Skip to main content

         พาดหัวข่าวใหญ่พร้อมโปรย “จับ 7 มือระเบิด ป่วน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ตั้งแต่ปี 47 นัดรวมตัวสงขลาเตรียมก่อการใหญ่ สอบเครียดอาจเชื่อมโยงกับคดีระเบิดจ่าเพียร” ซึ่งถูกนำเสนอในหลายสำนักข่าว เป็นที่รับรู้เชื่อถือของคนในสังคมไทย ทั้งที่เบื้องลึกเบื้องหลังนั้นไม่มีใครรู้ว่าความจริงเป็นเช่นไร แต่ใครที่ได้รับผลกระทบจากข่าวนี้ บทบันทึกนี้เกิดขึ้นจากนักศึกษาคนหนึ่งในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่มองเห็นสื่อรายงานข่าวพิพากษาคนกลุ่มหนึ่งทั้งที่ยังไม่มีการสอบสวน

“ไปยะลามั้ยครับ !” เสียงของนักศึกษาคนหนึ่งกำลังตะโกนราวกับคนขับรถ 2 แถวตามสถานีรถไฟ ขณะที่ข้าพเจ้ากำลังเดินลงจากตึกองค์การนักศึกษา มอ.ปัตตานี เมื่อฟังเสียงและสังเกตเห็นปรากฏว่าเห็นเป็นนักศึกษา ชั้นปี 4 ด้วยความสงสัยจึงไปทักทาย และสอบถาม พวกเขาจึงตอบว่ากำลังจะไปเยี่ยมเพื่อนชื่อ “ไอ้มะ โปย” ซึ่งข้าพเจ้าไม่รู้จัก แต่เนื่องจากวันนั้นข้าพเจ้าว่างพอดี จึงตัดสินใจรีบไปเปลี่ยนเสื้อผ้า สวมเครื่องแบบนักศึกษา ทั้งที่ไม่รู้จักกับคนที่ถูกจับ แต่ด้วยความอยากรู้อยากเห็น  ในที่สุดข้าพเจ้าได้รู้ในสิ่งที่ไม่เคยรู้ จากที่ข้าพเจ้ามองข้ามมาโดยตลอด
เวลา 9 โมงเช้าเศษ ๆ รถสองแถวได้แล่นออกจาก มอ.ปัตตานี มุ่งสู่ ศูนย์ปฏิบัติการสำนักงานตำรวจแห่งชาติส่วนหน้า (ศปก.ตร.) จังหวัดยะลา  ประมาณ 10.30 น. บรรยากาศเต็มไปด้วยคนสวมเสื้อขาว ชาย หญิง 100 กว่าคน อันแสดงให้เห็นถึงพลังบริสุทธิ์ของนักศึกษา ที่มาเรียกร้องความเป็นธรรมให้กับ 7 นักศึกษาที่ถูกควบคุมตัวโดยต้องสงสัยว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับการลอบวางระเบิดจ่าสมเพียร
 ในขณะที่สื่อต่างก็ประโคมข่าวว่า “7 มือระเบิด” จึงเท่ากับนักศึกษากลุ่มดังกล่าวเป็นผู้ต้องหาโดยปริยาย ทำให้เพื่อนนักศึกษาไม่พอใจอย่างมาก เพราะทั้ง 7 คนเป็นนักศึกษาที่ทำกิจกรรมและคลุกคลีอยู่กับชาวบ้าน และเป็นสมาชิก สหพันธ์นิสิตนักศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (สนน.จชต.) ซึ่งเป็นองค์กรหลักที่ทำกิจกรรมในพื้นที่ นักศึกษาจึงได้มารวมตัวเพื่อทำการเรียกร้องให้ปล่อยตัว และเกรงว่าพวกเขาจะถูกซ้อมทรมาน
เมื่อข้าพเจ้าเห็นบรรยากาศการรวมตัวของนักศึกษาก็รู้สึกตื่นเต้น เพราะไม่บ่อยนักที่จะออกมาชุมนุมกันเพื่อเรียกร้องอะไรสักอย่าง และอดคิดไม่ได้ว่าเหตุการณ์มันอาจจะบานปลาย ถึงขั้นการใช้ความรุนแรงอย่างที่เกิดขึ้นมาในอดีตหรือเปล่า เพราะผู้ประท้วงมีการประสานเสียงดัง  แต่ปรากฏว่าการเรียกร้องก็อยู่บนพื้นฐานของการเจรจาด้วยสันติวิธี
แรกเริ่มของการเจรจาเต็มไปด้วยความตึงเครียด เนื่องจากนักศึกษาทุกคน ต้องการเข้าไปเยี่ยมข้างในให้ได้ เจ้าหน้าที่ให้เหตุผลว่า จะเยี่ยมพร้อมกันทีเดียวร้อยกว่าคนนั้นเป็นไปไม่ได้ นักศึกษาจึงพากันไม่พอใจ และประสานเสียง หรือโห่ร้องว่า “ไม่ยอม” ๆ แต่ในที่สุดเจ้าหน้าที่เชิญตัวทั้ง 7 คน ออกมายืนบริเวณหน้าประตู นักศึกษาจึงยอม ครั้งแรกที่ข้าพเจ้าเห็นคิดว่า ไม่รู้จักนักศึกษากลุ่มนี้ แต่กลับรู้สึกคุ้นหน้าเหมือนเจอที่ไหนมาก่อน
เมื่อเจ้าหน้าที่นำตัวทั้ง 7 คนมาแล้ว ญาติได้เข้าเยี่ยมด้วยน้ำตา อย่างเศร้าโศก ต่อจากนั้นเจ้าหน้าที่ให้โอกาส ผู้ถูกเชิญตัวพูดคุยผ่านโทรโข่งกับเพื่อนนักศึกษาที่มาเยี่ยม และอนุญาตให้ส่งตัวแทนนักศึกษา 14 คนเข้าไปพูดคุยด้วยเป็นเวลาครึ่งชั่วโมง
ต่อจากนั้น เวลาเที่ยงเศษๆ นักศึกษาได้ไปรวมตัวกันที่มัสยิดกลางยะลา เพื่อละหมาดและแถลงการณ์โดยมีพยานเป็นสื่อมวลมาทำข่าว ทั้งนี้ข้อเรียกร้องมีด้วยกัน 3 ประการ
1.       ให้เจ้าหน้าที่สืบสวนผู้ถูกเชิญตัวด้วยกระบวนการยุติธรรมและโปร่งใส
2.       ให้สื่อออกมารับผิดชอบกับการนำเสนอข่าวที่กล่าวหาว่าเป็น “มือระเบิด” (ทั้งที่ยังไม่มีการสอบสวน)
3.     ให้ปล่อยตัวผู้ถูกเชิญตัวภายในวันพฤหัส ที่ 8 เมษายน 2553 มิเช่นนั้นแล้ว สหพันธ์นิสิตฯ จะทำการชุมนุม ในวันศุกร์ที่ 9 เมษายน 2553  เวลาหลังละหมาดวันศุกร์ที่มัสยิดกลางยะลาต่อไป
 
ในที่สุด วันที่ 8 เมษายน 2553 เจ้าหน้าก็ได้ปล่อยตัวทั้ง 7 คน โดยแจ้งว่าผู้ถูกควบคุมตัวทั้งหมดไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการก่อเหตุความไม่สงบในครั้งนี้
อย่างไรก็ตาม นายมูฮำหมัด เจ๊ะมะ หนึ่งในผู้ถูกเชิญตัวเผยความรู้สึกกับการนำเสนอข่าวครั้งนี้ว่า “มันเกินไป น่าจะตรวจสอบข้อเท็จจริงให้ดีก่อน และหากตอนแรกออกหน้าหนึ่ง ก็ต้องแก้ข่าวหน้า หนึ่ง เช่นเดียวกัน เพราะมันทำให้พวกเรา เสียศักดิ์ศรี เกียรติยศ และวงศ์ตระกูล”
                “ถ้าไม่ตัดสินใจก้าวขึ้นรถ ก็คงไม่รู้อะไร  นอกจากการอ่านข่าวที่ตัดสินพิพากษาก่อนศาลสถิตยุติธรรม จากการที่ได้เข้าไปร่วมชุมนุมครั้งนี้ ทำให้ได้เห็นถึงบทบาทของนักศึกษาที่ยังคงเข้มแข็ง และมีพลังอย่างไม่เปลี่ยนแปลงหากเทียบกับในอดีต และสิ่งที่สำคัญก็คือ การเรียกร้องบนพื้นฐานของสันติวิธี  โดยใช้การเจรจาอย่างสันติ และรับฟังอย่างใส่ใจนั้น สามารถนำมาซึ่งความเข้าใจ เป็นการเคารพสิทธิของแต่ละฝ่าย และจะไม่นำมาซึ่งความรุนแรงที่อาจสูญเสียทั้งสองฝ่ายอย่างเช่นในอดีต หรือเหมือนกลุ่มเสื้อแดงในปัจจุบัน
                                            สันติอาสาสักขีพยาน