Skip to main content
August 21, 2015
Original link CLICK HERE

 

สันติภาพภาคใต้: เผยผลสำรวจความเห็นกว่า 2,000 คนสนับสนุนให้เดินหน้ากระบวนการสันติภาพอย่างต่อเนื่อง แนะให้รัฐบาลและกลุ่มผู้เห็นต่างจับมือกันทำงานแก้ปัญหา โดยเริ่มที่เรื่องยาเสพติด
 
สถานวิจัยความขัดแย้งและความหลากหลายทางวัฒนธรรมภาคใต้หรือซีเอสซีดีโดยทีมนักวิจัย ได้นำเสนอผลการสำรวจความเห็นประชาชนต่อเรื่องของการสร้างสันติภาพเมื่อ 17 ส.ค.ที่ผ่านมาว่า จากการสุ่มสำรวจความเห็นประชาชน 2,014 คนใน 302 หมู่บ้านที่กระจายไปใน 19 อำเภอของสามจังหวัดภาคใต้พบว่า คนส่วนใหญ่สนับสนุนกระบวนการพูดคุย ต้องการเห็นกระบวนการเดินหน้าอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งแสดงความเชื่อมั่นว่าฝ่ายต่างๆที่เข้าร่วมว่าจะทำงานกันอย่างจริงจัง
 
ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี ผู้อำนวยการซีเอสซีดี น.ส.สุวรา แก้วนุ้ย กับทีมงานที่เกี่ยวข้องกับการสำรวจระบุว่า ถ้าดูในเชิงตัวเลขพบว่า 76.9% ของผู้ตอบแบบสอบถามระบุว่าเชื่อมั่นและไว้ใจในกระบวนการพูดคุย 80.2% เชื่อมั่นว่าการพูดคุยนี้จะมีความต่อเนื่องและเดินหน้าได้ อีก 81.2% เชื่อมั่นต่อการดำเนินการของรัฐ และ 74.8% แสดงความเชื่อมั่นในกลุ่มที่เป็นการรวมตัวของผู้เห็นต่างที่มาพูดคุยกับรัฐบาล คือกลุ่มมาราปาตานี และอีก 80.6% เชื่อมั่นในการดำเนินการของมาเลเซียในฐานะผู้อำนวยความสะดวกให้กับการพูดคุย
 
ขณะนี้ตัวแทนฝ่ายรัฐบาลได้เริ่มกระบวนการพูดคุยเพื่อสร้างสันติภาพไปแล้วกับผู้แทนของกลุ่มมาราปาตานี โดยทั้งสองฝ่ายได้พบกันมาแล้วสองครั้ง และจะพบกันอีกครั้งในวันที่ 25 ส.ค.นี้ที่มาเลเซีย
 
สิ่งที่น่าสนใจไม่น้อยกว่าผลสำรวจในเรื่องความเชื่อมั่นต่อกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติภาพก็คือสิ่งที่คณะผู้สำรวจความเห็นบอกว่าเป็นข้อเสนอแนะของประชาชนต่อเรื่องการสร้างสันติภาพ ข้อเสนอสำคัญจากส่วนใหญ่ของกลุ่มผู้ให้ความเห็นคืออยากให้คู่ความขัดแย้งทั้งสองฝ่ายคือรัฐบาลและกลุ่มผู้เห็นต่างร่วมมือกันทำงานเพื่อแก้ปัญหาในพื้นที่ โดยเริ่มที่ปัญหายาเสพติด รองลงมาคือต้องการให้หลีกเลี่ยงการก่อเหตุความรุนแรงกับผู้บริสุทธิ์ ถัดมามีข้อเสนอให้ตั้งกรรมการร่วมเพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงต่อกรณีเหตุรุนแรงใดๆที่สังคมมีความเคลือบแคลงสงสัย ซึ่งผู้นำเสนอระบุว่าเป็นสิ่งที่สะท้อนความต้องการในเรื่องกระบวนการยุติธรรม โดยให้มีการชี้แจงและแยกแยะตัวผู้กระทำผิดให้ชัดเจน นอกจากนั้นยังมีข้อเรียกร้องให้ลดความรุนแรงจากทุกฝ่าย เยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ และเนื่องจากการสุ่มสำรวจนี้ทำในช่วงก่อนเดือนถือศีลอด ข้อเสนอที่ได้จากผู้ให้ความเห็นคือเสนอให้ยุติการใช้กำลังช่วงถือศีลอดซึ่งมีมากถึง 75%
 
นอกจากนั้นกลุ่มผู้ให้ความเห็นยังมีข้อเรียกร้องต่อฝ่ายรัฐบาลโดยตรงหลายข้อ ที่สำคัญคือพวกเขาอยากให้มีกลไกหรือระบบสนับสนุนกระบวนการพูดคุยให้ต่อเนื่อง อยากเห็นภาครัฐเปิดใจรับฟังข้อเสนอของกลุ่มผู้เห็นต่างเพื่อนำมาหาแนวทางแก้ปัญหาร่วมกัน ให้ยุติความรุนแรงลดการใช้อาวุธและถอนทหารออกจากพื้นที่ ขอให้มีกลไกตรวจสอบการทำงานของเจ้าหน้าที่ ให้มีระบบการติดตามการจัดการปัญหาที่ประชาชนมีส่วนร่วม นอกจากนั้นอยากให้มีกระบวนการตรวจสอบการใช้งบประมาณเพื่อความโปร่งใส
 
ข้อเสนออีกข้อหนึ่งคืออยากให้มีการจัดตั้งเขตปกครองพิเศษภายใต้รูปแบบการบริหารที่ทุกฝ่ายอยู่ร่วมกันได้
 
ในด้านงานยุติธรรม พวกเขาอยากให้รัฐส่งเสริมความรู้ความเข้าใจต่อกฎหมายและการนิรโทษกรรมในหมู่ประชาชนได้เข้าใจมากขึ้น ให้ดำเนินการตามหลักกฎหมายอย่างยุติธรรม ยังมีข้อเสนอให้ยกเลิกการนำพรก.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินไปใช้ในพื้นที่ ยกเลิก “บัญชีดำ” ผู้ต้องสงสัยที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิด และเสนอให้ออกแบบมาตรการคุ้มครองความปลอดภัยให้เหมาะสมกับบริบทของพื้นที่และประชาชน และเยียวยาทุกฝ่ายอย่างเท่าเทียมและยุติธรรม
 
ประชาชนยังอยากเห็นเจ้าหน้าที่ทำงานอย่างจริงใจและจริงจัง ลดทิฐิ ปรับความเข้าใจ สร้างความเชื่อมั่นกับกลุ่มผู้เห็นต่าง ให้ทำงานต่อเนื่องและอย่างสมานฉันท์ โครงการช่วยเหลือชาวบ้านควรทำให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตและสังคมจริงๆ ในขณะที่ส่งเสริมให้มีส่วนร่วม มีการเปิดรับฟังความเห็นของทุกฝ่าย และแนะด้วยว่ารัฐควรสร้างความปรองดองประชาชนให้มากขึ้น นอกจากนั้นพวกเขาเสนอว่าภาครัฐควรจะยอมรับประวัติศาสตร์ ศาสนา อัตลักษณ์พิเศษในท้องถิ่น
 
ผู้ตอบแบบสอบถามยังมีข้อเสนอต่อกลุ่มผู้เห็นต่างโดยเฉพาะกลุ่มบีอาร์เอ็น ข้อสำคัญคือเรียกร้องให้ยุติการใช้ความรุนแรงต่อผู้บริสุทธิ์ทุกกลุ่ม เสนอให้ปรับเปลี่ยนวิธีการต่อสู้จากการใช้การทหารหรือใช้กำลังมาเป็นการต่อสู้ด้วยสันติวิธี ให้ยอมรับการจัดการปัญหาด้วยกระบวนการพูดคุยหรือเจรจาสันติภาพ และให้ยอมรับข้อเสนอบางอย่างจากรัฐบาล และร่วมสร้างความต่อเนื่องในการพูดคุย พวกเขาเรียกร้องให้ผู้เห็นต่างจัดการปัญหาอย่างจริงใจ ตรงไปตรงมา สร้างความเชื่อมั่นให้กับฝ่ายรัฐ และอีกประการหนึ่งคือควรจับมือกับรัฐบาลจัดการปัญหาสังคมในพื้นที่เช่นเรื่องของยาเสพติดและปากท้องหรือเศรษฐกิจในพื้นที่
 
การสำรวจความเห็นหนนี้ผู้ร่วมตอบคำถามมีจำนวนชายและหญิงพอๆกัน ในจำนวนคนทั้งหมดนั้น 75% เป็นมุสลิม ที่เหลือเป็นพุทธ และกว่า 43% ของผู้ตอบแบบสอบถามเป็นกำนัน ผู้ใหญ่บ้านหรือผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน และผู้ที่มีฐานะต่างๆในชุมชน ส่วนที่เป็นประชาชนทั่วไปไม่มีสถานะใดๆ 57.7%