Skip to main content

เลขา เกลี้ยงเกลา    

 

            เมื่อปลายเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา นางสาวลม้าย มานะการ ผู้ประสานงานอาวุโส และนางสาวมาเรียม ชัยสันทนะ ผู้จัดการแผนงานทุนพัฒนาชุมชน โครงการสนับสนุนชุมชนเพื่อฟื้นฟูท้องถิ่นชายแดนภาคใต้(ช.ช.ต.) ร่วมกับนางภมรรัตน์ ตันสงวนวงษ์ เจ้าหน้าที่อาวุโสด้านการพัฒนาสังคม และนางสาวนุชนาฎ จันทรวิเศษ จากธนาคารโลก พบปะตัวแทนอบต.โคกเคียนเพื่อรับทราบการทำงานของผู้ประสานงานพื้นที่ และหาแนวทางการทำงานร่วมกันในอนาคต

นางภมรรัตน์ กล่าวถึงการที่ทางผวจ.นราธิวาสต้องการให้มีการประชุมให้ทุกภาคส่วนได้รับรู้ข้อมูลข่าวสารอย่างบูรณาการ เดินไปในทิศทางและแผนเดียวกัน ให้ทุกหน่วยงานมาทำงานร่วมกันโดยไม่ต้องเริ่มจากศูนย์ ถือเป็นนิมิตรหมายที่ดี

“กระบวนการ Community Driven Development block grant facility:CDD จะสามารถเสริมเรื่องการทำงานของอบต.ที่อาจมีข้อจำกัดบางอย่าง สิ่งที่สำคัญคือ การตัดสินใจของประชาชนควรตั้งอยู่บนข้อมูล การเก็บข้อมูลในชุมชนมารวบรวมเกี่ยวร้อยเป็นข้อมูลของชุมชน เป็นกระบวนการที่ให้ได้รับรู้ว่าในชุมชนตัวเองมีข้อมูลอะไรบ้าง เป็นข้อมูลจากแผนหมู่บ้าน ในการให้ 6 อบต.ที่ทำนำร่องก่อน โดยได้ตั้งต.ห้วยกระทิงเป็นอบต.หลัก และมีวิสัยทัศน์ร่วมกันว่า เป็นศูนย์กลางของการพัฒนาชุมชน  เป็นอบต.ที่มีการมาศึกษาดูงานของพื้นที่อื่นๆ และจะมีการจัดอบรม เสริมสร้างศักยภาพให้มากขึ้น  ให้ผู้ประสานงานพื้นที่ทำงานอย่างมีความสุข และขอขอบคุณในความร่วมมือของอบต.และให้การช่วยเหลือมาตลอด”

จากนั้น นางภมรรัตน์ ได้สอบถามความคิดเห็นจากตัวแทนอบต.โคกเคียน ในการสะท้อนความคิดเห็นในเรื่องการทำงานของผู้ประสานงานพื้นที่โครงการช.ช.ต. โครงการพื้นฐานที่ชาวบ้านนำเสนอ เมื่อทางช.ช.ต.จบโครงการใครจะมาทำหน้าที่นี้แทน และข้อเสนอแนะในการทำงานของโครงการฯ ในพื้นที่

นายวิวรรธน์ ชัยบำรุง ปลัดอบต.โคกเคียน กล่าวว่า ที่ผ่านมาคำว่าประชาคมคือ ต่างคนต่างเข้ามาทำในชุมชนแต่ไม่สำเร็จ ในปีนี้ทางผู้ประสานงานพื้นที่ของโครงการช.ช.ต.ได้ประสานงานว่า ควรทำประชาคมร่วมกัน จึงเกิดการทำเวทีประชาคมพร้อมกัน โดยแบ่งหน้าที่รับผิดชอบ ประสานงาน ประชุม เชิญชวนคนเข้ามาร่วม โดยการเคาะประตูบ้าน ผู้นำศาสนาบอกกล่าว และมีรถแห่เชิญเข้าร่วม ซึ่งเป็นปีแรกที่ทำประชาคมร่วมกันทั้ง 13 หมู่บ้าน

“ที่ผ่านมาชาวบ้านเข้าร่วมเวทีประชาคมน้อย ในครั้งนี้มีเจ้าหน้าที่ประสานงานพื้นที่ โครงการช.ช.ต.เป็นหลักในการจัดเวที และเจ้าหน้าที่อบต.ร่วมช่วยเหลือ เขาวางแผนรายหมู่บ้าน เจาะประเด็นของแต่ละหมู่บ้านเพราะแต่ละพื้นที่มีบริบทไม่เหมือนกัน มีการวางแผนในการเชิญชวนไม่เหมือนกัน มีทุกภาคส่วนเข้ามาร่วม ปกติจะทำประชาคมกันครึ่งวัน แต่คราวนี้ทำกันทั้งวัน ประชาชนให้ความร่วมมือดีมาก วิเคราะห์ว่า เนื่องจากน้องๆ จากช.ช.ต. ได้บอกกล่าวกับชาวบ้านในการมีส่วนสำคัญในการทำแผน ต้องการอะไรให้บอกเพราะแผนสามารถทำให้เป็นรูปธรรมได้ส่วนหนึ่ง”

ปลัดอบต.โคกเคียน กล่าวขอบคุณผู้ประสานงานพื้นที่ช.ช.ต.ที่สามารถมีวิธีการให้ชาวบ้านมีส่วนร่วมออกมาแสดงความคิดเห็น เช่น การออกแบบบัตรคำ เปลี่ยนวิธีการจากการยกมือเปลี่ยนมาเป็นการลงคะแนน มีการเปลี่ยนแปลงเช่นหมู่บ้านที่ไม่คิดว่าจะเข้าร่วม แต่มาเข้าร่วมเพราะต้องการทราบและเสนอประเด็นความต้องการ ผู้บริหารเห็นการทำแผนร่วมกันว่ามีประโยชน์ต่อประชาชนจริงๆ และทั่วถึง สามารถแสดงความคิดเห็นได้ทั้งการพูดและการเขียน เมื่อใครเขียนไม่ได้ ผู้ประสานงานฯ ก็จะช่วยเขียน การขยายเวลาเป็นทั้งวันเท่ากับเป็นการเพิ่มโอกาสให้ชาวบ้านมีส่วนร่วมมากขึ้น การนำเสนอให้ชาวบ้านเข้าใจถึงความสำคัญของเวทีประชาคม ทางอบต.เพียงช่วยเสริม

ปลัดอบต.กล่าวต่อว่า 70 เปอร์เซ็นต์ของโครงการที่ชาวบ้านเสนอยังคงเป็นเรื่องของโครงสร้างพื้นฐาน เช่น ถนน ประปา ไฟฟ้า ซึ่ง อบต.ทำทุกปีแต่ไม่ทันกับการเจริญเติบโตที่มีประชากรเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว

“ใน 13 หมู่บ้านของต.โคกเคียน ชาวบ้านต้องการโครงสร้างพื้นฐานอีกมาก แต่ละปีอบต.จัดให้มีโครงการพื้นฐานหมู่บ้านละ 1 โครงการ เฉลี่ย 5 แสนบาท/โครงการ บางหมู่บ้านได้เฉพาะถนน เรื่องไฟฟ้าขยายทั้งตำบลปีละ 5 แสนบาท เมื่อขยายแล้วตกเป็นของการไฟฟ้าหมด ปัญหาคือการไฟฟ้าและการประปาไม่มีงบประมาณส่วนนี้เลย

ในเรื่องการส่งเสริมอาชีพมีองค์ประกอบมากมายที่ทำให้ไม่ยั่งยืน และการบริหารจัดการล้มเหลว ต้องเปลี่ยนแนวคิดชาวบ้าน ส่วนเรื่องการศึกษา แต่ละครอบครัวจะพยายามส่งลูกเรียน มีทั้งโรงเรียนตาดีกา(โรงเรียนสอนศาสนาวันเสาร์-อาทิตย์ประจำชุมชน) กีรออาตี(ระบบจัดการเรียนรู้การอ่านอัลกุรอ่านแบเป็นคำ) และโรงเรียนสามัญ”

ส่วนช่องทางการสื่อสารในต.โคกเคียนที่สำเร็จ ปลัดอบต.โคกเคียนกล่าว่า  การไปพูดคุยในมัสยิดแนะนำทำความเข้าใจผ่านผู้นำชุมชน โต๊ะอิหม่าม ช่วงการละหมาดวันศุกร์ เป็นช่องทางที่ได้ผลดีที่สุดและสามารถขยายความไปได้มาก และการมีตัวแทนหมู่บ้านเช่น การแข่งขันฟุตบอล การแข่งเรือ / รถแห่ เอกสารติดป้ายประกาศ เสียงตามสายที่มีเกือบทุกหมู่บ้าน ซึ่งในปี 2559 ทางอบต.วางแผนให้มีบอร์ดแต่ละหมู่บ้าน ติดหน้ามัสยิดเพื่อเป็นศูนย์ข้อมูลข่าวสารที่เป็นเอกสาร และนายกอบต.จะมีการพูดคุยทุกวันศุกร์ ด้านการพัฒนาท้องที่ยังไม่มีปศุสัตว์ และเกษตรประจำพื้นที่ ต้องมีหน่วยงานมาช่วยประสานเช่น ช.ช.ต. เพราะอบต.ยังมีศักยภาพไม่เพียงพอ

            สำหรับตำบลที่เหมาะสมในการเป็นตำบลขยายควรจะเป็นต.กะลุวอ เนื่องจากมีชุมชน 6-7 หมู่บ้าน เป็นชุมชนเข้มแข็งและไม่ใหญ่เกินไป ควรมีการอบรมกลุ่มเป้าหมาย บัณฑิตอาสา เพื่อสร้างบุคลากรไปขยายโครงการต่อ และสามารถต่อยอดได้ในระดับหนึ่ง รวมทั้งผู้บริหารรับรู้ถึงความสำคัญของการทำแผน มีตำบลที่ให้ความสำคัญกับการทำแผน เมื่อผู้ประสานงานฯ ออกจากพื้นที่ ท้องถิ่นและท้องที่ต้องสร้างทีมงานขึ้นมาเพื่อให้ระบบนี้คงอยู่ต่อไป ด้วยการสร้างโมเดลที่ชัดเจน

            “ปกติอบต.ใช้ข้อมูลของพัฒนาชุมชนจากข้อมูลจปฐ.ที่อำเภอมาเสริมกัน และน้องๆ มีศักยภาพดีมากในการทำงานได้ในระดับหนึ่ง สำหรับบัณฑิตอาสาเป็นคนในพื้นที่จริงแต่ต้องประเมินศักยภาพว่าทำงานเพื่อมวลชนได้หรือไม่ ซึ่งมีหลายคนที่สามารถทำได้ พื้นที่นี้เป็นพื้นที่พิเศษที่คนจะมาทำตรงนี้ได้คือ เป็นคนในสามจังหวัดที่รู้ขนบธรรมเนียมของคนที่นี่ สามารถไปเคาะประตูบ้านชาวบ้านได้ ด้านอบต.จำกัดเรื่องของบุคลากร อบต.โคกเคียนเป็น อบต.ขนาดกลาง อยู่ในเมือง แต่บุคลากรยังไม่พอ เช่นมีเจ้าหน้าที่วิเคราะห์ฯ เพียงคนเดียว กำลังยกระดับเป็นฝ่ายวิเคราะห์นโยบายและแผน จะได้มีกำลังเข้ามาช่วยทำงาน”

ด้านเจ้าหน้าที่วิเคราะห์ฯ อบต.โคกเคียนกล่าวว่า การที่ผู้ประสานงานลงทำงานในชุมชนสามารถนำงานมาช่วยอบต.ได้ เนื่องจากเจ้าหน้าที่อบต.มีเวลาจำกัดไม่สามารถทำได้ครอบคลุม ผู้ประสานงานฯ ทำให้การมีส่วนร่วมของชาวบ้านและพัฒนาความสัมพันธ์ได้มากขึ้น  ส่วนในการเลือกโครงการให้เลือกโครงการที่หน่วยงานอื่นสามารถช่วยทำได้ด้วย