หมายเหตุ : บทความวิชาการชิ้นหนึ่ง เป็นเอกสารประกอบเวทีสาธารณะว่าด้วย “ผู้หญิงกับการเคลื่อนไหว” บรรยายสาธารณะในหัวข้อ"เมื่อเสียงผู้หญิงถูกรับฟังและทำตาม:เรียนรู้กลยุทธการเคลื่อนไหวจากประสบการณ์ในอินโดนีเซีย"และการประชุมเชิงปฏิบัติการ“การทำความเข้าใจมติคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ 1325 ต่อประเด็นเรื่องศาสนาและวัฒนธรรม ก่อนนำมาปรับใช้ในจังหวัดชายแดนใต้” |
บทนำ
เมื่อ 31 ตุลาคม ค.ศ. 2000 (พ.ศ.2543) สภาความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (the United Nations Security Council: UNSC) ลงมติเลขที่ S/RES/1325 ผ่านมติ 1325 (Resolution 1325) ว่าด้วยผู้หญิง สันติภาพ และความมั่นคง (Women, Peace and Security: WPS) อย่างเป็นเอกฉันท์เพื่อกำหนดแนวนโยบายและดำเนินการเสริมศักยภาพผู้หญิงที่ได้รับผลกระทบจากสงครามและแก้ปัญหาสันติภาพอย่างยั่งยืน นับเป็นครั้งแรกที่สภาความมั่นคงให้ความสำคัญกับการเรียกร้องให้ผู้หญิงมีส่วนร่วมอย่างเต็มกำลังและแข็งขันในการป้องกันและจัดการความขัดแย้งในภาวะสงคราม ภาวะที่อำนาจทางการทหารและการใช้อาวุธมีสูง ความรุนแรงรูปแบบต่างๆ รวมทั้งความรุนแรงในครอบครัวและการถูกข่มขืน เพื่อให้ผู้หญิงได้รับการฟื้นฟูเยียวยา มีส่วนในกระบวนการยุติธรรม การเมือง และการสืบหาความจริง
การประกาศมติ 1325 เป็นการให้คำมั่นของสหประชาชาติในการจัดการปกป้องสิทธิผู้หญิงและรองรับกระบวนการสันติภาพที่มาจากการมีส่วนร่วมอย่างเท่าเทียมกัน ทั้งแสดงถึงการให้ความใส่ใจกับประเด็นเพศสภาพหรือมิติความสัมพันธ์หญิงชาย (gender) และประสบการณ์ของผู้หญิงในสถานการณ์ความรุนแรงและหลังเสร็จสิ้นสงคราม ด้วยเหตุที่มติของสหประชาชาติก่อนหน้านี้กำหนดอยู่บนท่าทีที่เห็นว่าผู้หญิงคือเหยื่อของสงครามและความรุนแรง ดังนั้น นักเคลื่อนไหว ผู้กำหนดนโยบาย นักกิจกรรม และนักวิชาการด้านผู้หญิง สิทธิ และความมั่นคง ต่างเห็นว่ามติ 1325 เปิดโอกาสให้สังคมเห็นประสบการณ์ที่แตกต่างระหว่างหญิงและชายในสภาวะแห่งความขัดแย้ง มีการนิยามความรุนแรงทางเพศที่เกิดในสงครามว่าเป็นอาวุธแห่งการประหัตประหารมากกว่าเป็นความโชคร้ายโดยตัวของมันเอง[ii] ตลอดจนเน้นย้ำบทบาทของผู้หญิงรากหญ้าและผู้หญิงภาคประชาสังคมกับการมีส่วนร่วมในกระบวนการสันติภาพ
ไทยกับเส้นทางมติ 1325
มติ 1325 กำหนดความสัมพันธ์ที่แปรเปลี่ยนระหว่างมิติเพศสภาพกับการเปลี่ยนผ่านอำนาจความขัดแย้งทางการเมืองในระดับกลไกและนโยบาย เกิดแผนฏิบัติงานของประเทศ (National Action Plan: NAP)[iii] ในการนำมติ 1325 ให้ขับเคลื่อนไปสู่ภาคปฏิบัติการ (implementation) ในหลายประเทศ รวมทั้งแก้ไขปรับปรุงแผนฏิบัติงานของประเทศอีกด้วย[iv] ในขณะที่ประเทศไทย องค์กรผู้หญิงและสิทธิเริ่มแปลสรุปสาระสำคัญของมติ 1325 เพื่อกระจายให้สังคมรับรู้เป็นภาษาไทย[v] เชิญชวนแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และกำหนดท่าทีในการเคลื่อนงานเพื่อสร้างความเท่าเทียมทางเพศผ่านกรอบการทำงานของแต่ละองค์กร ตลอดจนอนุสัญญาระหว่างประเทศที่ไทยได้กำหนดให้เป็นพันธกรณีหลักของรัฐ ได้แก่ อนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติในทุกรูปแบบต่อผู้หญิง (the Convention on the Elimination of all Forms of Discrimination against Women: CEDAW)[vi] โดยเชื่อมต่อกับมติ 1325 รวมทั้งกระจายความรู้ สร้างความตระหนักผ่านการจัดอบรมเชิงปฏิบัติการที่ได้กระทำมาแล้วอย่างต่อเนื่องเกือบทศวรรษ[vii]
ในระดับนโยบาย รัฐริเริ่มให้ความสำคัญกับกลไกการป้องกันแก้ไขปัญหาและการมีส่วนร่วมของผู้หญิงผ่านเวทีอภิปรายในต่างประเทศเมื่อต้น พ.ศ. 2558 หลังจากที่องค์กรผู้หญิงและสิทธิทั้งหลายได้ดำเนินกิจกรรมไปช่วงระยะเวลาหนึ่งแล้ว เวทีดังกล่าวจัดขึ้นเนื่องในวาระที่มติคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ 1325 ครบรอบ 15 ปี ในหัวข้อ Gender Equality and Peace Societies: From Evidence to Action ที่นครนิวยอร์ก เมื่อ 12 มีนาคม 2558 จัดโดยคณะผู้แทนถาวรไทยประจำสหประชาชาติร่วมกับสถาบันสันติภาพสากล (International Peace Institute: IPI)[viii] เป็นการรับฟังความรู้และแลกเปลี่ยนประสบการณ์จากวิทยากรสี่คนที่เป็นนักวิชาการ นักการทูตสันติภาพ และนักเคลื่อนไหวจากภูมิภาคต่างๆ โดยมี ดร. สายสุรี จุติกุล ผู้ทรงคุณวุฒิของไทยด้านสตรีและเด็กร่วมแสดงความเห็น[ix]
จากนั้น เวทีในส่วนกลางของประเทศเริ่มขยับไปสู่การแลกเปลี่ยนเชิงนโยบายกับการขับเคลื่อนเชิงปฏิบัติการผ่านการประสานงานขององค์กรภาครัฐ คือสำนักงานกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ร่วมกับ UN Women (องค์การเพื่อผู้หญิงแห่งสหประชาชาติ) คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ องค์กรพัฒนาเอกชนด้านผู้หญิง และตัวแทนเครือข่ายผู้หญิงจากภาคประชาสังคม ในลักษณะการประชุมเชิงปฏิบัติการ เมื่อ 15 ตุลาคม 2558 มี ดร. สายสุรี จุติกุล ที่ปรึกษาและอนุกรรมการด้านสตรีกับการส่งเสริมสันติภาพและความมั่นคงปลอดภัย ผู้ซึ่งได้แลกเปลี่ยนความเห็นที่นครนิวยอร์กเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมาให้ข้อคิดเห็นร่วมกับตัวแทนจากภาคส่วนต่างๆ ข้างต้น เนื้อหาโดยรวมของการจัดเวทีมุ่งไปที่การเสริมความรู้ ความเข้าใจ และเร่งเร้าให้เห็นถึงความสำคัญของมติ 1325 และมติที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งกำหนดทิศทางการนำมติ 1325 มาใช้ในประเทศไทย โดยริเริ่มแผนปฏิบัติงานในจังหวัดชายแดนภาคใต้[x]
ล่าสุดเวทีประชุมเพื่อขับเคลื่อนมติ 1325 ริเริ่มโดยองค์กรภาครัฐและ UN Women ได้ขยับมาที่ภาคใต้ เมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน 2558 อธิบดีกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว อ้างอิงงานของ UN Women ในที่ประชุมที่ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา ถึงการมีส่วนร่วมในกระบวนการสันติภาพของผู้หญิงทั่วโลกที่มีเพียงเล็กน้อย เป้าหมายของการประชุมพยายามชี้ชวนให้ผู้เข้าร่วมงานซึ่งส่วนใหญ่เป็นแกนนำหญิงจากเครือข่ายภาคประชาสังคมในพื้นที่ชายแดนใต้ ตระหนักถึงความสำคัญและส่งเสริมให้ผู้หญิงมีส่วนร่วมในการจัดการความขัดแย้งและกระบวนการสร้างสันติภาพ และเพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนในเชิงปฏิบัติการตามมติของสหประชาชาติ[xi] รัฐเองได้กำหนดนโยบายและยุทธศาสตร์ด้านสตรีกับการเสริมสร้างสันติภาพและความมั่นคงไว้แล้ว โดยเริ่มจากพื้นที่ชายแดนใต้ เนื่องจากพื้นที่นี้รัฐนับให้เป็นที่แรกในการประกาศใช้แผนพัฒนานโยบายและยุทธศาสตร์การทำงานในข่ายเสริมสร้างสันติภาพและความมั่นคงของมนุษย์ งานในขอบข่ายนี้จึงมีกำหนดอยู่ในแผนการพัฒนาสตรี ในช่วงแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 11 (พ.ศ. 2555-2559)[xii] พร้อมการจัดตั้งคณะอนุกรรมการสตรีกับการสร้างเสริมสันติภาพและความมั่นคงปลอดภัย
การขยับในเชิงกลไกของรัฐนอกจากดำเนินการร่วมกับองค์การสหประชาชาติและภาคีเครือข่ายการทำงานของรัฐแล้ว องค์กรพัฒนาเอกชนที่ทำงานประเด็นผู้หญิงและเครือข่ายผู้หญิงภาคใต้ โดยเฉพาะผู้นำหญิงที่มีบทบาทเช่น คุณโซรยา จามจุรี และคุณปาตีเมาะ เปาะอิแตดาโอะ ได้ให้ความเห็นและแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในเวทีล่าสุดนี้ ผู้หญิงจากกลุ่มต่างๆ จึงนับว่ามีส่วนอย่างมากต่อการกระตุ้นเรียกร้องเชิญชวนให้คนในพื้นที่ชายแดนใต้ตระหนักถึงความสำคัญของมติ 1325 พบว่าได้รับความสนใจในเบื้องต้นจากเครือข่ายผู้หญิงและองค์กรภาคประชาสังคม
ทบทวนสถานการณ์มติ 1325
ที่มาในการกำหนดท่าทีของมติความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ 1325[xiii] เกิดจากการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยผู้หญิง มีการรณรงค์เพื่อหาเสียงสนับสนุน (lobby) ขององค์กรผู้หญิงภาคประชาสังคมที่ตระหนักในปัญหาอำนาจที่ไม่เท่าเทียมกันระหว่างเพศ ความเหลื่อมล้ำในการพัฒนา และความขัดแย้งที่นำไปสู่การใช้ความรุนแรงและอาวุธ[xiv] จากการประชุมระดับโลกว่าด้วยเรื่องผู้หญิงครั้งที่ 3 ที่กรุงไนโรบี เมื่อปี 1985 หัวข้อผู้หญิง ความขัดแย้ง และสันติภาพ ได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก สหประชาชาติถูกวิพากษ์วิจารณ์ถึงท่าทีในการกำหนดนโยบายเชิงออกคำสั่งแบบรัฐราชการและเอื้อต่อการขยายตัวของลัทธิการทหารและกองกำลัง (Militarism) มีเพียงนโยบายเพื่อสันติภาพ ปี 1992 ในยุคของเลขาธิการบูโทรส กาลี (Boutros Ghali Agenda for Peace 1992) ที่ใช้มุมมองการสร้างสันติภาพจากความร่วมมือในระดับล่างสู่นโยบายในระดับบน (bottom-up approach)[xv]
กระทั่งในงานประชุมระดับโลกว่าด้วยเรื่องผู้หญิงครั้งที่ 4 ปี 1995 ภาคประชาสังคมจัดให้มีการประชุมคู่ขนานของเครือข่ายผู้หญิงที่เคลื่อนไหวในระดับรากหญ้าซึ่งดำเนินไปพร้อมกับการประชุมทางการของภาครัฐ มีการหาทางออกเพื่อขจัดปัญหาที่อำนาจในการตัดสินใจอันมาจากภาครัฐและองค์กรตัวแทนเพียงฝ่ายเดียว ผ่านแผนปฏิบัติการปักกิ่ง (Beijing Platform for Action) เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาล องค์กรระหว่างประเทศ และองค์กรภาคประชาสังคม ร่วมดำเนินงานสร้างความเสมอภาคหญิงชายและการมีส่วนร่วมของผู้หญิงในกระบวนการสันติภาพ 12 ประเด็น[xvi] ในการแลกเปลี่ยนพบว่าปัญหาเกี่ยวกับผู้หญิงในภาวะสงครามและความขัดแย้งวิกฤติที่สุด หลังจากนั้นนักวิชาการในแขนงต่างๆ เช่น ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ สตรีนิยม และการศึกษาความมั่นคง ได้นำเสนอกรอบคิดและการศึกษาที่แตกต่างออกไปจากเดิม
เมื่อสหประชาชาติได้ยกร่างแผนปฏิบัติการเชิงระบบในรูปแบบกว้าง (System Wide Action Plan) ร่วมกับผู้เชี่ยวชาญอิสระแล้ว[xvii] ในปี 2005 คณะกรรมการเพื่อสันติภาพ (Peace Commission) ให้การสนับสนุนร่างมติ 1325 ซึ่งตามมาพร้อมกับมติอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับผู้หญิงกับเพศสภาพ และความขัดแย้ง ได้แก่ UNSCR 1820 [2008],[xviii] 1888 [2009],[xix] 1889 [2009],[xx] 1960 [2010],[xxi] 2106 [2013][xxii] และ 2122 [2013][xxiii] กระนั้นก็ตาม การขับเคลื่อนสู่ภาคปฏิบัติการของมติเหล่านี้ดำเนินไปอย่างเชื่องช้าทั้งในสหประชาชาติและประเทศต่างๆ สัดส่วนการพิจารณาเพื่อใช้มติ 1325 ถูกแปลความเพื่อผลประโยชน์ทางการเมืองไปในทิศทางที่ต่างกัน ตามแต่นโยบายแห่งรัฐ ผู้มีอำนาจนำในภาครัฐ ภาคเอกชน และพื้นที่ที่จะถูกนำไปใช้ เช่น Women in Black กลุ่มนักกิจกรรมหญิงในเซอร์เบียประยุกต์มติ 1325 ผ่านการแสดงตัวตน ใช้แนวคิดสตรีนิยมสายขุดรากถอนโคน (Radical Feminism) เพื่อปรับรื้อแนวคิดความมั่นคง ให้เกิดความมั่นคงในมนุษย์เข้าไปแทนที่ความมั่นคงตามกรอบลัทธิการทหาร จากนั้นจึงใช้ยุทธศาสตร์การปรองดองสมานฉันท์เพื่อนำไปสู่การปรับเปลี่ยนโครงสร้างสังคมในเชิงลึก[xxiv]
นอกจากมติ 1325 ถูกนำไปประยุกต์ใช้ในพื้นที่ต่างๆ แตกต่างกันออกไปแล้ว ยังมีการวิจารณ์ข้อเสนอหลักในส่วนที่ว่า ผู้หญิงคือผู้กระทำการด้านสันติภาพ (women as agents of peace) ว่าเป็นการพิจารณาด้วยสายตาทหารและเป็นการมองแบบชาย (militarism and masculinity) ทั้งยังเป็นการผลักให้ผู้หญิงแบกภารกิจสองประการเข้าด้วยกัน คือยอมรับการเป็นเหยื่อความรุนแรงและทำงานสันติภาพ[xxv] อย่างไรก็ตาม ความเห็นเชิงบวกที่มีต่อการวิเคราะห์มติ 1325 ในอีกหลายกรณีเสนอว่าเป็นภาวะเปลี่ยนผ่านจากการถูกทำให้เป็นเหยื่อความรุนแรง สามารถเยียวยาฟื้นฟูตนเองผ่านการทำงานสันติภาพที่ก่อให้เกิดความเข้มแข็งกับตัวผู้หญิง นับเป็นการสร้างพื้นที่ให้กับตนเอง ผ่านเรื่องราว ตัวตน และประสบการณ์ตรง หรือเป็นการให้ผู้หญิงเป็นองค์ประธาน (subjectivity)[xxvi] เนื่องจากที่ผ่านมากลไกระดับสากลเห็นผู้หญิงเป็นเพียงวัตถุแห่งการจ้องมองด้วยความสงสารและเห็นใจในฐานะเหยื่อความรุนแรง
ข้อวิจารณ์ที่สำคัญที่มีต่อมติ 1325 ทั้งในเรื่องการนำเสนอมติผ่านสุ้มเสียง ภาษา และมุมมองเชิงอุดมคติ (utopian visions) ขององค์การสหประชาชาตินั้น นักวิชาการและนักเคลื่อนไหวหลายคนเห็นตรงกันว่า เมื่อมีแผนปฏิบัติงานและขับเคลื่อนสู่ภาคปฏิบัติโดยรัฐแล้ว ตัวตนของผู้กระทำการหรือผู้หญิงจะหดหายไป ปัญหานี้รวมถึงเรื่องการขาดความเชื่อมโยงประเด็นความมั่นคงในบทบาทหญิงชายกับความยุติธรรมทางเพศไว้ในแผนปฏิบัติการและนโยบายของรัฐ กล่าวคือ รัฐต้องไม่เพียงแค่เห็นว่าการจัดให้มีกองทุนเพื่อช่วยเหลือผู้หญิงที่ได้รับผลกระทบจากความรุนแรงและจัดสรรงบประมาณในการสร้างกระบวนการสันติภาพ หรือจัดให้มีกระบวนการยุติธรรมเพื่อไกล่เกลี่ยความขัดแย้ง รับเรื่องราวสืบค้นความจริง โดยกำหนดให้มีผู้หญิงเป็นตัวแทนในขั้นตอนต่างๆ ถือว่าเป็นการดำเนินงานที่ครอบคลุมมติดังกล่าวแล้ว หากแต่ยังมีอุปสรรคสำคัญที่เกี่ยวกับระบบราชการในภาครัฐ ระบบอาวุโส ลำดับชั้นทางสังคม และบรรทัดฐานของสังคม เช่น ต้องไม่ละเว้นการลงโทษเจ้าหน้าที่รัฐที่เคยกระทำความผิดในพื้นที่ความขัดแย้ง ต้องรับฟังความเห็นของผู้หญิงในข้อวินิจฉัยที่เกี่ยวข้องกับวัฒนธรรมและศาสนา ให้นับว่าปัญหาความรุนแรงทางเพศเป็นหนึ่งในขอบข่ายการดำเนินงานตามมติ 1325 หากไม่เป็นเช่นนั้นย่อมถือว่ารัฐและภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเลือกปฏิบัติเนื่องด้วยเหตุแห่งการเป็นเพศที่แตกต่างและละเมิดหลักคิดพื้นฐานของมติ 1325[xxvii]
บทเรียนรู้จากที่อื่น
ผู้เขียนพบว่ามีการติดตามกรอบความรับผิดชอบของรัฐในการปฏิบัติตามแผน นโยบาย ลำดับความสำคัญของงาน และงบประมาณ ตลอดจนมีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ วิเคราะห์ เพื่อตรวจสอบการวางนโยบายและขับเคลื่อนสู่การปฏิบัติของรัฐในการนำมติคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ 1325 ให้ใช้อย่างเหมาะสม สอดคล้องกับบริบทของแต่ละสังคมในหลายประเทศ ทั้งมีการเสนอความเห็นต่อรัฐรวมทั้งภาคีเครือข่ายภาคประชาสังคมควบคู่ไปกับการขับเคลื่อนสู่การปฏิบัติปรากฏอยู่อย่างต่อเนื่อง ทั้งโดยองค์กรที่ไม่ได้ถูกนับรวมให้แสดงความเห็นร่วมกับรัฐในช่วงของการร่างนโยบาย หากแต่ถูกนับเป็นเครือข่ายภาคประชาสังคมในแต่ละท้องถิ่น ประเทศ รวมถึงระดับภูมิภาค และสากล ตลอดจนนักวิชาการ และนักเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องสิทธิผู้หญิง ตัวอย่างเช่น
(1) การดำเนินงานเพื่อเสริมสร้างสิทธิ ความเท่าเทียมทางเพศ และการมีส่วนร่วมของผู้หญิงระดับรากหญ้าตามเมืองต่างๆ ในกระบวนการสันติภาพ เน้นมิติความสัมพันธ์หญิงชาย การทำความเข้าใจวัฒนธรรมการตีความหลักการศาสนา และความหลากหลายทางชาติพันธุ์ ของมูลนิธิอินซาน แห่งปากีสถาน (Insan Foundation Trust Pakistan) ร่วมกับองค์กรเครือข่ายในประเทศ เช่น Khwendo Kor[xxviii]
(2) บทบาทของ IWRAW Asia Pacific (International Women’s Rights Action Watch Asia Pacific) องค์กรที่เน้นกรอบการทำงานผ่านอนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติในทุกรูปแบบต่อผู้หญิง (CEDAW) ในระดับภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกเพื่อสนับสนุนและปกป้องสิทธิผู้หญิงอันหมายรวมถึงการปกป้องและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน ล่าสุดได้เสนอรายงานคู่ขนาน (shadow report) 2015 ในนามภาคประชาสังคมโดยเห็นว่า ข้อเสนอแนะหมายเลข 30 (General Recommendation No.30) ของคณะกรรมการว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อผู้หญิงทุกรูปแบบ (Committee on the Elimination of all Forms of Discrimination against Women) ที่เกี่ยวข้องกับผู้หญิงกับการป้องกันปัญหาความรุนแรงทั้งในภาวะสงครามและหลังสงคราม มีความจำเป็นในการดำเนินการขับเคลื่อนเพื่อให้เกิดนโยบายและปฏิบัติการพร้อมๆ กับมติ 1325 ตลอดจนกลไกอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น UNSCR 1820[xxix]
(3) APWAPS (Asia-Pacific Women Alliance for Peace and Security) ในฐานะสหพันธ์ผู้หญิงแห่งเอเชียแปซิฟิกเพื่อสันติภาพและความมั่นคง เกิดขึ้นเมื่อปี 2557 จากความร่วมมือของนักเคลื่อนไหวด้านสันติภาพ นักสิทธิมนุษยชน และผู้หญิงที่ประสบกับปัญหาความรุนแรงจากสงครามและความขัดแย้ง APWAPS ดำเนินกิจกรรมหลักๆ สี่ส่วนคือ สร้างความเข้าใจ, ร่วมกันใช้และแบ่งปันศักยภาพ ความรู้ และทรัพยากรบุคคล, สร้างองค์ความรู้ร่วมกัน และ สร้างเครือข่ายการทำงานผู้หญิง สันติภาพ และความมั่นคง อันสัมพันธ์กับนโยบายและกลไกต่างๆ ที่ไม่เลือกใช้เพียงเฉพาะมติ 1325 หากแต่รวมถึง 20 ปี ปฏิญญาและแผนปฏิบัติการปักกิ่ง (Beijing Declaration and Platform for Action +20) และการประชุมระดับสูง (High-Level Review) เพื่อการทบทวนการปฏิบัติตามข้อมติ UNSC ที่ 1325 อันเป็นกลไกที่เอื้อต่อการมีส่วนร่วมและเคารพตัวตนของผู้หญิง เปลี่ยนผ่านอำนาจความสัมพันธ์หญิงชาย และตระหนักต่อบริบทของสังคมแต่ละท้องที่[xxx]
นอกจากนี้ การทำงานในเชิงวัฒนธรรมกับการมีส่วนร่วมของผู้หญิงถือเป็นประเด็นสำคัญในการดำเนินนโยบายตามมติ 1325 บทเรียนจากไอร์แลนด์ในข้อเสนอจากการประชุมเชิงปฏิบัติการ วันที่ 4 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 2014 เสนอให้รับฟังความเห็นจากการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ของผู้หญิงที่มีชีวิตอยู่ในขนบจารีต ผู้หญิงรากหญ้า ผู้ที่ไม่สามารถสื่อสาร (ด้วยภาษาอังกฤษ) ได้อย่างคล่องแคล่ว เพราะการมีส่วนร่วมของผู้หญิงหมายรวมถึงผู้หญิงจากกลุ่ม องค์กร ชุมชนต่างๆ โดยไม่เลือกปฏิบัติเนื่องด้วยเหตุแห่งความต่างทางศาสนา ชาติพันธุ์ การศึกษา และเงื่อนไขอื่นๆ นอกจากนี้ รัฐและผู้ทำงานสันติภาพต้องสร้างกลไกและตระหนักต่อความรุนแรงอันเนื่องมาจากบทบาททางเพศ (gender-based violence) ที่มีต่อผู้หญิงที่ได้รับผลกระทบจากสงคราม ความขัดแย้ง และความรุนแรงด้วย รวมทั้งการให้ความหมายมิติบทบาทความสัมพันธ์หญิงชายหรือเพศสภาพ (gender) ไม่ได้หมายถึงการทำงานกับผู้หญิงเพียงอย่างเดียว หากแต่ความหมายของประเด็นนี้รวมเอาความสัมพันธ์ที่เกี่ยวข้องกับผู้ชายด้วย[xxxi]
สำหรับการขับเคลื่อนงานในพื้นที่ของความรุนแรงและสงครามอันยืดเยื้อระหว่างกลุ่มคนต่างเชื้อชาติในปาเลสตน์ดำเนินไปด้วยความยากลำบาก แม้กลุ่มผู้หญิงในปาเลสไตน์เห็นว่ามติ 1325 มีประโยชน์ด้านความมั่นคงของมนุษย์และเสริมศักยภาพผู้หญิง พร้อมทั้งทำให้ประชาคมโลกรับรู้ปัญหาที่เกิดขึ้นในพื้นที่ด้วยมุมมองที่ต่างออกไปจากเดิม แต่ยังพบความไม่สมดุลในการจัดการปัญหาอย่างเท่าเทียมกันระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์โดยสหประชาชาติ ทำให้ชาวปาเลสไตน์โดยทั่วไปไม่ไว้วางใจและไม่ให้ความเชื่อมั่นต่อองค์การสหประชาชาติ รวมทั้งมติ 1325 ว่าจะสร้างความยุติธรรมให้เกิดขึ้นได้[xxxii]
สำหรับบทเรียนการใช้มติ 1325 ในอิรัคตามถ้อยแถลงของซุนดุส อับบาส (Sundus Abbas) ผู้อำนวยการสถาบันผู้นำหญิงแห่งอิรัค (Iraqi Women’s Leadership Institute) พบว่ามติ 1325 ช่วยจัดวางกรอบการทำงานสันติภาพผู้หญิงและกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคง นอกจากนี้ยังช่วยให้ที่นั่งทางการเมืองและโอกาสของผู้หญิงในสภาซึ่งกำหนดไว้ร้อยละ 25 ประสบผลสำเร็จ แต่สหประชาชาติขาดประสิทธิภาพและวางระบบภาคปฏิบัติการเพื่อขับเคลื่อนมติ 1325 เกิดความผิดพลาดในการทำงานในพื้นที่ขัดแย้งและสงคราม ในรัฐที่อ่อนแอ และประสิทธิภาพในการใช้กฎหมายต่ำ โดยเฉพาะการปกป้องคุ้มครองสิทธิหญิงผู้ลี้ภัย หญิงที่ถูกลักพาตัว และหญิงที่ถูกค้าเนื่องด้วยขบวนการค้ามนุษย์[xxxiii]
ความรุนแรงที่ไม่ค่อยถูกพูดถึงในภาคใต้
ต้นปี 2558 รายงานผลการประเมินปลายโครงการการพัฒนาเพื่อขยายบริการภายในชุมชนอย่างยั่งยืนสำหรับผู้หญิงและเด็กที่ได้รับผลกระทบจากความไม่สงบและความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย[xxxiv] พบว่าความรุนแรงจากสถานการณ์ความไม่สงบเผยให้เห็นปัญหาความรุนแรงเชิงโครงสร้างและวัฒนธรรมเด่นชัด รวมไปถึงความรุนแรงในครอบครัวและความซับซ้อนของปัญหาที่สัมพันธ์กับมิติศาสนา จารีต และวัฒนธรรม เช่น
(1) กรณีที่หญิงผู้สูญเสียสามีที่ไม่สามารถก้าวข้ามสถานะการเป็นหม้ายได้ และแทนที่สถานภาพใหม่ด้วยการแต่งงานในฐานะภรรยาคนที่สองหรือลำดับถัดไป ผู้หญิงหลายคนมองว่าหนึ่งในเหตุผลที่ผู้ชายเลือก “เข้าหา” ตนเพราะเรื่องเงินเยียวยา ผู้หญิงวิเคราะห์ว่าตนเองกลายเป็นเครื่องมือในการแสวงหาผลประโยชน์จากหลายฝ่าย รวมทั้งผลประโยชน์จากคนที่ทาบทามเพื่อขอแต่งงานใหม่ กระทั่งเกิดความรู้สึกถึงการเป็นผู้หญิงที่ไม่มีคุณค่าและไม่สามารถต่อรองได้ เนื่องจากในสภาพการณ์ดังกล่าวหลายอย่างถูกกำหนดโดยกรอบทางสังคมและผู้ชาย หลายคนแต่งงานใหม่กับชายที่มีภรรยาแล้ว ซึ่งในช่วงต้นของการแต่งงานใหม่สามีคนใหม่ให้การดูแลและใช้เวลาอยู่ร่วมกัน กระทั่งผ่านไประยะหนึ่งผู้หญิงหลายคนกล่าวว่าสามีเลือกกลับไปอยู่กับภรรยาคนแรก พบบางรายยอมรับกับสภาพของการเป็นผู้หารายได้หลักให้กับครอบครัวอยู่เพียงผู้เดียว
แม้คำอธิบายเกี่ยวกับการมีภรรยามากกว่าหนึ่งคนหรือการอนุญาตให้ชายมุสลิมสามารถแต่งงานกับผู้หญิงได้สี่คนในเวลาเดียวกัน[xxxv] ภายใต้เงื่อนไขที่สามารถทำให้เกิดความเท่าเทียมกันได้ในการให้การดูแลเรื่องค่าใช้จ่าย ทรัพย์สิน และความเอาใจใส่และเวลาที่จัดสรรอย่างเท่าเทียมกัน จากการที่นักการศาสนาได้อธิบายเงื่อนไขดังกล่าวสัมพันธ์กับการตีความจากตัวบทในคัมภีร์อัลกุรอาน และการอภิปรายร่วมกับฮะดิษซึ่งเป็นตัวบทในหลักฐานชั้นรอง[xxxvi] กระนั้นก็ตาม การยอมรับในสังคมรวมทั้งการให้คุณค่าของผู้หญิงที่แต่งงานในฐานะภรรยาคนที่สอง หรือคนที่สาม และ/หรือคนที่สี่ ยังคงถูกนับว่าเป็นภรรยาน้อย ศักดิ์และสิทธิ์ไม่ได้มีเท่าเทียมกันจริง
ปัญหาการถูกกระทำความรุนแรง โครงการฯ พบว่าผู้หญิงถูกกระทำความรุนแรงทางกายโดยการตบตี ชกต่อย ความรุนแรงทางใจโดยการขู่หย่าร้าง และขู่ฆ่า และความรุนแรงทางเพศในลักษณะอื่น เช่น บังคับให้หลับนอน ใช้ความรุนแรงเมื่อต้องการมีเพศสัมพันธ์ และมีความสัมพันธ์ทางเพศกับทั้งภรรยาและลูกสาวของภรรยาที่ติดมาจากสามีคนก่อน ผู้หญิงบางคนติดเชื้อโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์จากสามี สามีไม่ทำงานและติดยาเสพติดซึ่งเป็นเรื่องหลักที่นำไปสู่กระบวนการฟ้องหย่า หลายคนเผชิญกับความอับอายไม่กล้าไปพบแพทย์เพื่อตรวจรักษาเมื่อรู้ว่าติดโรคทางเพศสัมพันธ์ ไม่กล้าบอกสามีให้ใช้ถุงยางอนามัย ไม่กล้าปฏิเสธการร่วมหลับนอน และไม่กล้าบอกเล่าคนในบ้านหรือญาติพี่น้อง ยกเว้นคนที่ไว้ใจ เพราะเกรงว่าคนกล่าวหาว่าสามีตนเป็นคนไม่ดี รูปแบบของความรุนแรงในลักษณะนี้อยู่บนฐานความสัมพันธ์ทางอำนาจที่ไม่เท่าเทียมกันระหว่างเพศ ซึ่งเผยให้เห็นความซับซ้อนของระบบโครงสร้างทางสังคมและวัฒนธรรมที่เป็นลักษณะเฉพาะของพื้นที่
(2) กระบวนการหย่าร้างเป็นขั้นตอนที่ยุ่งยาก ใช้เวลา มีค่าใช้จ่ายสูง เช่น ค่าดำเนินการและค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปยังสำนักงานคณะกรรมการอิสลามในเขตเมืองของแต่ละจังหวัด โดยเฉพาะการบังคับคดีให้สามีจ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูภรรยาและบุตร มีหลายกรณีที่การบังคับคดีไม่สามารถกระทำได้เนื่องจากไม่มีการประสานงานหรือส่งคำร้องและคำฟ้องไปยังศาล ผู้หญิงหลายคนจึงตกอยู่ในสภาพจำยอมและต้องเลี้ยงดูบุตรด้วยตนเอง
ผู้หญิงประสบปัญหาในกระบวนการฟ้องหย่าที่ถูกจำกัดด้วยข้ออ้างเรื่องเงื่อนไขและกฎเกณฑ์ต่างๆ เช่น ไม่สามารถยื่นฟ้องและระบุเหตุผลฟ้องหย่าได้ด้วยการประสบเหตุกับตนเอง ผู้หญิงจำเป็นต้องหาพยานแวดล้อมประกอบกับหลักฐานที่ชัดเจน และพยานเชิงประจักษ์ โดยที่ผู้นำศาสนาในระดับชุมชนและคณะกรรมการอิสลามบางแห่งเห็นว่าผู้หญิงแยกแยะไม่ออกว่าสิ่งใดคือความรุนแรงและสิ่งใดคือปัญหาในการจัดการความรู้สึกของผู้หญิงเอง โดยกล่าวว่าเป็นเพราะผู้หญิงไม่มีความรู้ทางศาสนา หรือเป็นความรู้ที่สามารถใช้เป็นข้อถกเถียงที่มีน้ำหนักได้ ทั้งนี้ ในความคิดเห็นของผู้หญิงยังรู้สึกว่าคนที่ควรมีความรู้ศาสนาดีที่สุดคือผู้ชาย ดังนั้น การตัดสินใจและวินิจฉัยข้อพิพาทต่างๆ จึงยังเป็นอำนาจที่จัดการโดยชาย
ประเด็นที่น่าสนใจที่เป็นข้อท้าทายต่อการทำงานสันติภาพและอำนวยความยุติธรรมในพื้นที่ความขัดแย้งไม่จำกัดเฉพาะกลุ่มผู้หญิงที่ได้รับผลกระทบจากความรุนแรงเนื่องด้วยสถานการณ์ความไม่สงบเท่านั้น กลุ่มคนทำงานภาคประชาสังคมปะทะกับอำนาจเชิงระบบโครงสร้างที่อยู่ในรูปของสถาบันทางศาสนาและความคิดที่ได้รับการถ่ายทอดจากประเพณี การตั้งคำถามที่ท้าทายต่อการตีความศาสนาเพื่อยังประโยชน์ต่ออำนาจที่ไม่เท่าเทียมกันทางเพศยังไม่ปรากฏเห็นอย่างเด่นชัด เช่นเดียวกับรายงานการเข้าถึงความยุติธรรมของผู้หญิงให้ข้อมูลเชิงลึกที่เกี่ยวข้องกับปัญหาของระบบยุติธรรมในชุมชนมุสลิม รวมทั้งการบังคับใช้และตีความกฎหมายอิสลามว่าด้วยครอบครัวและมรดกที่ดำเนินไปในลักษณะของการเลือกปฏิบัติต่อผู้หญิง[xxxvii]
ความรุนแรงเชิงวัฒนธรรมและโครงสร้างในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้สัมพันธ์กันอย่างเด่นชัด ทั้งสะท้อนออกมาในกรณีของความรุนแรงทางเพศและความรุนแรงในครอบครัวที่ผู้หญิงประสบซ้ำซ้อนในช่วงที่เกิดความรุนแรงจากสถานการณ์ความไม่สงบ ขณะที่กระบวนยุติธรรม การไกล่เกลี่ยปัญหาความรุนแรงต่างๆ ดำรงอยู่ในสภาพที่ต้องปรับปรุงอย่างเร่งด่วน เพื่อเสริมศักยภาพให้ผู้หญิงมีอำนาจในการเข้าถึงสิทธิ สวัสดิการ ตลอดจนได้รับสิทธิคุ้มครอง
บทส่งท้ายเพื่อการพิจารณาทบทวนร่วมกับมติ 1325
โครงสร้างและหลักคิดเกี่ยวกับอำนาจความสัมพันธ์หญิงชายกับความรุนแรง ความขัดแย้ง และการมีส่วนร่วมของผู้หญิงในกระบวนการสันติภาพ กระบวนการยุติธรรม และการไม่ลดทอนสิทธิอำนาจของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง โดยเฉพาะผู้หญิงที่ได้รับผลกระทบจากความรุนแรงในระดับรากหญ้าเพื่อเสนอความห่วงใยต่อการแก้ไขปัญหาตามแผนปฏิบัติการของชาติ (National Action Plan) คือประเด็นหลักที่ผู้เขียน เห็นว่ามีความจำเป็นต้องทบทวนองค์ประกอบเหล่านี้ เพื่อให้เกิดความกระจ่างต่อผู้มีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนนโยบายทุกภาคส่วน รวมไปถึงเปิดมุมมองและข้อถกเถียงแนวคิดเชิงนโยบาย ตลอดจนประเด็นเชิงปฏิบัติการของมติ 1325 ที่ประกาศโดยคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติเมื่อ ค.ศ. 2000 ในการนำมาปรับใช้ในพื้นที่ชายแดนภาคใต้
เป็นที่รับรู้กันในกลุ่มผู้ศึกษานโยบายสหประชาชาติว่าดำรงอยู่บนหลักการสากล มติทั่วไปไม่ถือเป็นพันธะที่ต้องปฏิบัติสำหรับประเทศภาคีสหประชาชาติ ยกเว้นมติของคณะความมั่นคงซึ่งเป็นกลไกที่มีอำนาจในการวินิจฉัยและดำเนินมาตรการที่เหมาะสมเพื่อระงับหรือยุติความขัดแย้งและความรุนแรง หมายความว่าไทยในฐานะประเทศรัฐภาคีต้องถือพันธะและจัดทำรายงานความก้าวหน้าเมื่อมติ 1325 มีผลต่อการใช้ และพื้นที่ความขัดแย้งในจังหวัดชายแดนภาคใต้ถูกเลือกในลำดับต้นตามนโยบายของรัฐ ตลอดจนลักษณะของพื้นที่แห่งนี้มีความพิเศษทั้งในมิติประวัติศาสตร์ ความแตกต่างทางชาติพันธุ์และศาสนาของประชาชนส่วนใหญ่ในพื้นที่กับชนในภาคอื่นของประเทศ ประกอบกับความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในระลอกปัจจุบันตั้งแต่ต้นปี 2547 เป็นต้นมา ส่งผลให้เกิดความเสียหายทั้งชีวิต ทรัพย์สิน ความรู้สึกและการมีส่วนร่วมทางการเมืองของผู้คน
ฉะนั้น สารัตถะของการนำกรอบคิดมติ 1325 มาปรับใช้ในท้องถิ่นได้อย่างชอบธรรมมีเป้าหมายเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดต่อการมีส่วนร่วมของผู้หญิงในการตัดสินใจทุกระดับในกระบวนการสันติภาพและความมั่นคง ผู้เขียนเห็นว่าการวิเคราะห์ความสัมพันธ์ของสถานการณ์ความรุนแรงต่อผู้หญิงในพื้นที่กับการกำหนดทิศทางของมติ 1325 ไปพร้อมกับเรียนรู้จากประเทศอื่นๆ สำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าการตระหนักว่ากลไกสากลอื่นที่เอื้อและเสริมการทำงานสันติภาพที่มีประสิทธิภาพและครอบคลุมยังมีอีกด้วย เช่น อนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติในทุกรูปแบบต่อผู้หญิง (CEDAW) ที่ไทยได้ลงนามและมักถูกทักท้วงเพ่งเล็งในเวทีการประชุมนานาชาติถึงความจริงใจในการทำงานส่งเสริมสถานะและบทบาทของผู้หญิง
ท้ายที่สุด เครือข่ายผู้หญิงต่างๆ ในงานภาคประชาสังคมตระหนักดีว่า ปัญหาที่เผชิญหน้าในการดำเนินงานสิทธิผู้หญิง ความยุติธรรม และสันติภาพ[xxxviii] เป็นเช่นไร การทบทวนอุปสรรคที่สำคัญอย่างมากและยากต่อการเปลี่ยนแปลงคือ วัฒนธรรมเชิงโครงสร้าง ระบบความเชื่อและจารีต อำนาจรัฐ รวมทั้งกระบวนการยุติธรรมในประเทศ ที่ทำให้การผลักดันงานผู้หญิง สันติภาพ และความมั่นคงรุดหน้าไปได้มากน้อยเพียงใด สัดส่วนของการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนมีความสำคัญควบคู่ไปกับความไวต่อการเข้าใจประเด็นเพศสภาพที่ดำรงอยู่ในฐานคิดทางศาสนาและวัฒนธรรมท้องถิ่น การขับเคลื่อนงานในกรอบงานสากลนี้ ภาคประชาสังคมต้องช่วยกันใช้พลังความคิดทวนกลับไปมา บางส่วนจำเป็นต้องปรับรื้อและสร้างกรอบกติกาในจัดการปัญหาให้เหมาะสมกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง
[i] บทความฉบับร่างเพื่อเสนอในการประชุมเชิงปฏิบัติการ “การทำความเข้าใจมติคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ 1325 ต่อประเด็นเรื่องศาสนาและวัฒนธรรม ก่อนนำมาปรับใช้ในจังหวัดชายแดนใต้” วันที่ 12 ธันวาคม 2558 ณ ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ จ.ปัตตานี จัดโดยสถานวิจัยความขัดแย้งและความหลากหลายทางวัฒนธรรมภาคใต้ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี (กรุณาติดต่อผู้เขียนก่อนอ้างอิง ผู้เขียนยินดีรับฟังคำติติงและข้อเสนอแนะ (email: [email protected]).
[ii] ตัวอย่างเช่น การถูกข่มขืนของผู้หญิงและผู้ชายในสงคราม พบกรณีผู้หญิงถูกข่มขืนในอัตราที่สูงกว่ามาก ไม่ว่ากระทำในนามของชาติ ศาสนา ชาติพันธุ์ และแนวคิดทางการเมือง ดูรายละเอียดใน Chinkin, Christine. 1994. “Rape and Sexual Abused of Women in International Law”. European Journal of International Law. 5 (3): 326-341.
[iii] ปัจจุบันมีทั้งหมด 43 ประเทศที่มีแผนปฏิบัติการเพื่อใช้ในการขับเคลื่อนมติ 1325 โปรดดูรายละเอียดและติดตามจาก iKNOW politics: International Knowledge Network of Women in Politics. List of National Action Plans for the Implementation of UNSCR 1325. [Online]. Available: http://iknowpolitics.org/en/knowledge-library/website-database/list-national-action-plans-implementation-unscr-1325. (Access date 2 December 2015).
[iv] ตัวอย่างเพิ่มเติม Federal Ministry for European and International Affairs. 2012. Revised National Action Plan on Implementing UN Security Council Resolution 1325 (2000). Vienna: Inter-ministerial Working Group.
[v] ดูเอกสารฉบับแปลในนาม กลุ่มองค์กรเอกชน ผู้หญิง สันติภาพและความมั่นคง สำหรับการประชุมเชิงปฏิบัติการช่วงการประชุม CSW ครั้งที่ 46. (ไม่ปรากฏปีพิมพ์). มติสภาความมั่นคง. มปท.
[vi] เป็นอนุสัญญาฉบับแรกที่มีเนื้อหาครอบคลุมประเด็นที่เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนของผู้หญิงในทุกด้าน กำหนดแนวทางปรับปรุงและพัฒนาสถานภาพผู้หญิง ได้รับการรับรองจากที่ประชุมสมัชชาแห่งสหประชาชาติเมื่อ ธันวาคม 2522 ประเทศไทยได้เข้าเป็นภาคีอนุสัญญาดังกล่าว และมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 8 กันยายน 2528
[vii] เช่น มูลนิธิผู้หญิง จัดทำคู่มื่อเพื่อการอบรม CEDAW โดยได้รวมมติ 1325 ที่ถือว่าเป็นมติแรกของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาติใช้มุมมองของความสัมพันธ์หญิงชายในการแก้ไขปัญหาการขัดแย้ง และส่งเสริมให้มีความละเอียดอ่อนในเรื่องหญิงชายในการแก้ไขปัญหา รวมทั้งส่งเสริมบทบาทผู้หญิงในการแก้ไขและจัดการกับปัญหาความขัดแย้ง และเข้าสู่กระบวนการสันติภาพ ดูรายละเอียดใน ศิริพร สโครบาเนค และคณะ. 2551. คู่มือการอบรมอนุสัญญาขจัดการเลือกปฏิบัติทุกรูปแบบต่อสตรีในปริบทเพศสภาพ ความขัดแย้ง และความรุนแรง. มูลนิธิผู้หญิง สนับสนุนโดยกองทุนเพื่อการพัฒนาสตรีแห่งสหประชาชาติ.
[viii] International Peace Institute. “Gender Equality Brings Peace Between States”, panel discussion on March 12, 2015. (ออนไลน์). แหล่งที่มา: http://www.ipinst.org/2015/03/gender-equality-brings-peace-between-states#8. เข้าถึงข้อมูลเมื่อ 1 ธันวาคม 2558.
[ix] กระทรวงการต่างประเทศ. “การอภิปรายเรื่อง Gender Equality and Peaceful Societies: From Evidence to Action”, (ออนไลน์) แหล่งที่มา: http://www.mfa.go.th/main/th/media-center/29/54369-%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0% B8%A3%E0%B8%AD%E0%B8%A0%E0%B8%B4%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B2%E0%B8%A2%E0%B9%80%E0%B8%A3%E0%B8%B7%E0%B9%88%E0%B8%AD%E0%B8%87-Gender-Equality-and-Peaceful-Soci.html. เข้าถึงข้อมูลเมื่อ 4 ธันวาคม 2558.
[x] สำนักงานส่งเสริมความเสมอภาคหญิงชาย สำนักงานกิจการสตรีและครอบครัว. “สตรี สันติภาพ และความมั่นคงปลอดภัย”. (ออนไลน์). แหล่งที่มา: http://www.owf.go.th/wofa_sub/home.php?mode=normal&mod=news2.news_inner_detail& id=220&searchMonth= &searchYear=. และ MCOT. “องค์กรสตรีหนุนมติคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ 1325”. (ออนไลน์). แหล่งที่มา: http://www. mcot.net/site/content?id=507c0b290b01da354d000009#.VmQZ2tJ97IX. เข้าถึงข้อมูลเมื่อ 3 ธันวาคม 2558.
[xi] โรงเรียนนักข่าวชายแดนใต้ Deep South Watch. “รัฐร่างนโยบายให้ผู้หญิงร่วมสร้างสันติภาพ เผยบนโต๊ะเจรจา 31 ครั้ง ผู้หญิงมีส่วนร่วมน้อย”. (ออนไลน์) แหล่งที่มา: http://www.deepsouthwatch.org/dsj/7778. เข้าถึงข้อมูลเมื่อ 5 ธันวาคม 2558.
[xii] สำนักงานกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์. 2555. แผนพัฒนาสตรี ในช่วงแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 11 (พ.ศ. 2555-2559). กรุงเทพฯ: สำนักงานกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว.
[xiii] ตัวอย่างงานวิชาการที่วิพากษ์บทบาทขององค์การสหประชาชาติในการดำเนินนโยบายและแผนงานด้านผู้หญิง สันติภาพ และความมั่นคง รวมทั้งแนวคิดและการปฏิบัติการที่ดำรงอยู่บนฐานคิดแบบราชการ ระบบปิตาธิปไตย และลัทธิการทหาร ดูรายละเอียดใน
1. Cockburn, Cynthia. 2010. “Gender Relations as Causal in Militarization and War.” International Feminist Journal of Politics. 12 (2). Routledge : 139-157.
2. Klot, Jennifer F. 2015. The United Nation Security Council’s Agenda on ‘Women, Peace and Security’: Bureaucratic Pathologies and Unrealised Potential. Doctoral Thesis of the Department of Social Policy, London School of Economics.
3. Otto, Dianne. 1996. “Holding Up Half The Sky, But For Whose Benefit?: A Critical Analysis of the Fourth World Conference on Women.” Australian Feminist Law Journal. 6 (7): 7-30.
[xiv] เกิดการเคลื่อนไหวโดยกลุ่มองค์กรพัฒนาเอกชนด้านผู้หญิงและสงคราม (NGO Working Group on Women and Armed Conflict)
[xv] Pratt, Nicola and Richter-Devroe, Sophie. 2011. “Critical Examining UNSCR 1325 on Women, Peace and Security.” International Feminist Journal of Politics. 13 (4): 489-503.
[xvi] ได้แก่ (1) ความยากจน (2) ความไม่เสมอภาคทางการศึกษาและการฝึกทักษะ (3) ความไม่เสมอภาคในการเข้าถึงระบบสุขภาพ (4) ความรุนแรงต่อผู้หญิง (5) ผลกระทบของความขัดแย้งและภาวะสงครามที่มีการใช้กำลังอาวุธ (6) โครงสร้างและนโยบายเศรษฐกิจตลอดจนการเข้าถึงทรัพยากรการผลิตของผู้หญิง (7) ความไม่เท่าเทียมเชิงอำนาจและการตัดสินใจ (8) ขาดกลไกเชิงสถาบันเพื่อเสริมความก้าวหน้าของผู้หญิง (9) ขาดการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิมนุษยชนของผู้หญิง (10) เจตคติที่ลดคุณค่าผู้หญิงและความไม่เท่าเทียมถึงการมีส่วนร่วมในการสื่อสาร คมนาคม (11) ความไม่เท่าเทียมกันระหว่างหญิงชายในการจัดการทรัพยากรและปกป้องสิ่งแวดล้อม และ (12) การดำรงอยู่ของการเลือกปฏิบัติและการละเมิดสิทธิเด็กผู้หญิง
ต่อมามีการผนวกรวมข้อห่วงใยทั้ง 12 เข้าในปฏิญญาแห่งสหัสวรรษในปี 2000 อันเป็นที่มาของเป้าหมายการพัฒนาแห่งสหัสวรรษ (Millennium Development Goals: MDG) 8 ข้อ โดยรัฐบาลจาก 189 ประเทศสมาชิกได้ให้สัตยาบันสัญญาว่าจะปฏิบัติพันธกิจนี้ให้สัมฤทธิ์ผลภายในปี 2015 ได้แก่ (1) ขจัดความยากจน (2) ให้ทุกเข้าถึงศึกษาขั้นพื้นฐาน (3) ส่งเสริมความเท่าเทียมทางเพศและส่งเสริมบทบาทผู้หญิง (4) ลดอัตราการตายของเด็ก (5) พัฒนาสุขภาพหญิงมีครรภ์ (6) ต่อสู้โรคเอดส์ มาเลเรีย และโรคสำคัญอื่นๆ (7) รักษาและจัดการสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน และ (8) ส่งเสริมการมีส่วนร่วมเพื่อพัฒนาประชาคมโลก
[xvii] ดู UNSG 2008, United Nations Peacebuilding Commission เพิ่มเติมใน http://www.un.org/en/peacebuilding/ doc_sg.shtml
[xviii] มติที่สนับสนุนให้ยอมรับว่าความรุนแรงทางเพศในสถานการณ์สงครามและความขัดแย้งเป็นเทคนิคการทำสงคราม และเป็นส่วนสำคัญต่อการขับเคลื่อนงานสันติภาพและความมั่นคง จำเป็นต้องมีการดำเนินการด้านสันติภาพและความยุติธรรม ดูเพิ่มเติมใน http://www. unwomen.org/en/docs/2008/6/un-security-council-resolution-1820
[xix] เป็นมติที่เสริมให้เกิดความเชี่ยวชาญทางกระบวนการยุติธรรมและมีการรายงานผล ดูรายละเอียดจาก http://www.unrol.org/ doc.aspx?n=N0953446.pdf
[xx] เป็นมติที่เน้นการมีส่วนร่วมของผู้หญิงในกระบวนการสันติภาพ การฟื้นฟูเยียวยา และการวางแผนงานและทรัพยากร โปรดดูhttp://www. peacewomen.org/sites/default/files/1889_guideto1889_iss_sep2010_0.pdf
[xxi] มติ 1960 กำหนดกรอบความรับผิดชอบเรื่องความรุนแรงทางเพศที่เกี่ยวข้องกับความขัดแย้ง ดูรายละเอียดเพิ่มเติมใน http://www.securitycouncilreport.org/atf/cf/%7B65BFCF9B-6D27-4E9C-8CD3-CF6E4FF96FF9%7D/WPS%20SRES%20 1960.pdf
[xxii] เป็นมติที่ให้ความสำคัญกับการจัดการความรุนแรงที่ผู้หญิงได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ความขัดแย้ง ดูรายละเอียดใน http:// womenpeacesecurity.org/media/pdf-scr2106.pdf
[xxiii] มตินี้เน้นให้เห็นถึงความสำคัญของการมีส่วนร่วมของผู้หญิงในกระบวนการสันติภาพ ป้องกัน และแก้ไขสถานการณ์ความขัดแย้งในทุกมิติ ย้ำถึงความต้องการ ความสามารถ และผลกระทบต่อผู้หญิงในกระวนการสันติภาพ โปรดดูเพิ่มเติมใน http://unscr.com/en/resolutions/doc/2122
[xxiv] ดูเพิ่มเติมในงานของ McLeod, Laura. 2012. “Experiences, Reflections, and Learning: Feminist Organization, Security Discourse and SCR 1325” in Making Gender Making War: Violence, Military and Peace Keeping Practices. Annica Kornsell and Erica Svedberg (eds). New York: Routledge (Advances in Feminist Studies and Intersectionality), 154-174. และ McLeod, Laura. 2015. Personal-Political Imaginations: Feminism, Gender and Security in Serbia. [Online]. Available: http://www.e-ir.info/2015/07/17/personal-political-imaginations-feminism-gender-and-security-in-serbia/. (Access date 6 December 2015).
[xxv] ดู Seifert, Ruth. 1994. "War and Rape: A Preliminary Analysis." in Mass Rape: The War Against Women In Bosnia-Herzegovina, edited by A. Stiglmayer. Lincoln: Univeristy of Nebraska Press, 54-72. และ Hubbard, Jessica Alison. 1994. Breaking the Silence: Women’s Narratives of Sexual Violence During the 1994 Rwandan Genocide. Thesis in Master of Science in Sociology at Virginia Polytechnic Institute and State University.
[xxvi] ดูวิธีการวิเคราะห์เพิ่มเติมในงานของ Klot, Jennifer F. 2015. อ้างแล้ว หน้า 66. และ Yuval-Davis, Nira. 2006. “Intersectionality and Feminist Politics” European Journal of Women Studies. Sage Publications. 13 (3): 193-209.
[xxvii] อ้างอิงจากที่ประชุม Asia-Pacific Women’s Alliance for Peace and Security (APWAPS) ที่ผู้เขียนเข้าร่วมแลกเปลี่ยนความเห็นร่วมกับตัวแทนเครือข่ายภาคประชาสังคมหญิงในภาคใต้ของไทยและที่อื่นๆ ในการประชุมระดับภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกครั้งแรกของที่ปรึกษาภาคประชาสังคม (the first regional CSO consultation for the Global Study on the Implementation of SCR 1325) ได้เสนอความเห็นให้กับกลุ่มการศึกษาระดับโลกเพื่อเสนอการปรับเปลี่ยนท่าทีในการขับเคลื่อนเชิงปฏิบัติการมติ 1325 ในที่ประชุมระดับสูงต่อไปตามลำดับ เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2015 ณ กรุงกาฐมาณฑุ ประเทศเนปาล การประชุมจัดโดย APWAPS, Saathi Nepal, Cordaid, GNWP และ UN Women. ดูเพิ่มเติมใน APWAPS. 2015. ASIA Pacific Women Directly Address Regional Peace and Security Concerns to 1325 Review. (ออนไลน์). http://apwaps.net/2015/05/07/asia-pacific-women-directly-address-regional-peace-and-security-concerns-to-1325-review/. เข้าถึงข้อมูลเมื่อ 5 ธันวาคม 2558.
[xxviii] ดูรายละเอียดเพิ่มเติมจาก Insan Foundation Trust. 2013. Women Action for Peace and Non-Violence. Lahore: Weber Art and Design. หรือ http://www.insanfoundationtrust.org
[xxix] เวปไซต์ขององค์กร รวมทั้งรายงานกิจกรรมต่างๆ http://www.iwraw-ap.org
[xxx] เวปไซต์ของสหพันธ์ http://apwaps.net
[xxxi] ดูเพิ่มเติมจากเอกสารรายงานต่อ Department of Foreign Affairs and Trade. ของ National Women’s Council of Ireland. August 2014. Consultation on Ireland’s Second National Action Plan on Women, Peace and Security หรือ www.nwci.ie.
[xxxii] Richter-Devroe, Sophie. 2009. ‘“Here, It’s Not about Conflict Resolution – We Can Only Resist”: Palestinian Women’s Activism in Conflict Resolution and Non-Violent Resistance’, in Al-Ali, Nadje. and Pratt, Nicola. (eds). Women and War in the Middle East. (London: Zed Books), 158-190.
[xxxiii] Pratt, Nicola. 2011. “Iraqi Women and UNSCR 1325: An Interview with Sundus Abbas, Director of the Iraqi Women's Leadership Institute, Baghdad, January 2011”. International Feminist Journal of Politics, 13 (4): 612-615.
[xxxiv] เอกสารรายงานต่อมูลนิธิรักษ์ไทย มูลนิธิเพื่อนหญิง และสหภาพยุโรป. อัมพร หมาดเด็น ทวีลักษณ์, พลราชม และ มนวัธน์ พรหมรัตน์. 2558. รายงานผลการประเมินปลายโครงการการพัฒนาเพื่อขยายบริการภายในชุมชนอย่างยั่งยืนสำหรับผู้หญิงและเด็กที่ได้รับผลกระทบจากความไม่สงบและความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ผู้เขียนได้รับอนุญาตให้เผยแพร่ข้อมูลบางส่วนจากมูลนิธิรักษ์ไทย)
[xxxv] กรณีการมีภรรยามากกว่าหนึ่งหรือมีภรรยาได้สี่คนในสังคมมุสลิม มีการอภิปรายบัญญัติข้อนี้แตกต่างกันออกไป ในการตีความศาสนบัญญัติประเด็นดังกล่าวโดยนักการศาสนากระแสหลักยอมรับให้ถือปฏิบัติได้โดยที่รัฐหรือชุมชนต้องจัดโครงสร้างทางสังคมไว้รองรับ เช่นกฎหมายและสวัสดิการรองรับรูปแบบการแต่งงาน การจัดการครอบครัวและมรดก ในขณะที่พื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ใช้ศาสนาอิสลามในเรื่องกฎหมายครอบครัวและมรดก กลุ่มตัวแทนนักการศาสนาในฐานะดาโต๊ะยุติธรรมและคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดยอมรับเงื่อนไขดังกล่าวนี้โดยหลักการและดำเนินกิจกรรมในบทบาทกลไกองค์กร ทั้งเห็นว่าเป็นพื้นที่เชิงสิทธิที่จะเลือกเป็นภรรยาคนที่สอง สาม และสี่ของผู้หญิงอีกด้วย ในขณะที่การตีความโดยนักการศาสนากระแสรองรวมทั้งนักเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องสิทธิผู้หญิงที่ทำงานประเด็นศาสนามองว่า การมีภรรยามากกว่าหนึ่งคนถึงสี่คนในยุคของศาสดาดำรงอยู่ภายใต้บริบททางสังคมและเหตุผลที่ต่างกัน ครอบครัวและผู้หญิงที่มีชีวิตการแต่งงานในลักษณะนี้ถือว่าเป็นผู้ที่ถูกละเมิดสิทธิ เนื่องจากหาความเป็นธรรมไม่ได้ ทั้งยังก่อให้เกิดปัญหาอื่นตามมา เช่น การไม่ได้รับการเอาใจใส่และถูกทอดทิ้งให้รับผิดชอบภาระการเลี้ยงดูบุตรเพียงลำพัง (สนทนากลุ่มนักวิชาการศาสนาหญิง จ.ปัตตานี 23 พ.ย. 57 และดูการอภิปรายประเด็นการมีภรรยามากกว่าหนึ่ง (Polygamy) ใน Nina Nurmila. 2009. Women Islam and Everyday Life: Renegotiating Polygamy in Indonesia, London/New York: Routledge.
[xxxvi] หะดิษ หรือ บางตำราเขียนว่าฮะดิษ เป็นหลักฐานขั้นรองในการอธิบายศาสนบัญญัติในอิสลาม เพื่อใช้ในการสนับสนุนหลักการทางศาสนาในเชิงแนวคิดและปฏิบัติ หะดิษมาจากคำพูดของศาสดา ท่าทีหรือการยอมรับและการปฏิเสธของศาสดา และการกระทำหรือภาคปฏิบัติการของศาสดา
[xxxvii] ดูรายละเอียดใน คณะกรรมการนักนิติศาสตร์สากลและมูลนิธิยุติธรรมเพื่อสันติภาพ. 2555. การเข้าถึงความยุติธรรมของผู้หญิง: สำรวจอุปสรรคปละการเปลี่ยนแปลงที่จำเป็น. คณะกรรมการนักนิติศาสตร์สากล (International Commission of Jurists- ICJ) และมูลนิธิยุติธรรมเพื่อสันติภาพ (Justice for Peace Foundation-JPF): 51-58.
[xxxviii] เช่น เครือข่ายผู้หญิงภาคประชาสังคมชายแดนใต้มีความเชี่ยวชาญในการจัดการปัญหาเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากความรุนแรง ดูเพิ่มเติมจาก โรงเรียนนักข่าวชายแดนใต้ Deep South Watch. “Civic Women อบรมอาสาสมัครผู้หญิง เยียวยาอย่างมีความรู้” (ออนไลน์). แหล่งที่มา: http://www.deepsouthwatch.org/dsj/7098. เข้าถึงข้อมูลเมื่อ 6 ธันวาคม 2558. หรือเครือข่ายผู้หญิงยุติความรุนแรงแสวงหาสันติภาพ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ล่าสุดได้ออกมาร่วมรณรงค์เรียกร้องการสร้างพื้นที่ปลอดภัย ดูเพิ่มเติมจาก โรงเรียนนักข่าวชายแดนใต้ Deep South Watch. “เครือข่ายผู้หญิง จชต. เรียกร้องการสร้างพื้นที่ปลอดภัยที่ทุกฝ่ายต้องปฏิบัติ” (ออนไลน์). แหล่งที่มา: http://www.deepsouthwatch.org/dsj/7837. เข้าถึงข้อมูลเมื่อ 6 ธันวาคม 2558. จึงเห็นได้ว่า การมีส่วนร่วมของผู้หญิงในกระบวนการสันติภาพในพื้นที่เกิดขึ้นแล้ว