|
ปกรณ์ พึ่งเนตร
เหตุการณ์ชุมนุมปิดล้อมที่มัสยิดกลางจังหวัดปัตตานีของมวลชนที่เรียกตัวเองว่า "ศูนย์ประสานงานเครือข่ายนักศึกษาและประชาชน" โดยมีข้อเรียกร้องหลักๆ ให้ถอนทหารและอาสาสมัครทหารพรานทั้งหมดออกจากพื้นที่, ยกเลิกการประกาศเคอร์ฟิว และยกเลิกการประกาศภาวะฉุกเฉินในจังหวัดปัตตานี ยะลา นราธิวาส และ 4 อำเภอของจังหวัดสงขลานั้น เป็นสถานการณ์ล่าสุดจากดินแดนปลายสุดด้ามขวานที่สังคมไทยมิอาจมองข้ามได้อีกต่อไป
ประการหนึ่ง เป็นเพราะเหตุการณ์ลักษณะนี้สุ่มเสี่ยงอย่างยิ่งที่จะบานปลายไปสู่ความรุนแรง เนื่องจากเคยมีประวัติศาสตร์มาแล้ว ไม่ว่าจะเป็นเหตุการณ์ชุมนุม ณ จุดเดียวกันนี้ของชาวไทยมุสลิมเรือนแสนเมื่อปี พ.ศ.2518 หรือเหตุการณ์ชุมนุมที่หน้า สภ.อ.ตากใบ จังหวัดนราธิวาส เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม พ.ศ.2547 ซึ่งทั้งสองเหตุการณ์จบลงด้วยความสูญเสีย
ประการหนึ่ง เป็นเพราะเหตุผลที่กลายเป็นเงื่อนไขของการชุมนุม คือข้อหาฉกรรจ์ที่ฝ่ายผู้ชุมนุมกล่าวหาว่า เจ้าหน้าที่รัฐทั้งทหาร ตำรวจ และอาสาสมัครทหารพราน ปฏิบัติหน้าที่อย่างไม่เป็นธรรม และละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง กระทั่งนำมาสู่การชุมนุมอย่างยืดเยื้อนานกว่า 3 วัน และมีประชาชนจากพื้นที่ต่างๆ พยายามเดินทางเข้ามาสมทบ
ประการหนึ่ง เป็นเพราะฝ่ายความมั่นคงปฏิเสธข้อกล่าวหาทุกข้อของกลุ่มผู้ชุมนุมอย่างสิ้นเชิง ทั้งยังให้ข้อมูลตอบโต้ว่า สิ่งที่แกนนำผู้ชุมนุมกล่าวอ้างว่านี่คือการเคลื่อนไหวในนามสถาบันอุดมศึกษาชื่อดังทั้งในกรุงเทพฯและจังหวัดปัตตานี เพราะทนไม่ได้กับความทุกข์ร้อนของอย่างแสนสาหัสของพี่น้องในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้นั้น ล้วนไม่เป็นความจริง เนื่องจากทุกสถาบันได้ออกแถลงการณ์ปฏิเสธหมดแล้ว มีเพียงนักศึกษามุสลิมบางส่วนที่มาร่วมชุมนุมในลักษณะปัจเจก แต่กลับอ้างชื่อองค์กรมาจุดประเด็นการเคลื่อนไหว
บทสรุปของฝ่ายความมั่นคงฟันธงว่า ทั้งหมดนี้คือกระบวนการสร้าง "ข่าวลือ" ที่เริ่มจากการป้ายสีเจ้าหน้าที่รัฐ ก่อนจะปลุกระดมมวลชนเข้ามาก่อม็อบ และพยายามยั่วยุให้เจ้าหน้าที่ใช้ความรุนแรง เพื่อนำไปเป็นเงื่อนไขประกาศให้ชาวโลกมองรัฐบาลไทยว่าใช้กำลังปราบปรามพี่น้องร่วมชาติที่นับถือศาสนาแตกต่างกับคนส่วนใหญ่
น่าสนใจว่า หากสมมติฐานของฝ่ายรัฐเป็นความจริง เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ณ มัสยิดกลางปัตตานี ย่อมหมายถึงการยกระดับ "ยุทธการข่าวลือ" ของกลุ่มผู้ไม่หวังดี และต้องยอมรับว่าถึงนาทีนี้ รัฐกำลังเพลี่ยงพล้ำอย่างชัดเจน!
ย้อนรอยปัญหา
หากพิจารณาแถลงการณ์และข้อเรียกร้องหลายต่อหลายแผ่นของกลุ่มผู้ชุมนุม จะพบว่าเป้าหมายหลักของการโจมตีขับไล่เที่ยวนี้คือ "อาสาสมัครทหารพราน" ที่กระจายอยู่ตามตำบลหมู่บ้านต่างๆ กว่า 30 กองร้อย
โดยเฉพาะกับข้อกล่าวหาฉกรรจ์ที่ว่า เหตุการณ์ฆ่าเผาชาวไทยมุสลิม 4 ศพที่ตำบลปะแต อำเภอยะหา จังหวัดยะลา เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคมที่ผ่านมา เป็นฝีมือของทหารพราน ทั้งยังกล่าวอ้างว่ามีการข่มขืนเหยื่อที่เป็นสตรีด้วย!
เจ้าหน้าที่ระดับสูงจากกองทัพภาคที่ 4 ส่วนหน้า ระบุว่า การชุมนุมดังกล่าวเป็นปฏิกิริยาตอบโต้ของฝ่ายก่อความไม่สงบที่ไม่มีอิสระในปฏิบัติการก่อความรุนแรงเหมือนเมื่อก่อน อันสืบเนื่องจากการเข้าไปคุมพื้นที่ในสี่จังหวัดชายแดนภาคใต้เกือบเบ็ดเสร็จของทหารพราน
แต่ความสูญเสียครั้งแล้วครั้งเล่าของอาสาสมัครทหารพราน โดยเฉพาะครั้งล่าสุดที่อำเภอบันนังสตา จังหวัดยะลา ซึ่งต้องพลีชีพในคราวเดียวถึง 11 ศพ คงเป็นคำตอบได้ดีว่ากลุ่มก่อความไม่สงบถูกจำกัดพื้นที่เคลื่อนไหวหรือหวั่นเกรงพิษสงของทหารพรานจริงหรือไม่
เมื่อย้อนพิจารณาถึงช่วงที่กองทัพบกดำริจะจัดตั้งกองกำลังทหารพราน จะพบว่านโยบายนี้ถูกท้วงติงจากหลายฝ่ายไม่น้อย เพราะวัตถุประสงค์และเป้าหมายที่กองทัพบกตั้งธงเอาไว้ก็คือ "ให้คนพื้นที่แก้ปัญหาคนพื้นที่ด้วยกันเอง" และใช้ทหารพรานทดแทนกำลัง "ทหารหลัก" เพื่อลดความสูญเสียในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้
ทว่าการใช้เวลาฝึกอบรมทหารพรานเพียง 45 วัน หรืออย่างมากที่สุดไม่เกิน 3 เดือน กลายเป็นปมผิดพลาดทางยุทธวิธี เนื่องจากทหารพรานที่ลงไปประจำการในพื้นที่ต่างๆ ไม่มีศักยภาพเพียงพอที่จะปฏิบัติการแทนทหารได้ ประกอบกับสถานการณ์ที่ฝ่ายก่อความไม่สงบยังคงคุมพื้นที่และมวลชนได้มากกว่า จึงส่งผลให้ทหารพรานกลายเป็น "เป้าเคลื่อนที่" และมีความสูญเสียมากขึ้นเรื่อยๆ
ยิ่งไปกว่านั้น กระบวนการคัดเลือกอาสาสมัครทหารพรานในหลายพื้นที่ก็เน้นเลือกชาวไทยพุทธที่มีสภาพจิตใจเคร่งเครียดกับสถานการณ์อยู่แล้ว หรือหากเป็นชาวไทยมุสลิมก็ต้องเป็นกลุ่มที่ให้ความร่วมมือกับภาครัฐ จึงทำให้ทหารพรานไม่ต่างอะไรกับ "สิ่งแปลกปลอม" ในความรู้สึกของชาวบ้านสามจังหวัดที่ส่วนใหญ่เป็นมุสลิม
ข้อมูลจากงานวิจัยบางชิ้นของอาจารย์จากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ชี้ชัดว่า ประชาชนในพื้นที่ไม่ชอบทหารพราน เพราะบางคนมีพฤติกรรมข่มขู่ และพูดจาไม่ดีกับชาวบ้าน
สภาพการณ์เหล่านี้เมื่อถูกนำมาเชื่อมโยงกับเหตุการณ์รุนแรงที่มีแต่ความคลุมเครือ จึงไม่แปลกที่ทหารพรานจะกลายเป็น "เหยื่อ" ของขบวนการสร้างข่าวลือ!
เส้นทางความรุนแรง
มีความเป็นไปได้ไม่น้อยทีเดียวที่เหตุการณ์ชุมนุมที่มัสยิดกลางปัตตานีจะนำไปสู่การเคลื่อนไหวในรูปแบบเดียวกัน และขยายวงกว้างมากยิ่งขึ้นในอนาคต
เพราะสิ่งหนึ่งที่มิอาจปฏิเสธได้เลยก็คือ การชุมนุม ณ วันนี้มาจาก "เส้นทางความรุนแรง" ที่เกิดขึ้นอย่างจงใจซ้ำแล้วซ้ำเล่ากระทั่งถึงจุดสุกงอม โดยที่ฝ่ายรัฐมิได้พยายามเท่าที่ควรที่จะเข้าไปคลี่คลายแต่ละเหตุการณ์ที่อยู่รายทางของเส้นทางความรุนแรงนั้น
หากจะถือเอาเหตุการณ์ยิงถล่มรถตู้และสังหารหมู่ชาวไทยพุทธ 8 ศพอย่างเลือดเย็นเมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2550 เป็นจุดเริ่มต้น ก็จะพบว่าในช่วงเวลาใกล้เคียงกันเกิดเหตุการณ์ที่เรียกว่า "จงใจตอกลิ่ม" ให้เกิดความแตกแยกระหว่างชาวไทยพุทธกับมุสลิมอย่างต่อเนื่องและชัดเจนยิ่ง...
ไม่ว่าจะเป็นกรณีบุคคลลึกลับกราดกระสุนใส่ประชาชนใกล้กับมัสยิด 2 แห่งในอำเภอยะหาในค่ำวันเดียวกับที่เพิ่งเกิดเรื่องสังหารไทยพุทธคารถตู้ , กรณียิงถล่มปอเนาะที่บ้านควนหรัน อำเภอสะบ้าย้อย จังหวัดสงขลา , กรณียิงมัสยิดและศูนย์ดาวะห์ในอำเภอยะหา , กรณียิงถล่มปอเนาะที่บ้านตาเซะ อำเภอเมืองยะลา หรือแม้แต่การกราดยิงใส่รถกระบะของชาวไทยมุสลิมที่บ้านภักดี อำเภอบันนังสตา จังหวัดยะลา จนเกิดการชุมนุมประท้วงต่อเนื่องกันหลายวัน
จากการลงพื้นที่เข้าไปสัมผัสพูดคุยกับชาวบ้าน พวกเขาปักใจเชื่อว่าทุกกรณีล้วนเป็นฝีมือเจ้าหน้าที่รัฐ !
ช่องว่างของความยุติธรรม
ปฏิเสธไม่ได้ว่า ต้นตอที่ทำให้เกิดปัญหาจนยากจะสะสางในปัจจุบัน มาจากความไม่เชื่อมั่นของชาวบ้านที่มีต่อกระบวนการยุติธรรม โดยเฉพาะกระบวนการยุติธรรมระดับต้น คือตำรวจกับทหาร ซึ่งใช้อำนาจตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 และกฎอัยการศึก
เหตุร้ายหลายกรณีเจ้าหน้าที่จับมือใครดมไม่ได้...นั่นก็เป็นปัญหาประการหนึ่ง แต่ที่ร้ายยิ่งกว่าก็คือ ในหลายๆ กรณีเจ้าหน้าที่มีหลักฐานเป็นภาพถ่ายวิดีโอชี้ชัดว่าใครเป็น "ตัวป่วน" หรือแม้กระทั่งใคร "กลับคำให้การ" หมายถึงพูดกับรัฐอย่างหนึ่ง แล้วไปพูดต่อในขบวนการสร้างข่าวลืออีกอย่างหนึ่ง
แต่ปัญหาก็คือกระบวนการถ่ายทอดความจริงเหล่านั้นลงไปสู่ชาวบ้านมีมากน้อยแค่ไหน และทำกันอย่างจริงจังเพียงใด ซึ่งแน่นอนว่าวิธีการโปรยใบปลิวจากเครื่องบินคงสู้การบอกเล่ากันแบบ "ปากต่อปาก" ในชุมชนของพวกเขาเองไม่ได้
น่าตกใจว่า คำอธิบายจากเจ้าหน้าที่ระดับสูงหลายรายที่ปฏิเสธข้อกล่าวหาของกลุ่มผู้ชุมนุมและชาวบ้าน ให้เหตุผลเพียงว่า เรื่องแบบนั้นไม่น่าจะเกิดขึ้นจริง เพราะไม่มีผู้เสียหายเข้าแจ้งความกับตำรวจ!
นี่เองคือสิ่งที่เรียกว่า "ช่องว่างของกระบวนการยุติธรรม" ที่กลายเป็นช่องทางให้ขบวนการสร้างข่าวลืออันเปรียบเสมือน "โรคฉวยโอกาส" ได้จังหวะแทรกซ้อนและบ่อนทำลาย
ที่สำคัญ "ช่องว่าง" ที่ปรากฏในปัจจุบันกำลังถ่างกว้างถึงขนาดที่ว่า การจะสยบม็อบในบางพื้นที่ ไม่สามารถใช้กระบวนการยุติธรรมระดับปกติได้อีกแล้ว แต่ต้องใช้ "เครดิตส่วนตัว" ของบุคคลอย่าง พ.ญ.คุณหญิงพรทิพย์ โรจนสุนันท์ รักษาการผู้อำนวยการสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ หรือ นางอังคณา นีละไพจิตร ภรรยาของทนายสมชาย นีละไพจิตร อดีตประธานชมรมนักกฎหมายมุสลิม ซึ่งตัวทนายสมชายเองใครๆ ก็เชื่อว่าถูกอุ้มหายไปโดยเจ้าหน้าที่รัฐ
ข้อเสนอของคณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ (กอส.) ที่ให้เร่งสถาปนาความยุติธรรมในดินแดนปลายสุดด้ามขวาน ด้วยการจัดตั้งองค์กรพิเศษขึ้นมาสะสางปัญหาความไม่เป็นธรรมต่างๆ ถึงวันนี้ไม่มีใครพูดถึงอีกแล้ว แม้แต่รัฐบาลที่ประกาศใช้ความสมานฉันท์เป็นธงนำในการดับไฟใต้
ทั้งหมดนี้คือโจทย์อันสลับซับซ้อนที่รัฐต้องเร่งคลี่คลาย...ก่อนที่ทุกอย่างจะสายเกินแก้!