Skip to main content

 

งาน"พาสู่อ้อมกอด รอมฎอนการีม" เพื่อเป็นการเปิดช่องทางการสื่อสารจากผู้เห็นต่างจากรัฐ ณ ค่ายกัลยาณิวัฒนา จังหวัดนราธิวาส หลังเสร็จสิ้นกระบวนการในการทำงานของเจ้าหน้าที่ฝ่ายจัดงาน กลับมีประเด็นร้อนฉ่า ขึ้นมากับคำว่า Party B อะไรคือ ปาร์ตี้ บี (Party B) ความหมายที่พอจะเข้าใจได้ คือ #คู่เจรจาตรงข้ามกับฝ่ายรัฐ หรือกลุ่มที่อยู่ตรงข้ามกับรัฐ หรือกลุ่มที่ก่อความรุนแรง หรือไม่รุนแรง แต่ต้องการเอกราช ก็สุดแล้วแต่ใครจะนิยามความหมาย

ปัญหาคือ คำๆ นี้ มีใครรู้ความหมายมากน้อยเท่าไหร่ หากไม่ได้ทำงานเกี่ยวกับปัญหาชายแดนใต้ หรือไม่ได้เป็น CSOs หรือ NGOs คิดว่า ระดับชาวบ้านๆ ธรรมดาที่ไม่ได้เข้ามาศึกษาปัญหา 3 จชต. ไม่รู้เรื่องแน่นอน ยิ่งถ้าชาวบ้านคนเฒ่าคนแก่ ที่ไม่ได้เรียนหนังสือ ก็ยิ่งไม่รู้ใหญ่ 

อีกปัญหาคือ ฝ่ายจัดงาน หรือรัฐ มีใครรู้เรื่องเหล่านี้มากน้อยเพียงใด ความหมายของคำว่า Party B นิยามความหมายเหมือนกันหรือเปล่า ระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐ และภาคประชาสังคม หากนิยามความหมายตรงกัน คงไม่เกิดประเด็นปัญหา ... หรือแม้แต่ เจ้าหน้าที่รัฐรู้ความหมายเป็นอย่างดี แต่ไม่สนใจความละเอียดอ่อนของจิตใจ มันก็เท่ากับไม่รู้แน่นอน ครับ

จะทำอย่างไร ให้ภาคประชาสังคม ภาครัฐ เข้าใจความหมายที่คล้ายๆ หรือเหมือนๆ กัน จะทำอย่างไรให้ภาครัฐ เข้าใจถึงความละเอียดอ่อน ของจิตใจประชาชนในพื้นที่ 

ผมมองงานที่ผ่านมาเหมือนเป็นการสร้่างแบบจำลอง มากกว่าครับ ทำไม ถึงต้องทำให้คิดแบบนั้น ก็ต้องบอกถึงประเด็นปัญหาที่เกิดก่อนละครับ ความเข้าใจ ความละเอียดอ่อน ที่จะต้องทำความเข้าใจ มันไม่ใช้ว่า ผู้เข้าร่วมงานไปถึง บัตร Party C (อาจหมายถึง CSOs) หมด ก็จับบัตร Party B (ผู้ที่เห็นต่างจากรัฐ) ให้แทน แล้วบอกว่า เอาไปเถอะ ไม่เป็นไร แบบนี้ก็คงไม่ลึกซึ้งถึงความละเอียดอ่อน แต่ถ้าขณะเดียวกัน ผู้ที่รู้อยู่แล้วว่า มันคืออะไร แต่ยังคงดันทุรังไปนั่ง แล้วเรียกร้องว่า ถูกจับยัด ผมก็มองว่า คงไม่ถูกต้องเหมือนกัน

อีกอย่างที่ทำให้มองว่าเป็นการสร้างแบบจำลอง การพูดคุย คือ ประชาชน หลายคน ที่มากันเป็นคันรถบัส ล้วนบอกว่า มาเพราะเจ้าหน้าที่บอกว่า "มาเพื่อหางาน เลือกงาน หาอาชีพ" ประเด็นนี้ ผมเจอบ่อยๆ หลายคนโดนเกณฑ์ให้มา โดยไม่รู้ว่า เขามีอะไรกัน

หรือหากแม้นว่า อาจจะต้องมีการยกเลิก หรือยกเว้นโทษกัน ก็มีความจำเป็นเช่นกัน ที่จะต้องใช้ความละเอียดอ่อน ในการทำงาน จำเป็นอย่างยิ่งที่รัฐ จะต้องนึกถึงใจของผู้สูญเสีย จำเป็นที่จะต้องสร้างความเข้าใจที่ใหญ่หลวงนักให้กับพี่น้องต่างศาสนิกที่สูญเสีย เช่น คนไทยพุทธ ในพื้นที่ หรือต่างพื้นที่ ที่ลูกหลานต้องมาเสียชีวิตที่ดินแดนแห่งนี้ แม้แต่การสร้างนิคม เพื่อลองรับในโครงการพาคนกลับบ้าน หากยอดผู้ถูกกล่าวหา 400 คน เมื่อมีการสร้างนิคม ยอดเหล่านี้ อาจจะพุ่งเป็นหลักหลายพัน หรือหลักหมื่นก็ได้นะครับ

ใคร่ครวญซักนิด ใจเขา ใจเรา ผู้กระทำ กับผู้ถูกกระทำ มองกันให้ลึกๆ ครับ