Skip to main content

ฐปณีย์ เอียดศรีไชย

 

คณะพูดคุยเพื่อสันติสุข ย้ำรัฐบาลไทยเดินหน้าพูดคุยกับกลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐ คาดร่วมบันทึกข้อตกลงเพื่อสันติสุขได้ต้นปี 2559 ปฏิเสธไม่เรียกชื่อองค์กรของผู้ร่วมพูดคุยว่า MARA PATANI เพราะเห็นว่าไม่ใช่ชนกลุ่มน้อย แต่เป็นกลุ่มผู้คิดต่างจากรัฐ

26 มิถุนายน มีความเคลื่อนไหวเรื่องการพูดคุยเพื่อสันติสุข เมื่อ พล.ต.นักรบ บุญบัวทอง เลขานุการคณะพูดคุยเพื่อสันติสุข นัดสื่อมวลชนแถลงข่าวเป็นครั้งแรก หลังทำงานมากว่า 6 เดือน

เลขานุการคณะพูดคุยเพื่อสันติสุขของรัฐบาลไทย ยืนยัน มีความคืบหน้าในการพูดคุยกับกลุ่มผู้เห็นต่าง และคาดว่าจะนำไปสู่การลงนามในสัตยาบันร่วมกันได้ประมาณต้นปี 2559

 

#เปิดโครงสร้างการพูดคุยเพื่อสันติสุข

การแถลงข่าวครั้งแรกของคณะพูดคุยเพื่อสันติสุข จังหวัดชายแดนภาคใต้ มี พลตรีนักรบ บุญบัวทอง เลขานุการคณะพูดคุยเพื่อสันติสุข พันเอกสิทธิ ตระกูลวงศ์ และพันเอกบรรพต มีเพียร คณะทำงาน เป็นผู้ร่วมแถลงถึงความคืบหน้าในการทำงานของคณะพูดคุยเพื่อสันติสุข หลังพลเอกประยุทธ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี แต่งตั้ง พลเอกอักษรา เกิดผล ประธานที่ปรึกษากองทัพบก เป็นหัวหน้าคณะพูดคุยเพื่อสันติสุข และโครงสร้างการทำงานตามคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 230

ซึ่งกำหนดให้การพูดคุยมีโครงสร้างใน 3 ระดับ คือ

1.ระดับอำนวยการ ที่มีนายกรัฐมนตรี และเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติมีบทบาทหลัก

2.ระดับคณะพูดคุยเพื่อสันติสุข ขับเคลื่อนโดยพลเอกอักษรา เกิดผล และศูนย์ปฏิบัติการที่ 5 กอ.รมน.

3.ระดับ 3 คือคณะประสานงานระดับพื้นที่ โดย แม่ทัพภาคที่ 4 กอ.รมน.ภาค 4

 

#แผนขับเคลื่อน

แผนการขับเคลื่อนจะมี 3 ระยะ คือ

ระยะที่ 1 การสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจ

ระยะที่ 2 คือการกำหนดข้อตกลงร่วมในการแก้ปัญหา และ

ระยะที่ 3 คือการจัดทำโรดแมปเพื่อสันติสุข

 

#เริ่มมีความไว้วางใจต่อกัน

ขณะนี้ยังอยู่ในระยะที่ 1 การสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจ ที่ได้เริ่มพูดคุยกับกลุ่มผู้คิดต่าง ผ่านผู้อำนวยความสะดวกของรัฐบาลมาเลเซีย ตั้งแต่เดือนมีนาคม 2558 และได้พูดคุย 3 ฝ่ายอย่างไม่เป็นทางการไปแล้ว 2 ครั้ง ล่าสุดเมื่อวันที่ 8 มิถุนายน ที่ผ่านมาที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ มาเลเซีย

 แนวโน้มเป็นไปด้วยดี คาดว่าปลายปีนี้จะเริ่มพูดคุยถึงประเด็นปัญหาเพื่อนำไปสู่การลงนามในสัตยาบันร่วมกันได้ในปลายปี 2558 หรือ ต้นปี 2559

 

#เปิดชื่อตัวแทนผู้เห็นต่าง 6 กลุ่ม

สำหรับตัวแทนกลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐที่เข้าร่วมพูดคุยกับฝ่ายรัฐไทย มี 6 กลุ่มประกอบด้วย

1.กลุ่มแนวร่วมปฏิวัติแห่งชาติมลายู BRN

2.กลุ่มแนวร่วมปลดปล่อยแห่งชาติปัตตานี BIPP

3.ขบวนการมูจาฮีดินอิสลามปัตตานี GMIP

4.กลุ่มย่อยขององค์กรปลดปล่อยรัฐปัตตานี PULO 3 กลุ่มย่อย

ทั้ง 6 กลุ่มสมัครใจมาพูดคุยแล้ว 2 ครั้ง แม้กลุ่มนี้จะเรียกตัวเองว่า MARA PATANI

 

#รู้จัก MARA PATANI

#MARA PATANI หรือ  MAJLIS SYURA PATANI  หรือ PATANI CONSULTATIVE COUNCIL หรือ PCC หรือสภาชูรอแห่งปาตานี ประกอบด้วย

1. แนวร่วมปฏิวัติแห่งชาติมลายูปาตานี (คณะผู้ก่อการใน BRN)

2. แนวร่วมอิสลามปลดปล่อยปาตานี (BIPP)

3. องค์การปลดปล่อยสหปาตานี (PULO-P4)

4. องค์การปลดปล่อยสหปาตานี (PULO-dspp)

5. องค์การปลดปล่อยสหปาตานี (PULO-mkp)

6. ขบวนการมูญาฮิดีนอิสลามปาตานี (GMIP)

 

#ไม่ขอเรียกชื่อ MARA PATANI

ฝ่ายรัฐบาลไทยเห็นว่า ไม่เหมาะสมที่จะเรียกตัวแทนกลุ่มผู้เห็นต่างว่า MARA PATANI เพราะปัญหานี้เป็นการพูดคุยกับกลุ่มที่มีความเห็นต่างจากรัฐ เพราะไม่ได้อยู่ในสถานะ ชนกลุ่มน้อยของประเทศไทย และรัฐอยากเปิดกว้างให้ทุกกลุ่ม รวมถึงประชาชนในพื้นที่ให้มีส่วนร่วมมากที่สุด โดยตัวแทนผู้เห็นต่างพร้อมจะกลับไปหารือกำหนดโครงสร้างผู้พูดคุยให้เป็นรูปแบบคณะทำงานเหมือนรัฐบาลไทยไม่ใช่องค์กร ซึ่งจะหาข้อสรุปเรื่องนี้หลงเดือนรอมฏอน

 

#องค์ประกอบการพูดคุย

ส่วนองค์ประกอบการพูดคุยจะแบ่งเป็น 3 กลุ่ม หรือ 3 Track ประกอบด้วย

Track 1 คือ คณะพูดคุยเพื่อสันติสุข กับกลุ่มผู้เห็นต่าง ซึ่งต้องเป็นในรูปแบบ คณะทำงานทางการ ทั้ง 2 ฝ่าย

Track 2 คือ ภาคประชาสังคม นักวิชาการ นักการเมือง ผู้นำศาสนา และสื่อมวลชน มีประมาณ 14 กลุ่ม

Track 3 คือภาคประชาชนที่เน้นไปถึงชุมชน

การพูดคุยจะทำควบคู่กันไปทั้ง 3 Track เพื่อนำความเห็นทุกกลุ่มไปสู่ข้อตกลงสันติสุขทีแท้จริง

 

#เปิดรายชื่อคณะพูดคุยเพื่อสันติสุข

ส่วนคณะพูดคุยเพื่อสันติสุขฝ่ายไทย มี 9 คนสามารถเปิดเผยชื่อได้ ประกอบด้วย

1. พลเอกอักษรา เกิดผล หัวหน้าคณะ

2. พลตรีนักรบ บุญบัวทอง เลขานุการคณะ

3.พลเอก กิตติ อินทศร ผู้แทนกองทัพบก

4.นายขวัญชาติ วงศ์ศุภรานันท์ ผู้แทน ศอบต.

5.พล.ต.ชินวิตร แม้นเดช ผู้แทนกองทัพภาคที่4

6.นายศรันย์ เจริญสุวรรณ ผู้แทนกระทรวงการต่างประเทศ

7.นายไตรรัตน์ แพรกทอง ผู้แทนสำนักข่าวกรองแห่งชาติ

8.นายชาญเชาว์ ไชยานุกิจ ผู้แทนกระทรวงยุติธรรม

9.นายพรชาติ บุนนาค ผู้แทนสภาความมั่นคงแห่งชาติ

 

#เชื่อรอมฏอนสันติ

พลตรีนักรับ บุญบัวทอง เลขานุการคณะพูดคุยเพื่อสันติสุข ยืนยันด้วยว่า ไม่มีการตกลงหยุดยิงในเดือนรอมฏอน แต่เป็นสิ่งที่ทั้งสองฝ่ายต้องการให้เกิดความสงบสุขในเดือนแห่งการถือศีลอดของพี่น้องมุสลิม

 

คลิกดูรายงานข่าวสามมิติ

ประจำวันที่ 26 มิถุนายน 2558