โดย บีบีซีไทย
ตัวแทน “มารา ปาตานี” ระบุกระบวนการเริ่มขึ้นแล้วในขั้นแรกด้วยมาตรการสร้างความไว้วางใจซึ่งกันและกัน ยืนยันขอให้รัฐบาลจัดให้การพูดคุยเป็นวาระแห่งชาติ เผยจะยังไม่มีการยื่นข้อเรียกร้องใดๆ เพื่อให้ก้าวเดินอย่างช้าๆไม่ผิดพลาดเหมือนหนก่อนหน้า
อาบูฮาฟิซ อัลฮากีม จากกลุ่มบีไอพีพีซึ่งทำหน้าที่เป็นโฆษกชั่วคราวให้กับกลุ่มมารา ปาตานี เล่าว่า
การที่การพูดคุยกันระหว่างตัวแทนกลุ่มผู้เห็นต่างกับทีมพูดคุยฝ่ายรัฐบาลในรอบใหม่จะดำเนินการแตกต่างไปจากหนก่อน และระมัดระวังกว่าเดิมก็เพราะมีการสรุปบทเรียนจากหนแรกที่พูดคุยกับทีมงานรัฐบาลยิ่งลักษณ์ “เช่นการจัดแถลงข่าวบ่อยๆ สร้างความคาดหวังให้กับบรรดาผู้สนับสนุนของทั้งสองฝ่ายจนกลายเป็นแรงกดดันต่อทีมพูดคุย” เขาว่า
ในช่วงต้นจึงจะดำเนินการกันอย่างเงียบๆ ยังไม่มีการเปิดตัวอย่างเป็นทางการ และจะยังไม่มีการยื่นข้อเรียกร้องใดๆ ต่อกันเนื่องจากยังไม่ไว้ใจกัน เขาชี้ว่าอันที่จริงแล้ว มีการพบปะกันไปแล้ว 2 ครั้งกับทีมฝ่ายไทย แต่เป็นการแนะนำตัวทำความรู้จักกันมากกว่าอย่างอื่น
อาบูฮาฟิซเปิดเผยว่า ที่ผ่านมาทางฝ่ายไทยได้เสนอให้ช่วงเดือนถือศีลอดที่เพิ่งผ่านไปเป็นช่วงลดการปฏิบัติการด้านการทหาร ซึ่งทางฝ่ายบีอาร์เอ็นเห็นว่าเร็วเกินไป และยังไม่มีกระบวนการใดๆที่เป็นทางการพอที่จะทำให้ตกลงอะไรกันได้ เพราะการจะหยุดยิงจะต้องมีการเตรียมตัว “บทเรียนสอนให้พวกรู้ว่า ถ้าไม่มีความพร้อมจะเป็นผลเสียมากกว่าผลดีเหมือนที่เคยเกิดมาแล้วในช่วงการพูดคุยครั้งที่แล้ว” ทั้งสองฝ่ายตกลงกันว่า การพบปะหนถัดไปจะมีขึ้นหลังเดือนถือศีลอด ซึ่งคาดหมายว่าน่าจะเป็นต้นหรือกลางเดือนส.ค.
แต่สิ่งสำคัญในอันดับแรกนั้น เขาย้ำว่าทางกลุ่มมารา ปาตานีเสนอให้รัฐบาลทำให้เรื่องการพูดคุยเป็นวาระแห่งชาติ ซึ่งแม้ทางทีมไทยจะบอกว่า ขณะนี้ก็ได้รับความสำคัญมากแล้วก็ตาม แต่ทางกลุ่มผู้เห็นต่างยังอยากเห็นฝ่ายไทยดำเนินการออกมาให้เป็นลายลักษณ์อักษร ได้รับการรับรองจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เนื่องจากที่ผ่านมากลุ่มพบว่า มีการเปลี่ยนแปลงหลายหนขาดความต่อเนื่อง
ในการจัดกระบวนของฝ่ายกลุ่มผู้เห็นต่างเอง กลุ่มผู้เห็นต่าง 6 กลุ่มคือบีอาร์เอ็น พูโลที่ประกอบด้วยกลุ่มย่อย 3 กลุ่ม บีไอพีพี และจีเอ็มไอพี จะเข้าร่วมการพูดคุยกับทีมงานของรัฐบาลผ่านกลุ่มมารา ปาตานี ซึ่งจัดทีมพูดคุยไว้แล้วและจะนำโดยตัวแทนจากบีอาร์เอ็น คือมะสุกรี ฮารี ซึ่งเคยเป็นสมาชิกของทีมเจรจาชุดเดิม มารา ปาตานีเองก็มีโครงสร้างทำงานที่ประกอบไปด้วย คณะกรรมการบริหารที่นำโดยอาแว ยาบะ มีทีมพูดคุย และมีทีมผู้เชี่ยวชาญที่ทำหน้าที่สนับสนุนในเรื่องของข้อมูลตลอดจนองค์ความรู้ต่างๆที่จำเป็นต่อการสานต่อกระบวนการสันติภาพ ในส่วนที่สามนี้สามารถเปิดรับคนจากในส่วนของภาคประชาสังคมให้เข้าร่วมเพื่อนำเสนอความเห็นหรือความต้องการของฝ่ายประชาชนเพื่อส่งผ่านไปยังทีมพูดคุยได้
เขาชี้ว่าหลังจากที่สองฝ่ายเริ่มไว้วางใจกันมากพอจึงจะมาตกลงกันว่าจะพูดคุยกันเรื่องอะไรบ้าง เขาคาดว่าการพูดคุยในระยะต้นอาจจะใช้เวลา 2-3 ปี และในระหว่างนี้หากมีการเปลี่ยนแปลงใดๆในการเมืองไทย เช่นมีการเลือกตั้งหรือได้รัฐบาลใหม่ ก็เชื่อว่ากระบวนการจะไม่สะดุด เพราะมีการปูพื้นฐานแล้ว และกระบวนการทำงานร่วมกันจะเริ่มอยู่ตัวมากขึ้น และหากรัฐบาลผลักดันให้เรื่องการพูดคุยเป็นวาระแห่งชาติแล้ว ก็เชื่อว่าการมีส่วนร่วมของประชาชนจะทำได้มากขึ้น การจัดพูดคุยเพื่อถกเถียงกันในเรื่องทางออกทางการเมืองสำหรับปัญหาในพื้นที่จะทำได้มากขึ้น
ทางด้านฮัจยีสะมะแอ ท่าน้ำ อดีตแกนนำกลุ่มพูโลซึ่งเพิ่งได้รับการปล่อยตัว เปิดเผยกับบีบีซีไทยว่า ขณะนี้ตนได้รับการเสนอให้ไปช่วยประสานงานการพูดคุย เนื่องจากรู้จักกับคนที่เกี่ยวข้องในหลายกลุ่มที่กำลังจะพูดคุยกับรัฐบาล แต่สิ่งสำคัญขณะนี้คือรอให้ทางการไทยรับรองเรื่องนี้ก่อนจึงจะสามารถทำได้ ฮัจยีสะมะแอระบุว่า ขณะนี้สภาซูรอ ซึ่งก็คือกลุ่มมารา ปาตานี ได้เสนอมายังรัฐบาลขอให้ดำเนินการสองเรื่องในการทำให้เกิดกระบวนการพูดคุย เรื่องแรกคือการกำหนดให้การพูดคุยเป็นวาระแห่งชาติ เรื่องที่สองคือขอให้รับรองความปลอดภัยไม่จับกุมบรรดาแกนนำที่เข้าร่วมการพูดคุย
นอกจากนั้นเขาเปิดเผยด้วยว่า จะเสนอให้มีตัวแทนจากภาคประชาสังคมเข้าร่วมพูดคุย ทั้งนี้เพื่อให้เป็นตัวแทนของฝ่ายประชาชนในพื้นที่ บอกเล่าสิ่งที่เป็นที่ต้องการของประชาชนให้กับผู้ที่ร่วมพูดคุย
ส่วนนายนัจมุดดีน อูมา อดีตสส.นราธิวาสให้ความเห็นว่า เรื่องของการพูดคุยนั้นควรจะให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วม และตนเคยเสนอให้รัฐบาลใช้วิธีเลือกด้วยการคัดตัวแทนจากประชาชนผ่านการสมัคร และเสนอให้มาเลเซียเชิญนักรบทุกกลุ่มพูดคุยเพื่อหาตัวแทน ในส่วนของรัฐบาลเชื่อว่าสิ่งที่ตัวแทนพูดคุยของฝ่ายรัฐควรดำเนินการคือปรึกษาหารือกับคนในพื้นที่ นอกจากนั้นควรจะดึงให้นักการเมืองเข้ามามีบทบาทในการช่วยเหลือให้มากขึ้น เพราะคนเหล่านี้เข้าใจและยังสามารถกุมสภาพปัญหาในพื้นที่ได้