Skip to main content

ตูแวดานียา ตูแวแมแง
ผู้อำนวยการ สำนักปาตานีรายาเพื่อสันติภาพและการพัฒนา

และแล้วสังคมไทยและสังคมระหว่างประเทศต่างก็มีความรู้สึกดีอกดีใจกันอีกครั้ง หลังจากที่ทางกลุ่มนักต่อสู้เพื่อเอกราชปาตานีในจำนวนหลายกลุ่มได้ทำการแถลงข่าวเปิดเผยตัวต่อสาธารณะภายใต้ชื่อมาราปาตานี ซึ่งการเปิดเผยตัวในลักษณะรูปแบบการแถลงข่าวดังกล่าว ปฏิเสธไม่ได้ว่าได้เกิดขึ้นท่ามกลางสถานการณ์ที่ยังคงมีเงื่อนไขของการดำเนินกิจกรรมทางอาวุธของทั้งสองฝ่ายทั้งรัฐไทยและขบวนการปาตานีอย่างชอบธรรม ตามการนิยามการใช้อาวุธเพื่อความชอบธรรมของทั้งสองฝ่าย กล่าวง่ายๆคือ ท่ามกลางการพูดคุยเพื่อสันติสุขเป็นกระแสสูงอย่างเป็นไปได้ยากมากว่าเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นโดยบังเอิญนั้น ปัจจัยเงื่อนไขที่เป็นแรงขับสำคัญให้คู่ขัดแย้งหลักไม่ให้ความสำคัญกับการพูดคุยแบบจริงๆจังๆคือทั้งสองฝ่ายต่างก็ยังเชื่อมั่นว่ากิจกรรมทางอาวุธนั้นยังสามารถตอบโจทย์ชัยชนะในศึกสงครามครั้งนี้ได้อย่างเหนียวแน่น

แต่ทว่าอะไรเล่าที่เป็นแรงขับสำคัญให้คู้ขัดแย้งหลักทั้งสองฝ่ายโดยเฉพาะฝ่ายรัฐไทยซึ่งเป็นฝ่ายที่ยังคงความได้เปรียบอยู่อย่างชัดเจนในสงครามอสมมาตรครั้งนี้ เพราะโดยศักยภาพของกองทัพไทยที่มีกองกำลังติดอาวุธในจำนวนที่มากกว่าขบวนการเอกราชปาตานีหลายสิบเท่าอีกทั้งยังมีความชอบธรรมโดยกฎหมายทั้งในและระหว่างประเทศนั้นจะทำการรุกฆาตในทางยุทธการทางทหารอย่างเด็ดขาดแบบทิ้งไพ่ใบสุดท้ายต่อชาวปาตานีที่รัฐสงสัยว่าเป็นสมาชิกหรือแนวร่วมขบวนการเอกราชปาตานีเมื่อไหร่ก็สามารถทำได้ถ้าจำเป็นและถ้าทำแล้วมีความชอบธรรมกับนานาอารยะประเทศบนพื้นฐานของหลักสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตย

ฝ่ายขบวนการเอกราชปาตานีเองแม้ว่าจะเสียเปรียบในเรื่องแสนยานุภาพทางกำลังรบในแง่อาวุธยุทโธปกรณ์และจำนวนกองกำลัง แต่การที่สามารถต่อสู้ยืนระยะจนถึงปีที่11ได้นั้นก็แสดงถึงในทางยุทธวิธีทางการทหารนั้นก็ยังสามารถรบกวนงานยุทธศาสตร์ของรัฐไทยได้อยู่และจนถึงปัจจุบันทางฝ่ายความมั่นคงของรัฐไทยเองก็ยังไม่สามารถฟันธงว่าชั้นความลับในเชิงโครงสร้างการบังคับบัญชาแบบใต้ดินของขบวนการเอกราชปาตานีนั้นมีใครบ้างที่มีความเกี่ยวข้อง เสมือนยิ่งปราบปรามก็ยิ่งเพิ่มมวลชนแนวร่วมมุมกลับให้กับขบวนการเอกราชปาตานี และในขณะเดียวกันรัฐเองก็พยายามจะใช้กระบวนการพูดคุยสันติสุขกับกลุ่มคณะที่รัฐเชื่อว่ามีอิทธิพลพอสมควรที่จะบั่นทอนศักยภาพของฝ่ายที่จะดำเนินกิจกรรมทางอาวุธ แต่ยิ่งพยายามให้จบตามเกมสันติสุขทีรัฐคาดไว้ มันก็ยิ่งเพิ่มความหนักหน่วงของกิจกรรมทางอาวุธและยิ่งเพิ่มความไม่ศรัทธาให้กับสังคมในพื้นที่ต่อทุกกิจกรรมในกระบวนการสันติวิธีของรัฐโดยปริยาย

การดำเนินการให้มีกระบวนการพูดคุยสันติสุขทั้งๆที่ในสภาพความเป็นจริงของศึกสงครามนั้น ฝ่ายรัฐและฝ่ายขบวนการเอกราชปาตานียังไม่มีทีท่าว่าจะเสียเปรียบถึงขั้นถ้าไม่พูดคุยกับศัตรูแล้วตัวเองจะเป็นฝ่ายแพ้แบบทันทีทันใด มันสะท้อนนัยยะว่าโดยตัวของกระบวนการพูดคุยสันติสุขเองนั้น มีเป้าหมายของคำว่าสันติสุขคือผลลัพธ์สันติสุขนั้นไม่สามารถที่จะแหวกกรอบของกำแพงความมั่นคงแห่งราชอาณาจักรไทยได้เลย ถ้าตราบใดรัฐไทยยังมองว่าขบวนการเอกราชปาตานีคือขบวนการของผู้ก่อการร้ายหรือผู้ก่อเหตุรุนแรง

สภาพปัญหาความขัดแย้งระหว่างอุดมการณ์เพื่อเอกราชปาตานีกับความเป็นรัฐไทยปัจจุบันนั้น โดยสภาพของตัวมันเองแล้วปฏิเสธยากว่าในเชิงประเด็นปัญหาการกดขี่ทางชนชาติที่กระทำโดยรัฐอันเนื่องมาจากระบบโครงสร้างการปกครองที่เป็นผลพวงจากการล่าอาณานิคมนั้น ได้กระจายเผยแพร่ยังสังคมนานาอารยะประเทศไปแล้วอย่างเป็นทางการโดยปริยาย

ซึ่งในทางยุทธศาสตร์ของการต่อสู้เพื่อเอกราชของหลายๆชนชาติที่ประสบความสำเร็จนั้น ตัวแปรสุดท้ายของความสำเร็จก็มาจากพลังการสนับสนุนจากสังคมและรัฐระหว่างประเทศบนพื้นฐานของหลักการสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตย หลังจากที่เจตจำนงของชนชาติที่ถูกล่าอาณานิคมนั้นมีความชัดเจนว่าต้องการเอกราชอย่างแท้จริง

ในขณะเดียวกันบางชนชาติที่ถูกล่าอาณานิคมแต่ผลลัพธ์สุดท้ายของการต่อสู้ไม่ประสบความสำเร็จจนไม่ได้รับเอกราชนั้น ตัวแปรสำคัญที่เป็นอุปสรรคบั่นทอนก็คือพลังของสังคมและรัฐระหว่างประเทศไม่ให้การสนับสนุนอันเนื่องมาจากเจตจำนงของชนชาติที่ถูกล่าอาณานิคมเองนั้นไม่มีความชัดเจนและขาดความจริงจังจนยอมแม้จะต้องแลกด้วยชีวิตก็ตามเพื่อให้ได้มาซึ่งเอกราชอย่างแท้จริง

การเจรจาที่เป็นผลพวงจากการพูดคุยซึ่งเป็นที่ยุติการต่อสู้ด้วยหลักการถอยคนละก้าวเพื่อให้ชนะและแพ้ร่วมกัน จึงเป็นวิธีการที่รัฐซึ่งมีปัญหาเรื่องการต่อต้านจากชนชาติที่ต้องการเอกราช ใช้เป็นทางออกสกัดกั้นและบั่นทอนความเข้มแข็งของเจตจำนงทางการเมืองจากฝ่ายชนชาติที่ต้องการเอกราชเสมอ เหมือนเป็นสัญชาติญาณของธรรมชาติความเป็นรัฐที่หวงแหนอำนาจจนยอมที่จะทำสงครามดีกว่ายอมเสียอำนาจ สิ่งที่รัฐเหล่านั้นกระทำก็คือด้วยวิธีการแบ่งแยก ควบคุม พัฒนา เยียวยา และกลมกลืน

จึงไม่แปลกว่ากระแสการพูดคุยสันติสุขชายแดนใต้ของประเทศไทยในยุครัฐบาลปัจจุบันนั้น ได้สร้างความรู้สึกแบบจำยอมให้รู้สึกแบบสุขๆไปแล้วกัน เพราะถ้าไม่จำยอมก็จะเจอข้อหาสวนกระแสสันติสุขโดยทันที นึกว่าสภาพการเมืองของประเทศที่ผูกขาดอำนาจอย่างเบ็ดเสร็จ จนฝ่ายบริหารจะสั่งการอะไรอย่างไรก็ไม่มีใครสามารถทักท้วงได้นั้น หากคิดแบบตื้นๆพื้นๆก็รู้สึกว่ากระบวนการสันติสุขจะมีโอกาสประสบความสำเร็จได้อย่างเร็ววันในสภาพการเมืองแบบผูกขาดเช่นทุกวันนี้

แต่หากคิดแบบลึกๆแล้ว นี่แหละเงื่อนไขสงครามประชาชนอย่างดีเลย ใช่หรือไม่?

 

หมายเหตุ : เผยแพร่ครั้งแรกที่ http://wartani.com/dev/2015/09/07/กระแสการพูดคุยสันติสุข.html