‘อสนียาพร นนทิพากร’
ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ยืดเยื้อมาเป็นเวลานานนับสิบกว่าปี มีกำลังทหารจากพื้นที่อื่นลงมาปฏิบัติงานในจังหวัดชายแดนภาคใต้หลายหมื่นคน ผู้ที่คิดต่าง นักวิชาการได้มีการกล่าวโจมตีชี้ให้เห็นว่าไม่มีความจำเป็น และมีการเรียกร้องให้มีการถอนกำลังออกนอกพื้นที่ ซึ่งในความเป็นจริง การบรรจุกำลังของเจ้าหน้าที่ทหารในอัตราของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า เป็นการลงมาปฏิบัติงานช่วยเจ้าหน้าที่ตำรวจในการรักษาความสงบเรียบร้อย และเป็นการบังคับใช้กฎหมายเท่านั้น มิใช่ลงมาเพื่อทำการสู้รบ หรือการทำสงครามกับฝ่ายคิดต่างแต่ประการใด
ฝ่ายคิดต่างจากรัฐนอกจากจะกำหนดยุทธวิธีในการก่อเหตุสร้างสถานการณ์ให้กับผู้ก่อเหตุรุนแรง (Perpetrator of Violence) ลงมือก่อเหตุแล้ว ยังได้กำหนดกรอบในการต่อสู้ให้กับกลุ่มแนวร่วมองค์กรภาคประชาสังคมทำการเคลื่อนไหวเรียกร้องกดดันการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่รัฐอีกทางหนึ่งด้วย ซึ่งประเด็นที่สำคัญได้แก่ การละเมิดสิทธิมนุษยชนกับการบังคับใช้กฎหมายในพื้นที่ จชต. โดยเฉพาะการตรวจ DNA, การชี้ให้เห็นว่าปัญหา จชต. เป็นความขัดแย้งกันด้วยอาวุธ (Armed conflict) และมีการปลุกกระแสเรียกร้องในการกำหนดใจตนเอง (Self-determination)
เจ้าหน้าที่รัฐซึ่งเป็นฝ่ายบังคับใช้กฎหมายกับฝ่ายคิดต่าง มีการตีความประเด็นต่างๆ ในแง่ของกฎหมายและมีความเห็นที่ไม่ตรงกัน มุมมองต่างกันเหมือนเหรียญคนละด้าน ต่างฝ่ายต่างตีความเข้าข้างสนับสนุนฝ่ายตนเอง ซึ่งผู้เขียนพยายามสืบค้นหาข้อมูลเพื่อนำมาตีแผ่ความจริงให้ปรากฏ ต่อประเด็นที่กำลังถกเถียงกันกระทำได้หรือไม่ หรือกระทำไม่ได้อย่างไร? ต่อปัญหาที่เกิดขึ้น
ประเด็นแรกที่ผู้เขียนอยากจะสื่อเพื่อทำความเข้าใจกับพี่น้องประชาชนในพื้นที่ จชต. ซึ่งที่ผ่านมาได้มีการปลุกกระแสเคลื่อนไหวอย่างกว้างขวางขององค์กรภาคประชาสังคม โดยเฉพาะกลุ่มนักศึกษา PerMAS เกี่ยวกับการกำหนดใจตนเอง (Self-determination) กระทำได้หรือไม่? หรือมีความเป็นไปมากน้อยแค่ไหน เพื่อนำไปสู่การลงประชามติ ในการกำหนดใจตนเอง แยกตัวเป็น “เอกราช” จากรัฐบาลไทย
การกำหนดใจตนเอง (Self-determination)
กฎกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางการเมืองข้อ 1 ระบุว่า “ประชาชนทั้งปวงมีสิทธิในการกำหนดเจตจำนงของตนเองโดยอาศัยสิทธินั้น ประชาชนจะกำหนดสถานะทางการเมืองอย่างเสรี รวมทั้งดำเนินการอย่างเสรี ในการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมของตน”
สิทธิในการกำหนดใจตนเอง (Self-determination) ข้อนี้ไม่สามารถกระทำได้ตามที่มีการรณรงค์และปลุกกระแสมาอย่างต่อเนื่องขององค์กรภาคประชาสังคม เนื่องจากประเทศไทยได้ทำข้อแถลงตีความ (ข้อสงวน) สิทธิในการกำหนดใจตนเองไม่ได้กระทำได้ในทุกๆ เรื่อง และมีข้อสงวนไว้ว่า “มิให้ตีความว่าอนุญาต หรือสนับสนุนการกระทำใดๆ ที่จะเป็นการแบ่งแยก หรือทำลายบูรณภาพแห่งดินแดน หรือเอกภาพทางการเมืองของรัฐ เอกราชอธิปไตย ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน”
การเคลื่อนไหวขององค์กรภาคประชาสังคมในพื้นที่ จชต. ไม่ได้พูดทั้งหมด แต่มีการนำเอาเนื้อหาเพียงบางส่วน แล้วนำไปปลุกกระแส ปลุกระดม มีการจัดเวทีเสวนาโน้มน้าวให้มีผู้เห็นด้วยนำไปสู่การสนับสนุนฝ่ายตนเอง จะไม่มีการกล่าวถึงข้อสงวน และกล่าวถึงกรณีรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยที่ผ่านมาได้บัญญัติการออกเสียงประชามติไว้ว่า “ต้องเป็นเรื่องที่กระทบต่อผลประโยชน์ของประเทศชาติและของประชาชนส่วนใหญ่ จึงจะให้มีการออกเสียงประชามติ”
จะเห็นได้ว่าประเด็นการกำหนดใจตนเอง (Self-determination) มิได้เป็นการขัดแย้งกันในแง่ของกฎหมาย หรือมีความคิดเห็นที่ต่างกัน แต่ปัญหาเกิดจากการนำกฎกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางการเมือง มาทำการเคลื่อนไหวเพื่อประโยชน์ฝ่ายตน แต่ไม่ได้มีการกล่าวถึงข้อแถลงตีความ (ข้อสงวน) ที่รัฐบาลไทยได้กระทำไว้ต่างหาก
ดังนั้นการกำหนดใจตนเอง (Self-determination)จึงกระทำไม่ได้ในพื้นที่ จชต. ภายใต้รัฐธรรมนูญ ที่ผ่านมามิได้เปิดช่องให้มีการทำประชามติในเรื่องปัญหา จชต. เมื่อไม่มีการเปิดช่องการทำประชามติเอาไว้ หรือฟังเสียงคนทั้งประเทศเท่ากับว่ากระบวนการที่จะนำไปสู่การกำหนดใจตนเองก็ไม่สามารถกระทำได้ตามที่ได้มีการปลุกกระแสดังกล่าวขึ้นมาแต่อย่างใด