ทำไม ถึง เป็น ปาตานี
อันที่จริงแล้ว ตัวผมเอง เคยพูดในเวทีของ วิทยาลัยประชาชน (People's College) จากเวที วิสัยทัศน์ปาตานีชายแดนใต้ 2020 : ทิศทางปาตานี ชายแดนใต้ ครั้งที่ 3 จัดโดยวิทยาลัยประชาชน ร่วมกับองค์กรเครือข่ายสันติภาพ ณ หอประชุมสำนักงานอธิการบดีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี เมื่อ 6-7 มิ.ย.2558 โดยมีนักสันติวิธี นักวิชาการ ข้าราชการ ผู้นำศาสนา นักศึกษา และประชาชนผู้สนใจ เข้าร่วมรับฟังเต็มความจุของห้องประชุมกว่า 500 คน
มีประเด็นที่จำเป็นต้องพูดถึง บนเวที ที่พอขึ้นไปยืนแล้วมองไปข้างหน้า ผู้คนที่นั่งอยู่ข้างล้าง เป็นพี่น้องมุสลิมเกือบทั้งหมด มีคนมลายูพุทธ หรือไทยพุทธอยู่น้อยมาก ในจำนวนที่น้อยมาก ก็เป็นไทยพุทธที่ไม่ได้อาศัยอยู่ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ ซะด้วยซ้ำไป แต่ก็ถือเป็นกำลังใจที่ดี
ประเด็นที่ได้พูดถึงในวันนั้น คือ ประเด็นของ ปาตานี ประเด็นของคำว่า รัฐไทย สยาม สิ่งที่ได้พูดบนเวทีในวันนั้น คือ
ไม่ว่าจะเป็นความไม่สบายใจที่จะใช้คำว่า ปาตานี
ไม่สบายใจนักที่จะเรียก รัฐบาลไทย หรือประเทศไทย ว่า รัฐไทย หรือ สยาม ไปจนถึง นักล่าอาณานิคม ซึ่งเป็นความรู้สึกที่แย่ หรือไม่ดีเอาซะเลยสำหรับผม และคิดว่าสำหรับพี่น้องไทยพุทธ ด้วยเช่นกัน
แต่หากทุกคนจะยอมเปิดใจรับความเป็นมาของอดีต มันก็ไม่แปลกอะไรที่จะใช้คำว่า ปาตานี และยิ่งคำว่า ปาตานี มันหมายถึง การอาศัยอยู่ร่วมกัน ทั้งพุทธ มุสลิม และในศาสนาอื่นๆ ที่จะต้องอยู่ร่วมกันบนความหลากหลาย และที่สำคัญ คือ ปาตานี เป็นชื่อเรียกทางประวัติศาสตร์ เป็นชื่อที่เคยใช้กันมาตั้งแต่โบราณ ก็ว่าได้
และหาก ปาตานี ยังหมายรวมถึง คนที่อาศัยอยู่ในจังหวัดปัตตานี คนยะลา และคนนราธิวาส สำหรับผมแล้วมันไม่ใช้เรื่องที่แปลกอะไรมากนัก เพราะมันไม่ได้หมายถึง ต้องแบ่งแยกดินแดน มันไม่ได้หมายถึง ต้องเสียดินแดน หรือเสียเมือง แน่นอน เพราะหากจะว่ากันตามตรง และความเป็นจริง ที่คนมลายูมุสลิม ก็ต้องยอมรับ ก็คือ ไม่สามารถแบ่งแยกดินแดน หรือความเป็นเอกราช ได้อย่างแน่นอน
และหากจะถามคนในพื้นที่เอง ก็จะมีเสียงแตกออกเป็นหลายๆ เสียง ซึ่งแน่นอน ต้องมีเสียงของมลายูมุสลิมที่ต้องการ Merdeka หรือเอกราช (เรื่องนี้พับไว้ได้เลย เพราะเป็นไปไม่ได้) ต้องมีเสียงของความต้องการเขตปกครองพิเศษ ซึ่งก็ต้องคุยกันว่าแบบไหน อย่างไร หรือแม้จะเป็นเสียงของพี่น้องคนไทยพุทธ เอาเฉพาะในพื้นที่นะครับ เสียงที่มากที่สุด คือเสียงอะไรคือ ปาตานี ไม่สนใจ เราจะต้องเสียดินแดนแล้วหรือ ทำไมไม่ปราบปราม หรือแม้แต่การพูดคุย ซึ่งเป็นเพียงการยืนข้อเสนอกันเท่านั้น ยังไม่ถึงขั้นต้องมาตกลง หรือเจรจา ยื่นข้อเรียกร้องอะไรกัน เราก็ตีโพย ตีพายกันก่อนแล้วว่าจะต้องยอมเขา จะต้องเสียดินแดน ไปทำความตกลงทำไม กับเหล่าผู้ก่อการ (โจร)
ในเรื่องของการที่เราจะต้องยอมรับ หรือสิ่งที่หลายๆ คนต้องยอมรับเช่นกัน ก็คงเป็นเรื่องของการสูญเสีย ทุกๆ มิติ ของการสูญเสีย ยอมมีผู้ต้องเจ็บและแค้นใจ ไม่ว่าพุทธสูญเสีย หรือมุสลิมสูญเสีย หรือแม้จะเป็นเจ้าหน้าที่เองที่ปฏิบัติหน้าที่ แล้วต้องสูญเสียเพื่อน สูญเสียพี่น้องรวมงาน ก็ต้องเจ็บ และมีความแค้นในใจ เราจัดการกับสิ่งเหล่านั้นอย่างไร เรื่องนี้น่าสนใจมาก แต่จนแล้วจนรอด ทุกๆ คน ต้องการความสงบ ทุกๆ ต้องการอาศัยอยู่ในพื้นที่แห่งนี้อย่างปลอดภัยทั้งนั้น
เรื่องเหล่านี้ คงต้องวิเคราะห์กันให้ดี ว่า หากเราใช้กำลังแล้ว ความสงบสุขจะเกิดขึ้นจริงๆ หรือ หากเราโต้ตอบกันไปมาด้วยกำลัง ความปลอดภัยจะมีจริงหรือ
ทำไมเราถึงไม่ตั้งป้อมเพื่อศึกษาเรียนรู้ ต่อไปเราจะจัดการการอยู่ร่วมกันอย่างไร ทำไมเราไม่ศึกษาเรียนรู้ เราจะพัฒนาเศรษฐกิจ กันอย่างไร ทำไมเราไม่เรียนรู้ว่า แล้วเราคนพุทธ หรือมลายูพุทธ จะมีสิทธิอันชอบธรรมหรือไม่ จะแก้ไขอย่างไร
จะเป็นอะไรก็ตาม จะเป็น ปาตานี จะเป็นปัตตานี ยะลา นราธิวาส มันคงไม่สำคัญเท่ากับ ผู้คนที่อาศัยอยู่ในที่แห่งนั้น จะมีสิทธิ มีเสียง อันชอบธรรมได้อย่างไร มากกว่า
เป็นแค่คำบอกเล่าของคนในพื้นที่อีกคน ที่อยากให้บ้านผม เมืองที่ผมอยู่อาศัย เมืองที่ผมสามารถไปมาหาสู่กันได้ เกิดความสงบ แม้มันจะต้องใช้เวลานานก็ตาม ...