Skip to main content

อัญชนา หีมมิหน๊ะ

องค์กร NGO เป็นองค์กรที่มีความหลากหลายสูง หนึ่งในเป้าหมายร่วมกัน คือ จะไม่เน้นเป้าหมายระยะสั้น และพวกเขามักจะอุทิศตัวต่อการแก้ไขปัญหาระยะยาวเชิงโครงสร้าง เช่น โครงสร้างการถือครองที่ดิน  การจัดการทรัพยากร  การป้องกันโรคมาลาเรีย  เป็นต้น หรือเป็นองค์กรที่ทำงานด้านสิทธิมนุษยชนในหลายๆ ด้านเช่น สิทธิเด็ก สิทธิสตรี สิทธิของผู้พิการ สิทธิในกระบวนการยุติธรรม รวมทั้งการทำงานเพื่อส่งเสริมสันติภาพและยุติภาวะสงคราม   นอกจากนี้ จากการสำรวจพบว่า เอ็นจีโอมักจะได้รับความไว้วางใจของประชาชน  ทำให้NGOนำเสนอข้อเท็จจริงแทนหรือเป็นตัวแทนของสังคมได้และเป็นประโยชน์ต่อการเข้าใจสถานการณ์การละเมิดสิทธิและนำไปสู่การแก้ไขปัญหาในระดับต่างๆ ได้อย่างดีในฐานะที่เป็นตัวกลางระหว่างรัฐกับประชาชน  โดยบทบาทขององค์กรพัฒนาเอกชนอาจแบ่งได้เป็นกลุ่มดังนี้ (1) การพัฒนาสังคม การพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืน (2), (3) ความยั่งยืน ที่สามารถพัฒนาได้ และ (4) การบริโภคที่ยั่งยืน

โดยเฉพาะในพื้นที่ขัดแย้ง NGO มีบทบาทที่ดีมากในการเข้าถึงประชาชนและนำเสนอสภาพปัญหาตลอดจนแนวทางการแก้ไขให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง  แต่เมื่ออ่านข้อความของ คุณ โซรยา จามจุรี เครือข่ายผู้หญิงภาคประชาสังคมชายแดนใต้แสดงความกังวลเรื่องเหตุการณ์ เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2558 ในโครงการ "พาสู่อ้อมกอด รอมฎอนการีม" ณ ค่ายกัลยาณิวัฒนา เมือง นราธิวาส  ในทำนองว่า

ประชาสังคมผู้หญิง ที่ถูกตีตราเป็นปาร์ตี้บีในเวทีพูดคุยและในสายตาของเจ้าหน้าที่รัฐวันนี้

ไม่เพียงแต่รอมละห์  (รอมือละห์ แซแยะ) ที่ถูกจัดอยู่ในปาร์ตี้บี (กลุ่มเห็นต่างจากรัฐ/จูแว) ก๊ะแยนะ (แยนะ สะแลแม)  ตากใบ ก็ถูกจัดอยู่ในปาร์ตี้บี ด้วยงานนี้ แทนที่จะถูกจัดที่นั่งให้อยู่กับบรรดาประชาสังคมคนอื่นๆ ซึ่งมีที่นั่งเฉพาะ กลับถูกจัดให้ไปอยู่ที่นั่งของกลุ่มปาร์ตี้บี และแถมถูกประกาศในงานให้เป็นผู้แทนปาร์ตี้บี ในการนำเสนอปัญหา ความต้องการของปาร์ตี้บีอีกด้วย

   ข้าพเจ้าก็ได้โทรศัพท์ไปคุยกับนางแยนะ สะแลแม (ก๊ะแยนะ) ด้วยตนเองเพื่อสอบถามถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ซึ่งก๊ะแยนะ ก็ได้เล่าให้ฟังว่า วันนั้นเธอได้รับเชิญไปในงานจริง และก็ได้ไปตามคำเชิญและไม่ได้เข้าไปงานสายตามที่มีการกล่าวอ้าง  พอไปถึงเจ้าหน้าที่ของนายทหารท่านหนึ่งก็เอาบัตรที่มีสายห้อยคอมาให้สวม และบอกว่าบัตรหมดให้ใส่บัตรนี้ หลังจากนั้นก็ไปนั่งที่ตำแหน่งที่เขาจัดให้ เมื่อเขาให้พูดก็ได้พูดตามที่ได้คุยไว้  แต่ภายหลังเมื่อได้รับทราบว่า PARTY B คืออะไร ก็รู้สึกเสียใจกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น

เมื่อติดตามข่าวสารก็มีหลายกระแสที่แสดงความคิดเห็นบ้างก็บอกว่าผู้หญิงทั้งสองคนเลือกและแสดงตนเป็น PARTY B เอง บ้างก็บอกว่าไม่เต็มใจ บ้างก็ไหลไปตามน้ำ แล้วข้อเท็จจริงคืออะไร

ข้าพเจ้าได้เจอเหตุการณ์หนึ่งกับตนเองเมื่อเดือนที่ผ่านมา หลังจากที่ได้แสดงความคิดเห็นเรื่องการเยียวยาผู้ที่ได้รับการปล่อยตัวจากการควบคุมตัวด้วยกฎหมายพิเศษ ผ่านทาง  Facebook ต่อมาก็มีนายทหารท่านหนึ่งโทรมาเพื่อบอกว่าการที่ผู้ที่ถูกควบคุมตัวด้วยกฎหมายพิเศษหากมีการรับสารภาพในชั้นซักถามหรือพบว่า (สงสัยว่า หรือไม่ ถ้าพบก็ต้องมีหลักฐาน) เกี่ยวข้องกับสถานการณ์ความไม่สงบ จะไม่มีสิทธิ ในการรับเงินเยียวยาตามหลักเกณฑ์การเยียวยา  และขอให้ข้าพเจ้าชี้แจงข้อความใน Facebook ของข้าพเจ้า  โดยข้าพเจ้ายืนยันว่าหากมีพยานหลักฐานหรือคำรับสารภาพก็ควรที่เข้าสู่กระบวนการยุติธรรมมิใช่ปล่อยตัวผู้ที่ถูกควบคุมตัวโดยไม่แจ้งข้อหา  แต่กลับบอกกับสังคมและเจ้าหน้าที่ด้วยกันว่าเขาคือผู้ก่อความไม่สงบ และที่ผ่านมาการเยียวยา (โดยไม่เลือกปฏิบัติคือจ่ายเงินเยียวยาให้ทุกกรณีที่ถูกควบคุมตัวภายใต้กฎหมายพิเศษ) ซึ่งในการดำเนินการและประชาชนก็มีการตอบรับที่ดี

ต่อมาในระหว่างการพูดคุยข้าพเจ้าจึงทราบว่ามีเจ้าหน้าที่รัฐจากหน่วยงานที่ต้องรับผิดชอบการเยียวยาขอให้นายทหารท่านนี้โทรมาคุยกับข้าพเจ้า  และได้มีความพยายามในการสอบถามถึงเหตุผลและแสดงความคิดเห็นจนทำให้นายทหารท่านนั้นไม่พอใจ และพูดว่าจะดำเนินการฟ้องร้องข้าพเจ้าเกี่ยวกับข้อความใน facebook

หลังจากวันนั้น ก็มีเพื่อนโทรศัพท์มาหาข้าพเจ้าเพื่อให้ข้าพเจ้าติดต่อกับเจ้าหน้าที่เยียวยาท่านนั้นเพราะเขาต้องการเชิญข้าพเจ้าเข้าร่วมการประชุมเรื่องหลักเกณฑ์การเยียวยาแต่อ้างว่าไม่สามารถติดต่อข้าพเจ้าได้ จึงขอให้เพื่อนข้าพเจ้าติดต่อข้าพเจ้าแทน แต่ในความเป็นจริงเจ้าหน้าที่ท่านนั้นไม่เคยติดต่อข้าพเจ้าเลย ซึ่งทำให้ข้าพเจ้าตระหนักถึงความจริงใจในการทำงานของเจ้าหน้าที่รัฐว่ามีหรือไม่

เมื่อมาถึงเหตุการณ์นี้ ทำให้ความไว้เนื้อเชื่อใจเจ้าหน้าที่รัฐก็ลดน้อยลงจนไม่แน่ใจว่าความสัมพันธ์ต่อไปในอนาคตระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐกับ NGO จะเป็นอย่างไร

นี้เป็นเพียงตัวอย่างเล็กๆน้อยที่มองเห็นได้ว่าความจริงใจของเจ้าหน้าที่ในการทำงานนั้น NGO มองไม่เห็น เมื่อ NGO มองไม่เห็น ประชาชนก็มองไม่เห็นเช่นเดียวกัน  ข้าพเจ้ารู้สึกชื่นชม ก๊ะแยนะ  มานานพอสมควร และรู้สึกได้ว่า เธอมีความตั้งใจ มุ่งมั่น ที่จะช่วยทั้งประชาชน และเจ้าหน้าที่รัฐ จำได้ว่ามีครั้งหนึ่งที่เจ้าหน้าที่มาค้นบ้าน เราก็ได้ไปเยี่ยมให้กำลังใจ มาครั้งนี้เธอก็ถูกมองว่าเป็นฝ่ายตรงข้ามรัฐอีก ข้าพเจ้าจึงขอแสดงความเสียใจในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับก๊ะแยนะ และขอเป็นกำลังใจให้เธอ

แต่สำหรับการทำงานระหว่าง NGO รวมไปถึงกลุ่มด้วยใจ  กับเจ้าหน้าที่รัฐ คงต้องทบทวน และสื่อสารให้ชัดเจนว่า การประชุม สัมมนา หรือการร่วมกิจกรรม ของเจ้าหน้าที่รัฐหรือ NGO ว่า มีวัตถุประสงค์อะไร กลุ่มเป้าหมายคือใคร ต้องการให้เราสื่อสารถึงใคร เพื่ออะไร และหากพบเห็นหรืออยู่ในสถานการณ์ที่ไม่สบาย ใจ การแสดงจุดยืน และ การยึดหลักการนั้นควรมีมาตรการอย่างไร

เหตุการณ์ครั้งนี้จึงเป็นบทเรียนราคาแพงต่อทุกฝ่ายมิใช่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเพราะผลกระทบที่เกิดขึ้นส่งผลสะเทือนถึงความมั่นคงเลยทีเดียว