Skip to main content

ครบรอบ11 ปีเหตุการณ์สลายการชุมนุมหน้า สภ.ตากใบจ.นราธิวาส  เมื่อวันที่ 25 ต.ค. 2547. และเมื่อวานนี้ทั้งในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ และในกรุงเทพเอง ก็ได้มีการจัดงานเสวนาทบทวนถอดบทเรียนและกิจกรรมต่างๆ วันนี้นักข่าวพลเมือง เครือข่ายผู้หญิงภาคประชาสังคมเพื่อสันติภาพชายแดนใต้จะพาเราลงพื้นที่ไปติดตามชีวิตของผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ตากใบ ที่สามารถใช้ชีวิตโดยก้าวข้ามความเจ็บปวด

มะรีกี ดอเล๊าะ เป็น 1 ใน 8 คนที่กลายเป็นผู้พิการจากเหตุการณ์ตากใบ  วันนี้ เขาพร้อมเพื่อนร่วมชะตาเดียวกัน คือ “มะตาราวี เจ๊ะมะ”ยิ้มแย้มแจ่มใสต้อนรับกลุ่มผู้หญิง ที่เป็นนักสันติวิธี และสมาชิกจากเครือข่ายผู้หญิงภาคประชาสังคมเพื่อสันติภาพชายแดนใต้ ที่มาเยี่ยมบ้าน แม้ทั้งสองพิการ แต่ก็พยายามใช้ชีวิตเช่นคนปกติทั่วไป เพื่อไม่ให้เป็นภาระแก่คนในครอบครัว และในใจลึกๆยังคงรู้สึกวิตกกังวลต่อปัญหาสุขภาพ

นายมะรีกี  ดอเล๊าะ ผู้ได้รับผลกระทบกล่าว่า รู้สึกอยู่เฉยๆไม่ได้  นั่งอยู่เฉยๆ นอนเล่น ไม่ชอบอยู่แบบนั้น จะรู้สึกเครียด กลัวว่าจะเป็นโรคโน้นโรคนี้ โรคเบาหวาน เลี้ยงแพะ ปลูกผักกาด ปลูกพริก ปลูกมะพร้าว ปลูกบอน ปลูกข้าวโพด แล้วก็ไปตกปลา 

ถาม : ทราบว่า มีความสุขเมื่อได้ออกไปตกปลา เพราะอะไร ?

ตอบ : เพราะว่า ทำแล้วได้ออกเหงื่อ รู้สึกสงบ ได้ออกเหงื่อ แล้วได้กินปลาที่เราตกเอง 

สำหรับมะรีกีที่สูญเสียขาไปข้างหนึ่ง เขามีมอเตอร์ไซค์คู่ใจ ที่ทำให้เขาสามารถทำกิจกรรมและไปไหนต่อไหนอย่างที่บอกไว้ได้ มีแม่ที่คอยดูแลเขาใกล้ๆ และมีหลักคิดทางศาสนาที่ช่วยยึดเหนี่ยวและเยียวยาจิตใจ

นายมะรีกี  ดอเล๊าะ กล่าว่าเหตุการณ์ตากใบนั้น ที่จริงแล้ว เมื่อนึกถึงแล้วก็ไม่รู้สึกกังวลอะไร แต่ในใจยังคงมีอยู่เรื่องนี้เสมอ ยังจำได้อยู่ ว่าเคยเกิดเหตุการณ์ขึ้นที่ตากใบ แต่ก็ถือว่าพระเจ้าให้ขาเรามา แล้วพระองค์ก็เอาขาเราไป เราก็ไม่ได้รู้สึกเครียด ในสิ่งที่พระเจ้าได้กำหนดไว้   

ถาม : แล้วเงินที่ได้รับการเยียวยา?

ตอบ :เงินเยียวยาที่ได้รับมานั้น มาจากปัจจัย (ริสกี) ที่พระเจ้าให้ต่างหากมา ถ้าจะเทียบกับจำนวนเงินเยียวยาที่จ่ายกับขานั้น ยังไม่ใช่ราคาขา สิ่งนั้นเป็นสิ่งที่พระเจ้าให้ปัจจัย (ริสกี) มา

นายมะตาราวี  เจ๊ะมะ กล่าว่าให้เป็นแบบเหมือนเดิม ให้รัฐบาลช่วยแก้ปัญหาให้ถูกทาง อย่าแก้ปัญหาที่ไม่เป็นความจริง แก้ให้ถูกทาง แล้วจะแก้ปัญหาได้ 

เหตุการณ์ตากใบผ่านมาแล้ว 11 ปี พร้อมความสูญเสียครั้งสำคัญ ที่ไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้นอีก  ชีวิตของผู้รับผลกระทบยังคงต้องดำเนินต่อไปด้วยความเข้มแข็ง จนกว่าสันติภาพชายแดนใต้ที่พวกเขารอคอย จะเกิดขึ้น