Skip to main content

สุวรา แก้วนุ้ย

จากการประชุม แลกเปลี่ยนประสบการณ์สร้างสันติภาพของผู้หญิงข้ามพรมแดนในอาเซียน ซึ่งจัดโดยคณะทำงานวาระผู้หญิงชายแดนใต้ ร่วมกับ Peace Women Across The Globe เมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 2558 ณ ห้องศรีวังสา คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขต ปัตตานี ที่ผ่านมาสามารถสรุปประเด็นสำคัญได้ ดังนี้

10 หลักการ ในการทำงานของผู้หญิงกับการสร้างสันติภาพ

1) การทำงานต้องมีความจริงใจ จริงจัง และต่อเนื่อง เพื่อเสริมสร้างความเข้าใจและไว้วางใจให้เกิดขึ้นในพื้นที่ความขัดแย้ง

2) การทำงานต้องร่วมกับทุกฝ่ายโดยไม่เลือกปฏิบัติ ซึ่งรวมถึงการไม่ขจัดความคิดของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งออกไป

3) การทำงานต้องเน้นการสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริงในทุกขั้นตอน

4) มีการทำงานข้ามกลุ่มระหว่างผู้หญิงในพื้นที่ความขัดแย้ง กับกลุ่มผู้หญิงนอกพื้นที่ความขัดแย้ง

5) มีการทำงานข้ามกลุ่มชาติพันธุ์ / ข้ามกลุ่มศาสนาหรือกลุ่มที่มีความคิดเห็นแตกต่างได้

6) มีการสร้างและขยายเครือข่ายในการทำงาน เพื่อเป็นตัวเชื่อมต่อในการทำงานในอนาคต

7) ควรมีการแบ่งปันทรัพยากรในการทำงานร่วมกัน ซึ่งหมายรวมถึงทรัพยากรทางความรู้ในด้านต่างๆ ด้วย

8) มีความยืดหยุ่นในการทำงาน

9) ใส่ใจเรียนรู้สิ่งที่เกี่ยวข้องกับการทำงานทั้งประเด็นภายในและภายนอกพื้นที่

10) มีความอดทน อดทน และอดทน ต่อกระบวนการสร้างสันติภาพในพื้นที่ความขัดแย้ง

 

ประเด็นอะไรที่ผู้หญิงสนใจ??? : 10 ข้อเสนอจากกลุ่มผู้หญิงในการพูดคุยสันติภาพปาตานี   

            จากการอภิปรายกลุ่มย่อยในเรื่อง ประเด็นความสนใจของผู้หญิงต่อการพูดคุยสันติภาพปาตานี สามารถสรุปข้อเสนอแนะ/ข้อห่วงใย/ข้อกังวล และความคาดหวัง จากกลุ่มผู้หญิงต่อการดำเนินงานในกระบวนการสันติภาพได้ ดังนี้

1) การเรียกร้องต่อการลด และยุติการใช้ความรุนแรง ในประเด็น

  • การลดและยุติการใช้ความรุนแรงต่อประชาชนทุกกลุ่ม โดยเฉพาะกลุ่มผู้หญิงและเด็ก
  • การกำหนดพื้นที่ในการก่อเหตุ/ พื้นที่ปลอดภัยตามหลักมาตรฐานสากล
  • การลดการก่อเหตุและใช้ความรุนแรงในช่วงวันสำคัญของทุกศาสนา/ เชื้อชาติ
  • การออกมาแสดงความรับผิดชอบของกลุ่มที่ก่อเหตณ์ในพื้นที่

2) ไม่ควรมีกองกำลังทางการทหารที่เป็นเด็กและผู้หญิง

3)  การร่วมกันจัดการปัญหา และพัฒนาพื้นที่อย่างสร้างสรรค์ เช่น ปัญหายาเสพติด

4)  การเปิดพื้นที่ในการแสดงออกทางความคิดเห็นให้ทุกกลุ่ม โดยคำนึงถึงประเด็นความปลอดภัยของทุกกลุ่ม/การรับประกันความปลอดภัย

5)  การกำหนดให้กระบวนการสันติภาพเป็นนโยบายวาระแห่งชาติ

6)  การสร้างความเป็นธรรมในทุกมิติ และสร้างการเข้าถึงความเป็นธรรมอย่างเท่าเทียม

7)  การมีตัวแทนของกลุ่มผู้หญิงในการเป็นคณะกรรมการ/ หรือเป็นส่วนหนึ่งของกลไกในการติดตามประเมินผลการดำเนินงานด้านสันติภาพในระดับพื้นที่

8)  การยอมรับ และกำหนดสัดส่วนของผู้หญิงในการเข้าร่วมการพูดคุย/เจรจาสันติภาพ

9)  การดำเนินงานด้านสันติภาพต้องมีการประสานคนทุกกลุ่มในพื้นที่

10)  การเตรียมความพร้อมในระดับพื้นที่ต่อการรับและนำข้อเสนอจากการพูดคุย/เจรจาสันติภาพ ไปปฏิบัติ

มุมมองความคิดที่ตกผลึกมานี้อาจจะยังมีส่วนขาดที่ต้องการการเติมเต็ม หากท่านใดมีความคิดเห็นเพิ่มเติมร่วมแลกเปลี่ยน เพื่อร่วมกรุยทาง ในก้าวย่างที่งดงามต่อไปของผู้หญิงในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้/ปาตานี