Skip to main content

 

สันติวิธี ในความหมายที่กว้างกว่าวิธีอันสันติ

(The Nonviolence that ought to be)

ช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา สังคมไทยได้มีการเรียนรู้ร่วมกันมากขึ้นต่อกระบวนทรรศน์สันติวิธี
ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลของการถอดบทเรียนจากการชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อเหลือง และที่สำคัญ คือ
การชุมนุมของคนเสื้อแดงเมื่อเดือนเมษายนปีที่แล้วที่มีเหตุการณ์ความรุนแรงเกิดขึ้น ณ ใจกลางเมืองหลวง

อย่างไรก็ดี ผู้เขียนเชื่อว่า สันติวิธีที่สมบูรณ์จะต้องประกอบด้วย 2 ด้าน คือ สันติวิธีที่เป็นทั้งวิธีการ และเป็นทั้งเป้าหมายในตัวเอง กล่าวอีกนัยน์หนึ่ง สันติวิธีที่จะเกื้อกูลสังคมให้มุ่งไปสู่ความสันตินั้น จะต้องไม่ได้หมายถึงเพียงการใช้วิธีการไร้ความรุนแรงเพื่อเป้าหมายทางการเมืองเท่านั้น หากแต่ความคิดที่ขับเคลื่อนการกระทำ ตลอดจนเป้าหมายทางการเมืองของผู้ปฏิบัติจะต้องสันติ ไร้ความรุนแรงด้วย ซึ่งจัดว่าเป็นคุณค่าของสันติวิธีในขั้นต่ำที่สุด ในขณะที่คุณค่าของสันติวิธีขั้นที่สูงกว่านั้น ขอบเขตของมันควรขยายกว้างขวางไปถึง ความเห็นอกเห็นใจ และเอาใจผู้อื่น (รวมทั้งฝ่ายตรงข้ามทางการเมือง) มาใส่ใจเราให้มากที่สุดด้วย

ในแง่มุมนี้เอง ที่ผู้เขียนมีข้อสังเกตว่า สันติวิธีที่สังคมไทยกำลังเรียนรู้มาตลอด 3-4 ปีที่ผ่านมานั้น ให้ความสำคัญกับสันติวิธีเฉพาะด้านที่เป็นวิธีการปฏิบัติมากเกินไป ขณะเดียวกัน กลับให้ความสำคัญต่อด้านของคุณค่าเชิงนามธรรมที่เป็นองค์ประกอบอยู่ในหลักคิดเรื่องสันติวิธีน้อยเกินไป ผลที่ตามมาก็คือ การเคลื่อนไหวทางการเมืองที่ยึดวิธีปฏิบัติแบบไร้ความรุนแรงนั้น หลายครั้ง ที่มีเป้าหมายและความคิดที่แฝงเร้นด้วยความรุนแรง สุดโต่ง มุ่งหมายเพียงแต่จะเอาชนะฝั่งตรงข้ามทางการเมือง อาฆาต เกลียดชัง ลดทอนความเป็นมนุษย์ของกันและกัน ฯลฯ  

สันติวิธีแบบครึ่งๆ กลางๆ ดังกล่าวนี้ ส่งผลให้หลักคิดเรื่องสันติวิธี ไม่สามารถทำหน้าที่สร้างหลักประกันให้กับสังคมได้ว่า จะนำไปสู่เป้าหมายที่ยุติโดยสันติ ดังที่สังคมเคยคาดหวังไว้ในช่วงเดือนมีนาคม และสันติวิธีแบบครึ่งๆ กลางๆ ข้างต้นนี้เอง ก็ได้สะท้อนออกมาให้เห็นอย่างชัดเจนไม่เพียงจากฝ่ายผู้ชุมนุมเท่านั้น หากแต่จากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องและปฏิสัมพันธ์กันในเหตุการณ์การชุมนุมของคนเสื้อแดงทุกวันนี้  ทั้งในโลกแห่งความเป็นจริง และในโลกเสมือนจริง ซึ่งผู้เขียนขอยกกรณีตัวอย่างสัก 3-4 กรณี     

สำหรับกลุ่มผู้ชุมนุม แม้แกนนำการชุมนุมจะประกาศแนวทางการเคลื่อนไหวทางการเมืองที่ยึดหลักสันติวิธี อหิงสา และในภาพรวมของการปฏิบัติแล้วก็ปรากฏผลเช่นที่แถลงไว้ก็ตาม แต่การดำเนินกิจกรรมเคลื่อนไหวหลายต่อหลายครั้ง ก็ทำให้สังคมใหญ่ไม่ค่อยแน่ใจในหลักการของผู้ชุมนุมนัก เช่น

การใช้เลือดราดเทลงบริเวณหน้าทำเนียบรัฐบาลนั้น แม้ในทางทฤษฎีแล้วจะอยู่ในกรอบของการเคลื่อนไหวแบบสันติวิธี แต่ผมก็เห็นด้วยกับทรรศนะของ อ. นิธิ เอียวศรีวงศ์ ที่กล่าวไว้ในคอลัมน์หนึ่งของมติชนว่า แม้จะอยู่ในกรอบของสันติวิธีก็ตาม แต่การใช้เลือดซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของการพลีชีพนั้น ก็สร้างความรู้สึกให้คนจำนวนไม่น้อยว่า มันออกจะเป็นสันติวิธีที่ทะแม่งๆ อยู่

นอกจากนี้ ในส่วนที่เป็นประเด็นที่กลุ่มผู้ชุมนุมได้รับการวิพากษ์วิจารณ์ค่อนข้างมากนั้น ก็อาจจะเป็นเรื่องที่ผู้ชุมนุมบางคนใช้ความรุนแรงในการเคลื่อนไหว เช่น การทุบรถ และ การคุกคามผู้สื่อข่าว เหตุการณ์ลักษณะนี้ ไม่ว่าจะมีผู้วิพากษ์วิจารณ์อย่างไรก็ตาม แต่อย่างน้อยในมิติของสันติวิธีแล้ว มันก็เป็นข้อพิสูจน์ได้อย่างหนึ่งว่า แนวทางสันติวิธีนั้น ไม่สามารถเกิดขึ้นได้จากการประกาศของแกนนำ และควบคุมมวลชน หากแต่จะต้องเริ่มขึ้นในความคิดและจิตใจของผู้ชุมนุมเป็นรายบุคคลไป

สำหรับสังคมใหญ่ โดยเฉพาะในกรุงเทพฯ สันติวิธีกลายเป็นเพียงวาทกรรมของกลุ่มคนจำนวนไม่น้อยที่ใช้เป็นเครื่องมือ หรือมาตรการทางสังคมกดดันกลุ่มผู้ชุมนุมให้เคลื่อนไหวในทิศทางที่ไม่ใช้ความรุนแรง โดยมุ่งป้องกันไม่ให้การชุมนุมสร้างผลกระทบเสียหายต่อสังคมใหญ่ให้ได้มากที่สุดเท่านั้น แต่มิได้ให้ความสำคัญต่อข้อเรียกร้องอันเป็นรากเหง้าของปัญหาที่ทำให้กลุ่มผู้ชุมนุมต้องลุกขึ้นมาเคลื่อนไหวอย่างเพียงพอ ดังที่เพื่อนมนุษย์ควรปฏิบัติต่อกันอย่างเห็นอกเห็นใจ

ทั้งนี้ อาจเป็นเพราะคนจำนวนมากติดอยู่ใต้มายาคติที่ว่า ผู้ชุมนุมถูกจ้างมา หรือ ถูกหลอกมา มายาคติดังกล่าวนี้เป็นปัจจัยอุปสรรคที่ทำให้สังคมใหญ่มองข้อเรียกร้องของผู้ชุมนุมว่า เป็นเรื่องที่ไร้สาระ โดนหลอกและจ้างให้ทำเพื่อคนเพียงบางคน จึงไม่จำเป็นต้องไปใส่ใจว่าจะเรียกร้องอะไร เพียงแต่การเรียกร้องนั้นจะต้องไม่ส่งผลกระทบต่อพวกเขามากจนเกินไปก็พอ

ด้วยเหตุนี้ การดำเนินไปของเหตุการณ์การชุมนุม แทนที่จะเป็นการปฏิสัมพันธ์แลกเปลี่ยนเหตุผลว่าด้วยเหตุแห่งข้อเรียกร้องกันระหว่างผู้ชุมนุมกับสังคมใหญ่บนเวทีระนาบเดียวกัน กลับกลายเป็นการปฏิสัมพันธ์ในลักษณะการดูละครเวที ที่กลุ่มผู้ชุมนุมเป็นผู้เล่น ส่วนสังคมใหญ่ทำหน้าที่เป็นเหมือนคนดู และใช้เรื่องของวิธีการดำเนินเรื่องที่ปราศจากความรุนแรง ไม่อึกทึกวุ่นวาย หรือสร้างความเดือดร้อนแก่คนดู เป็นเกณฑ์หลักในการตัดสินผลการแสดงของผู้ชุมนุม  มากกว่าจะใช้เกณฑ์ตัดสินจากแก่นของเรื่องราวที่ผู้ชุมนุมพยายามนำเสนอ (ซึ่งเป็นไปได้ว่าอาจจะรุนแรงหรือไม่ก็ได้)

เมื่อการดำเนินเรื่องเริ่มจะมีความรุนแรงเข้ามาร่วม (ไม่ว่าจะมาจากฝั่งผู้ชุมนุม หรือฝั่งรัฐบาลก็ตาม) คนดูจำนวนไม่น้อยก็เรียกร้องให้รัฐบาลจัดการเซนเซอร์หรือไม่ก็ ตัดจบละครดังกล่าวอย่างจริงจัง เพื่อที่จะได้กลับไปดำเนินชีวิตตามปกติกันต่อ ซึ่งเมื่อรัฐบาลมีแนวโน้มที่ไม่ตอบเสนอง หรือตอบสองอย่างไม่ถึงใจ เพียงพอ ผู้ชมจำนวนหนึ่งก็มีดำริริเริ่มที่จะกระโดดขึ้นไปไล่นักแสดงบนเวทีให้ออกไปด้วยตัวของพวกเขาเอง

ลักษณะดังกล่าวสะท้อนให้เห็นมุมมองของคนที่อยู่ในสังคมใหญ่จำนวนมากว่า สันติวิธีมีความหมายกินขอบเขตเพียงวิธีการของผู้ประสงค์จะเรียกร้องทางการเมืองเท่านั้น ซึ่งสังคมใหญ่ไม่เพียงแต่ไม่จำเป็นต้องใช้สันติวิธี หากแต่ยังสามารถใช้เกณฑ์เรื่องสันติวิธีเป็นมาตรวัดและตัดสินค่าความควรอยู่หรือควรไปของผู้ชุมนุมอีกด้วย

ทั้งที่จริงๆ แล้ว ในด้านของวิธีการ สันติวิธีควรจะเป็นกรอบ หรือหลักปฏิบัติที่ครอบคลุมสังคมภายนอกกลุ่มผู้ชุมนุมด้วย เพื่อจะทำให้การปฏิสัมพันธ์ต่อกันนั้นไม่ใช้ความรุนแรงกันทั้งสองฝ่ายมากกว่าจะเป็นมาตรการกำกับฝ่ายเดียว

ส่วนในด้านของเป้าหมายหรือคุณค่าเชิงนามธรรมแล้ว สันติวิธี ควรหมายถึง การที่ผู้ชุมนุมและสังคมใหญ่จะต้องแสดงออกต่อกันด้วยความเข้าอกเข้าใจ ในทิศทางที่มุ่งหวังให้ต่างฝ่ายต่างเกิดความสันติ

ลักษณะเช่นนี้ เป็นการขยายขอบเขตของการตีความหลักคิดเรื่องสันติวิธีในบริบทสังคมไทยออกไปทั้งในแนวกว้าง คือ กลุ่มผู้ที่ต้องยึดหลักสันติวิธี และในเชิงลึก คือ สันติวิธีในระดับของความคิด จึงอาจกล่าวได้ว่า ภายใต้การตีความอย่างกว้างๆ นี้ สันติวิธีมีลักษณะเป็นแนวทางหรือหลักในการปฏิสัมพันธ์ต่อกันในชีวิตปกติประจำวัน เป็นวิถีชีวิต (as a way of life) มากกว่า เครื่องมือเฉพาะในการเรียกร้องทางการเมืองของคนเพียงบางกลุ่ม     

ความเข้าอกเข้าใจต่อกันดังกล่าวจะเกิดขึ้นได้ ก็ต่อเมื่อสื่อมวลชนกระแสหลักแสดงบทบาทสนับสนุนให้เป็นเช่นนั้น ซึ่งที่ผ่านมา ผมมีข้อสังเกตว่า แคมเปญจ์โฆษณาของโทรทัศน์หลายช่อง ไม่ได้มุ่งไปที่การแก้ไขใจกลางของปัญหาทางการเมืองปัจจุบัน ที่อาจจะเป็นเรื่องของ 2 มาตรฐานหรืออะไรก็แล้วแต่ ซึ่งเป็นเรื่องที่สังคมต้องถก และต้องอภิปรายกัน ไม่ใช่เรื่องที่จะกดทับปกปิดซ่อนเร้นด้วยวาทกรรม  คนไทยต้องรักกันหรือประเทศไทยเหมือนบ้านหลังใหญ่ ต้องอยู่ร่วมกันไปอีกนาน

การผลิตซ้ำวาทกรรมลักษณะดังกล่าวผ่านแคมเปญจ์โฆษณาหลายชุด อาจจะเกิดจากเจตนาที่ดีก็จริง แต่ในด้านหนึ่ง มันเหมือนเป็นการขีดเส้นมาตรฐานความเป็นคนไทยเอาไว้กลายๆ ว่า การที่จะเป็นคนไทยที่ดีนั้น จะต้องรักกัน ไม่ลุกขึ้นมาโวยวายเรียกร้องสิทธิของตนเองจนเกินงาม ในแง่นี้ แคมเปญจ์ลักษณะดังกล่าวจึงแฝงไว้ด้วยค่านิยมที่ไม่รองรับความชอบธรรมและไม่สร้างทัศนคติเชิงบวกต่อการชุมนุมใดใด ที่เป็นการเรียกร้องสิทธิระดับย่อย แต่ไปขัดขวางกระแสความก้าวหน้าของประเทศชาติในองค์รวม

นอกจากนี้ ภายหลังสถานการณ์ความรุนแรงเมื่อ 10 เมษายนที่ผ่านมา  ก็ดูเหมือนว่า การนำเสนอข้อมูลของสื่อโทรทัศน์ช่องหลัก โดยเฉพาะช่อง 11 นั้น ล้วนตกอยู่ภายใต้การกำกับของฝ่ายรัฐเป็นส่วนใหญ่ ข้อมูลและคลิปวิดีโอของเหตุการณ์ 10 เมษาจากมุมของฝั่งรัฐบาลเพียงด้านเดียว ถูกผลิตซ้ำหลายต่อหลายครั้งผ่านทางช่องรวมการเฉพาะกิจ ซึ่งในด้านหนึ่ง อาจเกิดจากการที่รัฐบาลเกรงว่า ข้อมูลของเหตุการณ์ 10 เมษา อาจถูกบิดเบือนและนำไปใช้เพื่อก่อความรุนแรงระลอกใหม่ได้อีก จึงต้องนำเสนอข้อเท็จจริงที่ถูกต้องแก่สังคมให้รับทราบโดยทั่วกัน

แต่อีกด้านหนึ่ง ข้อมูลที่นำเสนอดังกล่าว ล้วนมีผลในเชิงจิตวิทยาที่ยุยงให้เกิดความรู้สึกเกลียดชัง และหวาดระแวงต่อกันมากขึ้นระหว่างประชาชนด้วยกันเอง ในท่วงทำนองการบรรเลงที่คล้ายคลึงกับสมัย 6 ตุลา 2519 ซึ่งการสร้างความเกลียดชังและความหวาดระแวงกันขึ้นระหว่างประชาชน ไม่ว่าโดยตั้งใจหรือไม่ก็ตาม ก็ล้วนเป็นอุปสรรคต่อการผลิบานของแนวทางสันติวิธีทั้งสิ้น

สำหรับรัฐบาล  ในเหตุการณ์วันที่ 10 เมษานั้น ไม่ว่าฝ่ายใดจะเป็นผู้เริ่มใช้ความรุนแรงก่อน ไม่ว่าปฏิบัติการของฝ่ายเจ้าหน้าที่รัฐจะสอดคล้องกับหลักการสากลหรือไม่ และไม่ว่าการบาดเจ็บล้มตายจะเป็นฝีมือของกลุ่มผู้ก่อการร้ายที่แฝงตัวเข้ามาสร้างสถานการณ์หรือไม่ก็ตาม ผู้เขียนก็เห็นว่า การถกเถียงในเรื่องเหล่านี้ เป็นการถกเถียงในระดับยุทธวิธี ที่น่าจะมีผู้ให้ทรรศนะกันมากแล้ว แต่สำหรับมุมมองของนักยุทธศาสตร์นั้น ปัจจัยหลักที่นำมาสู่เหตุการณ์ความรุนแรงเมื่อวันที่ 10 เมษานั้น เป็นผลมาจาก นโยบาย ขอคืนพื้นที่ ของรัฐบาลเอง

กล่าวให้ถึงที่สุดแล้ว ยุทธศาสตร์ของรัฐบาลต่อการชุมนุมเมื่อวันที่ 10 เมษานั้น ไม่เพียงแต่จะไม่สร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยต่อการงอกเงยของแนวทางสันติวิธีเท่านั้น ตรงกันข้าม กลับเป็นการสร้างสภาพการณ์ที่ขมึงทึงตึงเครียดและภาวะการเผชิญหน้าในพื้นที่ชุมนุม อันเป็นสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยต่อการเกิดความรุนแรงขึ้นได้ทุกเมื่ออีกด้วย

นอกจากนี้ การประกาศว่าจะตั้งคณะกรรมการที่เป็นกลางขึ้นมาเพื่อพิสูจน์ ตรวจสอบข้อเท็จจริงของเหตุการณ์ดังกล่าว ในขณะเดียวกันกับการชิงตัดหน้าฉายภาพข้อเท็จจริงจากมุมของตนเองผ่านสื่อโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจซ้ำแล้วซ้ำเล่านั้น ก็นำมาสู่คำถามสำคัญที่เป็นอุปสรรคต่อการเปิดการเจรจาระหว่างผู้ชุมนุมกับรัฐบาล และเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการปฏิสัมพันธ์กันในห้วงเวลาต่อไป นั่นคือ คำถามที่ว่า รัฐบาลมีความจริงใจมากน้อยแค่ไหนต่อผู้ชุมนุม ? ซึ่งในมุมมองของผู้เขียนแล้ว ความจริงใจต่อกันนั้นเป็นองค์ประกอบสำคัญประการหนึ่งของสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยต่อการงอกเงยของแนวทางสันติวิธี หากปราศจากซึ่งความจริงใจแล้ว การปฏิสัมพันธ์ระหว่างกันอย่างสันติก็คงเกิดขึ้นได้ไม่สมบูรณ์นัก    

------------------------------------------------------------------------------

กรณีที่หยิบยกมาข้างต้นทั้งหมดนั้น อาจจะเป็นผลมาจากหลายปัจจัย แต่เฉพาะในมิติของแนวทางสันติวิธีแล้ว ผู้เขียนเห็นว่า กรณีต่างๆ สะท้อนให้เห็นปัญหาของสันติวิธีที่มีลักษณะครึ่งๆ กลางๆ  

...เป็นสันติวิธีที่มุ่งเน้นกำกับควบคุมเพียงวิธีการในทางปฏิบัติไม่ให้ใช้ความรุนแรง แต่มิได้หมายความว่าจะเป็นสันติวิธีที่สามารถกำกับควบคุมจิตใจตัวเองให้กำหนดเป้าหมายของการเรียกร้องทางการเมือง และความคิดที่มีต่อผู้อื่นอย่างสันติได้ , .

..เป็นสันติวิธีที่ชอบธรรมอยู่ภายใต้กรอบของหลักกฎหมายรัฐธรรมนูญ แต่มิได้หมายความว่าจะเป็นสันติวิธีที่เคารพและกลมกลืนกับหลักปรัชญาทางศาสนาใดใด ...

จากข้างต้นทั้งหมด อาจสรุปมุมมองของผู้เขียนได้ว่า เหตุการณ์ 10 เมษา การปะทะกันระหว่างมวลชนที่สีลม กระทั่งเหตุระเบิดและความรุนแรงที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทั้งความถี่และความเข้มข้น  อาจทำให้หลายฝ่ายรวมทั้งนักสันติวิธีจำนวนไม่น้อยเกิดความท้อแท้ว่า สันติวิธีได้ล้มเหลวเสียแล้ว

ประการแรก  เงื่อนไขอันเป็นสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมต่อการทำงานของสันติวิธี ยังไม่เคยถูกสร้างให้เกิดขึ้นจริงจากแต่ละฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ซึ่งเงื่อนไขดังกล่าวก็ประกอบด้วยหลายองค์ประกอบ ตัวอย่างเช่นที่ผู้เขียนได้กล่าวไว้ในตอนแรกแล้ว คือ ยุทธศาสตร์ของรัฐบาลที่สร้างบรรยากาศแห่งการรับฟัง เข้าอกเข้าใจ มากกว่าบรรยากาศเผชิญหน้า , ความจริงใจ , ความเห็นอกเห็นใจ , ความไม่เกลียดชังหรือหวาดระแวงกัน ฯลฯ ภายใต้บริบทสภาพแวดล้อมของสังคมที่เป็นไปในทางตรงกันข้ามกับองค์ประกอบแต่ละข้อที่กล่าวมาข้างต้นนั้น จึงเป็นการยากที่หลักคิดเรื่องสันติวิธีจะทำงานได้จริง เพราะมันทำงานอยู่ใต้สภาพแวดล้อมที่ตีบตัน บีบพื้นที่ยืนในสังคมของแต่ละฝ่ายให้ต้องเลือกข้าง เป็นอิสระในการแสดงความคิดเห็นอย่างสร้างสรรค์น้อยลง ภายใต้การเฝ้าระวังอันหมกมุ่นของสังคมว่าใครเป็นเสื้อสีใด

ประการที่สอง  ดังที่กล่าวไว้หลายครั้งในตอนต้นว่า สันติวิธีที่ทำงานอยู่ทุกวันนี้เป็นสันติวิธีเฉพาะในเชิงวิธีการ ถูกใช้เป็นเพียงมาตรการทางสังคมกดดันผู้ชุมนุมและฝ่ายที่เกี่ยวข้องไม่ให้สร้างความเดือดร้อนแก่สังคมมากเกินไป แต่สันติวิธีในความหมายที่สมบูรณ์นั้น เป็นทั้งวิธีการและเป้าหมายในตัวของมันเอง พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ สังคมเราหมกมุ่นอยู่แต่กับวิธีการอันเป็นรูปธรรม 1-2-3-4… ของสันติวิธีมากเกินไป แต่ให้ความสำคัญกับคุณค่าเชิงนามธรรมของหลักคิดนี้น้อยเกินไป

ซึ่งคุณค่าดังกล่าวนี้ มันผูกติดอยู่กับหลักคุณธรรมของปรัชญาศาสนาหลักทุกศาสนาในโลก มากกว่าจะผูกติดอยู่กับหลักกฎหมายรัฐธรรมนูญ เช่น หลักของความอดทนอดกลั้น (ขันติ) , การต่อสู้กับจิตใจฝ่ายต่ำของตนเอง เพื่อยกระดับจิตใจให้บริสุทธิ์ (ญิฮาดโดยหัวใจ) , หลักของความรักเพื่อนมนุษย์ (คริสตศาสนา) หรือกระทั่งแนวทางสัตยาเคราะห์ของคานธี ก็ผสมผสานไว้ด้วยหลักปรัชญาทางศาสนาฮินดูและเชนไม่น้อย ฯลฯ

สันติวิธีที่สมบูรณ์ มันจึงเป็นการอุทิศตัวต่อสู้เพื่อมุ่งบรรลุเป้าหมายที่เกื้อกูลสังคมส่วนรวม และเพื่อนมนุษย์ด้วยกันให้ได้รับความสุขสันติ เช่น การที่นางอองซาน ซูจีเดินเข้าไปหากองกำลังทหารที่เรียงหน้ากันถือปืนพร้อมจะยิงเธอทุกเมื่ออย่างไม่หวั่นเกรง โดยที่ในมือของนางก็ไม่ได้ถืออาวุธใดเอาไว้ และไม่แสดงออกซึ่งท่าทีโกรธแค้น เกลียดชัง หรือ คิดร้ายต่อเหล่าทหารนั้นเลย ทั้งนี้ ก็เพื่อกดดันให้ทหารเปิดทางให้โดยความยินยอมพร้อมใจ และยอมรับโดยดุษฎี เป็นต้น

จากตัวอย่างที่ยกมา จะเห็นได้ว่า การเคลื่อนไหวทางการเมืองตามกรอบสันติวิธีที่สมบูรณ์ มีลักษณะเป็นภารกิจทางจิตวิญญาณที่ต้องอาศัยระดับจิตใจอันสูงส่งของผู้ปฏิบัติเป็นอย่างมาก การยึดแนวทางสันติวิธี จึงไม่ได้หมายถึงวิธีปฏิบัติง่ายๆ เช่น การขึ้นเวทีไปด่าทอฝ่ายตรงข้ามโดยไม่พกอาวุธ หรือ การแถลงการณ์กดดันรัฐบาลให้ปราบปรามเพื่อนมนุษย์ด้วยกันอย่างเด็ดขาด ถ้าไม่ทำเช่นนั้นใน 7 วัน พวกเขาจะลงมือเอง ฯลฯ

จากที่กล่าวมาทั้งหมดนี้  ผู้เขียนจึงมองว่า สันติวิธีไม่ได้ล้มเหลวแต่อย่างใด ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในความขัดแย้งทางการเมืองไทยปัจจุบันนั้น แม้จะเกิดมาจากหลายปัจจัย แต่เฉพาะในมิติของสันติวิธีแล้ว มันสะท้อนถึงการที่สังคมยังไม่ได้ใช้พลังของสันติวิธีอย่างเต็มศักยภาพที่หลักคิดนี้มีอยู่เลย

----------------------------------------------------------------------------------------------

หมายเหตุ : บทความนี้ ได้รับการตีพิมพ์ครั้งแรกในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 7-13 พ.ค. 2553 

 ผู้เขียนขอขอบพระคุณ อาจารย์จรัญ มะลูลีม เป็นอย่างสูงที่เปิดโอกาสในการทำงานทางวิชาการ
ให้กับผู้เขียน