Skip to main content

การจัดการศึกษาในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ อัตลักษณ์ พหุวัฒนธรรม และ แนวทางสู่การปฏิบัติ
บนพื้นฐานความเป็น ปุรณาการ หรือ บูรณาการ[1]
                                                  สุรชัย (ฟูอ๊าด) ไวยวรรณจิตร[2]
 
       การบูรณาการ คือ อะไร?
              เมื่อชีวิตแห่งแวดวงการศึกษาและความเป็นนักวิชาการได้เข้ามาสัมผัสกับคำดังกล่าวข้างต้น คำถามที่ตามมา คือ แล้ว “บูรณาการ” หมายถึงอะไร ณ วันนี้ก็ยังไม่มีใครให้คำตอบได้ว่าคำว่า “บูรณาการ” ในบริบททางภาษาจริงๆแล้วหมายถึงอะไร แม้กระทั่งพจนานุกรมของราชบัณฑิตเองก็ไม่สามารถค้นหาคำตอบจากคำดังกล่าวได้
              เมื่อพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ  พ.ศ. 2542  หมวดที่  4  มาตรา  23  กำหนดไว้ว่า  “  การจัดการศึกษา  ทั้งการศึกษาในระบบ  การศึกษานอกระบบ  และ การศึกษาตามอัธยาศัยต้องเน้นความสำคัญทั้งความรู้  คุณธรรม  กระบวน การเรียนรู้ และบูรณาการตามความเหมาะสมในแต่ละระดับการศึกษา…”  และใน มาตรา 24(4)  ได้กำหนดไว้ว่า “  การจัดการเรียนการสอนโดยผสมผสาน สาระความรู้ด้านต่าง ๆ  อย่างได้สัดส่วนสมดุลกัน  รวมทั้งปลูกฝังคุณธรรม  ค่านิยมที่ดีงามและคุณลักษณะอันพึง ประสงค์ในทุกวิชา” คำถามที่ตามาอีกก็คือว่า “การจัดการศึกษาดังกล่าว คือ การต้องจัดการการศึกษาแบบบูรณาการใช่ไหม๊?” หากใช่แล้วผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการจัดการศึกษารู้กระจ่างแจ้งเพียงใดในกระบวนการเพื่อครอบคลุมทุกบริบทในความหมายดังกล่าว
 
       แลกเปลี่ยนเรียนรู้สู่แนวทางปฏิบัติ...
              “บูรณาการ” ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542 ไม่มี ปูรณะ + อาการ = ปูรณาการ (ภาษาไทยใช้ บูรณาการ) ปูรณะ มาจากรากศัพท์ว่า ปูรฺ ในความหมายว่า เต็ม อาการ (อา + กร) แปลตามศัพท์ ได้ว่า กระทำทั่ว (อา = ทั่ว , กร = กระทำ) บูรณาการ จึงน่าจะแปล ว่าการกระทำให้สมบูรณ์ ภาษาอังกฤษใช้ว่ integration ความหมายของบูรณาการ ในทางการศึกษาคือ การเชื่อมโยงความรู้และประสบการณ์
ทุกชนิดที่บรรจุอยู่ในแผนของหลักสูตร
การบูรณา การทำให้ผู้เรียนได้รับความรู้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน และรู้ในเรื่องนั้นอย่างลึกซึ้ง การบูรณาการความรู้เป็นสิ่งจำเป็นโดยเฉพาะในยุคที่มีความรู้ ข้อมูลข่าวสารมาก จึงเกิดเป็นหลักสูตรที่ เรียกว่า หลักสูตรบูรณาการ (Integrated curricula)[3]
 
       ทางออกของการศึกษาที่จะทำให้สมบูรณ์ (แบบ)
              เมื่อการจัดการศึกษาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ทางออกและทิศทางที่ควรจะเป็น คือ การจัดการศึกษาที่ทำให้สมบูรณ์ส่วนที่ควรจะมาเติมเต็มมิใช่นำมาเพื่อเพียงซ่อมแซมสิ่งที่ขาดหายอยู่สิ่งหนึ่งสิ่งนั้นและสิ่งเดียว คือ “การใช้หลักธรรมคำสอนทางศาสนา” ปูทางชูธงความเป็นสัจธรรมของความเป็นสากลในทุกยุคทุกสมัยในองค์ความรู้ทุกแขนงที่มีอยู่จริง หรือเรียกอีกนัยหนึ่งว่า “อิสลามานุวัตร”
              การจัดการศึกษาในพื้นที่แห่งนี้ (จังหวัดชายแดนใต้) หลายต่อหลายครั้งที่เราพยายามจะหยิบยกความเป็นอัตลักษณ์ ความเป็นพหุวัฒนธรรม หากทว่าการหยิบยกวาทกรรมดังกล่าวในบริบทพื้นที่เดียวกันในทางปรากฏการณ์ทางสังคมแล้วอาจใช้ในการอธิบายวิถีทางวิทยาอะไรต่างๆมากมายได้หลากหลาย แต่หากจะหยิบยกวาทกรรมทั้งสองดังกล่าวมาอธิบายแนวทางการจัดการศึกษาในพื้นที่ดังกล่าว เราเคยสังเกตไหม๊ครับว่า อัตลักษณ์ กับ ความเป็นพหุวัฒนธรรม ดูจะเป็นเสมือนความขัดกันที่ยากจะแยกออกจากกันได้เหมือนกับการที่เรามิสามารถแยกศาสนจักรกับอาณาจักรออกจากกันได้ เพราะเมื่อไหร่ก็ตามที่เรานำธงของการจัดการศึกษาในพื้นที่ด้วยวิถีทางวิทยาแม้เพียงคิดว่าทุกสิ่งทุกอย่างต้องอธิบายไปตามตัวตนของมันไม่สามารถมาอธิบายในบริบทของหลักธรรมคำสอนศาสนาได้ นั่นหมายถึงว่าเรากำลังลุ่มหลงไปกับการก่อตัวในความเป็น “เซคิวลาร์”
              ฉะนั้นความจำเป็นที่จะต้องสร้างกระบวนการจัดการเรียนรู้สู่การปฏิบัติที่เป็นสัจธรรมและจับต้องได้ด้วยการนำไปปฏิบัติใช้ คือ การปุรณาการ (เติมเต็ม) ทุกศาสตร์สาขาวิชาด้วยกับหลักธรรมคำสอนทางศาสนา เพราะนี่เป็นวิธีการจัดการศึกษาที่น่าจะเป็นแนวทางหนึ่งในการร่วมผลักดันการจัดการศึกษาในพื้นที่ภายใต้ความเป็นอัตลักษณ์ พหุวัฒนธรรม ของสังคมทางการศึกษาแห่งนี้อย่างแท้จริง
              หากมองย้อนไปยังอดีตของการศึกษาอิสลามในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้แล้ว จะพบว่า การศึกษาในสามจังหวัดนี้มีความรุ่งเรื่องและเป็นศูนย์กลางการศึกษาของภูมิภาคจนได้รับสมญานามว่าเป็นกระจงเงาแห่งนครมักกะฮ์ แต่การจัดการศึกษาดังกล่าวไม่ได้อยู่ในความต้องการของรัฐบาลไทย ทั้งนี้เนื่องจากนโยบายทางการศึกษาของไทยคือ เพื่อสร้างความมั่นคงให้กับประเทศ การจัดการศึกษาจึงเป็นไปตามนโยบายจากส่วนกลางและไม่ได้ให้ความสำคัญกับท้องถิ่นเลย
ผลจากการดำเนินการด้านการศึกษาของรัฐในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ สะท้อนให้เห็นถึงความ
ขัดแย้งกันระหว่างการศึกษาที่ดำเนินการโดยรัฐกับการศึกษาที่ดำเนินการโดยชุมชน และรัฐมองว่าการศึกษาของชุมชนคือปัญหาของการจัดการศึกษาของชาติ และรัฐก็ได้ใช้ความพยายามในหลากหลายรูปแบบเพื่อการเปลี่ยนแปลงการจัดการศึกษาของท้องถิ่นให้สอดคล้องกับนโยบายรวมของรัฐบาล จนนำมาซึ่งปัญหาและผลกระทบที่ต่อเนื่องตามมา
ผลกระทบสำคัญที่เกิดขึ้นจากความพยายามในการเปลี่ยนแปลงการจัดการศึกษาในสามจังหวัด
ชายแดนภาคใต้โดยรัฐคือ 1) รูปแบบของสถาบันการศึกษาอันเป็นอัตลักษณ์ของชุมชนเปลี่ยนไป ทั้งในแง่ของการรูปแบบและการบริหารจัดการ 2) เป้าหมายการศึกษาที่ไม่ตอบสนองต่อความต้องการของชุมชนและเนื้อหาวิชาที่ขาดความครอบคลุม 3) รูปแบบการสอนที่เปลี่ยนแปลงไป 4) ความมุ่งมั่นและโอกาสทางการศึกษาลดลง และ 5) การขาดแคลนบุคลากรทางการศึกษา[4]
 
       เพราะเชื่อว่าทำได้และควรทำ...
              ผู้เขียนไม่เชื่อว่าการจัดการศึกษาในสังคมปัจจุบันในหลายๆภาคส่วนบนพื้นที่แห่งนี้เดินมาถูกทางตราบใดที่การประสานองค์ความรู้แต่ละเนื้อหาสาระนั้นยังคงเพียงแค่บูรณาการศาสตร์สาขาวิชาเข้าด้วยกันขาดซึ่งองค์ประกอบของการปุรณาการหลักธรรมคำสอนทางศาสนาที่สอดแทรกให้ซึมซับรับเอาความเป็นสัจธรรมที่แท้จริง
       การปุรณาการอิสลาม คืออะไร?
              ผู้เขียนเริ่มต้นด้วยคำถามก็อยากจะจบด้วยคำถามของคำตอบของใครหลายคนที่สื่อสะท้อนในแง่มุมคิดออกมาด้วยคำตอบที่ว่า “การเอากุรอานและหะดีษเป็นตัวตั้งในการอธิบายสิ่งต่างๆใด คือ แนวทางในการจัดการเรียนรู้”[5] ประกอบกับแนวความคิดที่ว่า “องค์ความรู้ใดๆก็แล้วแต่ที่จะไม่ตั้งภาคีต่อพระเจ้า นั่นแหละ คือ การจัดการเรียนรู้แบบปุรณาการ”[6]...
       แล้วผู้อ่านมีความคิดเห็นอย่างไรในการจัดการศึกษาแบบปุรณาการในทิศทางบนพื้นที่แห่งนี้ เพื่อการก้าวพ้นคำว่า “แผ่นดินจินตนาการ” ในเมื่อสัจธรรมมันสามารถจับต้องได้มิใช่เพียงการจินตนาการ
 
  แหล่งข้อมูลเกี่ยวข้อง http://gotoknow.org/blog/fuad1011/350226
                                                                                                                                                       เย็นย่ำยามสนธยา...
                                                                               เมษายน 2553


[1] บทความไขข้อข้องใจในความคิดของผู้เขียน
[2] อาจารย์ประจำคณะศิลปศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยอิสลามยะลา
[4] บทสรุปในบทความ ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงการจัดการศึกษาอิสลามในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ของ อ.จารุวัจน์ สองเมือง อาจารย์ประจำสาขาวิชาชีพครู มหาวิทยาลัยอิสลามยะลา
[5] มุมมองแนวทางการจัดการศึกษาแบบปุรณาการของ อ.อิบรอเฮม หะยีสาอิ ผอ.สำนักวิทยบริการ มหาวิทยาลัยอิสลามยะลา
[6] มุมมองแนวทางการจัดการศึกษาแบบปุรณาการของ อ.สุกรี หลังปูเต๊ะ คณบดี คณะศิลปศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยอิสลามยะลา