10+2 เหตุผลที่ต้องหยุดโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา
เครือข่ายประชาชนปกป้องสงขลาจากโรงไฟฟ้าถ่านหิน
โรงไฟฟ้าถ่านหินเทพาเป็นโรงไฟฟ้าถ่านหินขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ขนาด 2,200 เมากาวัตต์ ตั้งบนเนื้อที่ 2,960 ไร่ ริมทะเลตำบลปากบาง อำเภอเทพา จังหวัดสงขลา ใช้ถ่านหินที่อ้างว่าสะอาด จากอินโดนีเซีย ต้องเผาถ่านหินถึงวันละ 23 ล้านกิโลกรัม หรือกว่า 1,000 รถบรรทุกต่อวัน ซึ่งจะสร้างหายนะอย่างกู่ไม่กลับ
ต่อไปนี้คือ 10 เหตุผล ที่คนไทยทั้งประเทศต้องร่วมกันหยุดโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา
1. ถ่านหินที่โฆษณาชวนเชื่อว่าสะอาดนั้น ไม่มีจริง มีโลหะหนักปะปนมาด้วยจำนวนมาก ในแต่ละปีถ่านหินที่นำเข้าจะปนเปื้อนปรอท 4,200 kg, แคดเมียม 8,400 kg, สารหนู 75,000 kg และตะกั่ว 168,000 kg สุขภาพของคนเทพา หาดใหญ่ สงขลา ปัตตานี จะมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นที่จะเป็นมะเร็งและโรคเรื้อรังต่างๆจากสารพิษที่รับเข้าไปจำนวนน้อยๆแต่นานๆต่อเนื่องเป็นสิบปี
2. มีการเผาถ่านหินมากถึงวันละ 23 ล้านกิโลกรัมตลอด 24 ชั่วโมง ปล่อยควันออกทางปล่องที่สูง 200 เมตร (สูงเท่าตึก 65 ชั้น) มลพิษทางอากาศทั้งควันที่มองเห็นและสารพิษที่มองไม่เห็นจะกระจายกว้างมาถึงทั้งหาดใหญ่ สงขลาและปัตตานี แต่การศึกษาผลกระทบนั้นกลับทำเพียง 5 กิโลเมตร
3. ปลาในทะเลสงขลา-ปัตตานี จะกินไม่ได้ เพราะจะปนเปื้อนโลหะหนักและสารพิษมากมายที่ยากจะตรวจวัด แม้จะไม่เกินค่ามาตรฐาน แต่การกินอาหารที่ปนเปื้อนยาวนานเป็นสิบปี ย่อมส่งผลเสียและเป็นโรคมะเร็ง กุ้งเลี้ยงในบ่อกุ้งที่เทพา-หนองจิกจะปนเปื้อนส่งออกไม่ได้ เศรษฐกิจชุมชนจะแย่ลง
4. ประมงพื้นบ้านบ้านปากบางและใกล้เคียง ที่มีเรือประมงพื้นบ้านกว่า 300 ลำ จะทยอยล่มสลาย เพราะมีสัตว์ทะเลให้จับน้อยลง จากเรือขนส่งถ่านหินลำใหญ่ที่เข้าออกวันละ 4 เที่ยว จากการนำน้ำทะเลมาบำบัดซัลเฟอร์ไดออกไซด์และหล่อเย็นถึงวันละ 9 ล้านคิว (เท่ากับใช้น้ำทะเลในพื้นที่กว้าง 1 กิโลเมตร ยาว 9 กิโลเมตร และลึก 1 เมตร) และการปล่อยน้ำหล่อเย็นที่ร้อนจัดกลับออกสู่ทะเล
5. หายนะจากบ่อเก็บขี้เถ้าถ่านหินขนาดกว่าพันไร่ แม้ปูด้วยแผ่นพลาสติกหนาไม่ให้น้ำซึมลงดิน แต่มรสุมและพายุฝนตกหนัก อาจทำให้บ่อเก็บเถ้าเกิดน้ำล้น เถ้าถ่านหินที่เต็มไปด้วยโลหะหนักและความสกปรกถูกชะลงสู่ผืนดิน แหล่งน้ำและท้องทะเล ทรายและท้องทะเลจะเป็นสีดำเหมือนที่มาบตาพุด และบ่อเก็บเถ้าจะอยู่อีกเป็นพันหมื่นปี แม้ว่าโรงไฟฟ้าถ่านหินที่มีอายุใช้งาน 40 ปีจะปิดตัวลงไปแล้วก็ตาม
6. สะพานท่าเรือขนถ่ายถ่านหินที่ยื่นไปในทะเลถึง 3 กิโลเมตร และเขื่อนกั้นน้ำทะเลเพื่อดูดน้ำทะเลมาหล่อเย็นในโครงการที่ทิ้งหินยื่นไปในทะเลยาว 500 เมตร จะทำให้เกิดการกัดเซาะชายหาดเทพาที่สวยงามอย่างรุนแรง เมื่อกัดเซาะก็ต้องทำกำแพงทิ้งหิน ใน 10 ปี หาดทรายขาวสะอาดและรีสอร์ทเรียงรายจะกลายเป็นกำแพงทิ้งหินหลายสิบกิโลเมตรตั้งแต่ปากน้ำเทพาจนถึงปากน้ำสะกอม
7. ป่าชายเลนแห่งคลองตุหยงจะเสื่อมโทรม ซึ่งเป็นป่าชายเลนขนาดใหญ่ที่สุดเนื้อที่หลายร้อยไร่ และสมบูรณ์ที่สุดแปลงหนึ่งของสงขลา-ปัตตานี เป็นแหล่งเพาะฟักตัวอ่อนตามธรรมชาติที่สำคัญยิ่ง ตั้งอยู่ด้านข้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา ย่อมจะได้รับผลกระทบในระยะยาว
8. ในพื้นที่โครงการ ต้องย้ายชาวบ้านออกจากพื้นที่กว่า 100 ครัวเรือน ต้องย้าย 2 มัสยิด 2 กุโบว์(สุสาน) และ 1 โรงเรียนปอเน๊าะ ซึ่งยังไม่นับชุมชนรอบข้างที่อาจต้องย้ายในอนาคตเพราะทนมลพิษไม่ไหว คนจนต้องเสียสละเพื่อคนส่วนใหญ่ นับเป็นความจริงที่เจ็บปวดเสมอของสังคมไทย
9. ความแห้งแล้งและภาวะโลกร้อนจะรุนแรงขึ้น ที่โรงไฟฟ้าจะนะที่ชาวบ้านพูดชัดว่า “สวนยางแถวนั้นมีปริมาณน้ำยางลดลง” จากคาร์บอนไดออกไซด์และก๊าซร้อนจำนวนมหาศาล ในขณะที่ทั่วโลกเน้นการใช้พลังงานแสงอาทิตย์และลมที่ไม่ก่อโลกร้อน แต่ประเทศไทยยังยืนยันจะเผาถ่านหิน
10. คนเทพาบอกชัดเจนว่า ลำพังเหตุการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนใต้ ก็ทำให้เขามีความทุกข์และเหนื่อยใจมากพอแล้ว ทำไมต้องเอามลพิษ เอาโครงการที่สร้างความแตกแยกให้ชุมชนมาลงที่นี่อีก ถ้าถ่านหินสะอาดจริง ทำไมไม่เอาไปไว้ที่กรุงเทพ เมืองฟ้าอมรที่ใช้ไฟฟ้ามากกว่าจังหวัดใดๆ
และเหตุที่ต้องสร้างที่เทพาเท่านั้น ก็เพราะมีเบื้องหลังที่ไม่อาจบอกใครได้ 2 ประการคือ
1. อำเภอสะบ้ายย้อยอยู่ห่างไปเพียง 20 กิโลเมตร มีถ่านหินลิกไนท์มหาศาล การสร้างที่เทพาไว้ก่อน ก็เพื่อรอขุดเหมืองลิกไนท์สะบ้าย้อยในอนาคตนั่นเอง แม้ต้องย้ายประชาชนหลายสิบหมู่บ้านกว่า 15,000 คน และจะหายนะทางสิ่งแวดล้อมเช่นเหมืองแม่เมาะแห่งลำปางก็ตาม
2. การสร้างที่เทพาเพื่อรอบรับสงขลาเป็นมาบตาพุด 2 แท้จริงไฟฟ้ามหาศาลที่ผลิตได้ ไม่ได้ใช้ในภาคธุรกิจและครัวเรือน แต่เพื่อนิคมอุตสาหกรรมหนักในอนาคต ที่จะมากับโครงการแลนบริดจ์สงขลา-สตูล ที่มีท่าเรือน้ำลึกปากบาราและท่าเรือนาทับ ที่เชื่อมด้วยรถไฟรางคู่ เพื่อให้สงขลา-สตูลเป็นฐานผลิตอุตสาหกรรมหนักหรือระยอง 2 ในอนาคตอันใกล้
นี่คือ 10+2 เหตุผล ที่เราต้องร่วมแรงร่วมใจหยุดโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา