Skip to main content

กลุ่มด้วยใจ  ร่วมกับมูลนิธิผสานวัฒนธรรม และ ชายด์ โซวเจอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล (Child Soldiers International)  หรือพันธมิตรเพื่อยุติการใช้ทหารเด็ก (Coalition to Stop the use of Child Soldiers)  ร่วมจัดวงพูดคุยในหัวข้อ “ความเกี่ยวพันของเด็กในความขัดแย้งกันด้วยกำลังอาวุธ” เมื่อวันที 22 พฤศจิกายน 2558  ณ ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ มอ.ปัตตานี

องค์กร Child Soldier international (CSI)  เป็นหน่วยงานด้านสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ แม้จะมีบริบทกฎหมายระหว่างประเทศแต่การทำงานของ CSI ก็เคารพกฎหมายในประเทศ และให้ความสำคัญกับการคุ้มครองเด็ก

 ในมาตราของ พิธีสารเลือกรับของอนุสัญญาสิทธิเด็กว่าด้วยเรื่องเด็กในสถานการณ์ความขัดแย้ง หรือที่เรียกว่า the Optional Protocol to the Convention on the Rights of the Child on the involvement of children in armed conflict (OPAC) ระบุไว้ในหลักการ คุ้มครองปกป้องและห้ามเด็กเข้าไปเกี่ยวข้องกับสถานการณ์การสู้รบ

 OPAC พูดถึงหน้าที่และภาระของรัฐที่จะต้องมีมาตรการ ป้องกัน ติดตาม คุ้มครองไม่ให้เด็กเข้าไปอยู่ในสถานการณ์ความขัดแย้ง เพื่อไม่ให้เด็กเข้าไปอยู่ในสถานการณ์การสู้รบ

หากดูกรอบกฎหมายระหว่างประเทศมีกฎหมายสิทธิมนุษยชน กฎหมายแรงงาน พิจารณาแล้วประเทศไทยลงนามในหลายฉบับ รวมถึงพิธีสารเลือกรับ OPAC ไม่ว่าจะมีการจ้างงานเด็ก ILO กฎหมายที่พูดถึงแง่มุมที่ระบุให้เด็กไม่ไปเกี่ยวข้องสถานการณ์การสู้รบ แต่บางอย่างอาจยังใช้ไม่ได้เนื่องจากไทยยังไม่ได้ลงสัตยาบันไว้ เช่นในอนุสัญญาว่าด้วยเรื่องผู้ลี้ภัย และในธรรมนูญศาลอาญาระหว่างประเทศหรือ ICC

OPAC คืออะไร

OPAC คือ พิธีสารเลือกรับ และได้รับการรับรองในสมัชชาใหญ่ในองค์การสหประชาชาติ มีการบังคับใช้มาแล้ว 14 ปี ประวัติเบื้องต้น กฎหมายระหว่างประเทศเริ่มจากองค์กรทำงานเรื่องสิทธิเด็กเป็นพันธมิตร 8 องค์กร ร่างกฎหมายตั้งแต่ ปี ค.ศ. 1990 และพัฒนาจนมีผลบังคับใช้ในปี ค.ศ. 2002

ประเทศที่ลงนามในพิธีสาร OPAC รวมทั้งหมด 162 ประเทศ  จากประเทศทั้งหมด 197 ประเทศที่เป็นประเทศสมาชิกขององค์การสหประชาชาติ 

 หลักการโดยภาพรวมเด็กต้องมีอายุเกิน18 ปีขึ้นไปถึงจะสามารถเข้าเกณฑ์ไปเป็นทหารในกองทัพได้  การกำหนดอายุเป็นปัญหาใหญ่ในการพิจารณาใน OPAC  การเกณฑ์ทหารของรัฐ เพราะบางประเทศกำหนดให้เด็กอายุ  16 เกณฑ์ทหารแต่ไม่ได้ให้เข้าไปมีส่วนในการสู้รบโดยตรง   ความซับซ้อนของการตีความจึงเกิดขึ้นว่า เด็กกับการเข้าไปสู่สู้รบโดยตรงนี้หมายถึงอะไรได้บ้าง  รวมทั้งการตีความว่ากลุ่มติดอาวุธหมายถึงใครได้บ้าง

OPAC มีมาตราอะไรบ้าง

มาตรา 1 รัฐสมาชิกจะต้องจัดให้มีมาตรการว่าสมาชิกในประเทศนั้นๆ เด็กอายุต่ำกว่า  18 ปีต้องไม่มีส่วนร่วมในการสู้รบโดยตรง ส่วนในอนุสัญญาเจนีวา (GENEVA CONVENTION) ระบุว่าห้ามเด็กอายุต่ำกว่า 15  ปีในการมีส่วนร่วมในการสู้รบ   และในอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก CRC ระบุว่าห้ามเด็กอายุต่ำกว่า 16  ปี การมีส่วนร่วมในการสู้รบ    

อีกทั้งยังต้องตีความด้วยว่า คำว่า “การสู้รบโดยตรง” หมายถึงอะไรอย่างไร  ในที่นี้เพื่อให้เกิดการคุ้มครองเด็กให้มากที่สุด    หากเด็กมีส่วนร่วมในกิจการทางทหารก็จะนับว่าเป็นการสู้รบโดยตรง เพราะเราต้องตีความคำว่า “การสู้รบโดยตรง” ให้กว้างเพื่อคุ้มครองเด็กให้มากที่สุด เช่น ไปอยู่ในตำแหน่งทำอาหาร  การส่งข่าว สายลับ คนทำกับข้าว คนนำทาง การดูแลคนอื่น ก็ถือว่า การสู้รบโดยตรง              การตีความอย่างกว้างเช่นนี้ก็เพื่อให้มีการถกเถียงและเพื่อให้เกิดการปกป้องเด็กมากขึ้น

รัฐสมาชิกต้องให้แน่ใจว่าเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปีต้องไม่ถูกเกณฑ์ไปเป็นทหารในกองกำลังติดอาวุธ  มาตรฐานนี้ได้รับการรับรองในทางจารีตประเพณีแล้วก็จริงแต่ก็มีบางประเทศที่เกณฑ์ทหารอายุน้อยกว่า 18 ปี มีหลายประเทศที่เกณฑ์ทหารเด็กอายุ 17 ปีเช่น นิวซีแลนด์ ฟิลิปปินส์  เป็นต้น ในบางประเทศที่ให้ประชากรสมัครใจเข้ามาเป็นทหารตอนอายุ 16 ปีเช่น บังกลาเทศ ติมอร์ การเกณฑ์ทหารของไทยไม่เกี่ยวข้องกับเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี  และในมาตรานี้ต้องใช้ปฏิบัติทั่วไปแม้ช่วงสงครามก็ประกาศเกณฑ์เด็กเข้ามาเป็นกองกำลังไม่ได้

มาตรา 2  เรื่องการสมัครใจ ต้องมีอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไปเพื่อเข้าไปมีส่วนร่วมในกองทัพ เกิดจากการต่อรองของรัฐในเรื่องอายุ     รัฐสมาชิกต้องเพิ่มอายุของเด็กให้สูงขึ้น เด็กอายุต่ำกว่า 18  ปีไม่สามารถเข้าไปมีส่วนร่วมใด ๆ ในกองทัพแม้จะมีความสมัครใจก็ตาม

มาตรา 3 เด็กต้องอายุมากกว่า 18  ปีถึงจะสมัครใจเข้ามาปฏิบัติหน้าที่ในกองทัพได้ แต่ย่อหน้าที่สาม เด็กอายุต่ำกว่า 15 ปีห้ามเข้าไปมีส่วนร่วมในกองทัพแม้จะสมัครใจก็ตาม สำหรับประเทศไทยอัตราอายุขั้นต่ำ ทุกคนมีหน้าที่ในการปกป้องประเทศ เมื่ออายุ 21 ปีจะมีการเกณฑ์ทหารทั่วโลกมีการสนับสนุนในเรื่องนี้มากขึ้น 2 ใน 3 ประเทศรับหลักการนี้ในเรื่องอายุของเด็กในการเกณฑ์ทหารแม้เด็กจะมีความสมัครใจก็ตาม

ในมาตรา 3 ประเทศใดที่ลงนามจะต้องมีมาตรการในการบังคับใช้ตามกฎหมาย

·         การสมัครการเข้ารับเลือกต้องสมัครใจโดยแท้

·         ผู้ปกครองยินยอม

·         มีข้อมูลของบทบาทในหน้าที่ทหารที่ชัดเจน

·         จะต้องมีการพิสูจน์อายุเด็กที่เป็นที่ยอมรับ

ในพิธีสารเลือกรับ OPAC กล่าวถึงโรงเรียนที่มีการฝึกทหาร แยกส่วนระหว่างโรงเรียนทหาร รัฐสมาชิกจะต้องทำให้ชัดเจนว่าแม้จะมีโรงเรียนเพื่อการทหารแต่เด็กจะไม่มีหน้าที่ทางทหารในขณะที่กำลังศึกษาอยู่   และเด็กสามารถเลือกที่จะออกจากโรงเรียนทหารได้โดยอิสระ และสามารถปฏิเสธหากไม่ต้องการเป็นทหารในอนาคตได้ อีกทั้งการเรียนการสอนในโรงเรียนทหารต้องสอดคล้องกับอนุสัญญาว่าด้วยเรื่องสิทธิเด็กในมาตรา 28 เรื่องสิทธิในการศึกษาของสิทธิเด็ก

มาตรา 4  กล่าวถึงกลุ่มติดอาวุธที่ไม่ใช่รัฐซึ่งก็ไม่สามารถเกณฑ์เด็กเข้าไปในกองกำลังได้  มาตรานี้มีส่วนสำคัญเพราะแม้ไม่สามารถติดต่อสื่อสารกับกลุ่มติดอาวุธที่ไม่ใช่รัฐได้โดยตรง   แต่เนื่องจากกฎหมายระหว่างประเทศเป็นกฎหมายที่ให้ความสำคัญกับพันธกรณีของรัฐที่ลงนาม  ดังนั้นรัฐที่ลงนามใน OPAC จึงควรมีมาตรการห้าม   OPAC กำหนดให้เป็นหน้าที่ของรัฐสมาชิกที่ต้องสร้างมาตรการทางกฎหมาย ห้ามกลุ่มใดก็ตามที่ใช้เด็กเพื่อเป็นทหารถือว่าการกระทำนี้เป็นอาชญากรรม    เพื่อให้เกิดพันธะร่วมกันในการปกป้องเด็ก  

ทั้งนี้หมายรวมถึงการอนุญาตให้องค์กรสิทธิมนุษยชนเข้าไปในพื้นที่ความรุนแรงเพื่อทำการวิจัยและตรวจสอบสถานการณ์เด็กในสถานการณ์ความขัดแย้ง  หรือเมื่อมีการพูดคุยสันติภาพ การเจรจาหยุดยิง  การห้ามการใช้เด็กในสถานการณ์การสู้รบ ก็อาจเป็นประเด็นหนึ่งในการพูดคุยเจรจาด้วย เพื่อคุ้มครองเด็กในพื้นที่สถานการณ์ความขัดแย้งทางอาวุธที่กำลังมีการเจรจา

มาตรา 4 (3) พิธีสาร OPAC ฉบับนี้ระบุว่า การดำเนินการเพื่อห้ามไม่ให้ใช้ทหารเด็กในกองกำลังที่ไม่ใช่รัฐนั้น ไม่ได้หมายถึงการยกระดับหรือให้สถานะทางกฎหมายกับกลุ่มกองกำลังติดอาวุธที่ไม่ใช่รัฐ

มาตรการป้องกันการใช้เด็กในสถานการณ์การสู้รบ

ในพิธีสาร OPAC ได้กำหนดมาตรการการยุติการใช้เด็กในสถานการณ์การสู้รบ โดยหลักสำคัญขอพิธีสารนี้คือการป้องกันไม่ให้มีเด็กในสถานการณ์การสู้รบในสถานการณ์ความขัดแย้งทางอาวุธใดใด โดยกำหนดมาตรการดังนี้คือ

·         มาตรการทางกฎหมาย กล่าวคือรัฐต้องเขียนเรื่องอายุเด็กที่ห้ามไม่ให้เป็นเด็กในสถานการณ์การสู้รบในกฎหมาย ทั้งในเรื่องการคัดเลือกทหาร โดยระบุอย่างชัดเจน  หลักคิดคือการมีกฎหมายห้ามจะช่วยลดอาชญากรรมประเภทนี้ลง เช่นหากมีกลุ่มติดอาวุธใดใดที่นำเด็กมาเป็นกองกำลังก็จะผิดกฎหมาย สามารถฟ้องร้องดำเนินคดีเอาผิดตามกฎหมายอาญาของประเทศนั้นๆ ได้ 

·         การจัดทำให้การเกณฑ์ทหารเป็นไปตามหลักเกณฑ์เดียวกัน อย่างถูกต้องและชัดเจน

·         จัดระบบการตรวจสอบอย่างมีประสิทธิภาพเรื่องการละเมิดสิทธิเด็ก การสอบสวนสอบสวนคดีเด็ก ทั้งนี้การตรวจสอบก็เพื่อลดการละเมิดสิทธิเด็กที่เกิดขึ้นในสถานการณ์ความขัดแย้งทางอาวุธ

·         การจัดให้มีการนำเด็กที่เกี่ยวข้องกับกองกำลังติดอาวุธกลับคืนสู่สังคม

มาตรการเหล่านี้เป็นหน้าที่ของรัฐ เนื่องจากรัฐเป็นรัฐภาคีในพิธีสาร OPAC และได้ให้การรับรองเรื่องนี้ในเวทีระดับสากล   การติดตามผลการปฏิบัติตามกฎหมายระหว่างประเทศก็เพื่อประเมินและตรวจสอบว่ารัฐว่าทำตามพิธีสารนี้หรือไม่    ซึ่งแสดงถึงความมีประสิทธิภาพของการนำพิธีสารนี้ไปใช้ในประเทศในเรื่องการป้องกันยุติการใช้เด็กในสถานการณ์การสู้รบ    การช่วยเหลือที่เหมาะสมให้กับเด็กที่อยู่ในกองกำลังทหาร การคืนเด็กสู่สังคมปกติ ตัวอย่างการปล่อยตัวเด็ก การนำเด็กกลับสู่สังคม และกำหนดด้วยว่าข้อตกลงในการเจรจาสันติภาพหรือหยุดยิงต้องไม่มีเรื่องเด็กในการต่อรอง เช่นปล่อยทหารเด็กมาก่อนถึงจะเริ่มการพูดคุยเจรจา เป็นต้น

อีกประการหนึ่งเวลาที่เด็กออกจากการเข้าร่วมในกองกำลัง  เด็กไม่ควรถูกจับกุมคุมขังโดยพลการ หรือใช้เด็กในการสืบหาข่าว   เช่นเด็กถูกบังคับให้ไปเป็นทหาร เมื่อเด็กออกจากการเป็นทหาร ต่อมาเด็กถูกจับ  สิ่งเหล่านี้ส่งให้เกิดผลกระทบทางจิตใจ  ไม่ว่ามาตรการปกป้องคุ้มครองเด็กจะเกิดขึ้นกับเอกชนหรือรัฐจะต้องดำเนินการให้เด็กกลับฟื้นคืนสู่ครอบครัวดังเดิมให้โดยเร็วและไม่เป็นการไปละเมิดเด็กซ้ำ

สิ่งที่สำคัญอีกประการคือรัฐภาคีต้องเตรียมทรัพยากร จัดทำนโยบาย การเงิน เทคนิควิธีการเพื่อให้ภาคส่วนของรัฐให้นำเด็กกลับสู่สังคมได้ไม่ว่าจะด้านอาชีพหรือการศึกษา  โดยกำหนดไว้

มาตรา 7 รัฐต้องจัดสวัสดิการให้กับเด็กได้ หากรัฐไม่สามารถจัดสวัสดิการนี้ได้ รัฐสามารถขอความช่วยเหลือจากองค์กรระหว่างประเทศได้

มาตรการที่สำคัญอีกด้านหนึ่งคือ คำรับรองคณะมนตรีด้านความมั่นคงแห่งสหประชาชาติฉบับ  1612 ประเทศใดใช้เด็กในสถานการณ์การสู้รบสามารถขอความช่วยเหลือเพื่อให้องค์กรระหว่างประเทศเข้ามาช่วยเหลือเรื่องการนำเด็กสู่สังคมปกติได้    หรืออย่างเช่นในสหรัฐอเมริกาเมื่อประมาณปี ค.ศ. 2010 มี พรบ. ป้องกันการใช้เด็กในสถานการณ์การสู้รบซึ่งกำหนดมาตรการภายในประเทศ ระบุว่าประเทศสหรัฐอเมริกาจะไม่สามารถค้าอาวุธให้กับประเทศที่ใช้เด็กในสถานการณ์การสู้รบ หรือไม่ให้ความช่วยเหลือทางทหารหากสหรัฐค้นพบว่าใช้เด็กในสถานการณ์การสู้รบในกองกำลังของรัฐนั้นๆ

การติดตามตรวจสอบ

เนื่องจากประเทศไทยเป็นรัฐสมาชิกของพิธีสาร OPAC  จึงมีหน้าที่ในการตรวจตราเรื่องการใช้เด็กในสถานการณ์การสู้รบ ตามข้อกำหนดหลังจากที่ลงนามรัฐต้องส่งรายงานเรื่องการใช้เด็กในสถานการณ์การสู้รบภายใน 2 ปี  การส่งเรื่องรายงานเรื่องการใช้เด็กในสถานการณ์การสู้รบส่งให้คณะกรรมการสิทธิเด็ก UN CRC committee  องค์กรเอกชนและคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติก็สามารถส่งข้อมูลเพิ่มเติมให้กับคณะกรรมการสิทธิเด็กได้

ในเวทีทบทวนรายงานประเทศของคณะกรรมการสิทธิเด็กนั้นมีองค์กรระหว่างประเทศ เช่น UNICEF  คณะกรรมการระดับชาติในประเทศนั้นนำเสนอเรื่องสิทธิเด็กให้คณะกรรมการสิทธิเด็กรับทราบข้อมูล จากนั้นทางคณะกรรมการจะส่งคำถาม (List of issues) กลับมาให้รัฐบาลตอบอีกครั้งหนึ่ง รัฐบาลจะตอบเป็นเอกสารหรือจะเข้าไปชี้แจงให้คณะประชุมได้   หลังจากตัวแทนรัฐบาลพูดคุยกับคณะกรรมการสิทธิเด็ก จะมีข้อเสนอแนะให้กับรัฐบาลเพื่อพัฒนามาตรการการปกป้องเด็กในประเทศนั้นและจะต้องกลับมารายงานครั้งใหม่ในอีก 3-5 ปีข้างหน้า  

กลไกทบทวนรายงานสถานการณ์สิทธิเด็กนี้แสดงถึงความรับผิดชอบของรัฐต่อสิทธิเด็กเพื่อไม่ให้มีการใช้เด็กในสถานการณ์การสู้รบในประเทศ เพื่อให้เกิดกลไกในการปกป้องเด็กให้ได้มากที่สุด สิ่งที่สำคัญคือการติดตามตรวจสอบเรื่องสิทธิเด็กคือการเก็บข้อมูลและรายงาน