Skip to main content

‘อสนียาพร  นนทิพากร’

ตามที่ได้กล่าวไปแล้ว เกร็ดความรู้ในแง่กฎหมายที่เห็นต่างกัน ตอนที่ 1 การกำหนดใจตนเอง (Self-determination) กระทำได้หรือไม่? ในพื้นที่ จชต. ว่าการบรรจุกำลังของเจ้าหน้าที่ทหารในอัตราของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า เป็นการลงมาช่วยเจ้าหน้าที่ตำรวจในการรักษาความสงบเรียบร้อย การบังคับใช้กฎหมายเท่านั้น มิใช่ลงมาทำการสู้รบ หรือการทำสงครามกับฝ่ายคิดต่างแต่ประการใด

การปฏิบัติของเจ้าหน้าที่รัฐจะได้รับการคุ้มครองจากกฎหมายพิเศษที่บังคับใช้ ซึ่งเกิดจากการปฏิบัติโดยสุจริต ไม่เลือกปฏิบัติ ไม่เกินสมควรแก่เหตุ และไม่เกินกว่ากรณีจำเป็น (ม.17 พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินฯ)

ความเคลื่อนไหวขององค์กรภาคประชาสังคมต่อประเด็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนกับการบังคับใช้กฎหมายในพื้นที่ จชต. น่าจะเป็นอับดับต้นๆ ที่มีการกล่าวถึงอยู่บ่อยครั้ง โดยเฉพาะต่อการตรวจ DNA มีการรวมตัวขององค์กรภาคประชาสังคมยื่นหนังสือกล่าวหาว่าเจ้าหน้าที่มีการละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 และให้มีการชี้แจงการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐ

กระบวนการเก็บ DNA บุคคล โดยหลักการทั่วไป “ต้องได้รับการยินยอมในการจัดเก็บ DNA” แต่มีข้อยกเว้นไม่ต้องได้รับการยินยอมมีกฎหมายรองรับในบางสถานการณ์ที่จำเป็น ในการประกาศใช้ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินในพื้นที่ จชต. เป็นการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินร้ายแรง อยู่ในมาตรา 11(6) นายกรัฐมนตรี มีอำนาจสั่งให้มีการตรวจเก็บ DNA เพื่อความปลอดภัยของประชาชน

ตามที่กลุ่มองค์กรภาคประชาสังคมได้มีการตั้งข้อสังเกตและทำการกล่าวอ้างว่าขัดกับหลักสิทธิมนุษยชนนั้น ต้องถือเอาความมั่นคงของประเทศเป็นใหญ่ ซึ่งพอจะยอมรับกันได้ แต่ต้องมีเหตุผลเพียงพอ เพื่อความปลอดภัยของประชาชน

เมื่อมีการตรวจเก็บ DNA ในพื้นที่ จชต. จะทำให้การบังคับใช้กฎหมายมีประสิทธิภาพ การดำเนินคดีต่อผู้กระทำความผิดได้ผล ศาลยกฟ้องคดีน้อยลง มีการสั่งจำคุกผู้กระทำความผิดสูงขึ้น เมื่อมีการนำคนผิดเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ผลที่ตามมามีการก่อเหตุลดน้อยลง คนตายหรือได้รับบาดเจ็บน้อยลง ประชาชนมีความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ที่สำคัญเจ้าหน้าที่รัฐไม่สามารถกลั่นแกล้งประชาชนผู้บริสุทธิ์ มีการบังคับใช้กฎหมายที่เป็นธรรม เสมอภาค และมีประสิทธิภาพ    

เจ้าหน้าที่รัฐ ทหาร ตำรวจ ภายใต้การอำนวยการของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ที่ปฏิบัติงานในพื้นที่ จชต. จำนวนหลายหมื่นนายนั้น ได้ปฏิบัติหน้าที่ในการคุ้มครองดูแลความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ให้ความคุ้มครองดูแลสิทธิมนุษยชน ดูแลความเรียบร้อยเพื่อให้ประชาชนสามารถใช้ชีวิตอยู่อย่างปกติสุข…

ต่อประเด็นเจ้าหน้าที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนกับการบังคับใช้กฎหมายในพื้นที่ จชต. หรือไม่? ซึ่งหากศึกษาข้อกฎหมายอย่างละเอียดพบว่า เจ้าหน้าที่ไม่ได้มีการละเมิดแต่ประการใด เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานภายใต้กรอบของกฎหมาย และมีกฎหมายรองรับอย่างชัดเจน โดยเฉพาะประเด็นการตรวจ DNA ต้องถือเอาความมั่นคงของประเทศเป็นใหญ่ และเป้าหมายสูงสุดเพื่อต้องการคืนความสุขให้กับประชาชนในพื้นที่ จชต. ได้ใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุข ลดการก่อเหตุรุนแรง ติดตามผู้กระทำความผิดมาลงโทษ

เมื่อกลางปี 2558 ที่ผ่านมา คณะทูตกลุ่มประเทศสมาชิกองค์การความร่วมมืออิสลามประจำประเทศไทย ได้มาเยือนพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ ในการนี้คณะทูตได้ไปเยี่ยมการปฏิบัติงานของศูนย์พิสูจน์หลักฐาน 10 โดยคณะทูตได้เห็นการดำเนินงานตามนโยบายของรัฐบาลที่ให้ความสำคัญต่อการอำนวยความยุติธรรม ภายใต้กรอบของกฎหมายและการปฏิบัติอย่างเท่าเทียม ตลอดจนมีความเข้าใจว่า กระบวนการยุติธรรมของไทยโปร่งใส และตรวจสอบได้ โดยใช้หลักนิติวิทยาศาสตร์ที่ได้มาตรฐานสากลเพื่ออำนวยความยุติธรรมให้กับทุกฝ่าย ซึ่งได้ช่วยส่งผลให้ที่ประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศองค์การความร่วมมืออิสลาม ครั้งที่ 42 เมื่อวันที่ 27-28 พฤษภาคม 2558 ณ รัฐคูเวต ได้รับรองแถลงการณ์สุดท้ายที่มีเนื้อหายอมรับในความพยายามของรัฐบาลไทยในการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้

ผู้ใดก็ตามแต่เป็นผู้ที่ขัดขวางทำให้ประชาชนไม่สงบสุข ผู้นั้นคือผู้ที่ละเมิดสิทธิมนุษยชน และผู้ที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนของประชาชนในพื้นที่ จชต. และสร้างความเดือดร้อนมาโดยตลอดระยะเวลาสิบกว่าปีที่ผ่านมาคือ กลุ่ม ผกร. ที่ยังคงมุ่งทำร้ายประชาชนผู้บริสุทธิ์อย่างต่อเนื่อง ยัดเยียดความทุกข์ร้อนทุกรูปแบบด้วยการก่อเหตุสร้างสถานการณ์ ทำการคุกคาม ข่มขู่ให้เห็นด้วยกับแนวทางของฝ่ายตนเอง...