Skip to main content

จากความพยายามคลี่คลายความขัดแย้งและเสริมสร้างกระบวนการสันติภาพในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้โดยภาคประชาชนอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดการหยิบยกมะกอศิด ชารีอะห์ หรือ หลักเจตนารมณ์แห่งกฎหมายอิสลามขึ้นมาบรรยายและแลกเปลี่ยนกันก็เป็นความคาดหวังที่จะใช้เป็นอีกเครื่องมือหนึ่งในการคลี่คลายความขัดแย้ง อะไรคือหลักเจตนารมณ์ที่แท้จริงของกฎหมายอิสลาม 

ศ.ดร.ยะซิร อูดะฮฺ ผู้อำนวยการสถาบันมะกอศิด กรุงลอนดอน สหราชอาณาจักร กล่าวว่า อะไรคือสิ่งสำคัญของกฎหมายอิสลามกับความเป็นจริงซึ่งหลายคนอาจมองไม่เห็นกฎหมายอิสลามคือ ความสัมพันธ์โดยตรงกับอิสลามมีความสัมพันธ์โดยตรงกับสันติภาพและเป็นความสัมพันธ์โดยตรงกับความยุติธรรม

เสียงของ ศ.ดร.ยาซิร อูดะฮฺ ผู้อำนวยการสถาบันมะกอศิด จากกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ได้กล่าวถึงหลักหัวใจสำคัญของชารีอะห์ หรือกฎหมายอิสลามว่ามีไว้เพื่อสร้างความยุติธรรมและสันติภาพ และเชื่อว่าจะสามารถนำมาใช้เพื่อการคลี่คลายปัญหาความขัดแย้งในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ได้ หากทุกภาคส่วนมาร่วมศึกษาทำความเข้าใจถึงหลักเจตนารมณ์ของกฎหมายนี้

อัสมา มังกรชัย คณะรัฐศาสตร์ มอ.ปัตตานี กล่าวว่า กฎหมายอิสลามมีเจตนารมณ์ มีเป้าหมายปลายทางที่จะไปถึง ก็คือความอยู่ดีกินดี ความสันติสุข และการเคารพสิทธิพื้นฐานของคนทุกคนที่ไม่ใช่มุสลิม

ดร.มูฮัมหมัดอิลยาส หญ้าปรัง คณะรัฐศาสตร์ ม.รามคำแหงกล่าว่า ไม่ได้... แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าคนศาสนาอื่นไม่ได้ หมายความว่าอิสลามเป็นระบบความเชื่อ เป็นระบบคุณค่าอันหนึ่งที่ยอมรับในความในความแตกต่าง ไม่ได้หมายความว่าเวลามีอิสลามแล้วศาสนาอื่นจะไม่มีไม่ใช่ เพราะฉะนั้นถ้าอิสลามเข้าไปมีส่วนร่วมในกระบวนการสันติภาพ ซึ่งโดยเฉพาะอย่างยิ่งอิสลามแปลว่าสันติภาพอยู่แล้ว มันจึงทำให้กระบวนการสันติภาพเป็นกระบวนการที่เกิดขึ้นจากกลุ่มผู้คน ชุมชน ในพื้นที่ นั่นหมายความว่าเป็นกระบวนการที่มาจากข้างล่าง ไม่ใช่กระบวนการที่มาจากข้างบนซึ่งถูกกำหนดโดยรัฐ

นอกจากนี้ยังมีการแลกเปลี่ยนจากผู้เข้าร่วมในหลายประเด็น รวมถึงบทบาทของผู้หญิงตามหลักชารีอะห์ในกระบวนการคลี่คลายความขัดแย้งและสร้างสันติภาพ ซึ่งมีปัจจัยสำคัญคือการสร้างความยุติธรรมให้เกิดขึ้นในกระบวนการ

รอมือละห์ แซเยะ ผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ กล่าวว่า กฎหมายอิสลามที่เราเคยเข้าใจว่าใช้เฉพาะมุสลิม หรือหลายคนอาจเข้าใจว่าพออยากใช้กฎหมายอิสลามก็คือการแบ่งแยกดินแดน ซึ่งความเป็นจริงพอเรามาฟังวันนี้ความกระจ่างชัดของมันก็คือว่า มันเป็นการปรับประยุกต์ใช้เพื่อให้ควบคู่กับความยุติธรรม อย่างถามว่ามันมีอะไรบ้างที่เป็นปัจจัยของมัน ก็คือการอยู่ดีกินดี แล้วได้รับความเป็นธรรม หรือได้รับการศึกษาที่ดี ซึ่งเหล่านี้เป็นหลักการที่เราต่างต้องใช้

จากการบรรยายสาธารณะในครั้งนี้เป็นความร่วมกันของบรรดานักวิชาการมุสลิมตลอดจนมหาวิทยาลัยและสถาบันการศึกษาอิสลามที่ต่างออกมามีบทบาทเป็นส่วนหนึ่งในกระบวนการคลี่คลายความขัดแย้งมากขึ้น รวมถึงเพื่อเป็นสะพานเชื่อมให้คนในพื้นที่ได้เรียนรู้ร่วมกันถึงหลักเจตนารมณ์ของกฎหมายอิสลามว่ามีไว้เพื่อดำรงความยุติธรรมและสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างสันติ

สามารถรับชมย้อนหลังได้ทาง l https://www.youtube.com/watch?v=fntR9zuG65g