Skip to main content


 

 

หมายเหตุ : ข้อเขียนนี้ เป็นบันทึกกึ่งงานสัมภาษณ์ของ อลิสา หาสาเมาะ อาจารย์แผนกวิชาพัฒนาสังคม ภาควิชาสังคมศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์วิทยาเขตปัตตานี ต่อการเสียชีวิตของ มะหะหมัดอามีน ซาริคาน หรือ "มะมิง" ผู้ใหญ่บ้านผู้มีบุคลิกพิเศษแห่งชุมชนบ้านรือเสาะ ซึ่งเป็นบุคคลที่เธอคุ้นเคยตั้งแต่ยังเป็นนิสิตปริญญาโท คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย



           การเสียชีวิตของ นายมะหะหมัดอามีน ซาริคาน หรือ "มะมิง" ผู้ใหญ่บ้านพร้อมกับผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน นายอารง มะงง แห่งชุมชนบ้านรือเสาะ อ.รือเสาะ จ.นราธิวาส ที่ถูกคนร้ายลอบยิงระหว่างการเดินไปเฝ้าเวรยามโรงเรียนบ้านบูลากาในชุมชนของเขาเอง เมื่อวันที่ 5 เมษายน 2550 ที่ผ่านมา เพื่อเฝ้าระวังไม่ให้ตกเป็นเหยื่อกลุ่มคนร้ายที่มักลอบเผาโรงเรียนในรอบครึ่งปีที่ผ่านมาอยู่บ่อยครั้ง

ความคุ้นเคยและผูกพันกับ "มะมิง" ที่มีมาตั้งแต่ครั้งลงพื้นที่ทำวิจัยตั้งแต่ยังเป็นนิสิตปริญญาโท ได้จุดประกายให้ .อลิสา หาสาเมาะ แห่งคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี เขียนบทสัมภาษณ์กึ่งบันทึกย้อนความสูญเสียครั้งสำคัญยิ่งของชาวชุมชนรือเสาะ และอาจหมายรวมถึงพี่น้องใน สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่โหยหาสันติสุข โดยหวังว่าบันทึกนี้น่าจะเป็นการถอดบทเรียนเพื่อนำไปสู่การจัดทำคู่มือในการดูแลปกป้องตัวเองและผู้อื่นในอนาคตท่ามกลางสถานการณ์ความขัดแย้งที่หนักหนาอยู่ในขณะนี้


ระลึกถึง "มะมิง"

ดิฉันรู้จักกับผู้ใหญ่บ้านอยู่แล้วเนื่องจากพื้นเพเดิมของตัวเองเป็นคนรือเสาะ และผู้ใหญ่ยังเป็นคนหนึ่งที่ช่วยดิฉันหาจำนวนประชากรครัวเรือนให้กับดิฉันตอนที่กำลังทำวิจัยขณะที่ยังเป็นนิสิตปริญญาโท ในบ้านมีภรรยา ลูกชายคนโตและลูกสาว โดยลูกชายคนโตรับหน้าที่เป็นคนเล่าเรื่องราวต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นให้ฟัง โดยมีแม่และน้องสาวคอยนั่งเสริมประเด็นต่างๆ อยู่ข้างๆ ซึ่งในระหว่างที่นั่งสัมภาษณ์ลูกสาวก็เสิร์ฟน้ำหวานให้กับดิฉันพร้อมทั้งเพื่อนๆ ที่มาช่วยสัมภาษณ์ด้วยกัน

"ผู้ใหญ่บ้านชื่อเต็มว่า มาหะหมัดอามีน ซาริคาน หรือโดยทั่วไปแล้วจะถูกเรียกว่า ผู้ใหญ่บ้าน"มะมิง" เป็นชาวมุสลิมเชื้อสายปากีสถาน อายุ 50 ปี มีภรรยา 2 คน และมีลูกทั้งหมด 5 คน ตอนนี้คนเล็กสุดเป็นเพศชาย อายุได้ 1 ปี 4 เดือน ซึ่งได้ตั้งรกรากอยู่ในชุมชนแห่งนี้เป็นเวลานานแล้ว และได้รับความไว้วางใจจากชุมชนจนให้เป็นผู้ใหญ่บ้านคอยดูแลเรื่องราวต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น"

ด้วยบุคลิกที่โดดเด่นเนื่องจากเป็นคนรูปร่างใหญ่ แต่เป็นคนจริงจังก็มักจะเป็นตัวแทนของชาวบ้านที่ ออกให้ความเห็นกับสื่อสาธารณะและงานเวทีวิชาการต่าง ๆ อยู่เสมอเกี่ยวกับสถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ บุคลิกพิเศษอีกอย่างหนึ่งก็คือ เมื่อแสดงความคิดเห็นในเวทีสาธารณะก็มักจะเล่าเรื่องราวของตัวเองที่มีเพื่อนฝูงมากมายนับถือศาสนาพุทธและมีความรู้เกี่ยวกับศาสนาเปรียบเทียบเป็นอย่างดี

ลูกชายคนโตเล่าให้ฟังว่า "วันนั้น...เวลาประมาณ 2 ทุ่ม ได้ยินเสียงปืนจากด้านนอกอยู่ใกล้ๆ บริเวณบ้าน และนึกถึงผู้ใหญ่จึงได้โทรศัพท์ไปหา โทรไปก็เจอผู้ใหญ่และผู้ใหญ่ก็บอกว่าถูกยิง แต่ผู้ช่วยโดนหนักกว่า หลังจากนั้นก็ได้ไปโรงพักกับอำเภอ พอแจ้งความแจ้งเรื่องเสร็จแล้วก็ไปพร้อมกับอำเภอ"

เหตุที่ผู้ใหญ่บ้านถูกยิงตรงช่วงระหว่างทางที่จะไปเฝ้าโรงเรียนบ้านบาลูกา เนื่องจากในช่วงประมาณ 5-7 เดือนที่ผ่านมาในจังหวัดชายแดนภาคใต้ มักมีเหตุการณ์เผาโรงเรียนอยู่บ่อย ๆ ผู้ใหญ่บ้านและผู้ช่วยผู้ใหญ่ บ้านจึงมีหน้าที่ออกไปเฝ้าโรงเรียนด้วยกันช่วงหลังละหมาด "อิซา" เวลาประมาณ 2 ทุ่ม โดยผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านจะขับมอเตอร์ไซต์มาเรียกที่บ้านและออกไปพร้อม ๆ กัน ซึ่งการเฝ้าเวรยามโรงเรียนแต่ละครั้งจะมีทีมรักษาความปลอดภัยร่วมกันทั้งหมด 5 คน

ผู้ใหญ่บ้านและผู้ช่วยถูกดักซุ่มยิงระหว่างทางโดยกลุ่มคนร้ายไม่ทราบจำนวน แต่จากการสอบถามเพื่อนบ้านบางคนบอกว่า น่าจะมีประมาณทั้งหมด 8 คน บริเวณจุดเกิดเหตุด้านหนึ่งเป็นกุโบร์ (สุสาน) และอีกด้านหนึ่งเป็นสวนยาง ซึ่งข้างสวนยางจะมีเนินเตี้ย ๆ และถนนเป็นถนนเส้นเดียวพอให้รถสามารถสวนผ่านไปมาได้ซึ่งมีลักษณะเป็นทางโค้ง เหตุการณ์ดังกล่าวขณะที่ผู้ใหญ่บ้านและผู้ช่วยขับรถมอเตอร์ไซต์และใกล้จะถึงโรงเรียน คนร้ายได้ยิงผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านจนมอเตอร์ไซด์คว่ำลงและยิงซ้ำด้วยอาวุธหลายชนิดซึ่งปรากฏเป็นบาดแผลฉกรรจ์ ตามใบหน้า ลำตัว ต้นขา

ส่วนผู้ใหญ่บ้าน "มะมิง" ถูกยิงด้วยลูกซองซึ่งกระจายออกเป็นกระสุนเม็ดเล็กๆ 9-10 นัดเข้าทางก้น ซึ่งชาวบ้านสันนิษฐานว่า น่าจะเกิดจากการที่ผู้ร้ายนอนราบอยู่กับพื้นและยิงขึ้นมาและในคืนเดียวกันนั้นเองก็มีการวางตะปูเรือใบเต็มท้องถนน เพื่อสกัดไม่ให้สามารถไปโรงพยาบาลนราธิวาสได้ทัน ซึ่งปกติการเดินทางไปโรงพยาบาลนราธิวาสก็ไม่สะดวกอยู่แล้ว เนื่องต้องเดินทางโดยรถไฟและต่อด้วยรถสองแถว ประกอบกับอุปกรณ์ทางการแพทย์ยังไม่ทันสมัยเท่ากับโรงพยาบาลยะลา

ผู้ใหญ่ "มะมิง" ในขณะนั้นยังมีสติและได้โทรศัพท์ไปบอกกับคนที่รู้จักเกือบทุกคนว่าถูกยิง จากนั้นได้ถูกส่งตัวไปที่โรงพยาบาลรือเสาะเป็นอันดับแรก ยังสามารถเดินหรือพูดคุยได้เหมือนเป็นปกติ แต่ก็มีอาการหายใจไม่ค่อยสะดวกมากนัก อาการของผู้ใหญ่ "มะมิง" ในตอนแรกจึงดูเหมือนปกติ เมื่อทำการเอ็กซเรย์ก็พบตะกั่วลูกเล็กๆ ฝังอยู่ในตัว 2 ลูก จึงต้องพักรักษาที่โรงพยาบาลรือเสาะเป็นเวลา 1 คืน

จนกระทั่งเวลา 9 โมงเช้า "มะมิง" ถูกส่งต่อไปยังโรงพยาบาลยะลา ซึ่งเขายังสามารถเดินขึ้นรถได้เอง เมื่อเอ็กซเรย์เพิ่มเติมอีก 4-5 จุดจึงพบว่าในตัวของเขามีกระสุนฝังอยู่มากและโดนจุดสำคัญคือบริเวณช่องท้องจึงทำให้หายใจไม่ค่อยสะดวก การมีโรคประจำตัวคือเบาหวานและปริมาณน้ำตาลในเลือดเพิ่มขึ้นถึงระดับ 700 พร้อมๆ กับความดันโลหิต แพทย์จึงต้องรอให้ปริมาณน้ำตาลในเลือดลดลงก่อน จึงสามารถผ่าเอาลูกกระสุนปืนออกได้ ซึ่งผู้ใหญ่ "มะมิง" นอนรออาการอยู่ในห้องไอซียูทั้งคืนและยังสามารถพูดคุยได้ดี

จนกระทั่งเวลาประมาณ 3 ทุ่ม "มะมิง" มีอการหัวใจหยุดเต้นแต่แพทย์ก็สามารถปั๊มขึ้นมาใหม่ได้ แต่จากนั้นไม่นานหัวใจก็ค่อย ๆ หยุดเดินและจนเสียชีวิตราว 5 ทุ่ม ของวันที่ 6 เมษายน 2550 ซึ่งนายอำเภอรือเสาะจึงได้พากลับมาบ้านในเวลาเที่ยงคืนและมีการอาบน้ำศพ ญาติของ "มะมิง" ได้รับเงินเยียวยาจากรองผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาสเป็นจำนวนประมาณ 125,000 บาท (หนึ่งแสนสองหมื่นห้าพันบาท) คิดเป็น 25% จากเงินเยียวยาที่จะได้รับทั้งหมด 5 แสนบาท ข่าวของผู้ใหญ่บ้าน "มะมิง" ยังได้ปรากฏเป็นข่าวใน TITV

 

"อารง" เพื่อนร่วมชะตากรรม

สำหรับกรณีผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน "อารง มะงง" อายุ 55 ปี มีลูกทั้งหมด 3 คน คนโตเป็นผู้หญิงอายุ 25 ปี คนรองเป็นผู้หญิงอายุ 24 ปี และคนสุดท้ายเป็นผู้ชายอายุ 20 ปี และยังสมัครเป็นชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน (ชรบ.) ด้วย ทุกคนมีอาชีพการงานกันหมดแล้ว

จากการพูดคุยกับภรรยา น้องเขยและแม่ของ "อารง" กล่าวว่า ในช่วงเวลานี้โรงเรียนถูกเผาบ่อยจึงต้องไปเฝ้าโรงเรียน ทุก ๆ วันเป็นเวลาประมาณ 5-7 เดือนมาแล้ว ทุกวันหลังจากละหมาด"อีซา"ที่บ้าน จะขับมอเตอร์ไซต์ออกจากบ้านไป ระหว่างทางในวัน เกิดเหตุได้พบกับน้องชายและพูดคุยกันเล็กน้อย ก่อนไปรับผู้ใหญ่บ้าน "มะมิง" แล้วจึงเดินทางพร้อมกันไปยังโรงเรียนบ้านบาลูกาด้วยมอเตอร์ไซค์คนละคัน

คนรอบข้างของ "อารง" เล่าว่า เขาโดนนัดแรกที่หน้าซึ่งเมื่อรถล้ม ก็ถูกถล่มซ้ำบริเวณลำตัว บ่าขวา แขนขวา ขมับและต้นขาจนทำให้ขาหัก พร้อมกับเอาปืนที่มีอยู่ไป 2 กระบอก กระบอกหนึ่งอยู่ในกระเป๋าสะพายมีกระสุนลูกซองและปืน 9 มม. และบัตรต่าง ๆ ส่วนปืนยาวที่สะพายอยู่ญาติเล่าให้ฟังว่า ที่หน้าอกเหมือนมีรอยมีดเหมือนกับว่าคนร้ายฟันสายสะพายกระเป๋า แต่ทว่าไม่แน่ใจว่าปืนทั้งสองกระบอกนั้นหายไปช่วงใด เพราะในช่วงที่ทหาร - ตำรวจเข้ามาเคลียร์จุดเกิดเหตุ มีการกั้นไม่ให้เข้าใกล้ศพแม้แต่ญาติ หลังจากนั้นเจ้าหน้าที่จาก สภ.อ.รือเสาะ ได้เรียกภรรยาเข้าไปสอบสวนเพิ่มเติม แต่ก็ไม่ได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมโดยถามแค่ว่าสงสัยใครหรือไม่ แต่ในขณะเกิดเหตุภรรยารู้สึกตกใจมากจนไม่สามารถทำอะไรได้ ขาแข็งกระทั่งก้าวขาไม่ออก

มารดาของ "มะงง" ซึ่งน่าจะมีอายุไม่ต่ำกว่า 70 ปีกล่าวเพิ่มเติมว่า ช่วงเวลา 2 ทุ่มดังกล่าวได้ยินเสียงปืนจึงสันนิษฐานว่า น่าจะเป็นลูกชายของตนเจอเหตุการณ์จึงรุดไปโรงพยาบาลรือเสาะจนทราบว่าลูกตนเองเสียชีวิตคาที่ ตอนอยู่ที่ไปโรงพยาบาลนั้นยังเห็นผู้ใหญ่ "มะมิง" นอนคว่ำอยู่ แต่ลูกชายของตนเองไม่ได้มาด้วย มารดาผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านเล่าว่า เห็นรอยกระสุนที่ขาและศีรษะเหมือนเอาปืนมาจ่อ เห็นรอยแผลที่หน้าอกเหมือนกับผู้ร้ายใช้มีดตัดเอากระเป๋าสะพายไป มารดาของผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านกล่าวว่า ที่กล้าไปดูลูกชายซึ่งขณะนั้นไม่รู้ว่าเป็นตายร้ายดีอย่างไรนั้นเพราะ "ถึงเวลา ทำใจได้และจะไปให้ได้" ศพของผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านได้รับการอาบน้ำและฝังในวันเดียวกันนั้นเอง โดยขณะนี้ได้รับค่าเยียวยาแล้วเป็นเงิน 125,000 บาท (หนึ่งแสนสองหมื่นห้าพันบาท) คิดเป็น 25% จากเงินเยียวยาที่จะได้รับทั้งหมด 5 แสนบาท

ในวันเดียวกันนั้นเอง ได้เข้าไปสัมภาษณ์ชาวบ้านที่อยู่ในละแวกใกล้เคียงกับจุดเกิดเหตุกล่าวว่า ในตอนแรกได้ยินเสียงปืนก่อน 4 นัด จากนั้นก็ได้ยินเสียงรัวกระสุนในช่วงเวลาที่ข่าวภาคค่ำ (2 ทุ่ม) ทั้งสองครอบ ครัวกล่าวคล้ายกันเมื่อข้าพเจ้าถามว่า สงสัยใครไหม? โกรธใครหรือเปล่า? รู้สึกอย่างไร? คำตอบที่ได้คล้ายกันคือ "ถึงกำหนดของอัลเลาะห์เรียก ถึงเวลาตาย คนเราอยู่ที่ไหนก็ตาย...ถึงกำหนดของอัลเลาะห์ให้ตายคนละวัน คนละโรงพยาบาล"

สิ้น "มะมิง" แต่มีสิ่งใดให้คิดต่อ

นอกจากบันทึกเล่าการเสียชีวิตของเธอกับ "มะมิง" แล้ว อลิสาได้แสดงข้อคิดเห็นและข้อสังเกตบางประการเกี่ยวปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น ซึ่งเกี่ยวโยงทั้งฐานคิดที่มีต่อปรากฏการณ์ของประชาชนในพื้นที่, การทำงานของเจ้าหน้าที่รัฐ, ความขาดแคลนทางด้านงานสาธารณสุข, ความหวาดกลัวที่ปกคลุมได้ส่งผลต่อสายสัมพันธ์ภายในเครือญาติที่ต้องบกพร่องไปและภาวะของรัฐที่ล้มเหลวจนไม่มีใครที่กล้าทำงานเพื่ออาสารับใช้รัฐ

            เธอเห็นว่า ของญาติของผู้ใหญ่มะมิง สามารถทำใจกับการจากไปได้เนื่องจากคิดว่าการตายเป็นสิ่งที่พระเจ้า อัลเลาะห์เป็นผู้กำหนดไว้แล้ว ถึงเวลาตายก็ต้องตาย ถึงเวลาที่จะให้ตายคนละวัน และผู้ใหญ่มะมิงจะต้องไปตายที่โรงพยาบาลยะลา ซึ่งญาติของทั้งผู้ใหญ่บ้านและผู้ช่วยได้รับเงินเยียวยาเรียบร้อยแล้ว 25%

ในส่วนของการวินิจฉัยอาการของผู้ใหญ่มะมิงนั้น อลิสาเห็นว่า ในครั้งแรกยังไม่สมบูรณ์ เพราะมีการเอ็กซเรย์เพียงครั้งเดียวและหมอบอกว่าไม่เป็นอะไร ที่อึดอัดหายใจติดขัดมีการรักษาโดยให้ยาขับลมในเบื้องต้น

แต่เมื่อไปถึงโรงพยาบาลยะลามีการเอ็กซเรย์หลายจุดประมาณ 4-5 ครั้ง ทำให้พบว่า มีกระสุนฝังอยู่ในตัวหลายนัด และจุดที่ทำให้ผู้ใหญ่หายใจไม่ออกคือ กระสุนที่อยู่ช่องท้องและผู้ใหญ่นอนไม่ได้ทั้งคืน จึงทำให้ทิ้งช่วงเวลาที่ควรจะช่วยชีวิตผู้ใหญ่ห่างออกไป โดยเหตุเกิดเมื่อวันที่ 5 เมษายน 2550 ตอน 2 ทุ่ม และถูกส่งตัวไปยังโรงพยาบาลยะลาในช่วงเวลา 9 โมงเช้า และรออาการพร้อมทั้งให้เบาหวานลดลงจนกระทั่งช่วงเวลาประมาณ 2 ทุ่ม หากญาติทราบว่ากระสุนฝังในหลายจุดถึงแม้จะรู้ว่ามีตะปูเรือใบก็จะพาไปส่งโรงพยาบาลยะลาตั้งแต่แรก

จุดที่ผู้ใหญ่และผู้ช่วยถูกยิงเป็นทางเปลี่ยว และเป็นมุมหัวโค้ง ข้างทางมีเนินสูงพอสมควรหากผู้ร้ายนอนซุ่มอยู่จะไม่สามารถมองเห็นได้ และหลังจากเกิดเหตุโรงเรียนบ้านบาลูกามีทหารมาเฝ้าจำนวนประมาณ 5 นายหน้าโรงเรียน

เหตุร้ายทำให้ความหวาดกลัวกับสถานการณ์ที่มีการยิงกันบ่อยครั้งปกคลุมไปทั่วพื้นที่ เพราะแม้แต่คนที่เกิดในชุมชนรือเสาะเองยังไม่อนุญาตให้ลูกหลานกลับไปเยี่ยมญาติของตัวเอง และหลังจากผู้ใหญ่ถูกยิงมีการรับสมัครหาผู้ใหญ่บ้านคนใหม่ แต่ ณ ปัจจุบันนี้ยังไม่มีใครมาสมัคร