หมายเหตุ: บทความชิ้นนี้เป็นรายงานบทสรุปผู้บริหารของผลการสำรวจความคิดเห็นประชาชนใน “โครงการแนวโน้มทัศนคติของประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ในสถานการณ์ปัจจุบันเกี่ยวกับสถานการณ์ความไม่สงบ ความยุติธรรม ปัญหาสังคม และการสร้างสันติภาพ” ที่จัดทำโดยสถานวิจัยความขัดแย้งและความหลากหลายทางวัฒนธรรมภาคใต้ (CSCD) มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตานนี โดยเผยแพร่ครั้งแรกในการแถลงข่าวเมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2558 ที่ผ่านมา (ดูรายงานไฟล์พีดีเอฟ คลิกที่นี่ และดูไฟล์นำเสนอ คลิกที่นี่)
ดาวน์โหลดไฟล์รายงาน |
ดาวน์โหลดไฟล์นำเสนอ |
ที่มาและความสำคัญของปัญหา
เหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ที่ประทุขึ้นในปี 2547 ผ่านมา 11 ปีแล้ว ยังเป็นความขัดแย้งที่ยึดเยื้อเรื้อรัง ข้อมูลจากศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้พบว่าในระหว่างเดือนมกราคม 2547 – กรกฏาคม 2558 มีข้อมูลเหตุการณ์ทั้งสิ้นประมาณ 15,091 เหตุการณ์ มีผู้เสียชีวิตกว่า 6,460 คน และมีผู้ได้รับบาดเจ็บกว่า 11,730 คน[1] ความรุนแรงมีตรรกเหตุผลบางอย่างที่สามารถอธิบายได้ ปัจจัยที่เป็นตัวขับเคลื่อนความรุนแรงและความขัดแย้งสะท้อนรากเหง้าของปัญหาที่สั่งสมมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน เช่น ประเด็นเรื่องประวัติศาสตร์ ชาติพันธุ์และศาสนา ซึ่งลักษณะของปัญหาดังกล่าวมีความสัมพันธ์กันอย่างซับ ซ้อนและมีความเชื่อมโยงกับปัญหาอื่นๆ ในอีกหลายมิติ สถานการณ์ความรุนแรงและความไม่สงบที่เกิดขึ้นนี้ได้ ก่อให้เกิดผลกระทบต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนทุกกลุ่มในพื้นที่ รวมทั้งมีผลกระทบต่อความมั่นคงทั้ง ในระดับท้องถิ่น ระดับชาติและกระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ หลังจากที่ได้คลำหาทางออกมา หลายวิถีทาง ทั้งการใช้มาตรการความรุนแรง มาตรการทางการทหารและทางการเมือง ในช่วงที่ผ่านมาทุกฝ่าย ก็ได้ให้หันมาให้ความสำคัญต่อการจัดการกับปัญหาความขัดแย้งด้วยวิธีการและกระบวนการสันติภาพ/สันติสุข ซึ่งทำให้ปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้กลายเป็นวาระนโยบายระดับชาติซึ่งได้รับความสนใจ จากประชาคมทั้งในระดับชาติและระหว่างประเทศ
เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้สร้าง ‘ผลกระทบ’ อย่างมีนัยยะสำคัญต่อชีวิตความเป็นอยู่ การกลับคืนสู่สภาพปกติ พฤติกรรมของปัจเจกบุคคล ชีวิตของครอบครัวและชุมชน รวมทั้งอารมณ์ความรู้สึก/ทัศนคติของผู้คน อันเป็นปัญหาในระดับสังคมจิตวิทยาและวัฒนธรรมวิถึชีวิต ผลกระทบเหล่านี้จึงสมควรที่จะต้องมีการศึกษาในระดับจุลภาคทั้งการใช้การสำรวจโดยใช้สอบถามและการบันทึกข้อมูลจากการสังเกตุเพื่อให้ได้ข้อมูลซึ่งผู้กำหนดนโยบายและฝ่ายที่นโยบายมาสู่การปฏิบัติได้ตระหนักถึงความสำคัญของการสร้างความเข้าใจต่อสถาน การณ์ได้มากยิ่งขึ้น
ภายใต้บริบทดังกล่าว สถานวิจัยความขัดแย้งและความหลากหลายทางวัฒนธรรมภาคใต้ (CSCD) มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ได้ดำเนินการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนในจังหวัดชาย แดนภาคใต้ในงานวิจัยชื่อ “การสำรวจแนวโน้มทัศนคติของประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ในสถาน การณ์ปัจจุบันเกี่ยวกับสถานการณ์ความไม่สงบ ความยุติธรรม ปัญหาสังคม และการสร้างสันติภาพ” ภายใต้ ทุนในการดำเนินโครงการวิจัยของสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ปีงบประมาณ พ.ศ. 2558 และ ทุนสนับสนุนจากงบประมาณแผ่นดินของสถานวิจัยความขัดแย้งและความหลากหลายทางวัฒนธรรมภาคใต้
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อศึกษาความคิดเห็นหรือ ‘ฟังเสียงของประชาชน’ เกี่ยวกับ ปัญหาทางสังคมและสถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ และเพื่อศึกษาทัศนคติของประชาชน ต่อกระบวนการยุติธรรม ประเด็นในการจัดการความขัดแย้งในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ รวมถึงการถาม ความเห็นของประชาชนต่อแนวทางและกระบวนการในการสร้างสันติภาพ/สันติสุขในพื้นที่จังหวัดชายแดน ภาคใต้ในสถานการณ์ปัจจุบันที่กำลังมีการดำเนินการในเรื่องนี้จากฝ่ายรัฐและฝ่ายผู้มีความเห็นต่าง
วิธีการศึกษา
การศึกษาครั้งนี้เป็นการวิจัยเชิงสำรวจ (Survey Research) หรือการสำรวจโดยใช้กลุ่มตัวอย่าง (Sample Surveys) ซึ่งดำเนินการเก็บข้อมูลด้วยวิธีการออกแบบวิจัยสำรวจตามระเบียบวิธีวิจัยเชิงสำรวจ เริ่ม จากการกำนดเป้าหมายการวิจัย การออกแบบแบบสอบถาม การกำหนดกลุ่มประชากรเป้าหมายและการออก แบบกรอบการสุ่มตัวอย่าง (Sampling Frame) โดยใช้แบบสอบถามที่เป็นแบบสัมภาษณ์ในการเก็บรวบรวม ข้อมูล ทำการศึกษาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้แก่ จังหวัดปัตตานี จังหวัดยะลา จังหวัดนราธิวาส และสี่อำเภอของจังหวัดสงขลา
แผนภาพที่ 1 – ขั้นตอนของการทำวิจัยแบบสำรวจ
การศึกษาครั้งนี้ทำการสุ่มตัวอย่างโดยวิธีการสุ่ม (sampling methods) แบบผสมสองแนวทาง คือใช้หลักทางความน่าจะเป็นในทางสถิติและไม่ใช้หลักสถิติความน่าจะเป็น การใช้หลักความน่าจะเป็นในทางสถิตินั้นก็เพื่อประกันว่าทุกคนทุกหน่วยในประชากรที่ศึกษามีโอกาสเท่ากันในการถูกเลือก (the same probability of selection) ความน่าเชื่อถือของความเป็นตัวแทน (representation) ของกลุ่มตัวอย่างจะทำให้ผลการสำรวจมีความคลาดเคลื่อนทางสถิติในระดับที่ยอมรับได้ โดยทำการสุ่มตัวอย่างจำนวน 2,104 ตัวอย่าง จากพื้นที่ 302 หมู่บ้าน/ชุมชน 83 ตำบล 19 อำเภอ
โครงการสำรวจทำการเก็บรวบรวมข้อมูลโดยวิธีการสัมภาษณ์จากผู้ให้คำตอบโดยตรง (face-to-face interview) โดยทีมเก็บข้อมูลภาคสนามที่ผ่านการอบรมการสัมภาษณ์มาแล้ว การลงภาคสนามดำเนินการในห้วงระหว่างวันที่ 13 มิถุนายน – 10 กรกฎาคม 2558 ซึ่งเป็นช่วงเวลาส่วนใหญ่ในเดือนรอมฎอนตามปฏิทินอิสลาม
ผลการศึกษา
1. ข้อมูลทั่วไป
การศึกษาครั้งนี้มีกลุ่มตัวอย่างที่ตอบแบบสอบถาม ทั้งสิ้น 2,104 ตัวอย่างจากพื้นที่ 302 หมู่บ้านและชุมชน ซึ่งกระจายไปในพื้นที่ 83 ตำบลจาก 19 อำเภอในจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยมีผู้ตอบแบบสอบถามที่เป็นเพศหญิงร้อยละ 45.1 เป็นเพศชายร้อยละ 54.9 อายุเฉลี่ยของผู้ตอบแบบสอบถามอยู่ที่ 42.8 ปี โดยส่วน ใหญ่นับถือศาสนาอิสลามร้อยละ 75.1 นับถือศาสนาพุทธร้อยละ 24.9 ผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่ใช้ภาษา มลายูถิ่นเป็นภาษาที่ใช้ในครัวเรือน ร้อยละ 39.2 (800 ตัวอย่าง) รองลงมา คือ ใช้ภาษามลายูถิ่นและภาษา ไทยร่วมกันเป็นภาษาที่ใช้ในครัวเรือน ร้อยละ 34.3 (701 ตัวอย่าง) และครัวเรือนที่ใช้ภาษาไทยเป็นภาษา ประจำวันในครัวเรือนมีร้อยละ 25.8 (528 ตัวอย่าง) อาชีพหลักของผู้ตอบแบบสอบถาม คือ ทำการเกษตร ร้อยละ 28.8 และลำดับรองลงมาคือรับราชการ ร้อยละ 10.4 นอกนั้นก็กระจายไปหลายสาขาอาชีพ จะเห็นได้ ว่าข้อมูลภูมิหลังประชากรชุดนี้สะท้อนให้เห็นถึงการกระจายตัวในทางสังคมวิทยาของกลุ่มตัวอย่าง
ข้อมูลด้านการศึกษาสายสามัญ พบว่า ผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่จบการศึกษาสูงสุดในระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย ร้อยละ 33.8 รองลงมา คือ จบการศึกษาสูงสุดในระดับชั้นประถมศึกษาร้อยละ 19.2 สำหรับข้อมูลด้านการศึกษาสายศาสนา พบว่า ส่วนใหญ่จบการศึกษาทางด้านศาสนาระดับกลาง (มูตาวัตซิส) ร้อยละ 19.3 รองลงมา คือ จบการศึกษาทางด้านศาสนาในศูนย์ตาดีกา ร้อยละ 16.3 และจบการศึกษาทางด้านศาสนาระดับปลาย (ซานาวีย์) ร้อยละ 16.1
ผู้ที่ตอบแบบสอบถามมีตำแหน่งทางสังคมในองค์กรท้องถิ่นหรือชุมชน (ทั้งแบบทางการและไม่เป็น ทางการ) ร้อยละ 43.3 ประกอบด้วย กำนัน/ผู้ใหญ่บ้าน/ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน ร้อยละ 9.5 รองลงมา คือกรรมการชุมชนหรือหมู่บ้าน ร้อยละ 8.5 และอาสาสมัครสาธารณสุข (อสม.) ร้อยละ 7 ส่วนผู้ที่ไม่มีการดำรงตำแหน่งใดๆ ในชุมชนเลยมีอยู่ร้อยละ 57.7 การวิจัยครั้งนี้มุ่งที่จะศึกษาเปรียบเทียบทัศนคติทั้งของประชาชนโดยทั่วไป และผู้นำในระดับชุมชนกลุ่มตัวอย่างจึงกระจายตัวไปทั้งในกลุ่มผู้นำและประชาชนที่ไม่มีตำแหน่งทางสังคมใดๆ เลย ทัศนคติที่ได้มาในที่นี้จึงสะท้อนความเป็นตัวแทนของทุกกลุ่มในสังคม
2. การสื่อสารและพฤติกรรมการสื่อสาร
ในประเด็นพฤติกรรมการสื่อสารและการติดตามข่าวสาร พบว่า ประชาชนผู้ตอบแบบสอบถามมีช่องทางหรือแหล่งของการสื่อสาร 5 อันดับคือ 1) โทรทัศน์ทั่วไป 2) ข่าวจากเพื่อนบ้านและคนในชุมชน 3) วิทยุ 4) ข่าวในร้านน้ำชา และ 5) ไลน์ (Line)/วอทแอ็ป (WhatsApp) เมื่อถามถึงความน่าเชื่อถือของแหล่งข่าวจากสื่อ พบว่า แหล่งสื่อที่ผู้ตอบแบบสอบถามเชื่อถือมากที่สุด 5 อันดับ คือ 1) โทรทัศน์ 2) วิทยุ 3) หนังสือพิมพ์ 4) ข่าวจากเพื่อนบ้านและคนในชุมชน และ 5) อินเตอร์เน็ต น่าสังเกตว่านอกจากดูโทรทัศน์ คุยข่าวจากเพื่อนบ้าน ในชุมชนและวิทยุแล้ว การสื่อสารแบบใหม่ที่ติดอันดับค่อนข้างสูงคือไลน์และวอทแอ็ปซึ่งได้รับความนิยมสูงค่อนข้างมาก สะท้อนให้เห็นปรากฏการณ์ใหม่ของการเปิดรับข่าวสารจากคนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่มีความก้าวหน้าควบคู่ไปกับการสื่อสารแบบเก่าที่ใช้การดูด้วยตาและฟังด้วยสื่อจากตัวบุคคล
สำหรับการติดตามรายการโทรทัศน์ พบว่า กลุ่มตัวอย่างในพื้นที่ส่วนใหญ่ติดตามรายการโทรทัศน์เรียงตามลำดับคือจากช่อง 7 ช่อง 3 ช่อง 9 ช่อง 5 และ ช่อง 11 โดยช่วงเวลาในการดูรายการโทรทัศน์ส่วนใหญ่ คือ เวลา19.00 – 19.59 น. รองลงมาคือ เวลา 21.00 – 21.59 น. และเวลา 20.00 – 20.59 น. สำหรับการติดตามสื่อหนังสือพิมพ์ พบว่า หนังสือพิมพ์ที่มีการอ่านมากที่สุด 5 อันดับ ในพื้นที่คือ 1) ไทยรัฐ 2) เดลินิวส์ 3) คม ชัด ลึก 4) ข่าวสด และ 5) มติชนรายวัน
3. ประเด็นทางรัฐศาสตร์: สถานการณ์ปัญหาสังคมและเหตุการณ์ความไม่สงบ
A. สถานการณ์ปัญหาสังคม
การสำรวจข้อมูลในประเด็นสถานการณ์ปัญหาสังคม พบว่า ปัญหาสำคัญ 5 ลำดับที่เกิดในชุมชน ได้แก่ 1) ปัญหายาเสพติด 2) ปัญหาการว่างงาน 3) ปัญหาเหตุการณ์ความไม่สงบ 4) ปัญหาความยากจน และ 5) ปัญหาความขัดแย้งส่วนตัวหรือระหว่างกลุ่มในชุมชน โดยผู้ตอบแบบสอบถาม คิดว่าในชุมชนมีปัญหาการระบาดยาเสพติดในระดับมากถึงมากที่สุดถึงร้อยละ 80.1
B. สถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่
จากการศึกษาครั้งนี้ พบว่า ผู้ที่เป็นกลุ่มตัวอย่างในการตอบแบบสอบถามเคยมีประสบการณ์เกี่ยวกับเหตุการณ์ความไม่สงบในรอบ 10 ปีผ่านมา ร้อยละ 28.6 นอกจากนี้พบว่าในหมู่บ้านเคยเกิดเหตุการณ์ความไม่สงบในรอบ 1 ปีผ่านมา ร้อยละ 29.5 โดยมีลักษณะประสบการณ์เกี่ยวกับเหตุการณ์ความไม่สงบดังนี้ 1) เคยอยู่ในเหตุการณ์ยิงปะทะต่อสู้ในเหตุความไม่สงบต่างๆ 2) สมาชิกในครัวเรือนหรือญาติสนิท เสียชีวิตจากเหตุการณ์ความไม่สงบ 3) มีเพื่อนหรือคนรู้จักเสียชีวิตหรือได้รับบาดเจ็บหรือหายตัวไปจากเหตุการณ์ความไม่สงบ 4) เคยอยู่ในเหตุการณ์การปราบปรามปิดล้อมตรวจค้นจับกุมของเจ้าหน้าที่ และ 5) สมาชิกในครัวเรือนหรือญาติสนิทถูกจับหรือถูกเชิญตัวไปสอบสวนจากทางการ
สำหรับผลกระทบทางเศรษฐกิจ พบว่า ผู้ตอบแบบสอบส่วนใหญ่ร้อยละ 75.9 คิดว่าสถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ภาคใต้ส่งผลกระทบต่อปัญหาเศรษฐกิจและการทำมาหากินในระดับมากและมากที่สุด
C. การจัดการปัญหาสังคม และเหตุการณ์ความไม่สงบโดยภาพรวม
จากการศึกษา พบว่า ผู้ตอบแบบสอบถามต้องการความช่วยเหลือเร่งด่วนจากหน่วยงานของรัฐในการจัดการปัญหาที่สำคัญ 5 อันดับ ดังนี้ 1) การแก้ปัญหายาเสพติด 2) การจ้างงานและอาชีพของเยาวชน 3) การศึกษา 4) การเพิ่มรายได้ในครัวเรือนและรายได้เสริม และ 5) การสร้างชุมชนเข้มแข็ง
เมื่อประเมินระดับความถี่ของหน่วยงานราชการและองค์กรที่ไม่ใช่รัฐที่เข้ามาพบปะพูดคุยและช่วยแก้ปัญหาในชุมชนในรอบปีที่ผ่านมา พบว่าประชาชนผู้ตอบแบบสอบถามวางลำดับให้หน่วยงานที่เข้ามาพบปะพูดคุยและช่วยแก้ปัญหา 5 อันดับ ดังนี้ 1) เจ้าหน้าที่สาธารณสุข หมอ พยาบาลและอนามัย 2) เจ้าหน้าที่ อ.บ.ต. หรือ อ.บ.จ. หรือ เทศบาล 3) ผู้นำศาสนาในท้องถิ่น เช่น โต๊ะอิหม่าม อุสตาซ 4) ฝ่ายปกครอง ผู่ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ ปลัด และ 5) ทหาร
จากการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนในประเด็นความสำเร็จในการจัดการปัญหาความไม่สงบในพื้นที่ภาคใต้ในช่วงที่ผ่านมา (ปี 2547 – ปัจจุบัน) พบว่า ประชาชนร้อยละ 72.9 คิดเห็นว่าการจัดการปัญหาความไม่สงบในพื้นที่ภาคใต้ในช่วงที่ผ่านมามีความสำเร็จโดยส่วนใหญ่ประเมินความสำเร็จในระดับปานกลางซึ่งมีคะแนนเฉลี่ยในการประเมินคือ 5.51
4. กระบวนการสันติภาพและการสร้างสันติภาพ
A. ภาพรวมความคิดเห็นต่อกระบวนการสันติภาพ
การสอบถามความคิดเห็นต่อกระบวนการสันติภาพได้มีการกำหนดเกณฑ์หรือให้การยอมรับและเชื่อมั่นต่อกระบวนการสันติภาพผ่านตัวเลือกในการให้คะแนน โดยประเมินจาก 0-10 ซึ่งหากผู้ประเมินให้คะแนนตั้งแต่ 5-10 ถือว่าผ่านเกณฑ์หรือยอมรับและให้ความเชื่อมั่นหรือเกณฑ์ผ่านมากกว่าร้อยละ 50 แต่ถ้าให้คะแนนต่ำกว่านี้ให้ถือว่าไม่ผ่านเกณฑ์หรือไม่ให้การยอมรับเชื่อมั่นกระบวนการสันติภาพ
ผลการศึกษาเบื้องต้นในประเด็นความเชื่อมั่นของประชาชนต่อกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติภาพ/สันติสุขนั้น พบว่า ประชาชนร้อยละ 76.9 ให้คะแนนผ่านเกณฑ์หรือให้การยอมรับและเชื่อมั่นต่อกระบวนการ สันติภาพที่รัฐบาลกำลังดำเนินการอยู่กับกลุ่มที่มีความเห็นและอุดมการณ์แตกต่างจากรัฐ (เช่น กลุ่มบีอาร์เอ็น) โดยมีคะแนนเฉลี่ยในการประเมินคือ 5.50 และประชาชนร้อยละ 80.2 ให้คะแนนผ่านเกณฑ์หรือให้การยอมรับและเชื่อมั่นว่ากระบวนการพูดคุยเพื่อสันติภาพ/สันติสุขที่กำลังดำเนินการอยู่จะมีความต่อเนื่องและสามารถเดินหน้าต่อไปได้ โดยมีคะแนนเฉลี่ยในการประเมินคือ 5.71
ข้อค้นพบที่น่าสนใจก็คือ เมื่อนำผลการสำรวจความคิดเห็นในครั้งนี้ไปเปรียบเทียบกับผลการสำรวจความคิดเห็นของ CSCD ในประเด็นความเชื่อมั่นของประชาชนต่อกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติภาพเมื่อ 2 ปี ก่อนในช่วงเดือนมีนาคม 2556 และเดือนมิถุนายน 2556 ซึ่งอยู่ในระหว่างการพูดคุยเพื่อสันติภาพที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ในรัฐบาลชุดที่แล้ว พบว่าการยอมรับและเชื่อมั่นต่อกระบวนการสันติภาพที่รัฐบาลกำลังดำเนินการอยู่กับกลุ่มผู้มีความเห็นและอุดมการณ์แตกต่างจากรัฐมีแนวโน้มสูงขึ้น กล่าวคือ ขณะที่ในครั้งนี้มีประชาชนร้อยละ 76.9 ให้คะแนนผ่านเกณฑ์ดังที่กล่าวมาแล้ว ซึ่งสูงกว่าในช่วงเดือนมีนาคม 2556 ที่มี ประชาชนร้อยละ 67.1 ให้คะแนนผ่านเกณฑ์หรือให้การยอมรับและเชื่อมั่นต่อกระบวนการสันติภาพที่รัฐบาลกำลังดำเนินการอยู่กับกลุ่มเห็นต่างในขณะนั้น และยังสูงกว่าผลการสำรวจในช่วงเดือนมิถุนายน 2556 ก็พบว่ามีประชาชนร้อยละ 76.6 ที่ให้คะแนนผ่านเกณฑ์
แผนภาพที่ 2 – ผลการให้คะแนนต่อการยอมรับและเชื่อมั่นต่อกระบวนการพูดคุยสันติภาพ
การสำรวจความคิดเห็นในเดือนมีนาคม 2556 นั้นดำเนินการหลังจากที่มีการลงนามในเอกสารฉันทามติว่าด้วยกระบวนการพูดคุยสันติภาพที่กัวลาลัมเปอร์ระหว่างเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติและผู้แทนของกลุ่มแนวร่วมปฏิวัติแห่งชาติมลายูปาตานี (BRN) ในขณะที่การสำรวจในเดือนมิถุนายน 2556 นั้น ดำเนินการขึ้นภายหลังจากที่มีการพบปะพูดคุยอย่างเป็นทางการระหว่างสองฝ่ายภายใต้การอำนวยความสะดวกโดยทางการมาเลเซียมาแล้วอย่างน้อย 3 ครั้ง กระบวนการพูดคุยเมื่อสองปีที่แล้วนั้นเป็นที่สนใจติดตามในสายตาของสาธารณชน เนื่องจากมีการสื่อสารจากกลุ่มและฝ่ายต่างๆ อย่างต่อเนื่อง น่าสนใจว่าแม้ “กระบวนการพูดคุย เพื่อสันติสุข” ในรัฐบาลปัจจุบันจะดำเนินไปอย่างค่อนข้างปิดลับและระมัดระวังต่อการสื่อสารต่อสาธารณะ แต่ความเชื่อมั่นต่อกระบวนการสันติภาพของประชาชนในพื้นที่ก็ยังไม่ได้ลดต่ำลง กลับมีแนวโน้มสูงขึ้นด้วยซ้ำไป
นอกจากนี้ ผลการศึกษายังพบว่าประชาชนในพื้นที่ร้อยละ 81.2 มีความเชื่อมั่นต่อการดำเนินงานของฝ่ายรัฐในกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติภาพ/สันติสุข โดยมีคะแนนเฉลี่ยในการประเมินคือ 6.05 ในขณะที่มีประชาชนในพื้นที่ร้อยละ 74.8 ให้ความเชื่อมั่นต่อการดำเนินงานของกลุ่มบุคคลที่มีความเห็นและอุดมการณ์แตกต่างจากรัฐในกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติภาพ/สันติสุข โดยมีคะแนนเฉลี่ยในการประเมินคือ 5.43 นอกจากนี้ยังพบว่า ประชาชนในพื้นที่ร้อยละ 80.6 มีความเชื่อมั่นต่อการดำเนินงานของประเทศ มาเลเซียในบทบาทผู้อำนวยความสะดวกในกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติภาพ/สันติสุข โดยมีคะแนนเฉลี่ย ในการประเมินคือ 5.70
น่าสนใจว่าความเชื่อมั่นของประชาชนในพื้นที่ต่อตัวแสดงสำคัญที่มีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรงต่อ “กระบวนการพูดคุยสันติสุข” ที่มีอยู่ค่อนข้างสูงนั้นอาจนมีส่วนสอดคล้องกับความเชื่อมั่นและความพึงพอใจต่อนโยบายและการทำงานของรัฐบาลปัจจุบันที่พบว่ามีประชาชนถึงร้อยละ 81.4 มีความพึงพอใจต่อนโยบายและการทำงานของรัฐบาลประยุทธ์โดยมีคะแนนเฉลี่ยในการประเมินความพึงพอใจคือ 6.14
แผนภาพที่ 3 – ผลการให้คะแนนความเชื่อมั่นในกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติภาพ/สันติสุขของรัฐบาลไทย กลุ่มบุคคลที่มีความเห็นและอุดมการณ์แตกต่างจากรัฐ และประเทศมาเลเซีย
B. ความเชื่อมั่นไว้วางใจต่อกลุ่มคนหรือองค์กรต่างๆ ในพื้นที่
ประเด็นต่อมาเป็นการประเมินความเชื่อมั่นไว้วางใจที่ประชาชนมีต่อกลุ่มบุคคลและกลุ่มองค์กรทั้งเอกชนและรัฐ โดยการสำรวจความเชื่อมั่นไว้วางใจจะพิจารณาจากภารกิจงานในสองประเภท คือในงานด้านการพัฒนาและในงานด้านการสร้างสันติภาพ เมื่อถามเกี่ยวกับความเชื่อมั่นไว้วางใจต่อกลุ่มคนหรือองค์กรในด้านการพัฒนา ประชาชนผู้ตอบแบบสอบถามวางลำดับความเชื่อมั่นไว้วางใจต่อกลุ่มคน 5 อันดับ ดังนี้ คือ 1) ผู้นำศาสนาในชุมชน เช่น โต๊ะอิหม่าม 2) คือ คณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดและผู้นำศาสนา (อิหม่าม หรือพระ) 3) คือ กำนัน/ผู้ใหญ่บ้าน 4) คือ รัฐบาลปัจจุบัน และ 5) คือ หมอ พยาบาล เจ้าหน้าที่สาธารณสุข เจ้าหน้าที่อนามัย อสม. เป็นที่น่าสังเกตว่ากลุ่มที่มีคะแนนต่ำสุดในด้านความเชื่อมั่นไว้วางใจต่อการพัฒนา คือ ทหารพราน (ดูแผนภาพที่ 4)
เมื่อถามความเชื่อมั่นไว้วางใจเกี่ยวกับความมั่นคงปลอดภัยและการสร้างสันติภาพ กลุ่มที่ประชาชนผู้ตอบแบบสอบถามให้ความเชื่อมั่นไว้วางใจต่อกลุ่มคน 5 ลำดับแรก ดังนี้ 1) คือ ผู้นำศาสนาในชุมชน เช่น โต๊ะอิหม่าม 2) คือรัฐบาลปัจจุบัน 3) คือ คณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดและผู้นำศาสนา เช่น เจ้าคณะ จังหวัด 4) คือ กำนัน/ผู้ใหญ่บ้าน 5) คือ หมอ พยาบาล เจ้าหน้าที่สาธารณสุข เจ้าหน้าที่อนามัย อสม. ส่วน กลุ่มที่มีคะแนนต่ำสุดคือ เจ้าหน้าที่ทหารพราน (ดูแผนภาพที่ 5)
แผนภาพที่ 4 – ความเชื่อมั่นไว้วางใจของหน่วยงานหรือกลุ่มคนในการทำงานเกี่ยวกับด้านความปลอดภัย และการสร้างสันติภาพ (คะแนน 5)
แผนภาพที่ 5 - ความเชื่อมั่นไว้วางใจ ของหน่วยงานหรือกลุ่มคนในการทางานด้านพัฒนา (คะแนน 5)
C. ข้อเสนอในการพูดคุยสันติภาพและการหาทางออกจากความขัดแย้งด้วยวิถีทางการเมือง
จากการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่ในครั้งนี้ ได้ศึกษาประเด็นความคิดเห็นต่อข้อเรียกร้องจากฝ่ายต่างๆ รวมทั้งประชาชนที่มีต่อการพูดคุยสันติภาพ ประชาชนผู้ตอบแบบสอบถามมีข้อเสนอสำคัญในลำดับต้นๆ ดังนี้
1) การร่วมมือกันระหว่างทุกฝ่ายในการแก้ปัญหาที่ประชาชนในพื้นที่ห่วงกังวลและมีผลกระทบอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้อเสนอที่ต้องการให้มีการแก้ปัญหายาเสพติดร่วมกัน
2) ต้องมีการลดความรุนแรงจากทุกฝ่าย โดยการหลีกเลี่ยงการก่อเหตุความรุนแรงหรือปฏิบัติการกับเป้าหมายที่เป็นผู้บริสุทธิ์
3) การผลักดันให้เกิดกลไกยุติธรรมทางเลือกในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เช่น มีการตั้งคณะกรรม การตรวจสอบข้อเท็จจริงต่อเหตุการณ์ที่สังคมมีความเคลือบแคลงสงสัย และมีการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ จากความรุนแรง การนำผู้กระทำความผิดมาลงโทษ เป็นต้น
4) การยอมรับการอยู่ร่วมกันระหว่างคนต่างศาสนาและวัฒนธรรม
5) การจัดการปัญหาในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ต้องมีการสร้างความไว้ใจและความเชื่อมั่นระหว่างกันก่อนทุกฝ่าย
6) การจัดการปัญหาในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ต้องเป็นวาระนโยบายแห่งชาติ
7) มีการกำหนดมาตรการคุ้มกันความปลอดภัยให้กับผู้เข้าร่วมการพูดคุยสันติสุข/ สันติภาพ
8) โดยให้การคุ้มครองความปลอดภัยให้ชุมชนคนไทยพุทธและคนจีนในพื้นที่
9) การยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน
10) การยอมรับบทบาทของภาคประชาสังคมในการพูดคุยหรือเจรจาสันติภาพ
5. กระบวนการยุติธรรมและความยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่าน
ผลการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับเรื่องของกระบวนการยุติธรรมและกลไกยุติธรรมทางเลือกโดย พบว่า ประชาชนร้อยละ 80.8 มีความเชื่อมั่นต่อกลไกในกระบวนการยุติธรรมของรัฐ โดยมีคะแนนรวมเฉลี่ยอยู่ที่ 6.05 ผู้ตอบแบบสอบถามร้อยละ 89.3 เห็นด้วยกับการนำกลไกยุติธรรมทางเลือกเช่น รูปแบบการเจรจาไกล่เกลี่ยและมาตรา 21 ตาม พ.ร.บ.ความมั่นคง ฯลฯ มาใช้อย่างเต็มที่ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยมีคะแนนเฉลี่ยอยู่ที่ 6.69
นอกจากนี้ ในประเด็นเรื่องการนิรโทษกรรมกับผู้กระทำผิดในคดีความมั่นคง พบว่า ประชาชนร้อยละ 77.5 ให้ความเห็นว่าการนิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำผิดในคดีความมั่นคงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ จะเป็นสิ่งที่เหมาะสมอย่างยิ่งต่อการสร้างสภาพแวดล้อมการพูดคุยสันติภาพ โดยมีคะแนนเฉลี่ยอยู่ที่ 5.88
แผนภาพที่ 6 ทัศนคติของประชาชนต่อกลไกยุติธรรมทางเลือกและการนิรโทษกรรม
สำหรับประเด็นเรื่องกลไกยุติธรรมทางเลือกโดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเด็นเรื่องการนิรโทษกรรมก็เป็นประเด็นที่อยู่ในความสนใจในการเมืองระดับประเทศ โดยมีแนวคิดต่อการนิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำความผิดทางการเมืองในช่วงปี พ.ศ. 2548-2557 และอาจกล่าวได้ว่าเมื่อพิจารณาถึงระดับทัศนคติของผู้ตอบแบบสอบถามในประเด็นเรื่องการนิรโทษกรรม (5.88) ก็มีความสอดคล้องต่อการนำเอาแนวคิดดังกล่าวมาใช้ในฐานะเครื่องมือประเภทหนึ่งที่นำไปสู่การสร้างสันติภาพและสันติสุขในพื้นที่
6. นโยบายสาธารณะ: ข้อเสนอต่อเส้นทางกระบวนการสันติภาพที่ยั่งยืน
นอกจากนี้ผลการศึกษา พบว่าประชาชนในพื้นที่มีข้อเสนอต่อรัฐบาล กลุ่มที่มีความเห็นและอุดมการณ์ แตกต่างจากรัฐ (เช่น กลุ่มบีอาร์เอ็น) และภาคประชาสังคมในพื้นที่ ดังนี้
6.1 ข้อเสนอจากประชาชนต่อรัฐบาล
1) แนวทางในการจัดการความขัดแย้งในพื้นที่
- จัดตั้งกลไกหรือระบบที่หนุนเสริมให้เกิดความต่อเนื่องในกระบวนการพูดคุยสันติภาพระหว่างรัฐบาลไทยและกลุ่มผู้เห็นต่าง
- การเปิดใจรับฟังข้อเสนอจากความผู้เห็นต่างและนำข้อเสนอเดิมมาพิจารณาและหาแนวทางในการจัดการปัญหาร่วมกันอีกครั้ง
- การยุติความรุนแรงและการใช้กำลังอาวุธ การลดอาวุธ/การถอนทหารออกจากพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้
- กลไกการตรวจสอบเจ้าหน้าที่ ที่ปฏิบัติงานในพื้นที่ ไม่ให้เจ้าหน้าที่ใช้อำนาจในทางที่ผิด
- การจัดการปัญหาพื้นที่ต้องมีความต่อเนื่องโดยผ่านระบบติดตามการจัดการปัญหาที่ประชาชนสามารถตรวจสอบได้
- มีการจัดสรรงบประมาณในการจัดการปัญหาอย่างมีความโปร่งใส มีความยุติธรรม และมองการจัดสรรงบประมาณที่แก้ปัญหาได้ตรงจุด
- มีการจัดตั้งเขตปกครองพิเศษภายใต้รูปแบบการบริหารที่ทุกคนในพื้นที่สามารถอาศัยอยู่ร่วมกัน ได้
2) การดำเนินงานกลไกยุติธรรม (รวมถึงกลไกยุติธรรมทางเลือก)/ ประเด็นสิทธิมนุษยชน
- ควรให้มีความรู้ความเข้าใจประเด็นด้านกฎหมายเรื่องการให้อภัยหรือการให้นิรโทษกรรมกับผู้ที่มีความคิดต่างต่อประชาชนและผู้ที่มีความเกี่ยวข้องในพื้นที่
- ควรนำการนิรโทษกรรมต่อผู้ที่กระทำผิดมาใช้ในพื้นที่
- การปล่อยตัวผู้กระทำผิดในคดีความมั่นคงภาคใต้หรือการนำผู้กระทำความผิดในคดีความมั่นคงมาดำเนินการให้มีความยุติธรรมในหลักกฎหมาย
- การยกเลิก พรก.ฉุกเฉินในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้
- การยกเลิกบัญชีดำผู้ต้องสงสัยที่โดนกล่าวหากระทำความผิด ทั้งที่ไม่ได้ผิด
- การออกแบบและจัดทำมาตราการคุ้มครองความปลอดภัยให้กับประชาชนที่เหมาะสมกับบริบท และประชาชนในแต่ละพื้นที่
- มีการจัดระบบการเยียวยาผู้กระทบอย่างเท่าเทียมและยุติธรรม
3) หลักการในการจัดการปัญหา
- ต้องแก้ปัญหาด้วยความจริงใจ และจริงจัง และลดทิฐิระหว่างกัน
- มีการทำความเข้าใจกันและปรับความเข้าใจซึ่งกันและกัน
- ต้องมีการสร้างความเชื่อมั่นให้กลุ่มผู้เห็นต่างและดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง
- ดำเนินงานโดยวิธีการสมานฉันท์
- มีการปฏิบัติตาม พ.ร.บ.อย่างจริงจังและชัดเจน
- โครงการที่นำมาใช้ในพื้นที่ควรเป็นโครงการที่ประชาชนต้องการ สอดคล้องกับชีวิต ทำด้วย ความจริงใจ และมีความต่อเนื่อง
4) การส่งเสริมให้เกิดการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน
- การเปิดรับฟังความคิดเห็นต่อทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องในแนวทางในการจัดการปัญหาในพื้นที่
- ให้มีการลงประชามติ เกี่ยวกับรูปแบบการปกครองและการบริหารในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้
- รัฐควรสร้างความปรองดองระหว่างรัฐกับประชาชนให้มากขึ้น
5) การพัฒนาสังคม เศรษฐกิจ และประชาชนในพื้นที่
- ควรยอมรับประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม ศาสนา อัตลักษณ์ และลักษณะความเฉพาะตัวของพื้นที่
- ควรส่งเสริมและจัดระบบการศึกษาที่เหมาะสมกับพื้นที่
- ควรส่งเสริมและพัฒนาเศรษฐกิจในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง
- มีการกำหนดกรอบในการจัดการปัญหาทั่วไปในสังคม เช่น ปัญหายาเสพติด ปัญหาปากท้องของประชาชน การแก้ปัญหาความยากจน ปัญหาการว่างงาน
- ให้องค์กรท้องถิ่น อบต. องค์กรด้านศาสนา มีบทบาทในการพัฒนา เช่น การขับเคลื่อนด้าน เศรษฐกิจ, สนับสนุนส่งเสริมในภาระกิจต่างๆ
6) ประเด็นอื่นๆ
- การดูแลภาพรวม ในการนำเสนอข้อมูลข่าวสารจากสื่อมวลชน ที่ควรนำเสนอออกมาอย่างรอบคอบ ไม่นำเสนอบางแง่มุมจนสร้างผลกระทบเชิงลบต่อพื้นที่
- ควรมีการสร้างความเข้าใจ ปรับทัศนคติของคนภายนอกพื้นที่ต่อสถานการณ์ความไม่สงบที่เกิด ขึ้น
6.2 ข้อเสนอจากประชาชนต่อกลุ่มผู้เห็นต่าง (BRN)
1) แนวทางในการจัดการความขัดแย้งในพื้นที่
- การยุติความรุนแรง ต่อประชาชนผู้บริสุทธิ์ทุกกลุ่มในพื้นที่
- การปรับเปลี่ยนวิธีการต่อสู้จากการทหารเป็นการต่อสู้ด้วยสันติวิธี (ทางการเมือง การปกครอง)
- ต้องยอมรับแนวทางในการจัดการปัญหาในพื้นที่ด้วยกระบวนการพูดคุย/เจรจาสันติภาพ
- การยอมรับข้อเสนอของรัฐบาลและการสร้างความต่อเนื่องในกระบวนการพูดคุยสันติภาพ ระหว่างรัฐบาลไทยและกลุ่มผู้เห็นต่าง
2) หลักการในการจัดการปัญหา
- ต้องแก้ปัญหาด้วยความจริงใจ และจริงจัง และลดทิฐิระหว่างกัน
- มีความตรงไปตรงมาในการจัดการปัญหา
- มีการทำความเข้าใจกัน และปรับความเข้าใจซึ่งกันและกัน
- ต้องมีการสร้างความเชื่อมั่นให้ฝ่ายรัฐ
- ต้องมีความปรองดอง และทำงานด้วยวิธีการสมานฉันท์
3) การร่วมมือกับรัฐบาลในการจัดการปัญหาสังคมในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เช่น ปัญหายาเสพติด ปัญหาเศรษฐกิจ
6.3 ข้อเสนอจากประชาชนต่อภาคประชาสังคม
1) ภาคประชาสังคมต้องพยายามผลักดันและนำเสนอข้อมูลที่ถูกต้องเพื่อสนับสนุนการสร้างบรรยากาศ และสิ่งแวดล้อมที่หนุนเสริมกระบวนการสันติภาพ
2) การสร้างความเข้าใจและความเข้มแข็งในการจัดการปัญหาฯ ให้ประชาชนในพื้นที่
3) การหนุนเสริมการสร้างความไว้ใจและความเชื่อมั่นระหว่างรัฐบาลไทยและกลุ่มผู้เห็นต่าง
4) การส่งเสริมให้ประชาชนในพื้นที่มีส่วนร่วมในการจัดการปัญหาในพื้นที่ เช่น การจัดเวทีรับความคิด เห็นของกลุ่มต่างๆ ในพื้นที่
5) การร่วมกันพัฒนา ทั้งการร่วมคิด ร่วมทำ เสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชนและสังคม ให้เป็นรากฐานที่มั่นคงเพื่อจะได้อยู่ร่วมกันในสังคมได้อย่างสันติสุข
6) การหนุนเสริมและสนับสนุนโครงการที่มีการดำเนินงานเชื่อมโยงกับการพัฒนาสังคม เศรษฐกิจและพัฒนาศักยภาพของประชาชนในพื้นที่ เช่น โครงการที่เกี่ยวกับเยาวชน การศึกษา ด้านอาชีพ เป็นต้น
7) การสนับสนุนการดำเนินงานด้านกลไกยุติธรรมในพื้นที่ และช่วยติดตามประเด็นสิทธิมนุษยชนใน พื้นที่
แม้ว่าการพูดคุยสันติภาพ/การพูดคุยเพื่อสันติสุขระหว่างรัฐบาลกับกลุ่มผู้เห็นต่างกำลังได้รับการรื้อฟื้นอย่างจริงจัง แต่ก็ยังมีเรื่องท้าทายอยู่อีกไม่น้อย ที่สำคัญการสร้างสันติภาพที่จำกัดการใช้ความรุนแรงนั้นต้องอาศัยความร่วมมือของผู้คนในสังคมอย่างกว้างขวาง การจะทำให้กระบวนการสันติภาพสามารถแสวงหาทางออกที่ยั่งยืนนั้นจำต้องแผ่ร่มเงาออกไปให้มากที่สุดและดึงผู้คนให้ก้าวเข้ามามีส่วนร่วมมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ด้วยเหตุนี้ การให้ความสนใจเสียงของผู้คนในพื้นที่ ซึ่งสะท้อนความคิดเห็น ความต้องการ และความกังวลใจจะมีส่วนในการประเมินสถานการณ์และความเป็นไปได้ในการสถาปนาเครือข่ายนิรภัยหนุนเสริมกระ บวนการสันติภาพ หรือ “safety net” ที่จะคอยค้ำจุนในกระบวนการเดินหน้าไปอย่างมีความหมายต่อคนทุกกลุ่ม ตลอดจนสร้างแรงเหวี่ยงให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่สอดรับกับความต้องการและความเป็นจริงมากที่สุด
[1] ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ชายแดนใต้. Deep South Incident Database (DSID) สิงหาคม 2558 รายงานสถิติเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ จังหวัดชายแดนภาคใต้ กรกฏาคม 2558