Skip to main content
July 18, 2015 
Original link CLICK HERE
 
 

นักวิเคราะห์ปัญหาใต้หลายส่วนชี้ มาตรการปล่อยตัวแกนนำกลุ่มเห็นต่างช่วยสร้างบรรยากาศได้จริง แต่หากหวังผลจริงจังต่อการพูดคุยต้องทำมากกว่านี้

การปล่อยตัวหะยีสะมะแอ ท่าน้ำอดีตแกนนำกลุ่มพูโลเมื่อ 17 ก.ค.สร้างบรรยากาศคึกคักในพื้นที่หลังจากที่มีการยืนยันข่าวการปล่อยตัวจากเรือนจำในยะลา โดยพ.อ.ปราโมทย์ พรหมอินทร์ โฆษกกอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้าเปิดเผยกับสื่อมวลชนว่ารัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรมใช้อำนาจอนุมัติให้มีการพักโทษ หลังจากที่ถูกจำคุกมา 17 ปีโดยมีเงื่อนไขต้องรายงานตัวทุกเดือน รายงานข่าวกล่าวว่าเรื่องนี้เป็นดำริของนายกรัฐมนตรีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ต้องการสร้างบรรยากาศที่ดีสำหรับการพูดคุยเพื่อสันติสุขที่รัฐบาลกำลังดำเนินการให้เกิดขึ้นกับกลุ่มผู้เห็นต่าง

บีบีซีไทยสอบถามความเห็นของนายรักชาติ สุวรรณ์ เครือข่ายชาวพุทธเพื่อสันติภาพซึ่งกล่าวว่า การปล่อยตัวหะยีสะมะแอในขณะนี้ถือเป็นมาตรการที่ยอมรับได้ เนื่องจากได้รับโทษมานานพอสมควร และมีความประพฤติดีช่วยเหลือทางการ การดำเนินการของเจ้าหน้าที่ก็ถือว่ายึดหลักเกณฑ์ของกฎหมายไม่ได้เป็นการกระทำที่พิเศษแต่อย่างใด และเชื่อว่าหะยีสะมะแอน่าจะมีบทบาทช่วยเหลือทางการต่อไปในเรื่องของกระบวนการสันติภาพแม้จะเป็นคนรุ่นเก่า แต่เชื่อว่ายังมีคนให้ความเคารพและมีเครือข่ายเชื่อมต่อได้ สิ่งที่ไม่อยากเห็นคือการปล่อยตัวนักโทษรุ่นใหม่ที่ยังไม่ได้รับโทษนานพอ อย่างไรก็ตามสำหรับคนที่ปล่อยตัวออกมาแล้ว หากกระทำผิดอีกก็ต้องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม

นายรักชาติชี้ด้วยว่า ในระยะหลังของเดือนถือศีลอด มีเหตุการณ์รุนแรงเกิดมากขึ้นโดยมีคนไทยพุทธเป็นเหยื่อ ตนเห็นว่า ก่อนที่จะพูดคุยกันควรจะมีช่วงเวลาที่ไม่เกิดเหตุรุนแรงที่กระทำต่อชาวบ้านทั่วไป ซึ่งแตกต่างไปจากการต่อสู้ปะทะกันกับเจ้าหน้าที่ และแม้ว่าอาจจะมีกลุ่มคนในส่วนของฝ่ายผู้เห็นต่างที่ไม่ต้องการเข้าร่วมการพูดคุย แต่ก็เชื่อว่า ในกลุ่มผู้เห็นต่างเองควรจะพูดคุยกันได้ เพื่อสร้างความไว้วางใจกันอย่างแท้จริง ในขณะเดียวกันก็อยากเห็นเจ้าหน้าที่ดำเนินการตามกฎหมายแต่ใช้กฎหมายอย่างเป็นธรรมไม่ให้มีการซ้อมทรมานหรือใช้ความรุนแรงเกินเหตุ 

ส่วนนายตูแวดานียา ตูแวแมแง ผู้อำนวยการสำนักปาตานีรายาเพื่อสันติภาพและการพัฒนา ให้ความเห็นต่อเรื่องของการปล่อยตัวนี้ว่า ผลในทางปฏิบัติที่จะมีต่อการพูดคุยโดยตรงเชื่อว่าคงจะไม่มากนัก เพราะว่าตัวบุคคลไม่มีบทบาทเกี่ยวข้องโดยตรงกับคู่ความขัดแย้งหลักที่มีอิทธิพลในการกำหนดสถานการณ์ในเวลานี้ กลุ่มที่ใช้กำลังต่อต้านรัฐเป็นหลักในเวลานี้คือกลุ่มบีอาร์เอ็น แต่ว่าในเชิงสัญญลักษณ์ก็เชื่อว่าจะทำให้ฝ่ายรัฐบาลได้ชื่อว่า ได้ยื่นมือออกมาคือแสดงความยืดหยุ่นมากขึ้น และจะเป็นการกดดันกลายๆให้ฝ่ายตรงข้ามต้องแสดงท่าทีตอบสนอง ซึ่งเชื่อว่าสิ่งที่ทางฝ่ายรัฐต้องการก็คงจะเป็นเรื่องให้ฝ่ายนักสู้ของกลุ่มบีอาร์เอ็นพยายามลดการใช้ความรุนแรงและลดการต่อสู้ ซึ่งในเรื่องนี้ตนเห็นว่า หากต้องการสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจกันจริง ทั้งสองฝ่ายต้องลดความรุนแรงทั้งคู่ ซึ่งในระดับนโยบายขณะนี้ยังไม่เห็นสัญญาณนี้ชัดเจนมากนักจากทางรัฐบาล

รุ่งรวี เฉลิมศรีภิญโญรัช ผู้เขียนหนังสือ "ถอดความคิดขบวนการเอกราชปาตานี" บอกว่า การปล่อยตัวหะยีสะมะแอน่าจะส่งสัญญาณในเชิงบวกสำหรับการเข้าร่วมการพูดคุยสันติภาพของพูโลทั้ง 3 กลุ่ม ซึ่งก่อนหน้านี้ได้ออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลไทยปล่อยตัวผู้นำของพวกเขาที่ถูกจับกุมและรับโทษในเรือนจำสี่คน อย่างไรก็ตามเธอบอกว่าการปล่อยตัวครั้งนี้อาจจะไม่ส่งผลกับกลุ่มบีอาร์เอ็นซึ่งเป็นกลุ่มที่มีบทบาททางการทหารเป็นหลักในพื้นที่ภาคใต้เท่าไหร่นัก ดังนั้นนอกจากการปล่อยตัวผู้นำพูโลแล้ว รัฐบาลไทยจะต้องพิจารณาข้อเสนอที่ทางบีอาร์เอ็นเคยยื่นไว้ทั้ง 5 ข้อ รวมทั้งข้อเรียกร้องให้การพูดคุยสันติภาพเป็น “วาระแห่งชาติ” อย่างจริงจังด้วยเช่นกัน หากต้องการที่จะเห็นการพูดคุยสัมฤทธิ์ผลในการลดระดับความรุนแรงในภาคใต้

นักวิเคราะห์ปัญหาภาคใต้อีกราย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ศรีสมภพ จิตรภิรมย์ศรี ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยความขัดแย้งและความหลากหลายทางวัฒนธรรมภาคใต้หรือซีเอสซีดีบอกว่า เรื่องนี้ได้มีการเตรียมการมาตั้งแต่สมัยรัฐบาลชุดก่อนหน้า แต่ก็นับว่ารัฐบาลชุดปัจจุบันมีเจตนารมย์ทางการเมืองจึงได้สานต่อโดยใช้อำนาจตามพระราชบัญญัติราชทัณฑ์ที่ให้รัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรมสามารถสั่งพักโทษได้หลังได้รับโทษหนึ่งในสาม ถือได้ว่าเป็นการนิรโทษกรรมอย่างหนึ่งที่สามารถทำได้ในระบบและตามอำนาจที่มีอยู่ อาจารย์ศรีสมภพกล่าวว่า หะยีสะมะแอ เป็นคนที่มีบทบาทสำคัญในการช่วยประสานการพูดคุยและยังช่วยให้ข้อมูลในเรื่องของปัญหาความขัดแย้ง การปล่อยตัวออกมาอาจเป็นได้ว่าต้องการให้มีส่วนช่วยเสริมเพื่อสานต่อการพูดคุย เช่นเดียวกันกับเป็นการตอบแทนที่ได้ช่วยเหลือทางการที่ผ่านมา

อาจารย์ศรีสมภพกล่าวต่อไปด้วยว่า มาตรการการแก้ปัญหาในพื้นที่สามจังหวัดภาคใต้ของทางการในระยะหลังดูจะได้รับการขานรับจากประชาชน จากการทำสำรวจความคิดเห็นล่าสุดของซีเอสซีดีที่สุ่มตัวอย่างความเห็นของสาธารณะต่อกระบวนการสันติภาพ จากจำนวน 2,000 ตัวอย่างและเตรียมเปิดตัวผลสำรวจในเร็วๆนี้ ผลสรุปเห็นได้ว่า 60 % ของผู้ให้ความเห็นต่างสนับสนุนกระบวนการสันติภาพ

ส่วนดอน ปาทาน ผู้สื่อข่าวอาวุโสให้ความเห็นว่า การปล่อยตัวหะยีสะมะแอหนนี้เป็นไปได้ว่าอาจจะช่วยฟื้นฟูความเชื่อมั่นที่มีต่อมาเลเซีย ซึ่งคนทั่วไปในพื้นที่เชื่อว่าเป็นคนส่งตัวหะยีสะมะแอและหะยีดาโอ๊ะ ท่าน้ำให้ทางการไทย การฟื้นฟูความน่าเชื่อถือให้กับมาเลเซียจะช่วยให้มาเลเซียทำหน้าที่ผู้อำนวยความสะดวกในการประสานการพูดคุยได้ดีขึ้น แต่ขณะเดียวกันเชื่อว่าสิ่งที่ทางการต้องการด้วยคือ ส่งสัญญาณชักจูงหมู่สมาชิกกลุ่มผู้เห็นต่างที่เป็นคนรุ่นใหม่ให้หันมาร่วมมือกับทางการ อย่างน้อยที่สุดคือช่วยเผยแพร่และโน้มน้าวให้พวกเขาเคารพกฎเกณฑ์การปะทะมากขึ้นเนื่องจากที่ผ่านมาในระยะหลัง มีแนวโน้มจากบางเหตุการณ์ว่าลักษณะการปฏิบัติการของกลุ่มนักสู้รุ่นใหม่ส่อเค้าจะใช้ความรุนแรงถึงขั้นยอมทำร้ายตัวเอง อย่างไรก็ตาม เขาบอกว่า สัญญาณนี้มาช้าไปเล็กน้อยเนื่องจากการพูดคุยภายในของกลุ่มผู้ก่อเหตุผ่านขั้นตอนทางความคิดในเรื่องเหล่านี้ไปแล้ว 

ในภาพเป็นป้ายข้างทางในปัตตานีซึ่งมีผู้ไปพ่นสีข้อความต่อต้านรัฐ เป็นสิ่งที่เห็นแทบจะเป็นเรื่องทั่วไปในหลายพื้นที่ของสามจังหวัดภาคใต้นักวิเคราะห์ปัญหาใต้หลายส่วนชี้ มาตรการปล่อยตัวแกนนำกลุ่มเห็นต่างช่วยสร้างบรรยากาศได้จริง แต่หากหวังผลจริงจังต่อการพูดคุยต้องทำมากกว่านี้