Skip to main content
เขียนโดย ฟูอ๊าด (สุรชัย)  ไวยวรรณจิตร
ผู้บริหารโรงเรียนเร๊าะห์มานีย๊ะห์ อ.จะนะ จ.สงขลา
นักศึกษาปริญญาเอก เอเชียศึกษา มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์

 

 “ประชาคมอาเซียนกับชายแดนใต้” ฟังดูแล้วอาจไม่มีอะไรให้น่าตื่นเต้นท้าทาย ขณะนั่งเขียนบทความเรื่องนี้ผมเองก็เคยมองว่า เมื่อไหร่ก็ตามที่เราพูดถึงประชาคมอาเซียนในบริบทพื้นที่ชุมชนชายแดนใต้แล้ว มันแลดูเป็นเรื่องล้าสมัยยังไงไม่รู้ ยิ่งการคืบคลานของประชาคมอาเซียนอีก ๒ เดือนเข้ามาทำให้กระแสการตื่นตัวของประชาคมอาเซียนกลับถูกหยิบยกขึ้นมาพูดถึงอีกคราครั้งในหลายเวที มันทำให้คำถามของผมยิ่งวนเวียน แต่ครั้งนี้เป็นการพูดถึงพรมแดนความรู้ใหม่ที่ให้ความสำคัญมาที่พื้นที่ชายแดนใต้ ทำให้ผมกลับใช้ความพยายามเดินทางเข้าร่วมฟังเวทีแห่งความตื่นรู้อีกครั้ง

 แต่หากแลมองตรองดูอย่างพินิจพิจารณาจะพบว่า มันเป็นความท้าทายในหลายประเด็นและมีโจทย์วิจัยมากมายของพรมแดนความรู้ใหม่ในพื้นที่ชายแดนใต้ เมื่อโลกาภิวัติน์ที่มาพร้อมกับการตื่นตัวของประชาคมอาเซียนอีกครั้งในหลายเวที กำลังบอกให้ทุกองคาพยพลุกขึ้นมาพูดถึงพื้นที่ชายแดนใต้อีกครั้งในความพร้อมของการเข้าสู่ประชาคมอาเซียนที่น่าจะเป็นไปได้มากที่สุด ฉะนั้นทำให้ผมมองว่าการตั้งรับปรับตัวของหลายๆอย่างอาจต้องคิดให้หนักขึ้นมากกว่าแค่บอกว่า “เราพร้อมมาตลอดและเราพร้อมตั้งนานแล้ว”

โรแลนด์ โรเบิร์ตสัน ได้ให้คำนิยาม “โลกาภิวัฒน์” (Globalisation) ว่าหมายถึง “การหดตัวของโลกและการทวีความเข้มข้นของจิตสำนึกต่อโลกทั้งระบบ”[[1]] กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ โลกาภิวัตน์ครอบคลุมการเปลี่ยนแปลงสองด้านที่ดำเนินไปพร้อมๆกัน ได้แก่ การเปลี่ยนแปลงทางกายภาพ (การติดต่อสื่อสารที่สะดวกง่ายดายมากขึ้น) และการเปลี่ยนแปลงทางความรู้สึกนึกคิดของมนุษย์ (เกิดความรู้สึกว่าตนเองเป็นส่วนหนึ่งของระบบโลก) โลกที่กำลังมุ่งไปสู่ความล้ำหน้าในการเคลื่อนย้ายถ่ายเทอย่างเสรี (Mobility) ของทรัพยากรทุกด้านด้วยกับระบบเศรษฐกิจทุนนิยมโลก ทำให้ประเทศต่างๆเริ่มตระหนักถึงความจำเป็นในการรวมกลุ่มกันเพื่อต้านทานกระแสโลกาภิวัฒน์ที่จะบั่นทอนความมั่นคงทางเศรษฐกิจของรัฐเดี่ยว การรวมกลุ่มภูมิภาคจึงเป็นหนทางในการสร้างอำนาจต่อรองและเจรจาในเวทีโลกที่มีประสิทธิภาพ ดังนั้น กล่าวได้ว่า การรวมกลุ่มภูมิภาคเป็นทั้งการตอบสนองต่อความจำเป็นของการอยู่รอดในระบบโลกปัจจุบัน และยังกลายเป็นกลไกของระบบโลกาภิวัตน์อีกด้วย

สำหรับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งมีความแตกต่างเหลื่อมล้ำเชิงโครงสร้างอย่างกว้างขวาง ทั้งทางด้านชาติพันธุ์ ภาษา ศาสนา วัฒนธรรม ระบบการเมือง ความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจและเทคโนโลยี เป็นต้น ได้มีแผนยุทธศาสตร์ที่จะสร้างประชาคมอาเซียน (ASEAN Community) บนเสาหลักสามประการ ได้แก่ 1) ความร่วมมือเพื่อความมั่นคงและเสถียรภาพทางการเมือง 2) การรวมกลุ่มเศรษฐกิจ และ 3) ความร่วมมือด้านสังคมวัฒนธรรม ดังปรากฏในสาระสำคัญของ Vientiane Action Programme 2004-2010 (VAP) ที่ระบุแผนการดำเนินงานทั้งสามด้านดังกล่าวข้างต้น[[2]]

ทั้งนี้ในส่วนของการสร้างประชาคมอาเซียนด้านสังคมวัฒนธรรม (ASEAN Socio-Cultural Community) อาเซียนได้กำหนดเป้าหมายหลักของแผนยุทธศาสตร์ไว้ที่การพัฒนามนุษย์และกำจัดความยากจน[[3]] ด้วยเล็งเห็นความสำคัญของการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในการพัฒนาสังคมของภาคส่วนต่างๆ ในจำนวนนี้ หมายรวมถึง องค์กรภาคประชาสังคม (Civil Society) ซึ่งเริ่มปรากฏบทบาทมากขึ้นในการขับเคลื่อนกระบวนการทางสังคมและมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาและอุดช่องว่างของการพัฒนาที่เกิดจากกิจกรรมภาครัฐและภาคธุรกิจ ดังปรากฏในวิสัยทัศน์ของ The ASEAN Socio-Cultural Community (ASCC) Plan of Action ว่า “องค์กรภาคประชาสังคมต้องมีส่วนร่วมในการป้อนปัจจัยนำเข้า (Inputs) เพื่อเป็นตัวเลือกในการกำหนดนโยบาย [ของประชาคม]”[[4]]  ด้วยเหตุนี้ แผนยุทธศาสตร์ว่าด้วยการสร้างประชาคมที่เอื้ออาทรซึ่งกันและกัน (Building a Community of Caring Societies) ข้อบัญญัติที่ 3.1.4 จึงกำหนดให้ “พัฒนาสถาบันครอบครัว องค์กรภาคประชาสังคม และภาคเอกชนเพื่อการมีส่วนร่วมอย่างมีประสิทธิภาพในการจัดการกับปัญหาความยากจนและประเด็นทางสวัสดิการสังคม”[[5]]

จากบริบทของความหลากหลายในภูมิภาคอาเซียน เมื่อมองภาพในมุมแคบลงมา จะพบว่า ประชากรมุสลิมเป็นชุมชนที่มีขนาดใหญ่ ครอบคลุมชนกลุ่มใหญ่ของอินโดนีเซีย มาเลเซียและบรูไน ตลอดจนชนกลุ่มน้อยในภาคใต้และภูมิภาคต่างๆของไทย ภาคใต้ของฟิลิปปินส์ และบางส่วนของสิงคโปร์  ด้วยข้อเท็จจริงที่ว่า ประชาคมอาเซียนต้องการสร้างอัตลักษณ์เฉพาะของกลุ่ม (ASEAN Identity) บนความหลากหลายของสมาชิกครอบครัวอาเซียน นโยบายการพัฒนาทางสังคมและเศรษฐกิจจึงครอบคลุมทุกกลุ่ม ทุกชุมชนในอาเซียน รวมถึงชุมชนมุสลิม ต้องขับเคลื่อนไปในทิศทางเดียวกัน เผชิญกับความท้าทายและยอมรับโอกาสที่เกิดจากการรวมกลุ่มประชาคมไปพร้อมๆกัน การพัฒนาในส่วนของชุมชนมุสลิมแห่งอาเซียนจึงเป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญอันจะนำคุณูปการมาสู่การเดินหน้าไปยังความเป็นประชาคมอาเซียนโดยรวม โดยนัยนี้ องค์กรภาคประชาสังคมมุสลิมจึงถือเป็นเฟืองตัวหนึ่งของกลไกที่จะขับเคลื่อนชุมชนมุสลิมและประชาคมอาเซียนให้ก้าวไปในทิศทางที่ได้กำหนดไว้ในแผนยุทธศาสตร์

            ทั้งนี้ เป็นสิ่งที่ปฏิเสธไม่ได้ว่า ด้วยสภาพการพัฒนาการทางเศรษฐกิจ ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ตลอดจนเงื่อนไขทางสังคมและกฎหมาย รวมไปถึงปัจจัยทางวัฒนธรรมที่แตกต่างกัน ทำให้การเจริญเติบโตขององค์กรภาคประชาสังคมมุสลิมในประเทศสมาชิกอาเซียนมีความเหลื่อมล้ำกัน สำหรับในประเทศไทย มีองค์กรภาคประชาสังคมมุสลิมเกิดขึ้นมากมายที่มีจุดมุ่งหมายเพื่อมีส่วนร่วมพัฒนาสังคมมุสลิมในด้านการศึกษา เกิดเครือข่ายปัญญาชน องค์กรเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิมนุษยชนและเยียวยาความขัดแย้ง ทว่า ประสิทธิภาพของกลุ่มองค์กรเหล่านี้มักเผชิญกับข้อจำกัดและอุปสรรคต่างๆในการก้าวข้ามความเป็นท้องถิ่น ขาดการขยายเครือข่ายและการมีส่วนร่วมกับภาครัฐและภาคธุรกิจ บ้างก็มีผลสัมฤทธิ์จากการดำเนินงานที่ไม่ชัดเจนเป็นรูปธรรม อัน เนื่องมาจากขาดการสนับสนุนจากประชาชนในระดับล่าง จึงสังเกตได้ว่า องค์กรภาคประชาสังคม มุสลิมในประเทศไทยมีการเจริญเติบโตในลักษณะของการเพิ่มจำนวน (Proliferation) มากกว่า การสร้างเครือข่ายความร่วมมือ (Networking) ให้องค์กรขยายตัวออกไปและดำเนินงานอย่างมี ประสิทธิภาพมากขึ้น  

เมื่อวิเคราะห์มาถึงตรงนี้ในบทความเรื่องนี้ของผม ผมกลับต้องทบทวนความคิดใหม่ จาก การเข้าร่วมฟังเวทีการประชุมวิชาการระดับชาติ “ชายแดนใต้กับพรมแดนความรู้ใหม่และอนาคต ที่ท้าทาย” จัดโดยศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับ สถาบันสมุทรรัฐเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี เมื่อวันที่ ๓๐ ตุลาคม ๒๕๕๘ หลังจากได้ฟังในหลายๆประเด็น โดยเฉพาะประเด็นการขับเคลื่อนขององค์กรภาคประชาสังคมในพื้นที่ชายแดนใต้ที่คุณมูฮำหมัดอายุป ปาทาน (บังยุป) บรรณาธิการอาวุโสของDeep south ได้พูดถึงปรากฏการณ์ปัจจุบันที่เหมือนมีพลวัตของความความพยายามในการขยายเครือข่ายความร่วมมือขององค์กรภาคประชาสังคมมุสลิมในพื้นที่กับเครือข่ายต่างๆในต่างประเทศโดยเฉพาะเครือข่ายพี่น้องในภูมิภาคอาเซียน

 

 

สิ่งที่ทำให้เราต้องกลับมานั่งคิดใหม่ก็คือ ในบริบทของโลกยุคโลกาภิวัตน์นี้ การรวมกลุ่มประเทศอาเซียนน่าจะเป็นโอกาส (Oppotunity) มากกว่าวิกฤติ (Crisis) สำหรับองค์กรภาคประชาสังคมมุสลิมไทย อันเนื่องมาจาก ความสะดวกง่ายดายในการเคลื่อนย้ายทรัพยากร เงินทุน แรงงาน ความรู้ ความชำนาญและทักษะเฉพาะ ซึ่งเป็นลักษณะที่สำคัญของระบบโลกใหม่ ได้สร้างโอกาสให้องค์กรภาคประชาสังคมมีแนวโน้มการเติบโตไปในทิศทางการรวมกลุ่มเพื่อแลกเปลี่ยนความร่วมมือมากขึ้น ดังจะเห็นได้จากการกำเนิดองค์กรภาคประชาสังคมระดับโลก (Global Civil Society) ขึ้นมากมาย โดยเฉพาะในโลกตะวันตก

ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ ประมวลได้ว่า แนวทางการพัฒนาองค์กรภาคประชาชนตามที่ปรากฏในวิสัยทัศน์อาเซียน ได้แก่ การแลกเปลี่ยนทรัพยากรและการประสานความร่วมมือ รวมทั้งการสร้างเครือข่าย ดังกล่าวเป็นยุทธศาสตร์เพื่อเพิ่มการมีส่วนร่วมกับภาคส่วนอื่นๆในการแก้ปัญหาอย่างมีประสิทธิภาพ (Effective Participation) ให้แก่องค์กรภาคประชาสังคม การศึกษาศักยภาพและความพร้อมขององค์กรภาคประชาสังคมมุสลิมในประเทศไทยเพื่อการพัฒนาประสิทธิภาพและความร่วมมือระดับภูมิภาค จึงเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งต่อการพัฒนาองค์กรภาคประชาสังคมตามแผนยุทธศาสตร์อาเซียน

หากจะมีงานวิจัยที่ท้าทาย ผมมองว่าโจทย์สำคัญเรื่องการศึกษาศักยภาพขององค์กรภาคประชาสังคมในประเทศไทยในการพัฒนาประสิทธิภาพและความร่วมมือระดับภูมิภาค อันจะนำไปสู่การกำหนดยุทธศาสตร์การพัฒนาในการสร้างเครือข่ายความร่วมมือระดับภูมิภาคต่อไป จึงเป็นโจทย์ใหญ่ที่ต้องหันกลับมาขบคิดทบทวนศึกษากันอย่างจริงจัง เพราะบทเรียนในหลายประเทศพื้นที่ที่มีความขัดแย้ง ขบวนทัพของการไปสู่สันติภาพนั้นแทบจะไม่มีประเทศใดเลยที่ไม่มีภาคประชาสังคมเป็นตัวหนุนเสริม และที่สำคัญกลับพบว่า บทบาทภาคประชาสังคมผู้หญิงในหลายประเทศกลับมีพลังมากมายในการเชื่อมร้อยประสานขบวนทัพการไปสู่การสร้างสันติภาพ และเราคงจะหยุดให้ความสำคัญไว้เพียงแค่นี้คงไม่ได้ เพราะมีโจทย์ที่ท้าทายในพลวัตที่เกิดขึ้นตามการรับรู้ของผม คือ ภาคธุรกิจในหลายประเทศกลับเป็นเฟืองสำคัญอีกหนึ่งเฟืองที่ทำให้การขับเคลื่อนกระบวนการสันติภาพมันมีพลัง 

เมื่อเขียนมาถึงตรงนี้ ผมกลับมีความหวังในการเรียนรู้ขึ้นมาอีกครั้ง เพราะผมคิดอยู่เสมอว่า “การมีพลวัตเชิงบวกของสิ่งหนึ่งสิ่งใดจะนำไปสู่การพัฒนาในที่สุด” และผมก็เชื่อว่าจุดหมายปลายทางที่ทุกคนอยากเห็นในพื้นที่ชายแดนใต้แห่งนี้คือ ความสันติสุข บนภาพของสันติที่เราแสวงหามาตลอด เพราะนั่นหมายถึงการที่ได้เกิดมาอยู่บนโลกใบนี้ที่น่าสนใจยิ่งนัก หากแต่ทว่าผมคงไม่ได้ฝันไปไกลใช่ไหม  (วัลลอฮฺอะลัม)

 



[[1]] “...refers both the compression of the world and the intemsification of consciousness of the world as a whole,” In Roland Robertson, Globalization: Social Theory and Global Culture (London: Sage, 1992), 8.

[[2]] Vientiane Action Programme 2004-2010 (VAP), Retrieved from: http://www.aseansec.org/VAP-10th%20ASEAN%20Summit.pdf [27 Jan 2010].

[[3]] Bluprint for the ASEAN Socio-Cultural Community (2009-2015), pp.2-6. Retrieved from: http://www.14thaseansummit.org/pdf/Outcome_Document/ASEAN%20Socio%20Cul%... [27 Jan 2010].

[[4]] “Civil society is engaged in providing inputs for policy choices.” In The ASEAN Socio-Cultural Community (ASCC) Plan of Action, Retrieved from: http://www.aseansec.org/16832.htm [27 Jan 2010]. 

[[5]] “Increasing the effective participation of family, civil society and the private sector in tackling poverty and social welfare issues” In Vientiane Action Programme 2004-2010 (VAP), p.44.