Skip to main content

แนวทางการจัดการสิ่งแวดล้อมข้ามเขตแดนเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน

บาว นาคร*

            ปัญหาสิ่งแวดล้อมปัจจุบันเป็นเรื่องใหญ่ที่ทุกฝ่ายต้องร่วมมือกันในการบริหารจัดการแก้ไขปัญหาและหาทางออกร่วมกัน อย่างเช่น กรณีมาบตาพุด เป็นต้น ซึ่งที่ผ่านมาประเทศไทยได้เน้นแต่ด้านการพัฒนาทางเศรษฐกิจและส่งเสริมการเป็นฐานการลงทุนด้านอุตสาหกรรมเป็นหลัก ผลจากการเร่งรัดการพัฒนาเศรษฐกิจอุตสาหกรรมอย่างรวดเร็วโดยละเลยความสำคัญของการพัฒนาทุนทางทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ทุนทางสังคมและวัฒนธรรมท้องถิ่น เนื่องจากอิทธิพลจากกระแสโลกาภิวัตน์ที่มีการย้ายฐานการผลิตจากประเทศที่พัฒนาแล้วมายังประเทศกำลังพัฒนา และการพัฒนาที่ผ่านมานั้นเน้นเพียงมิติเศรษฐกิจ โดยละเลยมิติด้านสิ่งแวดล้อมและสังคม ซึ่งเป็นพื้นฐานของการพัฒนาที่ยั่งยืน ปัจจุบันปัญหามลพิษทางอากาศที่เกิดขึ้นทางภาคเหนือของประเทศไทย ได้แก่ กรณีไฟป่าทางภาคเหนือที่ก่อให้เกิดมลพิษที่ได้ครอบคลุมเขตพื้นที่หลายจังหวัดในปัจจุบัน จะต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนของจังหวัดที่ได้รับผลกระทบและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการป้องกันและแก้ไขปัญหา และปัญหาการจัดการทรัพยากรน้ำระหว่างประเทศได้แก่ กรณีแม่น้ำโขง เป็นต้น

            ในบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 มาตรา 67  ที่ว่า  “ ...สิทธิของบุคคลที่จะมีส่วนร่วมกับรัฐและชุมชนในการอนุรักษ์ บำรุงรักษา และการได้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติและความหลากหลายทางชีวภาพ และในการคุ้มครอง ส่งเสริม และรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม เพื่อให้ดำรงชีพอยู่ได้อย่างปกติและต่อเนื่องในสิ่งแวดล้อมที่จะไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพ อนามัย สวัสดิภาพ หรือคุณภาพชีวิตของตน ย่อมได้รับความคุ้มครองตามความเหมาะสม

 การดำเนินโครงการหรือกิจกรรมที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรงทั้งทางด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ และสุขภาพ จะกระทำมิได้ เว้นแต่จะได้ศึกษาและประเมินผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนในชุมชนและจัดให้มีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและผู้มีส่วนได้เสียก่อน รวมทั้งได้ให้องค์การอิสระซึ่งประกอบด้วยผู้แทนองค์การเอกชนด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ และผู้แทนสถาบันอุดมศึกษาที่จัดการศึกษาด้านสิ่งแวดล้อมหรือทรัพยากรธรรมชาติหรือด้านสุขภาพ ให้ความเห็นประกอบก่อนมีการดำเนินการดังกล่าว...”

            นอกจากนั้น ในมาตรา 290 ได้บัญญัติไว้ว่า “องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นย่อมมีอำนาจหน้าที่ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมตามที่กฎหมายบัญญัติกฎหมายตามวรรคหนึ่งอย่างน้อยต้องมีสาระสำคัญ ดังต่อไปนี้ (1) การจัดการ การบำรุงรักษา และการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่อยู่ในเขตพื้นที่ (2)การเข้าไปมีส่วนร่วมในการบำรุงรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่อยู่นอกเขตพื้นที่ เฉพาะในกรณีที่อาจมีผลกระทบต่อการดำรงชีวิตของประชาชนในพื้นที่ของตน (3) การมีส่วนร่วมในการพิจารณาเพื่อริเริ่มโครงการหรือกิจกรรมในนอกเขตพื้นที่ซึ่งอาจมีผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมหรือสุขภาพอนามัยของประชาชนในพื้นที่ (4) การมีส่วนร่วมของชุมชนท้องถิ่น”

ดังนั้น มิติการบริหารจัดการด้านสิ่งแวดล้อมระดับประเทศ มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ทุกภาคส่วนทั้งหน่วยงานภาครัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และภาคเอกชน ต้องมีส่วนร่วมในการรับผิดชอบร่วมกัน และร่วมมือกันหาทางออกในปัญหาสิ่งแวดล้อม ซึ่งมิติทางด้านกฎหมายก็ได้ให้ความสำคัญกับชุมชน และสิทธิชุมชนไว้อยู่แล้วในการเข้ามามีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ บำรุงรักษาและการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รวมทั้งการคุ้มครอง ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม

องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นซึ่งเป็นองค์กรในเขตพื้นที่และมีภารกิจอำนาจหน้าที่ในการจัดบริการสาธารณะรวมทั้งการส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม จึงควรมีบทบาทในการมีส่วนร่วมการจัดการสิ่งแวดล้อมในชุมชน ส่วนภาครัฐควรมีมาตรการเสริมสร้างสมรรถนะให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและชุมชนในการติดตามตรวจสอบด้านสุขภาพ สิ่งแวดล้อม ตลอดจนการทำแผนจัดการสิ่งแวดล้อมของชุมชน เพื่อเสริมสร้างความเข้าใจ และตระหนักต่อการมีส่วนร่วมในการจัดการสิ่งแวดล้อมของชุมชน และภาครัฐควรมีการจัดกระบวนการเปิดพื้นที่สาธารณะ และเวทีเสวนาให้กับทุกภาคส่วนได้เข้ามาให้ข้อคิดเห็นและหาทางออก รวมทั้งเสนอมาตรการในการแก้ไขปัญหาร่วมกันด้านการจัดการสิ่งแวดล้อม และนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน

การจัดการสิ่งแวดล้อมข้ามเขตแดน ก็คือการร่วมมือกันของทุกฝ่ายที่ได้ใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติร่วมกัน เช่น กรณีที่เป็นแม่น้ำสายเดียวกันซึ่งมีทางเชื่อมต่อกันหลายเขตพื้นที่ ทั้งในระดับประเทศและระหว่างประเทศ เมื่อเกิดปัญหาน้ำเน่าเสียขึ้น หรือปัญหาการขาดแคลนน้ำ ย่อมจะส่งผลกระทบทั้งพื้นที่เขตแม่น้ำเดียวกัน  และส่งผลต่อประชาชนที่อาศัยและใช้ประโยชน์จากแม่น้ำสายเดียวกันด้วยอย่างเช่น กรณีแม่น้ำโขง ซึ่งมีความเชื่อมต่อกันหลายประเทศ และกรณีไฟป่า ซึ่งก่อให้เกิดมลพิษทางอากาศ และหมอกควันที่กระจายไปครอบคลุมหลายเขตพื้นที่และหลายจังหวัดทางภาคเหนือ และส่งผลกระทบต่อประชาชนที่อาศัยในเขตพื้นที่เดียวกัน ฉะนั้น มิติการจัดการสิ่งแวดล้อมต้องมีแนวทางการจัดการแบบร่วมมือกันข้ามเขตแดน ซึ่งถือว่าเป็นสิ่งที่จำเป็นมาก  เพราะว่าถ้าหากไม่ร่วมมือกันและทำเพียงแค่การรับผิดชอบในเขตพื้นที่ของตนเองเท่านั้นก็จะทำให้เกิดผลกระทบและเสียหายทั้งหมด หากว่าการจัดการปัญหาสิ่งแวดล้อมเป็นเพียงการทำแยกส่วนกัน ขาดความเชื่อมโยงกันทั้งในด้านความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม

มิติการบริหารจัดการด้านสิ่งแวดล้อมระหว่างประเทศ ควรมีการพิจารณาในมิติของการจัดการข้ามเขตแดน ต้องร่วมมือกันและคำนึงถึงผลกระทบของการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติร่วมกันและมีข้อตกลงในการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมร่วมกันข้ามเขตแดนด้วย

 ดังนั้น การจัดการด้านสิ่งแวดล้อมไม่ว่าจะเป็นระดับท้องถิ่น ระดับประเทศหรือแม้แต่ระหว่างประเทศนั้น จะมุ่งแก้ไขปัญหาในมิติทางด้านกฎหมายเพียงอย่างเดียวก็คงไม่ได้แก้ปัญหาอย่างยั่งยืน แต่จำเป็นจะต้องอาศัยมิติทางสังคม ชุมชน เข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการทางด้านสิ่งแวดล้อมด้วย และที่สำคัญควรมีมิติของการจัดการสิ่งแวดล้อมข้ามเขตแดนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและความร่วมมือระหว่างประเทศ นอกจากนั้น รัฐควรจะมีมาตรการและกระบวนการสร้างความร่วมมือระหว่างท้องถิ่นกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้านสิ่งแวดล้อม รวมทั้งความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้านในการร่วมมือกันเพื่อพัฒนาแนวทางในการจัดการสิ่งแวดล้อมอย่างสมดุลและยั่งยืน



* บุญยิ่ง ประทุม, [email protected]