Skip to main content

 

อัตลักษณ์นักศึกษามุสลิมกับปัญหาการอยู่ร่วมในรั้ว มอ. หาดใหญ่
 
รณชัย จุทอง
สาขาวิชาความขัดแย้งและสันติศึกษา
มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่
 
       จากคำถามที่ว่า “พี่เกลียดมุสลิมไหม” จากนักศึกษามุสลิมคนหนึ่งที่มีพื้นเพมาจากสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่เข้ามาศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษา ณ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ ได้สะท้อนความรู้สึกบางอย่างของผู้ที่ตั้งคำถาม อันเป็นประเด็นที่ชวนคิดต่อว่าแล้วอะไรเป็นที่มาของคำถามนี้ มีความน้อยเนื้อต่ำใจอะไรหรือ หรือมีปัญหาอะไรกับคนที่ได้ชื่อว่ามุสลิมกับไม่ใช่มุสลิม มีข้อขัดแย้งอะไรหรือกับผู้ที่เป็นพุทธศาสนิกชนอันเป็นคนส่วนใหญ่ในสถานศึกษา กับผู้ที่เป็นมุสลิมที่นับถือศาสนาอิสลามที่ประดุจดังคนส่วนน้อยในสถาบันการศึกษาแห่งนี้
       ในทุกๆศาสนานั้นย่อมมีหลักปฏิบัติที่ถือเป็นเอกลักษณ์ของศาสนานั้นๆ และไม่ต้องสงสัยเลยว่าศาสนาอิสลามก็มีครรลองแห่งการจงรักภักดีเป็นการเฉพาะที่ผู้นับถือจะต้องปฏิบัติตาม และถือเป็นศาสนกิจที่ที่ถูกกำหนดขึ้นในหมู่พวกเขาโดยตรงไม่เกี่ยวข้องกับศาสนิกอื่น แต่หลักคำสอนด้านจริยธรรมหาใช่ส่วนหนึ่งจากด้านดังกล่าวไม่ เพราะ มุสลิมย่อมต้องหยิบยื่นสิ่งดีงามอันปราศจากความคลุมเครือให้กับเพื่อนมนุษย์ทุกคน ไม่ว่าเขาจะนับถือศาสนาใด หรือ ลัทธิใด ดังนั้นความสัจจะจึงเป็นหน้าที่ ที่มุสลิมต้องปฏิบัติต่อมุสลิมด้วยกัน และผู้ที่ไม่ใช่มุสลิม ในทำนองเดียวกัน ความโอบอ้อมอารี การรักษาสัญญา ความสุภาพ และความร่วมมือกัน และช่วยเหลือเกื้อกูลกัน ดังกล่าวนี้ล้วนเป็นสิ่งทีมุสลิมจำเป็นต้องปฏิบัติต่อเพื่อนร่วมโลกทั้งสิ้น[1]
       ศาสนาอิสลามมีความเคร่งครัดในเรื่องการปฏิบัติ หรือเรียกว่าพิธีกรรมเป็นอย่างยิ่ง ทั้งนี้ถือว่าการกระทำอะไรก็ตามจะต้องสอดคล้องกับสิ่งที่พระองค์อัลลอฮฺทรงบัญชาใช้ และสิ่งที่ท่านนบีมุฮัมมัดได้นำมาปฏิบัติเท่านั้น ส่วนการปฏิบัติใดที่ไม่มีแบบอย่างจากท่านนบีมุฮัมมัดในด้านศาสนกิจ มุสลิมถือว่าจะกระทำสิ่งนั้นไม่ได้เป็นอันขาด[2]
       ดังนั้นคงไม่เกินเลยที่จะกล่าวว่า มุสลิมที่ดีหมายถึงบุคคลอันพึงปฏิบัติตามแนวทางแห่งศาสนบัญญัติอิสลาม หรือจะเรียกอีกอย่างหนึ่งว่าวิถีแห่งมุสลิม
วิถีและตัวตนของชนมุสลิม
       จะเห็นได้ว่าวิถีของความเป็นมุสลิม จะผูกยึดกับหลักปฏิบัติอย่างแน่นหนา โดยมีพื้นฐานจากหลักความเชื่อทางศาสนาเป็นตัวกำหนด อันแสดงความเป็นอัตลักษณ์ของพวกเขาอย่างชัดเจน
       อัตลักษณ์ (identity) เป็นความรู้สึกนึกคิดที่บุคคลมีต่อตนเองว่า “ฉันคือใคร” ซึ่งจะเกิดขึ้นจากการปฏิสังสรรค์ระหว่างตัวเรากับคนอื่น โดยผ่านการมองตนเองและการที่คนอื่นมองเรา อัตลักษณ์ต้องการความตระหนัก (awareness) ในตัวเราและพื้นฐานของการเลือกบางอย่าง นั่นคือเราจะต้องแสดงตนหรือยอมรับอย่างตั้งใจกับอัตลักษณ์ที่เราเลือก ความสำคัญของการแสดงตนก็คือ การระบุได้ว่าเรามีอัตลักษณ์เหมือนกลุ่มหนึ่งและมีความแตกต่างจากกลุ่มอื่นอย่างไร และ “ฉันเป็นใคร” ในสายตาคนอื่น[3] 
      ฉลาดชาย รมิตานนท์ (2550) กล่าวว่าอัตลักษณ์นั้นไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นลอยๆ ตามธรรมชาติ แต่เป็นสิ่งที่เกิดจากการสร้างของวัฒนธรรมในช่วงเวลาหนึ่ง และวัฒนธรรมก็เป็นสิ่งก่อสร้างทางสังคม (social construct) นอกจากนี้วัฒนธรรมก็ไม่ใช่สิ่งที่หยุดนิ่งหรือตายตัว หากแต่มีรูปแบบเป็นวงจรที่เรียกว่า “วงจรแห่งวัฒนธรรม” (circuit of culture) ดังนั้นอัตลักษณ์ทั้งหลายจึงมีกระบวนการถูกผลิต (produced) ให้เกิดขึ้น สามารถถูกบริโภค (consumed) และถูกควบคุมจัดการ (regulated) อยู่ในวัฒนธรรมเหล่านั้น และทั้งนี้ยังมีการสร้างความหมายต่างๆ (creating meanings) ผ่านทางระบบต่างๆ ของการสร้างภาพตัวแทน (symbolic systems of representation) ที่เกี่ยวกับตำแหน่งแห่งที่ต่างๆ ทางอัตลักษณ์อันหลากหลายที่เราเลือกใช้ หรือนำเอามาสร้างเป็นอัตลักษณ์ของเรา[4]
       ประเวศ วะสี (2545) กล่าวว่าวิถีชีวิตชุมชนคือวัฒนธรรม วัฒนธรรมคือวิถีชีวิตร่วมกันของกลุ่มชนที่สอดคล้องกับสิ่งแวดล้อมหนึ่งๆ อันประกอบด้วย ความเชื่อร่วมกัน การมีระบบคุณค่าร่วมกัน การทำมาหากิน ภาษา การดูแลรักษาสุขภาพ ขนบธรรมเนียมประเพณี หรือกล่าวอีกอย่างหนึ่งว่าวัฒนธรรมเป็นเรื่องเกี่ยวกับเศรษฐกิจ จิตใจ สังคม สิ่งแวดล้อม สุขภาพ เชื่อมโยงกันอย่างบูรณาการ ควรสังเกตว่าในขณะวัฒนธรรมเป็นบูรณาการของวิถีชีวิตทั้งหมด แต่เศรษฐกิจแบบที่เข้าใจกันอย่างปัจจุบัน เป็นเรื่องแยกส่วนที่เอาเงินเป็นตัวตั้ง[5]
       ดังนั้นอัตลักษณ์นักศึกษามุสลิมอันมีฐานมาจากวัฒนธรรมและวิถีแห่งชุมชน จึงอาจให้นิยามโดยง่ายว่า การแสดงออกถึงความเป็นตัวตนของนักศึกษามุสลิมโดยมีพื้นฐานอยู่บนวัฒนธรรม ประเพณี อันสืบเนื่องมาจากหลักการแห่งศาสนาอิสลามและวิถีแห่งมุสลิมเป็นตัวกำหนด
       แล้วอะไรคือวิถีมุสลิม วิถีมุสลิมเป็นวิถีที่ยึดโยงกับแก่นแกนของอิสลาม 3 ประการ อันได้แก่หลักศรัทธา หลักศาสนบัญญัติ ตลอดจนหลักคุณธรรมจริยธรรม[6] ซึ่งเป็นสิ่งที่ถือว่าเป็นหน้าที่ของมุสลิมที่ต้องทำความเข้าใจ การมีศรัทธาในอิสลามนอกจากจะต้องได้รับการยืนยันด้วยวาจา โดยการกล่าวปฏิญาณตนและโดยการปฏิบัติด้วยการนมาซ(ละหมาด) ถือศีลอด จ่ายซะกาต(การจ่ายทานบังคับ) และไปทำฮัจญ์แล้ว ยังต้องแสดงออกในชีวิตประจำวันตามแบบอย่างที่ท่านศาสดามุฮัมมัดปฏิบัติไว้ให้เป็นแบบอย่างด้วย[7] อีกทั้งอิสลามสอนว่า มนุษย์ถูกส่งมาใช้ชีวิตอยู่บนโลกนี้เป็นการชั่วคราวและมีชีวิตที่แตกต่างกันทั้งด้านความรู้ ความสามารถ ฐานะและโอกาส ทั้งนี้เพื่อให้มนุษย์มีความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างกัน แต่สิ่งที่มนุษย์จะได้รับเหมือนกันคือการทดสอบจากอัลลอฮฺตลอดทั้งชีวิต ว่าเขาจะนึกถึงและศรัทธาต่อพระองค์หรือไม่[8]  
      
จากภาพใหญ่ไปสู่สังคมย่อย
       ย้อนกลับมามองภาพรวมของสังคมปัจจุบัน ซึ่งเป็นสังคมพหุวัฒนธรรมที่มีความหลากหลายของวัฒนธรรม รวมทั้งความหลากหลายของศาสนา ขนบธรรมเนียมประเพณี ความเชื่อ อุดมการณ์ รวมไปถึงความต่างของถิ่นฐานบ้านเกิด ภูมิภาคที่อยู่อาศัย ซึ่งสิ่งที่หลากหลายเหล่านี้เป็นภาพสะท้อนถึงความมีตัวตนของบุคคลหรือกลุ่มคน อันเป็นนิยามของคำว่าอัตลักษณ์ และเมื่อมีความหลากหลายของอัตลักษณ์ในสังคม หากมีความไม่เข้าใจที่เพียงพอในอัตลักษณ์ของกันและกัน ภาวะของความขัดแย้งหรือความไม่ลงรอยบางอย่างอาจก่อกำเนิดขึ้นมา
       เมื่ออัตลักษณ์ที่แตกต่าง ต้องมาอยู่ในกรอบของระเบียบข้อบังคับหรือแบบแผนที่ต้องการสร้างความเหมือนกันหรือความเป็นหนึ่งเดียวกัน อันเป็นผลพวงของโครงสร้างบริหารจัดการในอดีต เมื่อบุคคลหรือกลุ่มคนที่มีความแตกต่างของอัตลักษณ์ต้องมาอยู่ร่วมกัน มีปฏิสัมพันธ์กัน ทำกิจกรรมร่วมกันภายในสังคมย่อยแห่งนี้ โดยต่างไม่มีความเข้าใจในอัตลักษณ์ของกันและกันที่เพียงพอ โดยเฉพาะกลุ่มหนึ่งอาจจะเป็นชนกลุ่มน้อยเมื่อเทียบกับกลุ่มอื่น ซึ่งอาจส่งผลต่อการกระทำ การปฎิบัติต่อกัน หรือวิพากษ์อัตลักษณ์ของกันและกันในทางที่อาจสร้างความขัดแย้ง ความเสียหายหรือเลยเถิดไปถึงการลบหลู่โดยไม่ได้ตั้งใจ
       เช่นเดียวกับอัตลักษณ์ของความเป็นมุสลิม อาจมีหลากหลายประเด็นในข้อปฏิบัติหรือข้อจำกัด ที่บุคคลหรือกลุ่มคนอื่นที่มิใช่มุสลิม ผู้ที่คลุกคลีกับมุสลิมมากพอ หรือผู้ที่ศึกษาเกี่ยวกับมุสลิม ไม่มีความเข้าใจถึงนัยและเหตุผลของข้อห้ามและข้อพึงปฏิบัติเหล่านั้น ไม่ว่าจะเป็นการละหมาด การถือศีลอด การคลุมผ้าของสตรี การห้ามบริโภคอาหารบางประเภท การห้ามเข้าร่วมในประเพณีวัฒนธรรมหรือกิจกรรมบางอย่าง เช่นการเข้าร่วมพิธีไหว้ครู การเข้าร่วมกิจกรรมรับน้องร่วมกับเพื่อนๆ สิ่งเหล่านี้อาจส่งผลต่อการอยู่ร่วมกับบุคคลอื่นหรือกลุ่มคนอื่นๆที่มิใช่มุสลิม ทั้งนี้ปัญหาของการอยู่ร่วมส่วนใหญ่อาจมิใช่ตัวของมุสลิมเองที่ทำให้เกิดปัญหา แต่อาจเกิดจากความไม่เข้าใจ หรือความเข้าใจที่คลุมเครือของบุคคลหรือกลุ่มบุคคลอื่นที่มิใช่มุสลิม
       นักศึกษามุสลิมจากสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นมุสลิมกลุ่มหนึ่งที่มีอัตลักษณ์ของตน เมื่อพวกเขาก้าวมาสู่การเป็นส่วนหนึ่งของสถาบันอุดมศึกษาอย่าง ม.อ.หาดใหญ่ ที่มีเพื่อนร่วมสถาบันหลากหลายที่มา มีแตกต่างทางความเชื่อและภูมิหลัง บางส่วนมาจากภูมิภาคอื่นของประเทศ ที่ไม่เคยสัมผัสหรือรับรู้กับอัตลักษณ์ของมุสลิม นอกจากนี้แม้แต่บุคลากรในสถานศึกษาก็ใช่ว่าจะมีความรู้ความเข้าใจในอัตลักษณ์ของมุสลิมอย่างถ่องแท้เสียทุกคน อีกทั้งการอยู่ร่วมในรอบรั้วสถาบันแห่งนี้ ก็อยู่ในฐานะของคนกลุ่มน้อยในสังคมย่อยๆแห่งนี้ ปัจจัยเหล่านี้ย่อมสร้างปัญหาของการอยู่ร่วมของนักศึกษามุสลิมกลุ่มนี้อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
 
ด้วยวิถีที่ต่างกัน
       ประเด็นที่ได้จากการพูดคุยจากแหล่งข้อมูลในหลายประเด็นและหลากหลายแง่มุม มีหลากประเด็นที่อาจทำให้เกิดความเข้าใจที่ไม่ตรงกันอันอาจนำมาสู่ปัญหาการอยู่ร่วมกัน และอาจก่อให้เกิดความไม่ลงรอยกันได้ระหว่างผู้ที่เป็นมุสลิมและผู้ที่ไม่ใช่มุสลิม แต่ในที่นี้จะขอยกมาสักสี่ประเด็น ซึ่งน่าจะเป็นภาพกว้าง ซึ่งประเด็นที่จะยกมาบางครั้งก็สร้างความอึดอัดแก่นักศึกษาที่เป็นมุสลิม เพราะโดยหน้าที่หนึ่งพวกเขาก็มีหน้าที่ของนักศึกษาอันควรปฏิบัติในแบบแผนหรือประเพณีที่สืบต่อมาของสถาบันการศึกษา แต่อีกหน้าที่หนึ่งพวกเขาก็เป็นประชาชนผู้ภักดีต่อวิถีที่สืบต่อมาจากบรรพชน อันมีฐานรากจากศาสนาอิสลามอันเป็นวิถีแห่งมุสลิม ประเด็นที่จะยกมานี้อาจดูธรรมดา เรียบง่าย และน่าจะป็นปกติในมุมมองของนักศึกษาที่นับถือพุทธ แต่เป็นสิ่งที่อาจทำให้นักศึกษามุสลิมอาจจะถึงขั้นต้องเลือกระหว่างความเป็นนักศึกษา กับการรักษาวิถีมุสลิมเลยทีเดียว
       ประเด็นแรก “พิธีไหว้ครู”
       นักศึกษามุสลิมถูกมองจากเพื่อนต่างศาสนิกด้วยความสงสัย ว่าทำไมจึงไม่สามารถเข้าร่วมพิธีไหว้ครูได้ ทั้งๆที่เป็นประเพณีที่ผู้เป็นศิษย์ที่ดีควรพึงกระทำ เพื่อแสดงความกตัญญูกตเวทิตาต่อครูบาอาจารย์ ผู้ซึ่งมอบความรู้แก่ศิษย์ นักศึกษามุสลิมก็เป็นศิษย์ของอาจารย์เช่นกัน ถ้าเข้าร่วมน่าจะเป็นสิ่งที่ดีมิใช่หรือ อีกทั้งกิจกรรมนี้ควรจะเป็นสิ่งที่นักศึกษาทุกคนพึงควรเข้าร่วม แต่พอถึงช่วงไหว้ครูนักศึกษามุสลิมกลับไปทำกิจกรรมต่างหากเฉพาะนักศึกษาและอาจารย์มุสลิมเท่านั้น แล้วอย่างนี้เป็นการแบ่งแยกหรืออย่างไร
       อันที่จริงข้อสงสัยนี้มีคำอธิบายจาก อ.มุรีด ทิมะเสน ว่า สิ่งใดก็ตามในเรื่องของศาสนาซึ่งไม่มีที่มาจากอัลลอฮฺ และท่านนบีมุฮัมมัดถือว่าไม่อนุญาตให้กระทำอย่างเด็ดขาด ยิ่งกรณีที่นำเอาพิธีกรรมของศาสนาอื่นมาเจือปน หรือกระทำพิธีกรรมของศาสนาอื่นยิ่งต้องห้ามอย่างไม่ต้องสงสัย ฉะนั้น คำถามที่ถามว่า “พิธีกรรมไหว้ครู” ในอิสลามมีหรือไม่? จึงขอชี้แจงว่านบีมุฮัมมัดถือว่าเป็นครูของมนุษยชาติ แต่ท่านนบีเองก็ไม่เคยที่จะให้ใครประกอบพิธีไหว้ครู หรือรำลึกถึงครู หรือสั่งใช้ให้ปฏิบัติต่อครูในวันที่ถูกกำหนดไว้ ทั้งหลักฐานจากหะดีษ(วจนะของท่านนบี) ก็ไม่พบว่าอนุญาตให้ส่งเสริมการประกอบพิธีไหว้ครู แม้กระทั่งเหล่าบรรดาเศาะหาบะฮฺ(คือสหายของท่านนบีมุฮัมมัด) ก็มิได้กระทำสิ่งดังกล่าวแม้แต่คนเดียว นัยความเป็นจริง ครูคือผู้ชี้นำให้ผู้คนทำการอิบาดะฮฺ(คือการเคารพภักดี)ต่อพระองค์อัลลอฮฺเพียงองค์เดียวเท่านั้น ผู้เป็นครูจะต้องทำทุกวิถีทางเพื่อให้ผู้คนเข้าใจศาสนาของพระองค์ ครูจึงเสมือนตัวแทนของพระเจ้า เป็นผู้ชี้นำทางที่ถูกต้อง เป็นแบบอย่างอันดีงามให้แก่คนทั่วไป เมื่อเป็นเช่นนี้ ครูในทัศนะอิสลามจึงไม่มีความจำเป็นที่จะต้องจัดพิธีไหว้ครู เพราะการกราบไหว้จะกระทำได้เฉพาะกับพระองค์อัลลอฮฺองค์เดียวเท่านั้นจะจัดให้แก่ครูไม่ได้ อีกทั้งไม่มีคำสั่งใช้จากพระองค์อัลลอฮฺ และแบบอย่างของท่านนบีมุฮัมมัด จึงเป็นมติเอกฉันท์ว่า การจัดพิธีไหว้ครูจึงไม่มีแบบอย่างให้กระทำ[9]
 
       ประเด็นที่สอง “กิจกรรมรับน้อง”
       ประเพณีรับน้องใหม่เป็นประเพณีที่นักศึกษาใน สถาบันอุดมศึกษาหลายแห่งถือปฏิบัติมาเป็นเวลาช้านาน วิธีการต้อนรับน้องใหม่ของนิสิตนักศึกษามีหลายวิธี นักศึกษาในมหาวิทยาลัยหลายแห่งทำการต้อนรับน้องใหม่หรือเพื่อนใหม่โดยการช่วยเหลือและจัดการต้อนรับอย่างอบอุ่น เพื่อให้น้องใหม่เกิดความประทับใจ ซึ่งประโยชน์ในการปรับตัวของนิสิต นักศึกษาใหม่อย่างมาก เพื่อให้น้องใหม่มีความสามัคคี แล้วจัดงานต้อนรับน้องใหม่อย่างอบอุ่นในที่สุด การรับน้องใหม่ เป้าหมายเพื่อทำให้รุ่นน้องเชื่อฟังรุ่นพี่ จึงจะเกิดการเชื่อฟังและปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด ส่วนใครฝ่าฝืนก็ถือว่าไม่เชื่อฟังรุ่นพี่ ไม่เคารพรุ่นพี่นั่นเอง[10]     
       แต่ในมุมมองของมุสลิม ประเพณีรับน้องใหม่ มาจากวัฒนธรรมอื่นที่ไม่ใช่อิสลาม เรื่องการละเลยต่อความถูกผิดตามแนวทางของอิสลาม ย่อมเกิดขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ อาทิเช่น การปะปนกันระหว่างชายหญิง จะเห็นได้ว่า การรับน้องใหม่จะไม่มีการแยกระหว่างชายหญิง แต่พวกเขาจะทำกิจกรรมร่วมกัน และปะปนกันอย่างสนิทชิดเชื้อ ซึ่งประเด็นนี้อิสลามให้ความเข้มงวดมาก เพราะการปะปน และการสัมผัสกันระหว่างเพศตรงข้าม เป็นความผิดทางศาสนาถึงขั้นเรียกว่าซินาเล็ก(ส่อเค้าที่อาจเกิดการผิดประเวณี)เลยทีเดียว[11]
      
       ประเด็นที่สาม “ฮิญาบ”
       การคลุมผ้าสำหรับนักศึกษาหญิงมุสลิมอาจเป็นสิ่งที่ดูแปลกตาบ้างสำหรับนักศึกษาที่มาจากต่างถิ่น แต่ก็ไม่ได้มีปัญหามากมาย ถึงการแต่งกายจะแตกต่างออกไปจากแฟชั่นทั่วไปของนักศึกษาหญิงที่ไม่ใช่มุสลิม แต่เรื่องราวของฮิญาบที่สร้างความขัดแย้งก็เป็นดังมหากาพย์ที่มีมาอย่างต่อเนื่อง มีกรณีหนึ่งที่เกิดกับนักศึกษาหญิงมุสลิมกลุ่มเล็กๆกลุ่มหนึ่ง ที่เข้าศึกษาในภาควิชาหนึ่งของคณะที่ส่วนใหญ่เป็นผู้ชาย และสาขาวิชาที่เรียนนั้นเกี่ยวกับอุตสาหกรรม ซึ่งมีบางรายวิชาที่ต้องเข้าไปเกี่ยวข้องกับเครื่องจักรกล หลักปฏิบัติที่เป็นข้อบังคับเพื่อความปลอดภัย ทำให้ต้องใส่เสื้อแขนสั้นและไม่อนุญาตให้คลุมผ้าฮิญาบได้ แน่นอนการห้ามคลุมผ้าขัดกับวิถีปฏิบัติของมุสลิม ดังนั้นจึงมีความพยายามที่จะหาทางออกที่สามารถทำให้นักศึกษากลุ่มนี้เข้าเรียนวิชาดังกล่าว โดยไม่ขัดกับหลักการปฏิบัติมุสลิม แต่ท้ายสุดผู้สอนก็ไม่ยินยอมโดยยื่นคำขาด ให้ต้องเลือกระหว่างคลุมผ้าฮิญาบกับไม่ได้เข้าเรียน  
       เรามักได้ยินใคร ๆ เรียกฮิญาบเป็นภาษาไทยง่าย ๆ ว่า ‘ผ้าคลุมหัว’ หรือ ‘ผ้าคลุมผม’ ซึ่งไม่อาจสื่อถึงความหมายทั้งหมดของคำว่าฮิญาบได้ มีผู้หญิงตั้งมากมายที่คลุมผ้าคลุมผม แต่ไม่ได้คลุมฮิญาบ เพราะผ้าของพวกเธอทำหน้าที่แค่ปิดคลุมเส้นผม (ซึ่งบ้างก็มิดชิด บ้างก็ไม่) ในขณะที่ฮิญาบเป็นมากกว่านั้น ฮิญาบ หมายถึง “การปกปิด” ซึ่งไม่ได้หมายถึงเครื่องแต่งกายที่ทำหน้าที่ปิดคลุมเฉพาะภายนอกเท่านั้น แต่ยังรวมถึงกริยามารยาท การวางตัว ความละอาย และการสำรวมจิตใจที่อยู่ภายในด้วย ฮิญาบเป็นเสมือนเครื่องมือที่ช่วยให้มุสลิมะฮฺรำลึกถึงอัลลอฮฺในทุกการกระทำ เธอจะระมัดระวังและสำรวมปฏิบัติทุกสิ่งให้อยู่ในหลักการมากขึ้น เพราะความยำเกรงต่ออัลลอฮฺ และด้วยตระหนักว่าเธอคือตัวแทนของอัลลอฮฺบนโลกนี้ ทุกภาพลักษณ์ที่สะท้อนพฤติกรรมของเธอคือภาพรวมของอิสลาม  ดังนั้น ผู้ที่คลุมฮิญาบจึงไม่ใช่แค่ยอมรับผ้าผืนหนึ่งมาคลุมเรือนร่าง หากแต่ยอมรับหลักการทั้งหมดที่มากับผ้าผืนนี้มาคลุมใจด้วย นั่นคือหลักการแห่งอิสลามซึ่งครอบคลุมทุกรายละเอียดของชีวิต[12]
       ประเด็นที่สี่ “ความเหมาะสมระหว่างเพศและสาขาวิชาที่เรียน”
       ประเด็นนี้เป็นประเด็นที่ต่อเนื่องจากเรื่องฮิญาบ ซึ่งเป็นข้อสังเกตจากผู้ที่พอรู้จักวิถีมุสลิมอยู่บ้าง รวมทั้งผู้ที่เป็นนักศึกษามุสลิมด้วยกัน ที่ตั้งข้อสังเกตว่ามันควรหรือที่ผู้หญิงมุสลิมจะมาเรียนในคณะที่ควรเป็นงานของผู้ชาย เพื่อควบคุมงานกลางแจ้งในอนาคต มันควรเป็นหน้าที่ของผู้ชายมากกว่า ในสาขานี้ส่วนใหญ่จะมีแต่ผู้ชายเรียนกันซะมากกว่า แล้วถ้าตามความเข้าใจนี้แสดงว่าความเป็นอิสลามได้จำกัดสิทธิของผู้เป็นมุสลิมในการประกอบอาชีพเช่นนั้นหรือ
       อันที่จริงอิสลามมิได้ห้ามสตรีประกอบอาชีพ เธอย่อมมีสิทธิ์ที่จะทำงานเมื่อมีความต้องการ และการเลือกประเภทของงานที่เหมาะสมกับประสบการณ์ความสามารถ และคุณวุฒิของเธอ นอกจากนั้นอิสลามก็มิได้ห้ามสตรีทำการศึกษาและประกอบอาชีพ ในสมัยที่ศาสดายังมีชีวิตอยู่นั้น มีสตรีที่มีบทบาทสำคัญในกองทัพ โดยทำหน้าที่ให้การรักษาพยาบาลทหาร ผู้บาดเจ็บ นอกเหนือจากการปรุงอาหารให้เหล่าทหารหาญที่ทำการสู้รบอีกด้วย อย่างไรก็ดีจะต้องแยกแยะกฎหมายอิสลามซึ่งปกป้องและคุ้มครองความมีศักดิ์ศรี ความปลอดภัยของสตรีออกจากจารีต ประเพณีที่มีมาในยุคก่อนอิสลาม ประเพณีดังกล่าวนั้นกีดกันมิให้ผู้หญิงได้รับการศึกษาหรือมีส่วนร่วมในการประกอบกิจการใดๆ อันที่จริงแล้วอิสลามให้เกียรติแก่สตรี และให้พวกเธอเสรี และเสริมสร้างบุคลิกภาพของตนเอง เพื่อที่จะได้อบรมดูแลบุตร ธิดา ได้อย่างถูกวิธี ทั้งนี้สตรีจะได้มีบทบาทในการร่วมพัฒนาสังคมต่อไปตลอดกาล[13]
 
       จากประเด็นที่ยกมาทั้งสี่ประเด็นรวมทั้งคำอธิบายที่นำมาพอเป็นสังเขป พอจะสะท้อนตัวตนแห่งวิถีมุสลิม หรือที่เรียกว่าอัตลักษณ์ของนักศึกษามุสลิมได้พอสมควร ทุกการปฏิบัติที่ยึดโยงกับความเชื่อในวิถีแห่งตนเป็นสิ่งที่ทุกผู้คนต้องตระหนัก เพราะเป็นประเด็นที่ค่อนข้างอ่อนไหว หากละเลยที่จะสร้างความเข้าใจ อาจกลายเป็นเรื่องที่อาจลุกลามบานปลายได้ในท้ายที่สุด และหากมองในแง่ร้ายที่สุดว่าอาจถึงขั้นที่ต้องเลือกระหว่างความเป็นนักศึกษากับวิถีแห่งมุสลิมอย่างใดอย่างหนึ่ง ไม่ว่านักศึกษามุสลิมผู้นั้นจะเลือกทิศทางใด ย่อมไม่เป็นผลดีต่อตัวนักศึกษาผู้นั้นทั้งสิ้น หากประตูที่เลือกคือการเป็นนักศึกษา แล้วต้องสละวิถีที่แสดงถึงอัตลักษณ์ความเป็นตัวตนไปคงไม่ดีแน่ แต่ถ้าประตูที่จะเลือกคือวิถีที่แสดงความเป็นตัวตนของตน แต่ต้องยุติบทบาทของนักศึกษาไป แล้วใครจะเป็นผู้รับผิดชอบต่ออนาคตของนักศึกษาผู้นั้นหละ ยิ่งกว่านั้นถ้าบุคลากรที่จะถูกผลิตสู่สังคมต้องขาดหายไป หรือถ้าเป็นความหวังของครอบครัวที่รอคอยหละ ใครจะสามารถรับผิดชอบได้
       ดังนั้นประตูสู่ความหวังที่จะสามารถเป็นทางออกที่จะรักษาสถานภาพของการเป็นนักศึกษาที่ดี และผู้รักษาวิถีมุสลิมที่ควรยกย่อง จุดเริ่มต้นคือการที่ทุกฝ่ายจะต้องเรียนรู้ที่จะสร้างความเข้าใจด้วยใจจริง สังคมอุดมศึกษาอันเป็นสังคมอุดมปัญญา น่าจะสามารถเข้าใจความต่างของกันและกันได้หากมีคำอธิบายที่เพียงพอ และมีการสื่อสารกันด้วยความจริงใจและตั้งใจที่จะเข้าใจ หากแต่น่าเสียดายที่เมื่อมีความต่าง บ่อยครั้งมักนำไปสู่ความแปลกแยกและไม่ยอมทำความเข้าใจกัน ไม่แม้แต่จะแสวงจุดร่วมสงวนจุดต่าง อีกทั้งไม่ยอมแสวงความเข้าใจในจุดต่างเพื่อสร้างการอยู่ร่วมที่เข้าใจ  
              
ประตูอยู่ที่ความเข้าใจ
       ทัศนะหนึ่งที่มีมากในสังคมและได้ทำให้ความขัดแย้งลุกลามไปสู่ความรุนแรง คือการมองตื้น นึกใกล้ และใจแคบ อันได้แก่ การที่มองแค่เหตุของความขัดแย้งอย่างผิวเผิน การละเลยรากของความขัดแย้ง การมองแต่ผลประโยชน์ของตนเป็นที่ตั้ง โดยไม่สนใจผลกระทบที่มีต่อคนอื่น การไม่ยอมรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่นที่ต่างจากความคิดเห็นของตน
       ดังนั้นหากจะทำให้ความขัดแย้งกลายเป็นสิ่งสร้างสรรค์ ความขัดแย้งที่ไม่กลายเป็นเหตุแห่งความรุนแรง ทัศนะที่ควรมีและปลูกฝังคือ การมองลึก-นึกไกล-ใจกว้าง อันได้แก่ การพิจารณาที่มาที่ไปของข้อขัดแย้งทุกๆบริบท ทั้งสิ่งที่เห็น ทั้งสิ่งที่มาจากรากที่ลึกกว่า ไม่ว่าจะเป็นผลจากโครงสร้างของสังคมหรือวัฒนธรรมที่สืบทอดกันมา การมองผลกระทบที่มีต่อผู้อื่นและการเปิดใจรับฟังผู้ที่มีความคิดเห็นแตกต่างจากตนด้วยความเต็มใจและจริงใจ[14]
       จากปัญหาความไม่สงบในพื้นที่ของสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา ภาพที่ถูกมองของมุสลิมในสามจังหวัดชายแดนใต้จากผู้คนในสังคมที่ไม่ได้ใกล้ชิด เป็นภาพของคนที่สร้างปัญหา ก่อกวน เอาแต่ได้ ไม่เคารพกฎหมาย อีกทั้งมนุษย์โดยปกติทั่วไปย่อมมีอคติที่เข้าข้างตนเอง เข้าข้างพวกพ้อง และอคติก็เป็นตัวที่ทำให้เสียความยุติธรรม ไม่ว่าอคตินั้นมาจากความรัก ความเกลียดชัง ความหวาดกลัว การไม่รู้ข้อมูลที่ชัดเจน ท้ายสุดกลายเป็นภาพแบบฉบับตายตัวการสรุปเหมารวม(stereotype)[15] ที่มองอย่างเหมารวมต่อมุสลิมในสามจังหวัดชายแดนใต้ในแง่ไม่ดีนัก นักศึกษามุสลิมที่มาจากพื้นที่ดังกล่าวย่อมถูกมองด้วยภาพแบบนั้นเช่นกัน บวกกับระเบียบประเพณีและข้อปฏิบัติที่นักศึกษาส่วนใหญ่ยึดถือ แต่สิ่งนั้นค้านกับหลักวิถีแห่งมุสลิมอันเป็นอัตลักษณ์ในนักศึกษากลุ่มนี้ ที่ทำให้พวกเขาลำบากที่จะร่วมมือในการทำกิจกรรมร่วมบางอย่าง  เพราะการเข้าร่วมจะหมิ่นเหม่กับการผิดหลักศาสนา แต่ถ้าไม่เข้าร่วมก็อาจถูกกล่าวหาจากเพื่อนที่ไม่เข้าใจวิถีมุสลิม ภาวะเช่นนี้ย่อมสร้างความขัดแย้งในตัวนักศึกษามุสลิมเองด้วย    
       ปัญหาเหล่าส่วนหนึ่งมาจากความไม่เข้าใจกัน หรือไม่มีการสื่อสารทำความเข้าใจกันที่ดีพอ หากมองในแง่ของการสื่อสารอันประกอบไปด้วย ผู้ส่งสาร ตัวเนื้อความของสาร ช่องทางในการสื่อสาร และตัวผู้รับสาร ปัญหาของความไม่เข้าใจเกิดได้จากทั้งสี่ช่องทาง และทางออกก็สามารถเกิดได้จากทั้งสี่ช่องทางนี้เช่นกัน แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดคือการทำให้ผู้ส่งสารซึ่งในที่นี้คือนักศึกษามุสลิมจากสามจังหวัดชายแดนาคใต้ กับผู้รับสารอันได้แก่เพื่อนๆต่างศาสนิก รวมทั้งบุคลากรภายในสถาบันการศึกษา สามารถมีความเข้าใจในวิถีทีแตกต่างและขีดจำกัดบางอย่างได้อย่างชัดเจน ถ้าพอจะสลายความอคติจากความไม่เข้าใจเหล่านี้ลงได้ มันอาจจะง่ายขึ้นในการจัดการกับปัญหาต่างๆที่เกิดขึ้น และง่ายที่จะทำความเข้าใจและเห็นใจกันและกัน
        นับว่าเป็นโอกาสในวิกฤต อันเนื่องจากปัญหาความไม่สงบในพื้นที่ของสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ทำให้เริ่มมีการศึกษาและทำความเข้าใจที่เปิดกว้างเกี่ยวกับวิถีและอัตลักษณ์ของผู้คนในพื้นที่นี้  ทั้งนี้ในรั้วรอบขอบชิตของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่นี่ก็เช่นกัน หากเราตระหนักว่าทุกชั้นปี ทุกคณะ ทุกภาควิชา ไม่ว่าจะมีถิ่นฐานบ้านเกิดมาจากไหน ไม่ว่าจะมีพื้นฐานความเชื่อใดก็ตามแต่ เราเป็นพี่น้องผองเพื่อนกัน มีศักดิ์ศรีแห่งความเป็นมนุษย์ที่ทัดเทียมกัน ไม่ว่าจะเป็นโชคชะตาหรือฟ้ากำหนดที่ทำให้ต้องได้มีปฏิสัมพันธ์ต่อกัน ได้พบเจอกัน มาอยู่ร่วมกัน ความเข้าใจต่อกันและกันโดยเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมบนความต่างด้วยความเข้าใจกัน ในสังคมพหุวัฒนธรรมเล็กๆนี้ อันเกิดจากการประสานร่วมมือของทุกคนทุกฝ่าย จะเป็นดังสนามที่ฝึกฝนบุคลากรอันคงไว้ซึ่งคุณลักษณ์อันเปี่ยมไปด้วยคุณวุฒิและคุณธรรม เพื่อออกไปสู่โลกกว้างที่เต็มไปด้วยความหลากหลายที่มากกว่าได้อย่างไม่มีขอบเขตจำกัดใดๆ        
  
-----------------------------------------------------------------
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
บรรณานุกรม
 
กาญจนา แก้วเทพ. 2552. การวิเคราะห์สื่อแนวคิดและเทคนิค. กรุงเทพฯ: ศูนย์หนังสือ
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
 
จรัล มะลูลีม. 2541. อิสลาม ความหมายและคำสอน. กรุงเทพฯ: อิสลามิคอะเคเดมี.
 
บรรจง บินกาซัน. 2546. อิสลามสำหรับผู้เริ่มสนใจอิสลาม. พิมพ์ครั้งที่6 กรุงเทพฯ: ศูนย์
หนังสืออิสลาม.
 
_____________ 2547. สารานุกรมอิสลามฉบับเยาวชนและผู้เริ่มสนใจ. พิมพ์ครั้งที่2.
กรุงเทพฯ: อัล อะมีน
 
ประเวศ วะสี. 2545. สันติวิธีกับสิทธิมนุษยชน. กรุงเทพฯ : สำนักงานคณะกรรมการสิทธิ
มนุษยชนแห่งชาติ.
 
มหาหรรษา ธมฺมหาโส, พระ.2546. รูปแบบแผนปฏิบัติการสันติวิธีเชิงพุทธ: ศึกษากรณีการแก้ไขความขัดแย้งของชาวศากยะและชาวโกลียะ. กรุงเทพฯ: มหาจุฬาลงกรราชวิทยาลัย.
 
มัสลัน มาหะมะ(บรรณาธิการ). 2551. อิสลาม วิถีแห่งชีวิต. สถาบันวิจัยระบบสุขภาพภาคใต้
มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
 
โยฮัน กัลตุง.  2538. พุทธสันติวิธี: ทฤษฎีเชิงโครงสร้าง. แปลโดย สมชาย เย็นสบาย.
กรุงเทพฯ: ปาจรยสาร.
 
 ว. วชิรเมธี. 2552.มองลึก นึกไกล ใจกว้าง. พิมพ์ครั้งที่ 6. กรุงเทพฯ: ปราณ พับลิชชิ่งจำกัด.
 
เสน่ห์ จามริก. 2545. สิทธิมนุษยชน เส้นทางสู่สันติประชาธรรม. กรุงเทพฯ : สำนักงาน
คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
 
อบุล อะลา เมาดูดี. 2548. มาเข้าใจอิสลามกันเถอะ. แปลโดย บรรจง บินกาซัน. กรุงเทพฯ: ศูนย์
หนังสืออิสลาม.
 
อภิญญา เฟื่องฟูสกุล.2546. อัตลักษณ์ (Identity) การทบทวนทฤษฎี และกรอบแนวคิด.
กรุงเทพฯ : สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ
 
ฉลาดชาย รมิตานนท์. “อัตลักษณ์ วัฒนธรรม และการเปลี่ยนแปลง.” [ออนไลน์].
จาก http://www.soc.cmu.ac.th/~wsc/data/Identity28_3_05.pdf   
 
ชมรมนักวิชาการปทุมธานี. “วงจรแห่งจริยธรรม” [ออนไลน์]. เข้าถึงเมื่อ: 14 กุมภาพันธ์ 2553..
จาก
 
นัทธนัย ประสานนาม. “เพศ ชาติพันธุ์ และปัญหาเกี่ยวกับอัตลักษณ์ ในภาพยนตร์เรื่อง Touch of
Pink.” [ออนไลน์]. เข้าถึงเมื่อ: 14 กุมภาพันธ์ 2553.  
 
มะห์มูด ฮัมดี ซักซูก. "การศึกษาความรู้นั้นเป็นหน้าที่เหนือมุสลิมทั้งชายและหญิง." [ออนไลน์].
เข้าถึงเมื่อ: 14 กุมภาพันธ์ 2553.
จาก
 
มุรีด ทิมะเสน. “ ทำไมมุสลิมจึงทำไม่ได้ ” [ออนไลน์]. เข้าถึงเมื่อ: 14 กุมภาพันธ์ 2553.   
 
___________  “ทำไมมุสลิมจึงร่วมประเพณีรับน้องใหม่ไม่ได้” [ออนไลน์]. เข้าถึงเมื่อ: 14
            กุมภาพันธ์ 2553. จาก http://www.mureed.com/article/Sotus.doc
 
มูฮัมหมัดรอฟีอี มูซอ. “การจัดการความขัดแย้งในวิถีมุสลิมไทย.” [ออนไลน์]. เข้าถึงเมื่อ: 14
กุมภาพันธ์ 2553.  
จาก
 
อิสมาอิล ลุตฟี จะปะกียา. “อิสลามศาสนาแห่งสันติภาพ.” [ออนไลน์]. เข้าถึงเมื่อ: 5 กุมภาพันธ์
 
 “ฮิญาบคืออะไร.” [ออนไลน์]. เข้าถึงเมื่อ: 14 กุมภาพันธ์ 2553.  
 
 
 
 


[1]ชมรมนักวิชาการปทุมธานี. วงจรแห่งจริยธรรม[ออนไลน์].
จาก http://www.islammore.com/main/content.php?page=sub&category=46&id=1428
[2]คัดลอกจากหนังสือ ทำไมมุสลิมจึงทำไม่ได้ ของ อ.มุรีด ทิมะเสน [ออนไลน์].
จาก http://www.mureed.com/article/teacherday.htm   
[3]นัทธนัย ประสานนาม. เพศ ชาติพันธุ์ และปัญหาเกี่ยวกับอัตลักษณ์ ในภาพยนตร์เรื่อง Touch of Pink.” [ออนไลน์].
[4]ฉลาดชาย รมิตานนท์. อัตลักษณ์ วัฒนธรรม และการเปลี่ยนแปลง.” [ออนไลน์].
จาก http://www.soc.cmu.ac.th/~wsc/data/Identity28_3_05.pdf             
[5]ประเวศ วะสี. 2545. สันติวิธีกับสิทธิมนุษยชน. หน้า 23
[6]อิสลาม วิถีแห่งชีวิต. หน้า 36
[7]บรรจง บินกาซัน.  อิสลามสำหรับผู้เริ่มสนใจอิสลาม. หน้า 45
[8] อิสลาม วิถีแห่งชีวิต. หน้า 70
[9]คัดลอกจากหนังสือ ทำไมมุสลิมจึงทำไม่ได้ ของ อ.มุรีด ทิมะเสน [ออนไลน์].
จาก http://www.mureed.com/article/teacherday.htm     
[10]มุรีด ทิมะเสน ทำไมมุสลิมจึงร่วมประเพณีรับน้องใหม่ไม่ได้” [ออนไลน์].
[11]เพิ่งอ้าง.
[12]ฮิญาบคืออะไร” [ออนไลน์].
จาก http://banatulhuda.googlepages.com/hijab_is   
[13]มะห์มูด ฮัมดี ซักซูก.  "การศึกษาความรู้นั้นเป็นหน้าที่เหนือมุสลิมทั้งชายและหญิง" [ออนไลน์].
[14]โปรดพิจารณา ว. วชิรเมธี. มองลึก นึกไกล ใจกว้าง. หน้า 19-20
[15]โปรดพิจารณา กาญจนา แก้วเทพ. การวิเคราะห์สื่อแนวคิดและเทคนิค. หน้า 38-39