Skip to main content

 

    “รู้สึกว่าตัวเองมีคุณค่ามากขึ้น ได้เรียนรู้ ประสบการณ์จริง ที่ไม่สามารถหาอ่านได้ในห้องเรียน” เป็นคำสรุปบทเรียน    ของน้อง “อามีเนาะ สะดารอ” และ “อาซีเราะ อาแว” อาสาสมัคร สันติอาสาสักขีพยาน รุ่นที่ 2 ซึ่งนับเป็นเป้าหมายหลักของ โครงการสันติอาสาสักขีพยานที่ต้องการเปิดโอกาสให้คนในพื้นที่เข้าไปสัมผัสกับเหตุการณ์ความขัดแย้งในพื้นที่ของตน เพื่อเข้าถึงปัญหาได้จริง
     “อามีเนาะ” และ “อาซีเราะ” เป็นนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยราชภัฎยะลา เอกรัฐประศาสนศาสตร์ ชั้นปีที่ 2 เข้ามาเป็นอาสาสมัครสันติอาสาสักขีพยานเมื่อเดือนตุลาคม 2553 โดยผ่านการอบรมสันติวิธี และการเป็นคนกลาง และได้มีโอกาสเข้าไปสัมผัสกับพื้นที่เสี่ยง และเธอได้เล่าความรู้สึกและสิ่งที่ได้เรียนรู้จากการลงพื้นที่ครั้งแรก
ที่ได้ลงพื้นที่สามจังหวัดภาคใต้และสังเกตการณ์เสื้อแดง(อาซีเราะ อาแว)
         **  ความรู้สึกอย่างไรที่ได้ลงพื้นที่บ้านกูจิงลือปะ      
รู้สึกภูมิใจมากที่ตัดสินใจลงพื้นที่ในคราวนี้ เพราะได้เรียนรู้หลาย ๆ อย่าง ความรู้สึกของชาวบ้านและผู้คนที่ได้รับผลกระทบว่าเขามีความรู้สึกอย่างไร ก่อนที่จะลงพื้นที่นั้นก็เคยได้ฟังคำบอกเล่าจากที่ต่าง ๆ บ้าง ก็รู้สึกสงสาร แต่พอได้มาลงพื้นที่จริงทำให้รู้ว่า ความรู้สึกก่อนกับหลังลงพื้นที่มันแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง เพราะภายหลังลงพื้นที่ ทำให้เรารู้ว่าข้อเท็จจริงว่าเป็นยังไงและได้รับฟังความรู้สึกของเขาด้วยตัวเองไม่ใช่จากการบอกเล่าของคนอื่น และอยากเป็นส่วนหนึ่งของการให้ความช่วยเหลือชาวบ้านหรือคนที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์นี้
 
**สิ่งที่ได้เรียนรู้จากการลงพื้นที่ครั้งนี้ 
               ทำให้เราได้เรียนรู้หลาย ๆ อย่าง ไม่ว่าความรู้สึกหรือสภาพความเป็นอยู่ของชาวบ้านว่าเขามีความเป็นอยู่อย่างไร รวมทั้งการให้ความช่วยเหลือของรัฐทำให้รู้ว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐเลือกปฏิบัติ ถ้าหากเป็นแบบนี้ต่อไปคนที่น่าสงสารที่สุดคือชาวบ้านที่ไม่รู้อะไรเลย ชาวบ้านหวังพึ่งเจ้าหน้าที่ของรัฐแต่เจ้าหน้าที่ของรัฐกลับเอาเปรียบชาวบ้านทั้งๆที่เงินเดือนของเขาทุกบาททุกสตางค์มาจากภาษีของชาวบ้าน หน้าที่ของรัฐจริง ๆ คือการบริการประชาชนไม่ใช่หรือ                  
   **ความรู้สึกที่ได้สังเกตการณ์การประท้วงของกลุ่มเสื้อแดง
          -วันที่แรกซึ่งตรงกับวันที่ 13 มีนาคม 2533 รู้สึกตื่นเต้นมากแต่ไม่ค่อยน่ากลัวสักเท่าไหร่เพราะพวกเสื้อแดงพึ่งมารวมตัว ยังไม่ได้จัดขบวนประท้วง พอดีเป็นวันแรกที่มาถึงทำให้รู้สึกเหนื่อยมากกว่าความกลัวด้วย
         - วันที่ 14 รู้สึกกลัวมากเพราะมีการแจกที่ขั้นหนังสือและมีข้อความเขียนเกี่ยวกับสันติวิธี ตอนที่แจกมีทั้งคนที่ตั้งใจรับบางคนก็ไม่เอา บางคนเอาแล้วกลับฉีกทิ้งหรือต่อว่า ทำให้รู้สึกหมดกำลังใจและหวาดกลัว ช่วงท้าย ๆ มีคนขอและบอกเหตุผลและความรู้สึกของเขาทำให้รู้สึกมีกำลังใจและเข้าใจความรู้สึกของเขามากขึ้น
         - วันที่ 15 รู้สึกตื่นเต้นมาก เพราะเป็นการชุมนุมที่มีคนมาชุมนุมมาก แรกๆ ก็รู้สึกกลัวเพราะกลัวว่าจะมีการปาแก็สน้ำตาและการทะเลาะวิวาทหรือการใช้ความรุนแรงขึ้น แต่พอถึงเวลาจริงปรากฏว่าเป็นการประท้วงที่ไม่มีการใช้ความรุนแรงด้วยซ้ำทำให้รู้สึกผ่อนคลายไม่กลัว สุดท้ายไม่มีความกลัวหลงเหลืออยู่มีแต่ความเหนื่อยมาแทนที่ 
**สิ่งที่ได้เรียนรู้คือ-การที่เราจะให้คนอื่นมาเข้าใจเรา เราจะต้องเข้าใจคนอื่นก่อนและยอมรับฟังเหตุผลของเขาด้วยแม้เราจะมีความคิดแตกต่างกับเขาก็ตาม และ หากเราจะทำอะไรก็ตามถ้าเรามีความตั้งใจจริงและมีความสามัคคี ถึงแม้ผลจะออกมาเป็นอย่างไร เราก็รู้สึกภูมิใจเพราะเราทำเต็มที่ที่สุดแล้ว
 ส่วนความรู้สึกของ อามีเนาะ สะดารอ ที่ได้ลงพื้นที่สามจังหวัดภาคใต้และสังเกตการณ์เสื้อแดง
 ** รู้สึกอย่างไรกับหมู่บ้านกูจิงลือปะ? รู้สึกกลัวมากๆ ยิ่งรู้ว่าต้องลงพื้นที่ หมู่บ้านกูจิงลือปะ ก็ยิ่งรู้สึกกลัวมากๆแบบบอกไม่ถูก เพราะข่าวที่เคยดูมาบ่งบอกว่าหมู่บ้านกูจิงลือปะเป็นหมู่บ้านที่น่ากลัวและอันตรายต่อคนนอกพื้นที่เป็นอย่างมาก   แต่พอได้เข้าไปสัมผัสจริงๆ มันกลับไม่เป็นอย่างที่คิด และทางกลับกันชาวบ้านที่นั้นกลับต้อนรับทีมเราเป็นอย่างดี ทำให้ความรู้สึกในแง่ลบต่อหมู่บ้านกูจิงลือปะหายไป และความกลัวก็ได้หายไปพร้อมกับการที่เราได้สัมผัสจริงและถ้ามีโอกาสอยากกลับไปอีกครั้งหนึ่ง
          **สังเกตการณ์ที่ศาลนราธิวาส รู้สึกตื่นเต้นมาก เพราะไม่เคยขึ้นศาลที่ไหนมาก่อนและไม่รู้ว่าต้องปฏิบัติตัวอย่างไร แต่พอได้สัมผัสจริงๆ กลับต้องพบกับความผิดหวังเพราะการพิจารณาคดีของศาลต้องเลื่อนไป  เพราะพยานฝ่ายโจทย์ไม่มา  วันนี้ก็เลยต้องกลับบ้านพร้อมกับความผิดหวัง
**สิ่งที่ได้เรียนรู้จากการลงพื้นที่ครั้งนี้ ได้รู้ว่าความกลัวเป็นเพียงความรู้สึกและความคิดของบุคคลที่สร้างขึ้นมาเอง และเมื่อได้เผชิญกับความเป็นจริงและสัมผัสกับมัน ทำให้รู้ว่ามันไม่ได้มีอำนาจเหนือความเป็นจริง ความจริงเป็นสิ่งที่ไม่ตาย และ ได้เรียนรู้ว่า สังคมในปัจจุบันความยุติธรรมมีน้อยมากสำหรับคนที่ไม่มีความรู้และไม่มีเส้นสาย นอกจากนี้ได้เรียนรู้ถึงความเป็นอยู่ของชาวบ้านในพื้นที่ ว่ามีความยากลำบากแค่ไหนในการดำเนินชีวิตในแต่ละวัน สิ่งที่สำคัญเป็นบทเรียนที่จะนำไปประยุกต์ใช้ในการทำงานในอนาคต ว่าต้องเข้าถึงประชาชน ไม่ใช่ให้ประชาชนมาหาแต่ฝ่ายเดียว  และเป็นประสบการณ์จริง ที่ไม่สามารถหาอ่านได้ในห้องเรียน 
    ***ความรู้สึกที่ได้เข้าไปสังเกตการณ์การประท้วงของกลุ่มเสื้อแดง
 - วันที่ 13 เป็นวันแรกที่ได้ลงพื้นที่สังเกตการณ์การประท้วงของกลุ่ม นปช. ก็รู้สึกกลัวบ้าง แต่พอได้ลงพื้นที่จริงๆ ก็รู้สึกเฉยๆ เพราะกลุ่มคนเสื้อแดงมีจำนวนยังไม่มาก บางส่วนกำลังเดินทางมา เพื่อจะมาสมทบในวันที่14
 - วันที่ 14 เป็นวันที่เริ่มประท้วงแบบจริงจัง เป็นวันแรกและมีผู้ชุมนุมที่พึ่งมาถึงเป็นจำนวนมากทำให้ ตนเองรู้สึกกลัวมากๆ กลัวเกิดการปะทะกัน กลัวมีฝ่ายที่สามเข้ามาก่อกวน บอกตรงๆ ว่ากลัวและไม่อยากอยู่ และอยากกลับบ้าน  และวันนี้เป็นวันที่ที่ทีมเราต้องแจก 13 ความลับสันติวิธี ให้แก่กลุ่มคนเสื้อแดงด้วย 
 - วันที่ 15 ความกลัวหายไปแต่ความเหนื่อยเข้ามาแทนที่ เพราะต้องเดินสังเกตการณ์ไกลมากๆ ในชีวิตเท่าที่จำความได้ไม่เคยเดินไกลแบบนั้นมาก่อน รู้สึกเหนื่อยมากๆ และตื่นเต้นหน่อยๆ เราต้องมีสติตลอดเวลา
 
       **สิ่งที่ได้เรียนรู้คือ
 1. ได้เรียนรู้ว่าการเผชิญกับความเป็นจริงนั้นเป็นสิ่งที่ไม่ตาย ความกลัวนั้นเป็นความรู้สึกที่เราสร้างขึ้นมาเอง และสามารถลบล้างมันได้ก็ต่อเมื่อเผชิญหน้ากับมัน
2.ได้เรียนรู้ว่าการเป็นบุคคลที่ไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง เมื่อเข้าไปในท่ามกลางของกลุ่มผู้ประท้วงนั้นเราต้องเคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลา การที่เราจะอยู่นิ่งกับที่ย่อมเป็นเป้าของกลุ่มเขา
3.ได้เรียนรู้ว่าการเป็นคนกลางนั้นยาก เพราะคนเรามีอคติ
4.ได้เรียนรู้ว่า ชีวิตคนมีความหมายถึงแม้เขาจะอยู่ฝ่ายตรงข้ามกับเรา เราต้องช่วยเหลือเขา
5.รู้สึกว่าตัวเองมีค่ามากขึ้น เพราะทุกนาทีที่เราลงพื้นย่อมมีความเสี่ยงตลอดเวลา  เราต้องตื่นตัวตลอดเวลาและมีสติ เพื่อให้ทันต่อเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้น
ทั้งหมดนี้เป็นความรู้สึกและบทเรียนการเรียนรู้ของการลงพื้นที่ของอาสาสมัครทั้งสองคนที่เริ่มเห็นความสำคัญของการทำงานเพื่อส่วนรวม เพื่อสรรพสิ่ง เพื่อเพื่อนมนุษย์ และที่สำคัญมองหาความเป็นธรรมให้กับตัวเล็ก ๆ ในสังคม
ทั้งนี้ ประสบการณ์ทุกย่างก้าว หากปล่อยให้มันผ่านไปโดยไม่สนใจ มันก็อาจจะผ่านไปโดยไม่มีคุณค่า เหมือนเรากินข้าวหากไม่เคี้ยวอาหารนั้นก็จะไม่ได้รสชาติ