Skip to main content
สานเสวนาเพื่อแลกเปลี่ยนปัญหาและทางออกระหว่างนักการเมืองจังหวัดชายแดนใต้ ครั้งที่ 24
การประชุมร่วมกับกรรมการสภาประชาสังคมชายแดนใต้
วันจันทร์ที่  8 มิถุนายน 2558
ณ สถาบันอิสลามและอาหรับศึกษา มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์
 

ผู้ร่วมสานเสวนา: นักการเมืองจากพรรคประชาธิปัตย์ พรรคเพื่อไทย พรรคภูมิใจไทย  นักการเมืองท้องถิ่น อดีตนักการเมือง กรรมการสภาประชาสังคมชายแดนใต้ เจ้าหน้าที่สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา และเจ้าหน้าที่จากศูนย์สันติวิธี จชต. มหาวิทยาลัยมหิดล

เป้าหมาย: เพื่อเปิดพื้นที่ให้นักการเมืองและภาคประชาสังคมในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้แลกเปลี่ยนปัญหาและหาทางออกร่วมกัน เพื่อลดความรุนแรงและส่งเสริมให้เกิดสันติสุขในจังหวัดชายแดนภาคใต้

กรรมการสภาประชาสังคมชายแดนใต้นำเสนอว่าสภาประชาสังคมฯ เป็นการรวมตัวขององค์กรประมาณ 20 องค์กร ซึ่งเป็นการเคลื่อนไหวของคนในพื้นที่เพื่อแก้ไขปัญหาของพื้นที่  และมารวมตัวกันเป็นสภาฯ เพื่อพัฒนายุทธศาสตร์ร่วมกัน ปัจจุบัน ภาคประชาสังคมได้เติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง อันประกอบด้วยองค์กรกว่าร้อยองค์กร โดยเฉพาะกลุ่มเยาวชน กลุ่มผู้หญิง กลุ่มสื่อสาร ฯลฯ นอกจากนี้ยังมีองค์กรระหว่างประเทศ ทูตานุทุต และแหล่งทุน ที่ให้ความสนใจในปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้จำนวนมาก อย่างไรก็ดี สภาประชาสังคมฯ ยังควรประสานงานให้มากขึ้นกับผู้นำศาสนา กลุ่มเยาวชนและนักศึกษา และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เป็นต้น ในเรื่องการทำงานให้สอดคล้องและเสริมแรงกันระหว่างภาคประชาสังคมและภาคการเมืองนั้น ที่ประชุมมีข้อเสนอดังนี้

1) การทำงานของภาคประชาสังคมและภาคการเมืองควรรวมศาสนิกทุกฝ่าย

2) การดำเนินการเพื่อเสรีภาพนั้นน่าจะดำเนินการด้วยจิตใจที่รักเสรีภาพ โดยปลดปล่อยตนเองจากพันธนาการ รวมทั้งสามารถคิดและเรียนรู้ในเชิงบวก

3) ในการขับเคลื่อนประเด็นต่าง ๆ ควรมียุทธศาสตร์ที่มีประสิทธิผล ซึ่งบางเรื่องภาคประชาสังคมอาจเป็นผู้นำประเด็น ส่วนบางเรื่องภาคการเมืองโดยเฉพาะการเมืองท้องถิ่นซึ่งเข้าใจปัญหาและคลุกคลีอยู่กับประชาชนอาจเป็นผู้นำประเด็น อย่างไรก็ดี การที่ฝ่ายรัฐมุ่งเน้นที่ความร่วมมือกับฝ่ายศาสนานั้น อาจช่วยแก้ปัญหาทางสังคมได้ดี แต่ไม่สันทัดเรื่องการเมือง ยิ่งกว่านั้น ประเด็นศาสนาอาจถูกนำมาปลุกเร้าให้เป็นประเด็นขัดแย้ง ซึ่งถ้าไม่ระวังจะมีการตอบโต้ และการขยายวง ทำให้คลี่คลายปัญหาได้ยากขึ้น

4) ในภาคประชาสังคม มีคนรุ่นใหม่ซึ่งมีความกล้าที่จะแสดงออกมากขึ้น และมีความตั้งใจจริงที่จะให้เกิดสันติภาพ เช่น การจัดเวทีของวิทยาลัยประชาชน เพื่อเสนอวิสัยทัศน์และภาพอนาคตสู่สังคมสันติสุข ใน 5 ปีข้างหน้าอย่างตรงไปตรงมา

5) การเติบโตของภาคประชาสังคมเป็นเรื่องดี ปัจจัยหนึ่งที่เอื้อคือการที่ภาคการเมืองยังไม่เป็นระบบเท่าที่ควร อย่างไรก็ดี ภาคประชาสังคมก็จำเป็นต้องใช้เงิน เรื่องที่ต้องระวังคือ การมีที่มาของแหล่งทุนที่โปร่งใส และไม่มีเงื่อนไขให้ต้องทำงานเพื่อสนองตอบต่อแหล่งทุนโดยไม่คำนึงถึงความต้องการที่เป็นจริง

6) ภาคการเมืองและภาคประชาสังคมต่างก็มีบทบาทที่สำคัญ และไม่สามารถมีบทบาทแทนกันได้ อย่างไรก็ดี ทั้งสองควรศึกษาบทบาทซึ่งกันและกัน ซึ่งอาจนำไปสู่การมียุทธศาสตร์ที่สอดคล้องกันได้ โดยเฉพาะยุทธศาสตร์เพื่อสันติภาพและการพัฒนาของจังหวัดชายแดนภาคใต้

ในประเด็นสำคัญเรื่องกระบวนการพูดคุย สันติภาพ/สันติสุข ที่หวังว่าจะนำไปสู่การอยู่ร่วมกัน โดยมีระบบทางการเมืองที่ไม่ใช้ความรุนแรงนั้น ที่ประชุมมีข้อคิดเห็นดังนี้

1) การแก้ปัญหาต้องแก้ด้วยการเมือง อย่างไรก็ดี การเมืองในประเทศไทยยังขาดความเป็นระบบ ดังนั้น หลายฝ่ายควรช่วยกันขับเคลื่อนกระบวนการพูดคุยสันติภาพ/สันติสุข และรัฐควรเปิดกว้างให้มีตัวแทนหลายฝ่ายในกระบวนการดังกล่าว เช่น ควรมีตัวแทนของภาคประชาสังคม ภาคการเมืองรวมทั้งภาคการเมืองท้องถิ่น หรืออย่างน้อย อาจเริ่มที่การมีตัวแทนที่มีการคัดสรรโดยประชาชนเข้าร่วมในคณะผู้เจรจาพูดคุยที่เป็นทางการด้วย

2) ภาคการเมืองและภาคประชาสังคมควรพัฒนาความรู้และทักษะในเรื่องกระบวนการพูดคุยสันติภาพ เพื่อจะได้สามารถมีส่วนร่วมในกระบวนการดังกล่าวบนพื้นฐานทางของความรู้มากขึ้น

3) ภาคประชาสังคม และภาคการเมืองโดยเฉพาะการเมืองท้องถิ่น ควรพัฒนาความเข้มแข็งโดยมีจุดมุ่งหมายที่ให้ความสำคัญลำดับต้น ในการต่อรองกับผู้มีอำนาจ และการนำเสนอความต้องการของคนพื้นที่ได้อย่างเป็นอิสระ

4) ที่มาประการหนึ่งของความไม่สงบคือ การที่ประชาชนไม่ได้รับความเป็นธรรมจากเจ้าหน้าที่รัฐบางส่วน รัฐจึงควรเร่งแก้ไขโดยให้ความเป็นธรรมอย่างเท่าเทียมกันแก่ทุกคน ตัวอย่างหนึ่งคือ ยังมีเจ้าหน้าที่ของรัฐบางคนที่ยังใช้วิธีการใส่ร้ายอันเป็นเท็จต่อนักการเมืองบางคน ซึ่งสร้างบรรยากาศความไม่ไว้วางใจระหว่างกัน

5) มีการเคลื่อนไหวในเรื่องการพูดคุยสันติภาพ/สันติสุข เช่น เกิดมีการรวมตัวเป็นกลุ่ม MARA Patani มีการเดินทางของตัวแทนคณะพูดคุยฝ่ายรัฐไปติดต่อกับฝ่ายมาเลเซีย ซึ่งหากมีความคืบหน้าประการใดควรแจ้งให้สาธารณชน ที่เฝ้ารอคอยความคืบหน้าและมุ่งหวังให้เกิดสันติสุขได้ทราบด้วย