพเป็นพลังหลักในการกำหนดว่าสังคมไทยคืออะไร และอะไรคือสังคมไทย อะไรจริง อะไรเท็จ อะไรสำคัญ ไม่สำคัญ ล้วนอยู่ในกำมือของสื่อมวลชนแบบไทย ไทย ก็ไม่ได้ทำให้คนสามจังหวัด จะไม่กล้าที่จะออกนอกหน้ามาวิวาทะ ตัวตนที่ชื่อ “สื่อมวลชนแบบไทย ไทย”เลย เพราะคนสามจังหวัดรู้ดีตลอดถึงเนื้อแท้ของสื่อมวลชนแบบไทย ไทยว่า แท้จริงตัวของมันเองก็ถูกอิทธิพลภายใต้เจ้าจักรวรรดิสื่อครอบโลกออกเช่นกัน
จากการศึกษาระบบการสื่อสารมวลชนทั่วโลก ศาสตราจารย์เจเรมี ทันสตอลล์ (Jeremy Tunstall) ยืนยันว่า การสื่อสารมวลชนในโลกล้วนถูกครอบงำโดยอเมริกาอย่างโจ่งแจ้ง ทั้งทางด้านเทคโนโลยี เนื้อหา การศึกษา และอุดมการณ์ทางวิชาชีพ แม้กระทั่งระบบการสื่อสารมวลชนที่ก่อตั้งขึ้นมาของแต่ละประเทศ ก็จัดว่าเป็นส่วนขยายของความเป็นอเมริกัน (พิทยา ว่องกุล , 2541 : 6)
แม้แต่งานเขียนเรื่อง “จักรวรรดิสื่อครอบโลก : สงครามล่าอาณานิคมทางวัฒนธรรม”       ที่มองว่า แท้จริงสื่อมวลชนแบบไทย ไทย ได้ตกเป็นทาสของสื่อตะวันตกตั้งนานแล้ว เพราะการที่สื่อมวลชนตะวันตกทำให้สื่อมวลชนแบบไทย ไทย เชื่อว่าสื่อของเขาคือ ตัวแทนความเป็นอิสระ และความเป็นประชาธิปไตย (ยุค ศรีอาริยะ, 2541 : 38-40) คนสามจังหวัดมองว่านั้นเป็นความพยายามชวนเชื่อว่า เสรีภาพของสื่อคือพื้นฐานของ “อิสรภาพ และประชาธิปไตย”  
 
 
ความจริงเป็นมายาภาพที่เป็นความพยายามต่อภาพด้วยการแสดงตัวของสื่อตะวันตกว่าสนใจอย่างยิ่งต่อปัญหาสิทธิมนุษยชน ปัญหาความโปร่งใส ปัญหาสิ่งแวดล้อม การต่อต้านเผด็จการ และเสรีภาพด้านข่าวสารนั้น แท้จริงสื่อมวลชนแบบไทย ไทยกลับมองไม่เห็น และเกือบจะตาบอดสนิท เพราะการที่สื่อตะวันตกพยายามจูงให้สื่อมวลชนแบบไทยไทย เชื่อตามนั้นเป้าหมายแท้จริงคือ ความพยายามในการสร้างอิทธิพลที่ยิ่งใหญ่ในการกำหนดเหนือทิศทางของข่าวสารในประเทศไทยต่างหาก เป็นต้นว่าทุกอย่างที่ข่าวตะวันตกบอกคือ ความจริง หรือการชวนหลอกให้เชื่อว่า “สื่อ” คือสถาบันที่ให้คำตอบแก่สังคม และสื่อมวลชนก็เป็นส่วนหนึ่งของสถาบันทางสังคมเช่นกัน ฉะนั้นสื่อมวลชนย่อมมีอิสระเต็มที่ ตามสบายที่จะเสนอ ตามสบายที่จะเขียน ตามสบายที่จะลงข่าว ตามสบายที่จะใช้คำ และตามสบายที่จะพาดหัวข่าว จะดีก็ได้ จะชั่วก็เชิญ
คนสามจังหวัด : คำถามอยู่ที่ว่าการที่สื่อมวลชนแบบไทย ไทย เป็นได้ถึงขนาดนั้นมันเป็นเพราะอะไรหรือ?...ความจริงคนสามจังหวัดอยากทำความเข้าใจอะไรบางอย่างมากกว่านี้สำหรับคนในพื้นที่สามจังหวัด โดยเฉพาะการทำความเข้าใจต่อความเป็นตัวตนของสื่อสารมวลชนแบบไทย ไทย ไม่ว่าการที่สื่อมวลชนแบบไทย ไทย มักถูกมองว่าเป็นเครื่องมือของนายทุนหรือบริษัทอุตสาหกรรมวัฒนธรรม ในการแข่งขันแสวงหาผลกำไรสูงสุด สถาปนาอำนาจของตนเหนือการครอบงำความรับรู้ของประชาชน(หรือประชากรโลก) พิทักษ์ปกป้องและเป็นเครื่องมือกระตุ้นลัทธิบริโภคนิยม บิดเบือนหรือไม่เสนอข่าวที่ขัดกับวัตถุประสงค์ของตน นักการเมือง สถาบัน และบริษัทธุรกิจที่อยู่ในเส้นทางเดียวกัน โดยเลือกสรรข่าวสารไปตามอำเภอใจมากกว่ามีจุดยืนเพื่อรับใช้สาธารณประโยชน์ และพิทักษ์สิทธิมนุษยชนอย่างสำนึก (พิทยา ว่องกุล, 2541 : 8)
จะไม่แปลกเลยถ้าคนสามจังหวัดจะให้ชื่อว่า “สื่อมวลชนแบบไทย ไทย” ซึ่งอาจไม่เป็นที่พอใจมากนักของนักสื่อมวลชน แต่คนสามจังหวัดเพียงอยากให้คนในพื้นที่สามจังหวัดได้เข้าใจในตัวตนของสื่อมวลชนแบบไทย ไทย เพราะคนสามจังหวัดรู้สึกว่า สื่อมวลชนแบบไทย ไทย ที่ผ่านมานอกจากจะตกอยู่ภายใต้อุตสาหกรรมในระบบทุนนิยมที่ผูกขาด เช่น กรณีการซื้อหุ้นเครือมติชน บางกอกโพสต์ และวิทยุชุมชนที่ถูกภาคธุรกิจเข้าครอบงำอย่างสิ้นเชิง
 
 
นอกจากนั้นยังเห็นสภาพที่สื่อมวลชนถูกภาครัฐยังใช้สื่อเป็นเครื่องมือสื่อสารการตลาด กลายเป็นเครื่องมือทางการเมือง สร้างโฆษณาชวนเชื่อสู่สาธารณะ เช่น กรณีการจัดรายการนายกฯ นอกจากนี้ยังมีการสร้างสื่อที่เป็นของรัฐโดยเฉพาะหรือสื่อเทียม เพื่อใช้เป็นกระบอกเสียงประชาสัมพันธ์ผลงานและนโยบายของรัฐ รวมถึงถูกสังคมมองว่าสื่อมวลชนอย่างสื่อวิทยุและโทรทัศน์ยังไม่สามารถเป็นที่พึ่งของประชาชนในการรับข่าวสารได้อย่างแท้จริง เนื่องจากเจ้าของกิจการหรือเจ้าของสัมปทานผู้ควบคุมสื่อ ยังขาดวิสัยทัศน์ ไม่มีความเป็นมืออาชีพ ไม่เข้าใจอุดมการณ์ของความเป็นสื่อมวลชน ขณะที่สื่อหนังสือพิมพ์ แม้จะสามารถพึ่งได้พอสมควร แต่ยังไม่ถึงที่สุด เพราะยังต้องอาศัยงบการโฆษณาเป็นด้านหลัก
หรือที่สื่อวิทยุกระจายเสียงและโทรทัศน์ตกอยู่ภายใต้การครอบงำของรัฐ ทำให้ไม่สามารถคาดหวังถึงการรายงานข่าวสารทางการเมืองมาสู่ประชาชน ทำให้การรายงานข่าวของสื่อมวลชนไม่มีความเป็นอิสระและไม่เป็นไปเพื่อประโยชน์ของประชาชน แต่จะเป็นไปเพื่อผลประโยชน์ของรัฐบาล โดยเฉพาะสิ่งที่น่ากลัวในการทำงานของสื่อในยุคปัจจุบันที่เห็นการทำข่าวแบบมักง่าย เพียงแค่แกะเทป พิมพ์ข่าวส่ง โดยแทบจะไม่มีการตรวจสอบรายละเอียดของเนื้อหาข่าวแต่อย่างใด (ฉัตรชัย สุนทรส, 2549 http://www.polpacon7.ru.ac.th/modules.php?name=News&file=article&sid=5)
หากคนสามจังหวัดสามารถด่ำลึกถึงสัจธรรมของสื่อมวลชนก็จะเห็นว่า สื่อมวลชนเป็นดาบสองคม ที่หันปลายอันคมกริบอยู่เบื้องหน้าประชาชน มีโอกาสที่จะเป็นทั้งเครื่องมือที่ดีและเลวได้ตามเงื่อนไขสภาพการณ์ของสังคม และตามอารมณ์ความรู้สึกหรือโลกทัศน์ของผู้กุมด้านดาบเล่มนี้ได้เช่นกัน (พิทยา ว่องกุล, 2541 : 19) การที่คนสามจังหวัดพยายามตอกย้ำนั้น ต้องการที่จะบอกว่า “สื่อมวลชนแบบไทย ไทย ที่กล่าวหานั่น” จึงไม่ใช่เป็นเพียงธุรกิจธรรมดาที่มีเป้าหมายเฉพาะเพื่อการหากำไรเท่านั้น แต่สื่อ คือเครื่องมือทางการเมือง และการโฆษณาชวนเชื่อที่มีประสิทธิภาพสูงสุด (ยุค ศรีอาริยะ, 2541 : 45)
สื่อมวลชนแบบไทย ไทย : ทำไม…ประชาชนคนสามจังหวัดไม่คิดที่จะเข้าใจบทบาท และทบทวนบทบาทของสื่อมวลชนแบบไทย ไทย บ้าง?...เพราะถ้าคนสามจังหวัดหัดที่จะวิเคราะห์ในแนวคิดเชิงมานุษยวิทยาของสื่อมวลชน (พิจิตรา ศุภสวัสดิ์กุล, 2550 : 132-137) เพื่อเติมเต็มความเข้าใจในเรื่องความสัมพันธ์ของบทบาทสื่อมวลชนกับการสร้างความจริงในสังคม ผ่านกรอบการวิเคราะห์ที่ว่าด้วยการสร้างชั้นความจริงเสมือนของสื่อมวลชนว่า มิได้มีสาเหตุมาจากการผูกขาดความเป็นเจ้าของในโครงสร้างของสถาบันสื่อมวลชนแต่เพียงด้านเดียว หากแต่มีปัจจัยเชิงวัฒนธรรมและบรรทัดฐานความเชื่อของสังคมเป็นองค์ประกอบสำคัญในการกำหนดกระแสและทิศทางของเนื้อหาในสื่อมวลชนเหล่านั้นอยู่ด้วย ที่สำคัญคนสามจังหวัดจะต้องเข้าใจในหน้าที่ของสื่อมวลชน ความจริงสื่อมวลชนแบบไทย ไทยเอง ก็พยายามอย่างแรงกล้าในการนิยามและสร้างคุณค่าให้กับตัวแสดงต่างๆ ที่อยู่ ในสถานการณ์หนึ่งๆ อย่างตรงไปตรงมา และพยายามที่จะแปลงและตีความเนื้อหาและให้น้ำหนักเชิงคุณค่ากับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในแทบทุกสถานการณ์อยู่แล้ว
สื่อมวลชนแบบไทย ไทย ตระหนักอยู่เสมอ (เอื้อจิต วิโรจน์ไตรรัตน์, 2541 : 28-33) และเข้าใจว่า โลกปัจจุบัน สื่อมวลชนได้เข้ามามีบทบาทในชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คน เพราะข้าสื่อมวลชนรู้ดีตลอดว่า นอกจากข้าจะทำหน้าที่ในการนำเสนอข่าวสาร ความรู้ ความคิด วิเคราะห์ และความบันเทิงแล้ว สื่อมวลชนยังต้องสวมบทบาทเป็นทั้งโจทก์และจำเลยของสังคม คือ เป็นทั้งผู้เรียกร้อง ปกป้อง รักษาสิทธิ หาผลประโยชน์และความถูกต้องให้แก่สังคม และยังพร้อมที่ต้องถูกกล่าวหาว่าเป็นเหตุแห่งความเสื่อม ความเสียหาย ความไม่ถูกต้อง ไม่เหมาะสมต่างๆ หรือการที่ถูกตีตราหน้าว่า ข้าเป็นต้นแบบแห่งวัฒนธรรมทางความคิด และพฤติกรรมแบบสังคมบริโภค ที่สวนทางกับวิถีชีวิตและค่านิยมของสังคมไทย คนสามจังหวัดจะเข้าใจในหน้าที่อันหนักอึ้งบ้างไหม
คนสามจังหวัด : ดูเหมือนว่าสื่อมวลชนแบบไทย ไทย พยายามอ้างทฤษฎี บวกกับบทบาทหน้าที่ของตนเพื่อสร้างความเห็นใจแต่คนสามจังหวัดก็อดที่จะถามออกเช่นกันว่า แล้วการที่สื่อมวลชนแบบไทย ไทย เลือกและคัดสรรเนื้อหาของข่าวที่มักจะถูกการควบคุมผ่านสถานะของการเป็นเจ้าของสื่อ ทั้งในบทบาทของรัฐบาล และในบทบาทของนายทุน มิหนำซ้ำ ตัวผู้ผลิตสื่อเองก็มีแนวโน้มในการนำเสนอเนื้อหาของข่าวให้สอดคล้อง และเป็นไปตามกระแสของสังคมและอุณหภูมิทางการเมือง ผ่านกระบวนการเลือกประเด็นที่ให้ช่องทางของข่าวสารที่กำลังเป็นกระแสอยู่ในขณะนั้น ให้มีความชอบธรรมในการยึดครองพื้นที่ บนสื่อสาธารณะ โดยมิได้เผื่อพื้นที่ไว้สำหรับความหลากหลายทางความคิด แล้วจะให้เราเข้าใจการทำหน้าที่สื่อแบบไทย ไทย ได้อย่างไร  
 
 
การที่คนสามจังหวัดอย่างเราๆ ได้แลเห็น และจับจ้องมองสื่อแบบไทย ไทยกระทำอยู่ ณ เวลานี้ ไม่ว่าการไม่หลุดพ้นเนื้อแท้ของสื่อมวลชนแบบไทย ไทย ที่มีลักษณะนิสัยของการรวมศูนย์อำนาจก็ดี หรือการเมืองเรื่องช่อง 11 กับการควบคุมสื่อของรัฐบาลที่เราเห็นๆ ก็ดี หรือความอ่อนล้าของเจ้าของชื่อ “สุนัขเฝ้าบ้าน” ที่เคยได้ยินมาว่ามีความอ่อนแรงในหน้าที่ก็ดี หรือการขาดความน่าเชื่อถือในข้อมูลก็ดี  หรือผู้พิพากษาที่สร้างตราบาปไปชั่วชีวิต หรือการที่อยู่ในฐานะเป็นเครื่องมือของนักการเมืองก็ดี หรือการที่เคยถูกกล่าวหาสื่อมวลชนประเภทหนังสื่อพิมพ์ว่า Yellow Journalism (ยอดธง ทับทิวไม้, 2541 : 86) คือหนังสือพิมพ์ประเภท “ขยะ” หรือ “สวะ” ของหนังสือพิมพ์ที่เขียนขึ้นเพื่อการรีด การไถหรือหาผลประโยชน์ บิดเบือนความจริง หรือเขียนข่าวยกเมฆ ยกลมให้มากกว่าความเป็นจริง เพื่อจะสร้างความอึกทึกครึกโครม และดึงดูดความสนใจของคนอ่านก็ดี
คำถามอยู่ว่าแล้วคนสามจังหวัดจะทนได้อย่างนั้นเหรอ? ยิ่งคนสามจังหวัดได้พบผลการวิจัยเรื่องการพัฒนาการข่าวสารสถานการณ์ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ (จารียา อรรถอนุชิต, มปป. : 2-4) พบว่าหนังสือพิมพ์ทุกฉบับทั้งมติชน ไทยรัฐ และกรุงเทพธุรกิจ เน้นการนำเสนอข่าวเหตุการณ์ความไม่สงบที่เกิดขึ้นรายวัน มากกว่าประเด็นข่าวในเชิงการพัฒนาพื้นที่ ส่วนเนื้อหาหรือสารที่นำเสนอในข่าว 1 ข่าวจะมีทั้งข่าวที่มีทั้งประเด็นข่าวเชิงลบและข่าวเชิงบวก แต่ส่วนใหญ่จะเน้นหนักไปในทางลบ กล่าวคือ จากจำนวนขึ้นข่าวที่สุ่มตัวอย่าง 1,500 ชิ้น พบว่า เป็นการนำเสนอประเด็นข่าวในเชิงลบ ได้แก่ การรายงานเหตุการณ์ความไม่สงบที่เกิดขึ้น จำนวน 1,335 ชิ้น ในขณะที่มีจำนวนชิ้นข่าวที่เป็นไปในเชิงบวก 1,062 ชิ้น เป็นประเด็นการติดตามผู้กระทำผิด หากมองดูในแง่เนื้อหาข่าวสาร ตลอด 12 ปีที่ผ่านมานั้น ไม่มีความแตกต่างกันในด้านกระบวนการคัดเลือกข่าวสารที่ให้น้ำหนักหรือคำนึงถึงความสำคัญของข่าวอยู่ที่การรายงานเหตุการณ์ความไม่สงบที่เกิดขึ้นรายวัน มากกว่าการนำเสนอข่าวที่ถือเอาประโยชน์หรือความต้องการของผู้รับสารเป็นตัวตั้งในการนำเสนอ  นี้ก็เป็นภาพสะท้อนสภาพของการทำหน้าที่ของสื่อมวลชนแบบไทย ไทย ได้อีกเช่นกัน แล้วแบบนี้มันไม่เพียงพอที่จะบอกสถานะแห่งชื่อว่า “สื่อมวลชนแบบไทย ไทย “ ได้อีกเหรอ
คนสามจังหวัด : ความจริงคนสามจังหวัดอย่างเราๆ ไม่ใช่ประเภทชอบจับผิด เหมารวม และพิพากษาเกินเลย คนสามจังหวัดเอง ก็พยายามที่จะหาความจริงออกเช่นกัน แต่ถ้าบทบาทและการทำหน้าที่ของสื่อมวลชนแบบไทย ไทยไม่เชื่อ และเห็นเกินเลยต่อวิวาทะนี้ คนสามจังหวัดจะลองเขียนอย่างตรงไปตรงมา จากการตอบแบบสอบถามปลายเปิดตามความรู้สึกและความอิสระจากคำถามในการศึกษาผลกระทบการรายงานข่าวความรุนแรงในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ภายใต้ภาพสะท้อนของนักศึกษาในพื้นที่
จากข้อคำถามที่ว่า ท่านมองอย่างไรต่อการทำหน้าที่ของสื่อมวลชนไทยในปัจจุบันอย่างไร? คำตอบที่พบบอกว่า…” สื่อนำเสนอเกินความจริสื่อทำหน้าที่ของสื่อได้ดี แต่สื่อนำเสนอข่าวไม่หมด และบางครั้งสื่อนำเสนอข่าวเกินความเป็นจริง รายงานข่าวเกินความจริง แทนที่จะเอาสถานการณ์ที่เป็นที่น่าชมมารายงาน ควรที่จะเอาหลักความจริงมานำเสนอไม่ใช่แค่อยากขายสื่อให้ประชาชนบริโภคเท่านั้น การทำหน้าที่ของสื่อกับการรายงานข่าวความรุนแรงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ถือว่าสื่อให้ความสนใจ มีความเป็นกลาง แต่ยังขาดความเป็นจริง มองเท่าที่มองเห็น แต่ไม่สัมผัสความเป็นจริง ก็ดี เพราะทำให้คนในพื้นที่ได้รู้ความเคลื่อนไหวของเหตุการณ์ได้อย่างดี แต่บางที่ข่าวก็ไม่ค่อยตรงกับความเป็นจริง การทำหน้าที่ของสื่อ ส่วนใหญ่ชอบนำเสนอประเด็นที่มีความรุนแรง เน้นการขาย มากกว่าที่จะนำเสนอมุมมองในแง่ดีๆ  ควรนำเสนอตามความจริง สื่อนำเสนอแต่ความรุนแรงจากสถานการณ์ความไม่สงบ และในกรณีของผู้กระทำความผิด ที่จริงแล้วไม่ควรจะนำเสนอหน้าตา(รูปภาพ) ชื่อ เพราะอาจเป็นการละเมิดสิทธิ ... 
จากการที่คนสามจังหวัดถามจากนักศึกษาในพื้นที่ สิ่งที่คนสามจังหวัดพอเห็นจากการทำหน้าที่ของสื่อมวลชนแบบไทย ไทย นั้นน่าคิด และน่าที่จะตั้งคำถามกับบทบาทการทำหน้าที่ของสื่อมวลชน การที่บอกว่าการทำหน้าที่ของสื่อมวลชนที่ผ่านมามักเสนอข่าวเกินจริง เสนอข่าวไม่หมด มองเท่าที่มองเห็น ไม่สัมผัสความเป็นจริง เน้นการขายข่าวมากกว่าที่จะนำเสนอมุมมองในแง่ดีๆ หรือชอบละเมิดสิทธิ ซึ่งคนสามจังหวัดมองว่านี้ก็เป็นหนึ่งในลักษณะของการทำหน้าที่อันบกพร่องของสื่อมวลชน เพราะการรายงานข้อมูลที่บิดเบือนหรือเกินจริง การนำเสนอข่าวโดยขาดความสมดุลและเที่ยงธรรม ไม่รายงานรอบด้าน การายงานอย่างมีอคติ ไม่เป็นกลาง ขาดการวิเคราะห์ข้อมูลหรือเหตุการณ์ รวมทั้งขาดความรู้และความเข้าใจ (นุวรรณ ทับเที่ยง, มปป. : 4) นั้นมันแสดงถึงความล้มเหลวต่อลักษณะที่ดีของการรายงานข่าวของ “สื่อมวลชนแบบไทย ไทย” ได้อีกเช่นกัน
 เพราะหากดูในข้อเสนอแนะต่อการรายงานข่าวของสื่อมวลชนที่บอกว่า สื่อควรนำเสนอข้อมูลอย่างรัดกุม ไม่ควรนำเสนอข้อมูลที่จะสร้างความตระหนกแก่สาธารณะชนแต่ควรสร้างความตระหนักในข้อเท็จจริงของเหตุการณ์ นำเสนออย่างสร้างความเข้าใจ สร้างสรรค์ และสร้างสติให้กับสังคม หรือที่บอกว่าควรเน้นการรายงานข่าวเชิงตีความ-วิเคราะห์ที่ให้ข้อมูลอธิบายสาระสำคัญของเหตุการณ์ที่เน้นการตอบคำถาม “ทำไม” มากกว่าเพียงการอธิบาย “ใคร-ทำอะไร-ที่ไหน-เมื่อไร” ควรนำเอาข้อมูลในอดีต อธิบายพร้อมกับสถานการณ์ปัจจุบัน เพื่อชี้ให้เห็นแนวโน้มเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต หรือมองว่าต่อไปนี้สื่อฟรีทีวีทั้งหมด ควรวางตนเป็นกลาง ปราศจากอดติ ไม่มีความลำเอียง ไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งโดยเฉพาะควรจะนำเสนอเฉพาะข้อเท็จจริงของข่าวอย่างรอบด้าน หลากหลาย และเป็นธรรม ไม่ควรชี้นำความคิดของผู้ชมให้ไปในทิศทางใดทิศทางหนึ่ง (โอเคเนชั่น,2551 : http://www.oknation.net/blog/print.php?id=334105) ก็เป็นอะไรที่คนสามจังหวัดจะรับได้ เพราะนั่นหมายความว่ายังไม่ตอบสนองสำหรับการทำหน้าที่ของสื่อมวลชนที่คาดหวังมากนัก (นุวรรณ ทับเที่ยง, มปป. : 6) และหากจะบอกว่ามันเป็นการสะท้อนวิกฤติทางจริยธรรมของสื่อมวลชนในปัจจุบันอีกรูปแบบหนึ่งที่มีผลต่อวิกฤติข่าวสาร (พิทยา ว่องกุล, 2541 : 9) ก็ว่าได้ เพราะภาวะวิกฤติข่าวสารนั้นส่วนหนึ่งเกิดจากการแข่งขันกันเสนอข่าวสารที่นำไปสู่การทำลาย หรือสร้างความขัดแย้งอย่างรุนแรง และบิดเบือน เลือกสรรโดยลำเอียง หรือปกปิดข่าวสารที่มีผลกระทบต่อสาธารณชน หรือไม่เสนอข่าวของประชาชน หากสื่อมวลชนแบบไทย ไทย ไม่เชื่ออีก คนสามจังหวัดยังมีหลักฐานอีกมากมายที่สามารถสะท้อนการทำหน้าที่สื่อมวลชนแบบไทย ไทย เพื่อจะให้เห็นภาพมากขึ้น โดยเฉพาะจากงานศึกษาเรื่อง “สื่อมวลชน” ดาบสองคมที่มีผลกระทบต่อเด็ก 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ (จุฑารัตน์ สมจริง, 2549 : 2) กล่าวถึงสถานการณ์ปัญหาของสื่อมวลชนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ได้สรุปบางอย่างที่น่าสนใจ เป็นต้นว่า การที่บอกว่าหลายครั้งที่สื่อมวลชนนำเสนอข้อมูลเกินจริง หรือไม่สมดุล เข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมากเกินไป
ประกอบกับสื่อมวลชนบางกลุ่มมีการแสดงออกทางความคิดเห็นที่อยู่บนพื้นฐานความอคติทางชาติพันธุ์ ขาดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับวิถีชีวิต วัฒนธรรม และความเป็นอยู่ของผู้คนใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างแท้จริง หรือบอกว่าสื่อมวลชนยังทำหน้าที่บกพร่องในหลายประเด็น เช่น โครงสร้างการเขียน ภาษาและคำที่ใช้ อีกทั้งท่วงทำนองของเรื่องที่นำเสนอว่ามีความโน้มเอียงที่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อการรับรู้ (Cognition) การเข้าใจ (Perception) และการประเมิน (assessment) เหตุการณ์ของผู้รับสาร หรือแม้แต่ยังพบว่าประชาชนในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ไม่เชื่อมั่นในข่าวสารที่นำเสนอผ่านสื่อมวลชน โดยเฉพาะภาพสะท้อนของเหตุการณ์ความรุนแรงในสามจังหวัดที่นำเสนอผ่านสื่อโดยให้ข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง หรือการสร้างภาพข่าวให้มีความรุนแรงเกินจริง จนส่งผลให้เกิดการสร้างภาพแบบฉบับตายตัวว่าคนมุสลิมทุกคนเป็นโจร เป็นผู้ก่อการร้าย น่ากลัว และหัวรุนแรง เป็นต้นว่า ดูเหมือนว่าจะสอดคล้องกับแบบสอบถามที่คนสามจังหวัดได้ถามนักศึกษาในพื้นที่สามจังหวัดในหลายๆ คน  
สื่อมวลชนแบบไทย ไทย : ดูเหมือนว่า คนสามจังหวัดไม่เข้าใจตามทฤษฎีสื่อสารมวลชน(รุ่งรวี เฉลิมศรีภิญโญรัช, 2541 : 225) เอาซะเลย! คุณเคยได้ยินคำพูดที่ติดปากของนักสื่อสารมวลชนว่า “สื่อมวลชนมีหน้าที่ทำความจริงให้ปรากฏ” บ้างไหม?... เพราะสื่อมวลชนเองก็เข้าใจตัวเองว่าได้รับการสถาปนาเป็นผู้มีอำนาจ (Authority) ในการบอกความจริงกับสังคมอยู่แล้ว คุณเข้าใจหรือเปล่าว่า การเขียนข่าวจะต้องเขียนตามภววิสัย (Objectivity) ซึ่งแน่นอน การจะให้สื่อมวลชนแบบไทย ไทย ให้มีความเป็นกลาง หรือความจริงนั้นมีความเป็นไปได้น้อยมาก และการที่จะให้การทำหน้าหน้าที่สื่อมวลชนที่ปราศจากความโคมลอยของข้อเท็จจริงนั้นแทบหาคนทำหน้าที่ดีๆได้ยาก
คนสามจังหวัดเข้าใจไหมว่า ขนาดนักมานุษยวิทยาการสื่อมวลชน Lule (พิจิตรา ศุภสวัสดิ์กุล, 2550 : 138-139) ยังเข้าใจถึงกระบวนการผลิตข่าว โดยเขาบอกว่าความโคมลอยของข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นมาจากการสั่งสมทางวัฒนธรรมที่หยั่งรากลึกในสังคมหนึ่ง ในขณะเดียวกันเนื้อหาข่าวก็มีอิทธิพลต่อกระบวนการสร้างความเชื่อโคมลอยใหม่ๆในสังคมอีกด้วย ถ้าคนสามจังหวัดเข้าใจบนตรรกะแบบนี้น่าจะเห็นใจการทำหน้าที่สื่อมวลชนแบบไทย ไทยได้บ้าง ความจริงในฐานะคนที่ทำหน้าที่สื่อมวลชนแบบไทย ไทย เราได้มอบหน้าที่สำหรับคนสามจังหวัดออกเช่นกัน โดยเฉพาะหน้าที่ในเรื่องการตื่นตัวกับการสร้างความรู้เท่าทันสื่อ ในภาษาอังกฤษเขาเรียกว่า “Media Literacy” (นภินทร ศิริไทย, 2547 : 56-58) ความจริงคำ Media Literacy  นี้ไม่ได้ใหม่สำหรับสังคมไทยแต่อย่างใด ความจริงคนสามจังหวัดเองก็เข้าใจในหลักการนี้ดีอยู่แล้ว เพราะ Media Literacy เป็นแนวคิดที่ส่งเสริมการอ่านสื่อออก สามารถอ่านและประเมิน วิเคราะห์ข้อมูลจากสื่อประเภทต่างๆ ได้ สามารถในการสื่อและแสดงออกเชิงข้อมูล ความเห็น ความคิด และอารมณ์ความรู้สึกผ่านสื่อได้อย่างเต็มที่ รวมทั้งยังเป็นเรื่องของการให้การศึกษาเกี่ยวกับสื่อ เพื่อให้เกิดความรู้และทักษะในการวิเคราะห์ วิพากษ์วิจารณ์สื่ออีกด้วย ฉะนั้นการกล่าวหาโดยปราศจากการไม่หยั่งรู้ในหลักการของการทำหน้าที่สื่อมวลชน กับการเปิดพื้นที่ให้คุณรู้เท่าทันสื่อนั้น แท้จริงมันเป็นส่วนด่ำลึกของคนสามจังหวัดเองหรือเปล่า! ความจริงคนสามจังหวัดต้องตระหนักรู้ และเข้าใจในข้อปลีกย่อย และข้อจำกัดเหล่านั้นบ้าง หากไม่อย่างนั้น คุณจะปิดประตูการรับรู้ความอยู่จริงของข้าสื่อมวลชนแบบไทย ไทยเหมือนกัน
&  ฉบับที่ 2 เข้าใจตัวตนที่แท้จริง + สื่อมวลชนแบบไทย ไทย = สร้างภาพที่สามจังหวัด
คนสามจังหวัด : สวัสดีเจ้าสื่อมวลชนแบบไทย ไทย เจ้าสื่อมวลชนแบบไทย ไทย คนสามจังหวัดได้เข้าใจตัวตนที่แท้จริงของเจ้าบ้างแล้ว แม้ในบางครั้งเจ้าอาจจะปากแข็ง ผ่านวาทกรรมจอมปลอมก็ตาม แต่คนสามจังหวัดเข้าใจ และเข้าใจสื่อมวลชนมาโดยตลอด ยิ่งในคำวิจารณ์อย่างตรงไปตรงมาว่า “…สื่อมวลชนในสังคมไทย ก็เหมือนกับผู้ประกอบการธุรกิจอื่นๆ มักจะมองการณ์สั้น เอาแต่ประโยชน์เฉพาะหน้าเป็นสรณะมากเกินไป สื่อมวลชน..ชอบหากินกับ..ความเปราะบาง” ของมนุษย์ เรื่องราวของคนทะเลาะกันในวงการเมือง การตีรันฟันแทง การซุบซิบนินทา หรือกีฬา ซึ่งหามาได้ง่ายๆ ด้วยต้นทุนถูกๆ จึงเป็นเนื้อหาเกือบร้อยทั้งร้อยของสื่อมวลชนทุกประเภท
เพราะความมักง่ายที่มองสื่อมวลชนว่าเป็น ‘ธุรกิจ” ล้วนๆ และการประเมินตนเองต่ำจนไม่ยอมคิดว่า ตนเป็นส่วนสำคัญของระบบการเรียนรู้ทางสังคมของมนุษย์อย่างนี้เอง สื่อมวลชนที่ทำงานระดับคุณภาพอย่างแท้จริงจึงไม่ค่อยมี…” (พิทยา ว่องกุล, 2541 : คำนำจากบรรณาธิการร่วม) จึงไม่แปลกที่จะเข้าใจในตัวตนของสื่อมวลชนแบบไทย ไทย แม้อาจไม่มากแต่ก็พอเข้าใจต่อตัวตนอันแท้จริงของเจ้าอย่างดี    
คนสามจังหวัด : นอกจากนั้นคนสามจังหวัด มีความเข้าใจในตัวตนของสื่อมวลชนแบบไทย ไทย โดยเฉพาะความเก่งกาจต่อกระบวนการสร้างภาพลักษณ์ของสื่อมวลชนแบบไทย ไทย การที่สื่อมวลชนแบบไทย ไทยพยายามหยิบใช้วาทกรรมดีๆ ออกมานำเสนอ ไม่ว่าวาทกรรมเรื่อง เสรีภาพของสื่อ ที่บอกว่า รัฐบาล “จะเคารพเสรีภาพของสื่อมวลชนอย่างเต็มที่” หรือคำว่าปฏิรูปสื่อ ที่พยายามบอกว่าต่อไปนี้สื่อมวลชนจะต้องออกจากธรรมเนียมเก่าๆ ของวิธีการรายงานข่าว ต้องสลัดภาพลักษณ์เดิมที่ถูกมองว่าเป็นกองเชียร์รอบสนาม หรือ ผู้ร่วมเล่นเกม ให้ออก หรือภาพที่มุ่งเน้นการเสนอสาระในเชิงวิเคราะห์ เพื่อให้คนในสังคมเกิดความเข้าใจ มองปัญหาสังคมได้อย่างเชื่อมโยง และเกิดกระบวนการแก้ไขในเชิงที่สร้างสรรค์ (วิลาสินี พิพิธกุล, 2541 : 100)  
คนสามจังหวัดอยากจะหัวเราะที่สุด โดยเฉพาะความพยายามการฉายภาพเกินจริงกับสิ่งที่เป็นอยู่ โดยเฉพาะคำว่าการสื่อข่าวเพื่อสันติภาพที่บอกว่าต่อไปนี้การรายงานข่าวต้องหลีกเลี่ยงการรายงานความขัดแย้งโดยนำเสนอเพียงฝ่ายตรงกันข้ามสองฝ่าย หากฝ่ายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องและได้รับผลกระทบจากความขัดแย้ง และเพิ่มเติมเรื่องราวความคิดเห็นและเป้าหมายของเขาเหล่านั้น หลีกเลี่ยงการรายงานเพียงแต่สิ่งที่ทำให้เกิดการแบ่งแยกฝ่ายที่ขัดแย้งกัน แต่ให้ลองตั้งคำถามกับทั้งสองฝ่ายที่อาจแสดงจุดร่วมกัน แล้วรายงานสิ่งที่เป็นประโยชน์และเป้าหมายที่ทั้งสองฝ่ายน่าจะร่วมมือกันได้เป็นต้น (รอส โฮเวิร์ด, 2551: 16)
 ไม่ว่าเจ้าจะหลอกแล้วหลอกอีก แต่คนสามจังหวัดไม่เชื่อในการทำหน้าที่ของสื่อมวลชนแบบไทย ไทยประการหนึ่ง และไม่อยากถูกหลอกจากวาทกรรมดูดีที่สื่อมวลชนแบบไทย ไทย นำเสนอประการหนึ่ง หรือการที่สื่อมวลชนแบบไทย ไทย เคยถูกวิพากษ์วิจารณ์อันทรงเดชอีกประการหนึ่ง
เจ้าสื่อมวลชนแบบไทย ไทย คงรู้ดีว่า การที่คนสามจังหวัดออกมาวิวาทะนั้น ไม่ได้ตั้งใจจะโจมตีเจ้าสื่อมวลชนแบบไทย ไทย แบบไร้เหตุผล เพราะจากการที่คนสามจังหวัดได้สอบถามประชาชนในพื้นที่เพื่อจะดูผลสะท้อนในความจริงต่อบทบาทและการทำหน้าที่ของสื่อมวลชนแบบไทย ไทย ที่กระทำอยู่ ณ เวลานี้ ในข้อคำถามที่ว่า ที่ผ่านมาท่านคิดว่าการรายงานข่าวในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นอย่างไร ? น่าตกใจมากกับคำตอบที่ว่า...”ที่ผ่านมาการรายงานข่าวในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ชอบนำเสนอข่าวที่มีภาพเหตุการณ์ที่รุนแรง บางข่าวออกมาเกินความเป็นจริง บางก็ออกมาไม่หมด และมักจะรายงานข่าวด้านลบ และบางข่าวออกมาไม่ค่อยตรงกับความเป็นจริงมักตรงกันข้ามกับสิ่งที่ปรากฏ และมักนำเสนอข่าวที่ไม่ชัดเจน…”  
ดูแล้วน่าจะเป็นผลงานที่น่าชมอย่างนี้เหรอ การที่เศษส่วนหนึ่งได้ตอบย้ำว่าสื่อมวลชนแบบไทย ไทย มักรายงานข่าวที่มีลักษณะเกินจริงมั่ง ออกไม่หมดมั่ง ออกแต่ด้านลบมั่ง ตรงข้ามกับเหตุการณ์มั่ง ไม่ชัดเจน เลือกที่จะเสนอมั่ง แล้วแบบนี้ จะให้คนสามจังหวัดให้เครดิตได้อย่างไร เพราะดูๆ แล้วมันไปสอดคล้องกับ การทำหน้าที่อันบกพร่องของสื่อมวลชนตามหลักหน้าที่นิยม (Functionalism) ในเรื่อง “การไม่ทำหน้าที่ หรือ ทำหน้าที่ที่บกพร่อง” (Dysfunction) ของสื่อมวลชน  (นุวรรณ ทับเที่ยง, มปป. : 2)  บอกว่าการทำหน้าที่อันบกพร่องของสื่อมวลชนมาจากหลายสาเหตุหลัก เช่น การใช้ภาษาและถ้อยคำที่รุนแรง การรายงานเกินจริงและการรายงานข้อมูลที่บิดเบือนจากข้อเท็จจริง ซึ่งทำให้ผู้รับสารเข้าใจผิดต่อเหตุการณ์หรือกลุ่มคนที่เกี่ยวข้อง แบบนี้เจ้าสื่อมวลชนแบบไทย ไทยจะอธิบายให้เราเข้าใจอย่างไร เพราะทฤษฎียังสามารถบ่งชี้ตรงกับการกระทำของเจ้า!
เจ้าอาจจะยังบอกว่าเราฉายภาพตายตัวอย่างนั้นหรือ ความจริงคนสามจังหวัดไม่ได้ลืมในบทสัมภาษณ์คนในพื้นที่ โดยเฉพาะในบทสัมภาษณ์ในข้อคำถามที่ว่าท่านคิดว่าต่อไปนี้การรายงานข่าวความรุนแรงในพื้นที่ 3 จังหวัด ควรคำนึงถึงในแง่มุมใดบ้างเป็นพิเศษ และผู้สื่อข่าวควรปรับตัวอย่างไรสำหรับการรายงานข่าวในพื้นที่แห่งนี้? “…ควรคำนึงถึงสิทธิเสรีภาพ จะต้องให้เกียรติ ให้ปรับตัวให้เข้ากับคนในพื้นที่ หามุมมองที่หลากหลายและหาความจริงในหลายๆ มิติ สื่อไม่ควรปรุงแต่งข่าวให้เกิดเข้าใจผิด ผู้สื่อข่าวเองต้องค้นหาข้อมูลจริงและวางตัวเป็นกลาง ไม่เลือกฝ่าย จะต้องวางตัวให้ดี เข้ากับชาวบ้านได้ และควรคำนึงถึงความถูกต้อง ความชัดเจนของข่าว และข่าวที่เป็นในเชิงสร้างสรรค์ด้วย ในส่วนการปรับตัว ไม่ควรมีอคติ เลือกปฏิบัติ ไม่ควรที่จะรีบจะเสนอข่าวหากข้อมูลที่ได้รับไม่ชัดเจนพอ หากจำเป็นต้องรายงานถึงผู้กระทำความผิด สื่อมวลชนเองไม่ควรรายงานชื่อ รูปภาพ เพราะเป็นการละเมิดสิทธิ...”(สัมภาษณ์: โนรี (ชื่อเล่น). นักประชาสัมพันธ์. สัมภาษณ์วันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2553)
ผู้ถูกสัมภาษณ์กำลังสื่อให้คนสามจังหวัดเข้าใจอย่างหนึ่งคือ เข้าใจต่อบทบาทหน้าที่ของนักสื่อสารมวลชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ได้เป็นอย่างดีว่า “…สื่อต้องหามุมมองที่หลากหลายและหาความจริงในหลายๆ มิติ สื่อไม่ควรปรุงแต่งข่าวให้เกิดเข้าใจผิด ผู้สื่อข่าวเองต้องค้นหาข้อมูลจริงและวางตัวเป็นกลาง ไม่เลือกฝ่าย จะต้องวางตัวให้ดี เข้ากับชาวบ้านได้ และควรคำนึงถึงความถูกต้อง ความชัดเจนของข่าว และข่าวที่เป็นในเชิงสร้างสรรค์... มันสอดคล้องกับงานวิจัยที่บอกว่านักสื่อสารมวลชน จะต้องตระหนักถึงบทบาทหน้าทีในการแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมที่บอกว่าบทบาทหน้าที่ของหนังสือพิมพ์ในการนำเสนอข่าวสารที่ต้องเสาะแสวงหาเหตุการณ์ที่เป็นข้อเท็จจริง ถูกต้องสมบูรณ์ และเที่ยงตรงมารายงานให้ผู้อ่านได้รับ ด้านบทบาทการให้การศึกษา เป็นอีกบทบาทหน้าที่หนึ่งที่สื่อมวลชนต้องให้ความรู้แก่ผู้อ่าน โดยการนำเสนอข่าวที่เป็นประโยชน์ พร้อมเสนอแนวทางแก้ไขให้ประชาชนนำไปคิดพิจารณา…” (จารียา อรรถอนุชิต, มปป. : 5)
 คนสามจังหวัดจะฝากคิดอีกรอบว่า สื่อมวลชนแบบไทย ไทย ได้ตระหนักบ้างไหม ในข้อเรียกร้องที่ด่ำลึก ไม่ว่าการที่ต้องคำนึงสิทธิเสรีภาพ การให้เกียรติ หาความจริงในหลายๆ มิติ มีความชัดเจน ไม่ควรปรุงข่าวจนบิดเบือน ตระหนักถึงความถูกต้อง ปราศจากอคติ ไม่ด่วนสรุปข่าว หากจำเป็นต้องรายงานผู้กระทำความผิด ต้องไม่เปิดเผยชื่อ ภาพ เป็นต้น ถามว่าที่ผ่านมาสื่อมวลชนแบบไทย ไทย มีเศษส่วนหนึ่งของการทำหน้าที่แบบนั้นบ้างไหม คนสามจังหวัดคิดว่าไม่ต้องอะไรมากหรอก แค่ขอเรื่องคุณค่าของเนื้อหาสาร (นุวรรณ ทับเที่ยง, มปป. : 4) ที่บอกว่า 1) ต้องมีความถูกต้อง หมายถึง ความถูกต้องในการเสนอข้อเท็จจริงของเหตุการณ์ที่เกิด 2) ความสมดุล โดยที่นักข่าวจะต้องพยายามเน้นหนักในข้อเท็จจริง และความสมบูรณ์ครบถ้วนของข้อเท็จจริง 3) ความเป็นกลาง ข่าวที่ดีจะต้องไม่มีการสอดแทรกหรือแสดงความคิดเห็นเข้าไปในเนื้อข่าว 4) ความชัดเจนกะทัดรัด ภาษาที่ใช้ในการเขียนข่าวนั้นจะต้องเป็นภาษาที่เข้าใจง่ายมีความกะทัดรัดและไม่กำกวม และ 5) ข่าวจะต้องมีความสดและทันต่อเหตุการณ์ ไม่รู้มันจะมีบ้างไหมในตัวตนของสื่อมวลชนแบบไทย ไทยในยุคปัจจุบัน
สื่อมวลชนแบบไทย ไทย : ข้าสื่อมวลชนแบบไทย ไทย อยากจะเตือนว่า การที่คนสามจังหวัดพยายามมืดบอดในทุนความรู้เดิมต่อทฤษฎีกำหนดวาระข่าวสารของสื่อได้อย่างไร? ข้าสื่อมวลชนแบบไทย ไทยอยากจะบอกว่า ทฤษฎีกำหนดวาระข่าวสารของสื่อ Agenda Setting (นุวรรณ ทับเที่ยง, มปป. : 2) ต้องเข้าใจด้วยว่าในแต่ละวันมีเรื่องราวและเหตุการณ์เกิดขึ้นมากมาย สื่อมวลชนจำเป็นต้องทำหน้าที่ในการช่วยจัดวาระ เรียงลำดับความสำคัญเพื่อที่ประชาชนจะได้พูดถึง อภิปราย ถกเถียง และให้ความสนใจต่อประเด็นที่สื่อ “เลือกมานำเสนอ”  ความจริงมันไม่ใช่เป็นความผิดของข้าแต่อย่างใด คุณต้องเข้าใจ และรับทราบในจุดนี้บ้าง ไม่ใช่จะปิดตา ปิดหู และเลือกพูด เลือกสอนได้อย่างเดียว ในบางบริบทการเลือกนำเสนอข่าว เราจะต้องแข่งขันกับสำนักอื่นๆ ด้วย ไม่อย่างงันเราจะทันได้เหรอ แบบนี้ตกงานแน่เลย ความจริงคุณหัดเข้าใจในขีดจำกัด หรือไม่ก็หัดเข้าใจในสภาวะที่สังคมปัจจุบัน โดยเฉพาะสังคมในยุคโลกาภิวัตน์แบบนี้ ไม่ได้หมายความว่าการรายงานข่าวจะไม่มีการแข่งขันเลย เราแข่งขันการนำเสนอข่าว ใครเร็วใครได้ ใครยิ่งรวดเร็วเข้าถึงผู้บริโภคข่าวย่อมได้เปรียบกว่า คุณได้รู้บ้างไหม
คนสามจังหวัด : ดูเหมือนว่าสื่อมวลชนแบบไทย ไทยดื้อดันไม่จบ ข้าคนสามจังหวัดก็ไม่รู้จะทำอย่างไรในวิธีคิดของเจ้า ข้าอยากยืนยันเป็นครั้งสุดท้าย เพราะข้าคนสามจังหวัดไม่อาจทนในพฤติกรรม และวิธีคิดที่ไม่คำนึงถึงสังคมด้วยกัน คิดอยู่อย่างเดียวคือ กำไร อำนาจ เอาเปรียบ เห็นแก่ตัว และปราศจากความรับผิดชอบ  และไม่เข้าใจในบริบทสังคมเอาซะเลย!
 เจ้าจงดูผลจากแบบสอบถามให้เต็มตาอีกรอบหนึ่งเผื่อว่าจะร่วมกันรับรู้มากกว่านี้ อันที่จริงผลจากการทำหน้าที่ความเป็นสื่อมวลชนแบบไทย ไทย ของเจ้า แท้จริงมันเกิดผลกระทบมากมายไม่ว่าจะเป็นผลกระทบ…ด้านชีวิตประจำวัน : สภาพจิตใจแย่ลง คนนอกพื้นที่มองคนในพื้นที่ไม่ดี ไม่ปลอดภัย ต้องระมัดระวังมากขึ้น ด้านความรู้สึก : ทำให้คนนอกพื้นที่มอง 3 จังหวัดในแง่ลบ เกิดความหวาดกลัวกับสถานการณ์ ทำให้รู้สึกไม่เป็นธรรมจากการทำหน้าที่ของสื่อ ทำให้เกิดความหวาดระแวง และไม่กล้าที่จะออกไปทำงานเกินเวลาและต้องดูความปลอดภัยทั้งตัวเองและครอบครัว การอยู่ร่วม : มีผลมากต่อการคบกันระหว่างต่างศาสนา เกิดความบาดหมางโดยไม่รู้สาเหตุ ทำให้เกิดการหวาดระแวงกันเอง พุทธไม่กล้าเข้าใกล้มุสลิม มุสลิมไม่กล้าเข้าใกล้พุทธ ต่างก็ไม่ไว้วางใจกัน ทำให้สภาพสังคมปัจจุบันต่างคนต่างอยู่...” นี้อาจจะเป็นผลิตผลของสื่อมวลชนแบบไทย ไทย ที่ส่งคุณค่าอย่างนั้นเหรอ ไม่คิดว่านั่นเป็นผลจากการทำหน้าที่อันไร้ปัญญาของเจ้า  
คนสามจังหวัด : ความจริงคนสามจังหวัดอยากฝากข้อเสนอต่อสื่อมวลชนแบบไทย ไทย เพราะคนสามจังหวัดมองว่ายังไม่สายเกินไปสำหรับการปรับตัวของการทำหน้าที่ของสื่อมวลชนแบบไทย ไทย โดยเฉพาะการปรับตัวของสื่อมวลชนแบบไทย ไทย ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้
คนสามจังหวัดเคยได้เห็นข้อเสนอจากงานวิจัยพัฒนาการข่าวสารสถานการณ์ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ (จารียา อรรถอนุชิต, มปป. : 5-7) ที่บอกว่า หากสื่อมวลชนมีระบบการคัดกรองสื่อมวลชนในพื้นที่ โดยเฉพาะการทำงานด้านสื่อสารมวลชนในพื้นที่อ่อนไหวเช่น 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่สื่อมวลชนทุกคนจะต้องมีความระมัดระวังในการนำเสนอข่าวและการอ้างอิงแหล่งข่าว ดังนั้นต่อไปนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็นองค์กรที่เป็นเจ้าของสื่อและองค์กรอิสระจะต้องมีการกำหนดเกณฑ์มาตรฐานของผู้สื่อข่าวที่ประจำในพื้นที่ ร่วมกับองค์การสื่อมวลชนในการกำหนดมาตรฐานของผู้ที่ทำหน้าที่นักข่าวในสังกัดของตน เช่นมีหลักสูตรการอบรมทักษะวิชาชีพสื่อมวลชนให้แก่ผู้สื่อข่าวที่อยู่ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และมีใบรับรองมาตรฐานของการนำเสนอข่าวสารในพื้นที่  การสร้างระบบการประเมินผลการทำงานของนักข่าวที่ประจำในพื้นที่ คือการให้ผู้สื่อข่าวเห็นคุณค่าการนำเสนอข่าวเชิงสร้างสรรค์ที่จะนำไปสู่สังคมสันติสุขได้ ด้วยการจัดให้มีการพิจารณาประเมินผลงานการนำเสนอเนื้อหาข่าวสารที่สร้างสรรค์และเป็นประโยชน์ต่อการสร้างสันติสุขของคนทั้งชาติ โดยอาจจะกำหนดเกณฑ์มาตรฐานในการนำเสนอข่าว เช่น กำหนดให้ผู้สื่อข่าวนำเสนอข่าวที่สร้างสรรค์สังคมสันติสุข คนละ 1 เรื่องต่อสัปดาห์ หรือการจัดระบบการอบรมนักข่าวในพื้นที่ และนักข่าวส่วนกลางที่ลงมาปฏิบัติงานอย่างต่อเนื่อง เช่นการอบรมเรื่องการนำเสนอภาพข่าว การคัดเลือก จับประเด็นข่าว และการใช้ภาษาในพาดหัวข่าว และที่หลีกเลี่ยงไม่ได้คือการให้ความรู้เรื่องจรรยาบรรณและจริยธรรมในวิชาชีพ และถ้าทำได้อีกคือการสร้างช่องทางการเปิดรับเรื่องร้องเรียนของผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ โดยเฉพาะได้รับความเดือดร้อนจากการนำเสนอข่าวของสื่อมวลชน เพราะช่องทางดังกล่าวจะช่วยให้องค์กรได้ตรวจสอบปฏิกิริยาตอบสนองจากสังคมได้ อีกทั้งยังเป็นการตรวจสอบการทำหน้าที่ของสื่อมวลชนได้อีกทางหนึ่ง   
 คนสามจังหวัดมองว่าหากสื่อมวลชนแบบไทย ไทย ปรับวิธีการ และวิธีคิดตามข้อเสนอจากงานวิจัยพัฒนาการข่าวสารสถานการณ์ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ อย่างน้อยภาพในแง่แห่งชื่อ “สื่อมวลชนแบบไทย ไทย” นั้นแม้จะเป็นมายาภาพที่ติดตัวอาจลบภาพแห่งตัวตนมันยาก แต่หากสื่อมวลชนแบบไทย ไทย ตระหนักถึงบทบาทอันสำคัญของเจ้าว่าเป็นผู้ทรงพลังจริงๆ และพร้อมที่จะยอมฟังคำติเตียง รับคำวิพากษ์วิจารณ์ หรือวิวาทะจากคนสามจังหวัดอย่างมีเหตุมีผล เพราะคนสามจังหวัดเองมีความปรารถนาตลอดว่า “สื่อมวลชนต้องมีความสำนึกในภารกิจต่อการสร้างสติปัญญาอย่างลึกซึ้งและแท้จริง บทบาท ในการนำสังคมจึงจะเป็นไปอย่างแนบเนียน ไม่หวือหวา อะไรที่หวือหวาจะอยู่ไม่ได้นาน อะไรที่อยู่ไม่ได้นาน ก็ไม่ใช่เรื่องของสติปัญญา…ในฐานะที่เป็นสถาบันทางสังคมสมัยใหม่สื่อมวลชนมีศักยภาพทุกประการที่จะนำสังคมได้ แต่การนำสังคมที่มีคุณภาพที่สุด จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อความสำนึกในภารกิจต่างๆ เกิดขึ้น จากสื่อมวลชนเอง…”(พิทยา ว่องกุล, 2541 : คำนำจากบรรณาธิการร่วม)    
คนสามจังหวัดไม่มีอะไรที่จะฝาก และให้ความดีต่อเจ้า คนสามจังหวัดเข้าใจว่า เจ้าสื่อมวลชนแบบไทย ไทย จะเข้าใจในความหวังดีของคนสามจังหวัดบ้าง ความจริงการวิวาทะทางปัญญาอันมีเหตุผลเป็นเรื่องปกติทางวิชาการ แม้การวิวาทะเกิดจากอารมณ์ใฝ่ต่ำของคนสามจังหวัด แต่คนสามจังหวัดคงต้องทำหน้าที่รับผิดชอบต่อสังคมพื้นที่แห่งนี้ ความจริงคนสามจังหวัดเข้าใจในบทบาทหน้าที่ของสื่อมวลชนแบบไทย ไทยดี การที่สื่อมวลชนแบบไทย ไทย ต้องสร้างฉาก ถ่ายทำ เอาหน้า อาจเป็นความสุขของเจ้า แต่สำหรับคนสามจังหวัดแล้วกลับเป็นหน้าที่ ที่ต้องปกป้องสังคมของคนสามจังหวัดด้วยความบริสุทธิ์ใจ   “หวังว่าสื่อมวลชนแบบไทย ไทยคงเข้าใจ…และเข้าใจคนสามจังหวัดดี………รักสื่อมวลชนแบบไทย ไทยเสมอ….
            จาก…..คนสามจังหวัด
               16 กุมภาพันธ์ 2553
 
เอกสารอ้างอิง
จุฑารัตน์ สมจริง. (2549). “สื่อมวลชน” ดาบสองคมที่มีผลกระทบต่อเด็ก 3 จังหวัด. [ออนไลน์].
URL : http: //youthmedia.ccdkm.org [ค้นวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2553]  
จารียา อรรถอนุชิต. (มปป.). พัฒนาการข่าวสารสถานการณ์ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้.
            ปัตตานี : คณะวิทยาการสื่อสาร มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี.
ฉัตรชัย สุนทรส. (2549). “ปัญหาสื่อไทย ความเห็น-ข้อมูลและ “ปัญหาเสรีภาพ”. [ออนไลน์].
[ค้นวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2553]
นภินทร ศิริไทย. (2547). ความรู้เรื่องการรู้เท่าทันสื่อเพื่อสุขภาพ ภูมิคุ้มสุขภาพที่ดีสำหรับเด็ก
          และเยาวชน. สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ.
นุวรรณ ทับเที่ยง. มปป. “สรุปผลการวิจัยผลกระทบของการสื่อสารมวลชน : ทัศนคติของ
          ประชาชนในสามจังหวัดชายแดนใต้ต่อการเสนอข่าวเหตุการณ์ความไม่สงบ.
            ปัตตานี : คณะวิทยาการสื่อสาร มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี.
โนรี (ชื่อเล่น). นักประชาสัมพันธ์. สัมภาษณ์วันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2553
พิทยา ว่องกุล. (2541). บทนำวิกฤติสื่อมวลชนในยุคจักรวรรดินิยมข่าวสาร. กรุงเทพฯ : โครงการ-
วิถีทรรศน์.
พิจิตรา ศุภสวัสดิ์กุล. (2550). “จากทฤษฎีสู่การทบทวนบทบาทของผู้ต้องหาที่ชื่อว่า “สื่อมวลชน”
ว่าด้วยกรณีสถานการณ์ความรุนแรงในชายแดนภาคใต้”. รัฐศาสตร์สาร. 3 (กันยายน-
ธันวาคม 2550) :  : 132-137.
ยุค ศรีอาริยะ. (2541). จักรวรรดิสื่อครอบโลก : สงครามล่าอาณานิคมทางวัฒนธรรม.  กรุงเทพฯ :
            โครงการวิถีทรรศน์.
ยอดธง ทับทิวไม้. (2541). 40 ปี ในวงการสื่อสารมวลชนไทย ; กับความสกปรกทุกประเภท.
กรุงเทพฯ : โครงการวิถีทรรศน์.
รุ่งรวี เฉลิมศรีภิญโญรัช. (2541). วาทกรรมสื่อมวลชน. กรุงเทพฯ : โครงการวิถีทรรศน์.
รอส โฮเวิร์ด. (2551). การสื่อข่าวที่ไหวรู้ต่อความขัดแย้ง.ปัตตานี : คณะวิทยาการจัดการ
            มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี.
วิลาสินี พิพิธกุล. ( 2541). ปฏิรูปสื่อ ปฎิรูปการเมือง. กรุงเทพฯ : คณะนิเทศศาสตร์
 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.  
เอื้อจิต วิโรจน์ไตรรัตน์. (2541). “สื่อเปลี่ยนคน คนเปลี่ยนสื่อ” สัมพันธ์ใหม่ในโลกข่าวสาร.
กรุงเทพฯ : คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.  
โอเคเนชั่น. (2551). “ผลการศึกษา ‘การรายงานข่าววิกฤติการเมือง วันที่ 7 ตุลาคม 2551’.
 [ค้นวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2553]
 
 
 
 
 
 


[1]นักศึกษาหลักสูตรศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาความขัดแย้งและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่
[2]บทความชิ้นนี้เป็นส่วนหนึ่งของรายวิชา “การสื่อสารเพื่อสันติภาพ” ในบทความชิ้นนี้เป็นเพียงแค่สิ่งสมมุติเรื่องราวเท่านั้น การโต้ตอบนั้นจะมีคำว่า“คนสามจังหวัด” ซึ่งคำนี้หมายถึงผู้เขียนเอง มิได้หมายถึงคนที่อยู่ในพื้นที่สามจังหวัดทั้งหมดแต่อย่างใด และจะมีคำว่า “การทำหน้าที่ “สื่อมวลชนแบบไทย ไทย” นั้น เป็นเพียงแค่วิวาทะระหว่างผู้เขียนกับสื่อมวลชนแบบไทย ไทยที่สมมุติเท่านั้น ซึ่งไม่ถือเป็นการวิวาทะของคนสามจังหวัดชายแดนภาคใต้แต่อย่างใด แน่แท้หมายถึงผู้เขียนเองในฐานะคู่วิวาทะ หากคำนี้รู้สึกไม่เป็นธรรมสำหรับการทำหน้าที่ของสื่อมวลชนแบบไทย ไทยอื่น  ผู้เขียนมิได้หมายความถึงการทำหน้าที่ของสื่อนั้นแต่ประการใดออกเช่นกัน