Skip to main content
October 13, 2015
Original link CLICK HERE
 
 
บีอาร์เอ็นออกสื่อทิ้งคำถามสำคัญในหมู่ผู้ติดตามกระบวนการสันติภาพภาคใต้: ทางการไทยคุยกับใครแน่ หรือว่าบีอาร์เอ็นแตกคอกันแล้ว
 
การออกแถลงการณ์ลงวันที่ 12 ต.ค.ในนามแผนกข่าวสารข้อมูล และด้วยกระดาษหัวจดหมายและเครื่องหมายกลุ่มบีอาร์เอ็นทำให้ผู้สนใจปัญหาภาคใต้และกระบวนการสันติภาพในภาคใต้มีคำถามต่อเนื่อง บีอาร์เอ็นซึ่งก่อนหน้านี้ไม่สื่อสารกับสาธารณะด้วยวิธีการเช่นนี้ ได้ออกทั้งแถลงการณ์และให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวต่างประเทศในไทย คือแอนโทนี เดวิส ด้วยเนื้อหาที่คล้ายกัน รายงานของเขาลงตีพิมพ์ในนิกเคอิ เอเชียน รีวิว (Nikkei Asian Review) และนสพ.บางกอกโพสต์
 
โดยสรุปจากการให้สัมภาษณ์และแถลงการณ์มีเนื้อหาหลักๆสองประการคือ หนึ่ง ผู้ให้สัมภาษณ์ที่เรียกตัวเองว่า “ยูซุฟ” พร้อมอีกสามคนอ้างว่า ตัวเองได้รับมอบหมายจากกลุ่มผู้นำอาวุโสหรือดีพีพีของกลุ่มบีอาร์เอ็นให้พูดกับผู้สื่อข่าวในเรื่องท่าทีต่อการพูดคุยสันติภาพ ประการที่สอง เนื้อหาที่พวกเขากล่าวกับผู้สื่อข่าวนั้นระบุว่า กลุ่มบีอาร์เอ็นไม่มีส่วนเกี่ยวข้องใดๆกับการพูดคุยเพื่อสันติสุขหรือสันติภาพที่กำลังดำเนินอยู่
 
แอนโทนี่ เดวิส เปิดเผยว่า ในการสัมภาษณ์กลุ่มบีอาร์เอ็นหนนี้ซึ่งเขาเชื่อว่าอาจจะเป็นครั้งแรกที่บีอาร์เอ็นพูดกับผู้สื่อข่าวนั้น “ยูซุฟ” ยังกล่าวด้วยว่า บีอาร์เอ็นไม่ได้ปฏิเสธหนทางสันติภาพหรือการพูดคุย แต่หากบีอาร์เอ็นจะมีส่วนร่วม การพูดคุยนั้นจะต้องกระทำ “ภายใต้การดูแลของนานาชาติ” ซึ่งเมื่อถามรายละเอียด ก็ได้รับคำตอบว่า คือการมีตัวแทนจากรัฐบาลต่างประเทศ หรือองค์กรภาคประชาสังคมจากต่างประเทศเข้ามีส่วนร่วม
 
ในแถลงการณ์ที่ออกในเวลาไล่เลี่ยกับการให้สัมภาษณ์นั้นระบุว่า ต้องการให้มีประเทศอื่นเข้าทำหน้าที่ไกล่เกลี่ยและสังเกตการณ์การพูดคุย
 
เดวิสบอกว่า เมื่อเขาถามยูซุฟว่าผู้ที่ระบุว่าเป็นตัวแทนของบีอาร์เอ็นและเข้าร่วมกับกลุ่มมารา ปาตานีเป็นตัวแทนของบีอาร์เอ็นด้วยหรือไม่ก็ได้รับคำตอบสั้นๆเพียงว่า ให้ไปถามพวกเขาโดยตรง
 
แต่ผู้ใช้ชื่อ “ยูซุฟ” ที่ให้สัมภาษณ์หนนี้ แอนโทนี เดวิสระบุว่า เป็นคนละคนกับอับดุลการีม คาลิบที่ได้ออกคลิปวิดีโออ่านแถลงการณ์ในนามแผนกข่าวสารข้อมูลของกลุ่มบีอาร์เอ็นเมื่อ 7 ส.ค.ที่ผ่านมา
 
เดวิสกล่าวว่าในการพบปะกันในเมืองหลวงของประเทศที่อยู่ไม่ไกลหนนี้ จากการสังเกตุของเขา ผู้ให้สัมภาษณ์ที่เขาได้พูดคุยด้วยเป็นเวลาสามชั่วโมงนั้น เลือกตอบเฉพาะประเด็นเรื่องการพูดคุยสันติภาพเท่านั้น ไม่มีการเพิ่มเติมเนื้อหาอื่นใดนอกประเด็น พิจารณาจากการแสดงออก ท่วงทำนองการตอบคำถาม และการตอบที่ยึดโยงเฉพาะเรื่องที่คาดว่าได้รับมอบหมายมาให้พูด บวกกับการที่ต้องพบปะกันในต่างประเทศรวมไปถึงวิธีการติดต่อ เดวิสบอกว่า ทำให้เขาเชื่อว่าคนเหล่านั้นคือตัวแทนของกลุ่มบีอาร์เอ็นอย่างไม่มีข้อสงสัย และการที่กลุ่มเลือกที่จะสื่อสารเช่นนี้ เห็นได้ชัดว่าต้องการส่งสัญญาณถึงต่างประเทศจึงเลือกที่จะพูดกับผู้สื่อข่าวต่างประเทศแต่ก็ต้องเป็นคนที่ติดตามปัญหาภาคใต้
 
“สิ่งที่เขาพยายามจะบอก ก็คือเขาไม่เกี่ยวข้องอะไรกับมารา ปาตานี แต่มาราก็มีสิทธิที่จะพูดหรือทำอย่างที่พวกเขาต้องการ”
 
ก่อนหน้านี้พล.ท.นักรบ บุญบัวทอง เลขานุการคณะพูดคุยสันติสุขของรัฐบาลบอกกับบีบีซีไทยว่า แถลงการณ์ของบีอาร์เอ็นนี้ไม่มีผลกระทบต่อการพูดคุยระหว่างรัฐบาลและกลุ่มมารา ปาตานี เพราะว่าทางฝ่ายมารายังยืนยันเดินหน้าได้ต่อไป และนัดหมายพบปะหนถัดไปคือเดือนหน้านี้ ส่วนเนื้อหาแถลงการณ์นั้น พล.ท.นักรบให้ความเห็นว่า อาจตีความได้ทั้งสองทางคือแสดงว่ามีความแตกแยกในกลุ่มบีอาร์เอ็น หรือไม่ก็แสดงออกคนละบทบาท
 
แหล่งข่าวที่ใกล้ชิดเจ้าหน้าที่มาเลเซียซึ่งทำหน้าที่ผู้อำนวยความสะดวกชี้ว่า กลุ่มผู้ออกแถลงการณ์เป็นกลุ่มที่ยังไม่เห็นด้วยกับการพูดคุย และยืนยันว่า ไม่ว่ากลุ่มที่ออกแถลงการณ์ หรือผู้ที่บอกว่าเป็นตัวแทนบีอาร์เอ็นในมารา ปาตานี ต่างก็เป็นส่วนหนึ่งของบีอาร์เอ็นทั้งสิ้น “ไม่ว่ากลุ่มใดๆต่างก็มีคนมีความเห็นแตกต่างกัน เป็นเรื่องธรรมดาของกลุ่มเหล่านี้ แต่หลายคนในกลุ่มนี้ก็เปลี่ยนใจลดหย่อนท่าทีที่ไม่เห็นด้วยลงแล้ว”