Skip to main content
ผศ.ดร.ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี
คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ปัตตานี
ศูนย์เฝ้าระวังเชิงองค์ความรู้สถานการณ์ภาคใต้ (IDSW)
       
       ภาพรวมสถานการณ์ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ในรอบ 40 เดือนตั้งแต่เดือนมกราคม พ.ศ.2547 ถึงเดือนเมษายน พ.ศ. 2550 ได้เกิดความรุนแรงและการก่อเหตุก่อกวนอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับความไม่สงบในพื้นที่จำนวนรวมทั้งสิ้น 6,685 ครั้ง ในเหตุการณ์ที่มีความหมายในทางเมืองดังกล่าวมีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บรวมแล้วประมาณ 5,854 คน ซึ่งในจำนวนนี้เป็นผู้เสียชีวิต 2,200 คนและผู้บาดเจ็บ 3,654 คน จะเห็นได้ว่าเมื่อเปรียบเทียบสามปีที่ผ่านมา ปี พ.ศ.2547 มีการก่อเหตุความรุนแรง 1,850 ครั้ง ปี พ.ศ.2548 มีการก่อเหตุการณ์ความไม่สงบ 2,297 ครั้ง ในปี พ.ศ.2549 มีจำนวน 1,815 ครั้ง และในปี พ.ศ.2550 มีการก่อเหตุความไม่สงบตั้งแต่เดือนมกราคม-เมษายน จำนวน 723 ครั้ง เหตุการณ์โดยทั่วไปยังมีระดับความรุนแรงค่อนข้างคงที่ และดูเหมือนว่าจะมีแนวโน้มสูงขึ้นเมื่อพิจารณาในแง่จำนวนผู้บาดเจ็บและเสียชีวิต
       

       เป็นที่น่าสังเกตว่าสถานการณ์ความรุนแรงในพื้นที่เริ่มไต่ระดับขึ้นอีกครั้งนับตั้งแต่ภายหลังการรัฐประหาร ระดับความรุนแรงหลังการรัฐประหารในเดือนกันยายน พ.ศ.2549 ลดลงเหลือ 86 ครั้งแล้วเพิ่มสูงขึ้นเล็กน้อยในเดือนตุลาคมกลายเป็น 104 ครั้ง ในเดือนพฤศจิกายนกระแสคลื่นเหตุการณ์ความรุนแรงเริ่มพุ่งสูงโด่งอีกประมาณ 208 ครั้ง ในเดือนธันวาคมปี 2549 เหตุการณ์ความรุนแรงยังอยู่ในระดับสูงถึง 193 ครั้ง
       
       เมื่อเริ่มศักราชใหม่ปี พ.ศ.2550 เหตุการณ์ในเดือนมกราคม แม้จะลดลงเล็กน้อยแต่ยังอยู่ในระดับที่ค่อนข้างสูงถึง 132 ครั้ง เมื่อดูจากภาพรวม ยังนับว่าสูงมากเมื่อเทียบกับเหตุการณ์ในช่วงต้นปีในระหว่างปี พ.ศ.2547-2549 เหตุการณ์ในเดือนกุมภาพันธ์ยังแสดงให้เห็นแนวโน้มกระแสความรุนแรงของเหตุการณ์ที่สูงมากขึ้นไปอีกถึง 210 ครั้ง
       การก่อเหตุความรุนแรงในเดือนเมษายนมีจำนวนมากถึง 210 ครั้งเช่นกัน อาจกล่าวได้ว่า นับตั้งแต่ต้นปี พ.ศ.2550 การก่อเหตุความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตามลำดับ แม้ว่าจะไม่พุ่งโด่งขึ้นอย่างรวดเร็วฉับพลัน ซึ่งสภาพเช่นนี้อาจจะสะท้อนข้อเท็จจริงในสองด้านคือ ด้านหนึ่งมีความพยายามควบคุมจัดการความรุนแรงจากรัฐไทยด้วยการทุ่มกำลังทางยุทธการลงไปในพื้นที่และชุมชนที่มีความอ่อนไหวทางการเมือง ทั้งในแง่กำลังทหารราบ หน่วยรบพิเศษและทหารพราน และมีการรุกทางการเมืองด้วยการทำโครงการพัฒนาของ ศอ.บต.และงานมวลชนของทหาร
       

       แต่ก็ยังเกิดเหตุขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพราะในอีกด้านหนึ่งฝ่ายที่ก่อเหตุความรุนแรงก็ยังมีเสรีที่จะก่อเหตุการณ์ได้มากพอสมควร ในแง่ยุทธวิธีการก่อเหตุก็ยังคงใช้วิธีการเดิมคือการยิงรายวันสลับกับการวางระเบิดและการวางเพลิง นอกจากนี้การเกิดสถานการณ์ประท้วงถี่ครั้งมากขึ้นในระยะหลัง ก็แสดงให้เห็นภาพใหม่ของการรุกทั้งการทหารและการเมืองไปพร้อมๆ กัน
       
       ผลกระทบจากเหตุการณ์ในเดือนกุมภาพันธ์ มีนาคมและเมษายนนับว่าสูงมากเมื่อพิจารณาจากความเสียหายในด้านผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บ ยอดผู้ได้รับบาดเจ็บจากเหตุการณ์ในปี 2550 ในเดือนกุมพาพันธ์มีจำนวนมากที่สุด เมื่อเทียบกับสถิติรายเดือนในรอบ 3 ปีกว่าที่ผ่านมา รองลงมาก็คือเดือนเมษายน โดยเฉพาะเดือนเมษายนมีรายงานผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตรวมกันแล้วเป็นจำนวนประมาณ 248 ราย เป็นผู้บาดเจ็บจากเหตุการณ์สูงถึงประมาณ 179 ราย ผู้ที่เสียชีวิต 69 ราย
       
       เหตุที่เป็นเช่นนี้อาจจะวิเคราะห์ได้อีกว่าการปฏิบัติการของฝ่ายก่อเหตุต่อต้านรัฐมีจำนวนมากครั้งขึ้นในแต่ละเดือน และมีการใช้เทคนิคการโจมตีด้วยระเบิดมากขึ้น แต่ละครั้งรุนแรงขึ้นอันเป็นสิ่งบอกเหตุถึงความตั้งใจที่จะทำให้สถานการณ์มีแนวโน้มเลวร้ายลงในช่วงปีนี้ ในอีกด้านหนึ่งการที่มีผู้บาดเจ็บมากขึ้นและมีผู้เสียชีวิตในจำนวนไม่สูงมากอาจจะเป็นผลมาจากเป้าหมายการโจมตีที่เป็นเป้าทางการทหาร ลักษณะดังกล่าวชี้ให้เห็นแนวโน้มเหตุการณ์ที่อาจจะเป็นการปะทะกันอย่างเปิดเผยมากขึ้นระหว่างกำลังของทั้งสองฝ่าย
       
       อย่างไรก็ดี การมุ่งทำลายกองกำลังของรัฐบาลด้วยวิธีการโจมตีในระยะหลังยังมุ่งทำให้เกิดการสูญเสียของฝ่ายรัฐมากขึ้นทำให้มีแนวโน้มว่า อัตราการสูญเสีย (attrition rate) ของกองกำลังฝ่ายรัฐอาจจะเพิ่มขึ้น ก็จะยิ่งเพิ่มโอกาสที่จะทำให้สถานการณ์ความรุนแรงและความเสี่ยงที่จะมีการการตอบโต้ที่มีผลกระทบต่อประชาชนมากขึ้นอีก สภาพทั่วไปจากสถิติเราพบว่า การโจมตีด้วยการยิง (ซึ่งมักจะเป็นเป้าหมายพลเรือน) จะมีมากที่สุด รองลงมาก็คือการวางเพลิงและโจมตีด้วยระเบิด
Description: http://www.manager.co.th/images/blank.gif
Description: http://www.manager.co.th/images/blank.gif
       โดยเฉพาะการโจมตีด้วยระเบิดในเดือนกุมภาพันธ์ปี พ.ศ.2550 สูงมากกล่าวคือ มีรายงานว่าเกิดเหตุโจมตีด้วยการยิงประมาณ 80 ครั้งและการวางระเบิด 81 ครั้ง ดังนั้นในช่วงเดือนกุมภาพันธ์นี้จึงมีเหตุการณ์ระเบิดที่มากที่สุดในรอบ 40 เดือนที่ผ่านมา จะมีการสถิติการวางระเบิดสูงมากในระดับใกล้เคียงกันเพียงครั้งเดียวเท่านั้นในเดือนมิถุนายน พ.ศ.2549 ที่ผ่านมา นอกจากนี้ เดือนที่มีการวางระเบิดมากอีกเดือนหนึ่งก็คือเมษายนที่ผ่านมา
       

       เมื่อพิจารณาในด้านของเป้าหมายของการโจมตีและความเสียหายที่เกิดขึ้นในรอบ 40 เดือนที่ผ่านมา แบบแผนที่ซ้ำกันคือ ราษฎรทั่วไปหรือพลเรือนเป็นเหยื่อของการโจมตีมากที่สุดจำนวน รองลงมาคือเป้าหมายที่เป็นทหาร และตำรวจซึ่งรวมทั้งตำรวจ หน่วยปฏิบัติการพิเศษ และตำรวจตระเวนชายแดน
       
       เมื่อพิจารณาเฉพาะข้อมูลในปี พ.ศ.2550 ปรากฏว่าเป้าหมายสำคัญก็ยังเป็นราษฎรทั่วไปซึ่งเสียชีวิตมากที่สุด รองลงมาเป็นลำดับสองคือเจ้าหน้าที่ทหาร อันดับที่สามก็คือเจ้าหน้าที่ตำรวจหรือตำรวจตระเวนชายแดนหรือ นปพ.แต่เป็นที่น่าสังเกตด้วยว่าในสี่เดือนแรกของปีนี้ ผู้เสียชีวิตที่เป็นกำนัน ผู้ใหญ่บ้านหรือผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านมีจำนวนมากขึ้น ซึ่งมากพอกันกับการสูญเสียของทหารในช่วงเวลาเดียวกัน นอกจากนั้น ตัวเลขในปี พ.ศ. 2550 ผู้นำฝ่ายปกครองท้องถิ่นเช่น อบต. เสียชีวิตมากขึ้นเช่นกัน
       
       กล่าวในภาพรวม จำนวนผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บเทียบระหว่างคนสองศาสนาในรอบ 40 เดือนที่ผ่านมา คนมุสลิมและพุทธจะถูกทำร้ายหรือตกเป็นเป้าของความรุนแรงในจำนวนมากใกล้เคียงกัน คนมุสลิมจะถูกทำร้ายจนเสียชีวิตในจำนวนมากกว่าเล็กน้อย ผู้เสียชีวิตที่เป็นมุสลิมมีจำนวน 1,130 ราย และเป็นคนพุทธ 1,002 ราย
       
       อย่างไรก็ดี ผู้ได้รับบาดเจ็บที่เป็นคนพุทธมีจำนวนที่สูงกว่ามาก ผู้บาดเจ็บที่เป็นคนพุทธมีจำนวนสูงมากถึง 2,161 คน เป็นคนมุสลิมจำนวน 1,022 คน แบบแผนการโจมตีก่อเหตุจะมีลักษณะเหมือนที่เคยเป็นมาในอดีต โดยทั่วไป การก่อเหตุความรุนแรงไม่ว่าจะเป็นการยิง การวางระเบิด วางเพลิงหรือการก่อกวนมีความหมายเชิงสัญลักษณ์ มีจุดมุ่งหมายเพื่อการสร้างความหวาดกลัวต่อประชาชนทั้งในกลุ่มคนพุทธและมุสลิม แม้ว่าในระยะหลังคนพุทธจะมีแนวโน้มถูกคุกคามและทำร้ายมากขึ้น แต่คนมุสลิมเองก็ตกอยู่ในสถานการณ์ที่ชีวิตถูกคุกคามด้วยเช่นเดียวกัน การพุ่งเป้าการโจมตีไปที่กลุ่มคนไทยพุทธจึงเป็นการมุ่งสร้างความรู้สึกปฏิปักษ์ขัดแย้งระหว่างชาติพันธุ์และศาสนา นี่คือสงครามซึ่งสะท้อนการเมืองแห่งอัตลักษณ์อย่างชัดเจน
 
       แนวโน้มความรุนแรงและความสูญเสียชีวิตที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องในรอบ 40 กว่าเดือนที่ผ่านมาแสดงให้เห็นว่ารัฐไทยและสังคมไทยกำลังเผชิญหน้ากับ "สงครามแบบใหม่" หรือที่นักวิชาการเรียกว่า New Wars อันเป็นสงครามในนิยามใหม่ซึ่งแตกต่างจากสงครามในยุคก่อนสงครามเย็น สิ่งที่เห็นคือความรุนแรงในรูปแบบใหม่ที่มีธรรมชาติทางการเมือง ความรุนแรงชนิดนี้ทำให้หาเส้นขีดแบ่งไม่ได้เลยระหว่างสงครามแบบเก่าที่รัฐกระทำต่อรัฐหรือกับกลุ่มปฏิวัติติดอาวุธ กับการก่อความรุนแรงแบบอาชญากรรม และการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างรุนแรง
       

       ความรุนแรงแบบนี้เป็นสงครามแบบใหม่ที่ไม่เพียงแค่เปลี่ยนแปลงยุทธวิธีหรือเทคโนโลยีทางการทหารเท่านั้นแต่ยังก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงความสัมพันธ์ของคนในสังคมด้วย รัฐไม่ได้เป็นผู้ผูกขาดความรุนแรงแต่ความรุนแรงสามารถจะสร้างให้เกิดขึ้นได้ในทุกระดับจนถึงระดับปัจเจกบุคคลและกลุ่มเอกชน เป้าหมายสำคัญที่สุดของสงครามแบบใหม่ชนิดนี้ก็คือ การเมืองว่าด้วยอัตลักษณ์ซึ่งจะแตกต่างไปจากเป้าหมายการต่อสู้เพื่อดินแดนและอุดมการณ์แบบสงครามในอดีต นี่คือการก่อความรุนแรงที่เป้าหมายการต่อสู้ก็เพื่อประกาศตัวตนทางชาติพันธ์ ประวัติศาสตร์และศาสนา
       
       ดังนั้น วิธีการทำสงครามจะเปลี่ยนไปเป็นการใช้วิธี "สร้างความหวาดกลัวและความเกลียดชัง" วัตถุประสงค์ก็เพื่อการควบคุมประชากรด้วยการขจัดใครก็ตามที่มีอัตลักษณ์ต่างจากพวกตน (หรือคนกลุ่มเดียวกันที่มีความคิดเห็นต่างจากตน) และสร้างบรรยากาศของความกลัวขึ้นมา ปรากฏการณ์ดังกล่าวเป็นเหตุผลที่ทำให้มีคนตายและบาดเจ็บจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆและแนวโน้มความรุนแรงส่วนมากจะพุ่งเป้าไปที่ประชาชนทั่วไปมากกว่าทหารและเจ้าหน้าที่รัฐ
       
       นอกจากนี้ ในความขัดแย้งและการก่อความรุนแรงแบบดังกล่าวจะมีการใช้ยุทธวิธีการสร้างความรุนแรงแบบสะเทือนขวัญ ที่โจ่งแจ้งเปิดเผย บ่อยครั้งด้วยวิธีที่โหดเหี้ยมทารุณ เช่นในรอบ 40 เดือนที่ผ่านมามีการฆ่าตัดคอเหยื่อที่ถูกสังหารถึง 24 ราย กล่าวคือในปี พ.ศ. 2547 เกิดกรณีฆ่าตัดคอ 5 ราย ปี พ.ศ.2549 มีการฆ่าตัดคอ 10 ราย ในปี พ.ศ.2550 เกิดกรณีฆ่าตัดคอ ถึง 9 รายทั้งที่เวลาผ่านมาเพียงแค่ 4 เดือนเท่านั้น นอกจากนี้ยังมีกรณีการฆ่าและเผาเหยื่อสังหาร รวมทั้งการฆ่าผู้หญิงและเด็กอีกจำนวนหนึ่ง
       
       ในรอบ 40 เดือนที่ผ่านมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2547-2550 มีปรากฏการณ์ที่สะท้อนมิติแห่งการต่อสู้ทางการเมืองในท่ามกลางความรุนแรงอย่างชัดเจนก็คือ การต่อสู้ด้วยการชุมนุมประท้วงของชาวบ้านทั้งคนมุสลิมและพุทธ กล่าวได้ว่าในรอบ 3 ปีกว่าที่ผ่านมา มีการชุมนุมประท้วงของชาวบ้านรวม 34 ครั้ง ในปี พ.ศ.2550 นับเป็นช่วงเวลาที่มีการชุมนุมประท้วงของชาวบ้านมากที่สุด
       
       กล่าวคือเกิดการประท้วง 8 ครั้งในปี พ.ศ.2549 และในปี 2550 เกิดการประท้วงมากถึง 24 ครั้งนับตั้งแต่ต้นปีมาจนถึงสิ้นเดือนเมษายน โดยเฉพาะในช่วงเดือนมีนาคมและเมษายนมีการประท้วงมากรวมกันถึง 17 ครั้ง ส่วนใหญ่เป็นการประท้วงของกลุ่มประชาชนชาวมุสลิม การชุมนุมประท้วงแม้จะมีลักษณะยั่วยุท้าทายและมีนัยทางการเมืองที่หลายครั้งเป็นการละเมิดกฎหมายเช่นการปิดถนน แต่ในแง่ของการจัดการ รัฐยังคงต้องใช้วิธีการเจรจาและผ่อนปรนบนพื้นฐานของหลักการแห่งการสร้างยุติธรรมและสมานฉันท์ซึ่งทำให้การชุมนุมสลายตัวอย่างสงบ หลักการจัดการของรัฐต่อการชุมนุมประท้วงจึงควรตั้งอยู่บนพื้นฐานของมนุษยธรรมและความเป็นธรรม
       
       โดยมองว่าผู้ชุมนุมส่วนใหญ่มีเจตนาบริสุทธ์ ต้องการเรียกร้องความเป็นธรรมจากรัฐและพยายามแยกกรณีการประท้วงเพื่อขอความเป็นธรรมจากการก่อความไม่สงบโดยทั่วไป ตัวอย่างเช่นกรณีที่อำเภอเมืองปัตตานีเมื่อวันที่ 14 เมษายน ชาวบ้านชุมนุมแสดงความไม่พอใจที่กำลังทหารเข้าระงับเหตุคนร้ายลอบวางเพลิงเผาเสาส่งสัญญาณโทรศัพท์มือถือแล้วเข้าใจผิดคิดว่ากลุ่มวัยรุ่นที่ยืนจับกลุ่มริมถนนในพื้นที่ก่อเหตุลอบเผาถูกยิงเสียชีวิต 3 ศพ และบาดเจ็บ 2 ราย
       
       และเรียกร้องให้นำผู้กระทำผิดมาลงโทษ และกรณีที่อำเภอบันนังสตา จังหวัดยะลา ในวันที่ 9 เมษายน ซึ่งชาวบ้านเรียกร้องให้รัฐเร่งจับกุมผู้ก่อเหตุวางระเบิดรถกระบะของนายกองค์การบริหารส่วนตำบลเขื่อนบางลางและซุ่มยิงถล่มรถชาวบ้าน ขณะกลับจากร่วมพิธีศพนายก อบต.เขื่อนบางลาง ทั้งสองกรณีฝ่ายปกครอง คือ ผู้ว่าราชการจังหวัดและนายอำเภอ เจรจากับกลุ่มผู้ชุมนุมรับปากจะดำเนินการหาตัวผู้กระทำความผิดมาลงโทษและจะพิจารณาหาเงินช่วยเหลือเยียวยาให้กับผู้ที่เสียชีวิตและบาดเจ็บอย่างเร่งด่วน ทำให้สถานการณ์คลายวิกฤตลงได้
       
       การจัดการด้วยการอาศัยกระบวนการที่มีเหตุผลและชอบธรรมเป็นหนึ่งในวิธีการที่เหมาะสมที่สุดในการแก้ปัญหาที่เกี่ยวกับอัตลักษณ์และความไม่เป็นธรรมแทนที่จะใช้ความรุนแรงตอบโต้กับความรุนแรงในสงครามแบบใหม่ซึ่งรัฐไม่มีทางชนะได้เลยหากใช้วิธีการตอบโต้แบบนั้น ดังประสบการณ์ที่เห็นได้จากหลายประเทศทั่วโลก
       

       ความรุนแรงและภาวะเสี่ยงต่อสงครามกลางเมืองในจังหวัดชายแดนภาคใต้ยังคงดำเนินต่อไปในท่ามกลางนโยบายสมานฉันท์ที่รัฐบาลปัจจุบันพยายามประกาศให้ชาวโลกเห็น มีคำถามอยู่มากมายต่อความเหมาะสมของการใช้นโยบายนี้ในการยุติการนองเลือดที่เกิดขึ้น แม้แต่ประชาชนในพื้นที่เองก็ยังมีเสียงสะท้อนว่านโยบายสมานฉันท์ไม่มีความเป็นรูปธรรมที่ชัดเจน การดำเนินการไม่มีความเป็นเอกภาพ ขาดการบูรณาการ จนถึงกระทั่งมีคนมองว่ารัฐ "ขาดความจริงใจและจริงจัง"ในการใช้นโยบายสันติวิธีและสมานฉันท์
       
       แต่ในอีกด้านหนึ่งรัฐก็ถูกมองว่าผ่อนปรนและอ่อนแอจนเกินไปในการแก้ปัญหา สภาพดังกล่าวทำให้เกิดความกดดันอย่างมากต่อรัฐและเจ้าหน้าที่รัฐในการทำงานเพื่อแก้ไขปัญหาและตกอยู่ในภาวะเสี่ยงที่จะประสบความล้มเหลวเพราะภายในพื้นที่ก็ถูกรุกทั้งทางการเมืองและตั้งรับการทหาร นอกพื้นที่ก็ถูกโจมตีว่าอ่อนแอขาดความเด็ดขาด ปัญหาจึงนับวันจะยิ่งหนักหน่วงและซับซ้อนมากขึ้นเรื่อยๆ ผลที่ตามมาก็คือ การดำเนินการของรัฐแม้จะยังอยู่ในกรอบเหตุผลของนโยบายสมานฉันท์อยู่เป็นส่วนใหญ่ก็ตาม แต่ก็กำลังถูกผลักให้ไปอยู่บนขอบปลายสุดของการใช้เหตุผลและสมานฉันท์
       
       การยืนอยู่บนขอบปลายสุดของการใช้เหตุผลอาจจะเป็นจุดได้เปรียบก็ได้ถ้ามีการปรับแนวคิด ยุทธศาสตร์และยุทธวิธีให้เหมาะสม ในสังคมที่มีความขัดแย้งและสงครามแบบใหม่การหาทางแก้ปัญหาในระยะยาวของการเมืองว่าด้วยอัตลักษณ์เป็นเรื่องยากเพราะความขัดแย้งแบบนี้สามารถที่จะขยายตัวแตกปลายออกไปเป็นปัญหาอื่นๆ ในหลายมิติทั้งในด้านสังคม การเมืองและเศรษฐกิจ
       
       แนวทางการแก้ปัญหาที่อาศัยรัฐอย่างเดียวในลักษณะจากบนสู่ล่างมีโอกาสล้มเหลวมากกว่าสำเร็จ หัวใจของการแก้ปัญหาในระยะยาวจึงอยู่ที่การฟื้นคืนอำนาจอันชอบธรรมหรืออำนาจของสังคม โดยการฟื้นอำนาจการควบคุมความรุนแรงของสังคมหรือชุมชน ด้วยการใช้อำนาจสาธารณะและพื้นที่สาธารณะในทุกระดับโดยเฉพาะอย่างยิ่งในระดับท้องถิ่น สร้างความเชื่อมั่นไว้วางใจและสนับสนุนอำนาจสาธารณะโดยเฉพาะผู้นำท้องถิ่น
       
       เช่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้นำการปกครองท้องถิ่นและผู้นำศาสนาเช่นโต๊ะอิหม่าม สร้างความเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรม ความยุติธรรมและหลักนิติธรรม ความเห็นของผู้นำท้องถิ่นก็คือ "ปัญหาโครงสร้างพื้นฐาน และกฎหมายค่อนข้างดีอยู่แล้ว แต่ผู้ใช้กฎหมายไม่นำมาใช้ให้เหมาะสม" กฎหมายจึงต้องให้ความเป็นธรรมอย่างเท่าเทียมกันทุกคน ในอีกแง่หนึ่งจะต้องมีการเปิดพื้นที่สาธารณะ เพื่อให้พลังประชาสังคมเข้มแข็งจนบังเกิดเป็นพันธมิตรระหว่างผู้รักสันติและต้องการปกป้องการใช้เหตุผลแบบประชาสังคม