Skip to main content

เอกรินทร์ ต่วนศิริ

          เมื่อศูนย์กลางอำนาจรัฐทางการเมืองที่กรุงเทพฯเกิดภาวะฉุกเฉินหรือสั่นคลอน ผู้คนจำนวนมากในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้แต่เฝ้าดูอย่างเงียบๆและเปรียบเทียบกับประสบการณ์ทางการเมืองในพื้นของตนเอง ปัญหาความรุนแรงที่เกิดขึ้นในภาคใต้ อาจจะเป็นสิ่งที่คนทั่วประเทศไทยต้องเรียนรู้และถอดบทเรียนทั้งผู้คนธรรมดาและเจ้าหน้าที่รัฐ เพราะว่าสิ่งที่เกิดขึ้นในกรุงเทพฯขณะนี้ มีบางส่วนบางตอนที่ผู้คนในพื้นที่ต้องเผชิญมาโดยตลอดระยะหกปีกว่าที่ผ่านมา ความรู้สึก ความรู้ การเรียนรู้ อาจจะเกิดขึ้นจากพื้นที่ของผู้คนต่างวัฒนธรรมที่ต้องเจอกับอำนาจรัฐแข็งกระด้างที่เหมือนกัน หรือภาวะลักลั่นของอำนาจรัฐในการจัดการปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้น่ามกลางบริบทใหม่และสิ่งที่เราและรัฐไม่เคยเจอมาก่อน

          หากจะกล่าวถึงปัญหาที่เกิดขึ้น บางส่วนบางตอนที่เหมือนกับเรื่องราวที่เกิดขึ้นในจังหวัดชายแดนภาคใต้ซึ่งจะขอเปรียบเทียบและชวนขบคิด มี 4 ประเด็นดังนี้

• ประเด็น การชุมนุมทางการเมือง

          กรณีการสลายการชุมนุม หน้า สภ.อ ตากใบ จังหวัดนราธิวาส ทำให้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมาก มีคำร่ำลือหรือบทสนทนาของผู้คนในพื้นที่จำนวนมากสะท้อนความคับข้องใจ น้อยใจ ระหว่างการชุมนุมของพวกเค้ากับการชุมนุมของกลุ่มต่างๆที่ใช้พื้นที่การชุมนุมที่กรุงเทพฯ เช่น การชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย กรณีการยึดทำเนียบรัฐบาล ยึดสนามบิน การชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดงที่ยึดพื้นที่สี่แยกประสงค์ย่านธุรกิจของกลุ่มทุนข้ามชาติ

          การประกาศใช้ พรก.สถานการณ์ฉุกเฉิน กรณีชายแดนภาคใต้ หมู่บ้านในพื้นที่จำนวนมากได้ถูกประการให้เป็น “พื้นที่สีแดง” และมียุทธศาสตร์การปิดล้อม บุก ค้น หมู่บ้าน ผู้คนจำนวนมากถูกเชิญตัว ไม่ว่าจะเป็นคนแก่ คนหนุ่ม ผู้หญิง หรือมีกระทั่งเด็ก และมีหลายกรณี ก็ได้สร้างความไม่พอใจให้แก่ผู้คนในพื้นที่ อย่างเช่น กรณีอิหม่ามยะผา ที่ได้เสียชีวิตระหว่างการเดินทางไปค่ายทหาร ซึ่งอยู่ในความควบคุมของเจ้าหน้าที่

          ทว่าการชุมนุมที่กรุงเทพฯ ของกลุ่มต่างๆ โดยเฉพาะกลุ่มทางการเมือง สนับสนุนโดยฝ่ายการเมืองผ่านระบบพรรคต่างๆ กับได้เลือกปฎิบัติอีกอย่าง มีการประณีประนอม ยกเว้นการชุมนุมของ “สมัชชาคนจน” ที่รัฐบาลชวน หลีกภัย ได้ปล่อยหมามากัดชาวบ้าน ซึ่งสิ่งเหล่านี้ไม่ได้ถูกนำมาปฎิบัติในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้เลย

          หากจะกล่าวถึงการชุมนุมก่อนหน้านี้ในจังหวัดชายแดนภภาคใต้ในปี 2550 ได้มีกลุ่มชุมนุมผู้หญิงปิดหน้าทำหน้าที่และแสดงเจตจำนงไม่ให้ทหารเข้าในพื้นที่ โดยการปิดกั้บนท้องถนนเล็กๆทางเข้าหมู่บ้านเกิดขึ้นจำนวนมาก วิธีการการแก้ไขของเจ้าหน้าที่ก็คือ การจัดให้มีทหารพรานผู้หญิงเพื่อให้เป็นหน่วยนำในการตรวจค้นผู้หญิงี่ปิดกั้นบนท้องถนน

          กระทั่งผู้คนจำนวนไม่น้อยในพื้นที่ เห็นด้วยกับวาทกรรมทางการเมืองของกลุ่มคนเสื้อแดงเรื่อง “สองมาตราฐาน” ถึงแม้ว่าวิธีการการชุมนุมทางการเมืองเพื่อแสดงพลังในการไม่เห็นด้วยกับวิธีการของรัฐ ในสังคมไทย ที่ไม่มีหลักเกณฑ์และเรียนรู้จากประสบการณ์อันเลวร้ายของแนวคิดที่จะปราบปรามและสลายการชุมนุมเพียงอย่างเดียว เพื่อที่จะให้ตนเองรู้สึกว่าจะได้ทำอะไรบ้าง และสามารถแก้ไขปัญหาได้

• ประเด็น การเจรจา (Negotiation)

          กรณีปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ รัฐและรัฐบาลทุกสมัยปฎิเสธปิดกันโอกาสในการเจรจากับกลุ่มที่ก่อการไม่สงบ อย่างน้อยๆการป่าวประกาศให้สาธารณชนรับรู้เรื่องการเจรจา ว่ารัฐไม่มีนโยบายในการเจรจากับกลุ่มที่ก่อการความไม่สงบอย่างชัดเจน

          "ฝ่ายผู้ก่อการยัง พยายามยื่นข้อเสนอผ่านตัวกลางตลอด ซึ่งเราไม่รู้เป็นเรื่องจริงหรือไม่ แต่ถือเป็นความเคลื่อนไหวทางการเมืองที่ต้องการต่อรองและกดดันรัฐบาล ไม่ได้มุ่งแก้ปัญหาในพื้นที่อย่างแท้จริง ดังนั้น ขอยืนยันว่ารัฐบาลชุดนี้จะไม่มีการเจรจา ตราบใดที่ฝ่ายอุดมการณ์กับฝ่ายปฏิบัติการยังไม่สามารถคุยกันได้ แล้วจะให้เราไปคุยกับใครที่ไหน เพราะคุยอย่างไรมันก็ไม่จบ" คำให้สัมภาษณ์ นายปณิธาน วัฒนายากร โฆษกรัฐบาล
(จาก น.ส.พ.มติชน เมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2552)

          การปิดกั้นโอกาสเพื่อที่จะพูดคุยกับกลุ่มก่อการฝ่ายต่างๆ ทำให้รัฐบาลสามารถที่จะเข้าใจหลักคิดและกลุ่มที่เห็นต่างอย่างรัฐ จนกระทั่งทุกวันนี้ รัฐบาลก็ยังไม่สามารถที่จะเข้าใจปัญหาชายแดนภาคใต้อย่างเพียงพอ

          ความรุนแรงความขัดแย้งทางความคิดที่เกิดขึ้นในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ดูเหมือนว่าหลายๆฝ่ายในปัจจุบันได้ยอมรับและมิอาจจะปฎิเสธได้ว่ามีกลุ่มอุดมการณ์ในการเรียกร้องในการต่อสู้มีอยู่จริง ไม่ใช่ เป็นกลุ่มค้ายา หรือมือที่สามอะไรทั้งสิ้น ทว่ารัฐบาลก็ยังไม่สามารถที่จะดำเนินการเจรจาให้เกิดขึ้นได้ หรือแสดงความพยายามที่จะต้องการเจรจา ข้ออ้างลอยๆแบบไร้น้ำหนัก ที่ว่า “เราไม่รู้จะเจรจากับใคร เพราะว่ามีหลายกลุ่ม และไม่รู้ว่าใครที่เป็นตัวจริงในการหยุดความรุนแรง”

          ในสถานการณ์การเมืองที่กรุงเทพฯในปัจจุบัน ดูเหมือนว่าหลายฝ่ายต้องการให้เกิดการเจรจาระหว่างกลุ่มคนเสื้อแดงและฝ่ายรัฐบาลซึ่งถือว่าเป็นคู่ความขัดแย้งหลักในปัจจุบัน แต่ดูเหมือนว่าการเจรจาจะเป็นเรื่องที่เลือนลางลงไปในสถานการณ์ปัจจุบัน เพราะว่าด้วยทัศนคติอันแรวแคบที่ต้องการแค่ “ชนะ แพ้”

• ประเด็นสันติวิธี (Non Violence)

          ข้อถกเถียงเกี่ยวกับแนวคิดสันติวิธีเกิดขึ้นจำนวนมาก ท่ามกลางความรุนแรงในชายแดนภาคใต้ นักวิชาการ นักสันติวิธี นักเรียน นักศึกษา จำนวนมาก ได้เข้ามาแลกเปลี่ยน และแสดงทัศนคติแบบสันติวิธี ที่ไม่ต้องการเห็นความรุนแรงที่เกิดขึ้นในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ทว่าสิ่งที่น่าสนใจก็คือ สันติวิธีของนักวิชาการกับสันติวิธีของชาวบ้านอาจจะมีความแตกต่างและมีการรับรู้ (Perception) ที่แตกต่างกัน ช่องว่างของความเข้าใจสันวิธีระหว่างผู้คนที่อยู่ในพื้นที่ของความขัดแย้ง กับผู้คนอยู่บนนอกพื้นที่ความขัดแย้ง

          สันติวิธี คงต้องเข้าใจว่า ชาวบ้านและผู้คนธรรมดาจำนวนมากมีโอกาสน้อยมากในชีวิตที่จะใช้ความรุนแรงกับเจ้าหน้าที่รัฐหรือระบบโครงสร้างของรัฐ แต่รัฐต่างหากที่ก่อการร้ายกับประชาชนธรรมดาเสมอ คงต้องกล่าวว่า รัฐที่ก่อความรุนแรงทางกายภาพ ทางโครงสร้าง ทางวัฒนธรรม การที่กล่าวเช่นนี้ ไม่ได้สนับสนุนในการใช้ความรุนแรงของประชาชน ทว่าเราคงต้องเพ่งพินิจพิเคราะห์ที่อำนาจใหญ่ที่มีอำนาจมากกว่า และคงต้องอาศัยความเป็นจริงทางสังคม ที่ชาวบ้านธรรมดา ได้ลุกขึ้นมาประท้วงรัฐ หรือใช้วิธีการที่นอกคำจำกัดความของสันติวิธี เพราะว่านี้คือสังคมการเมืองของไทย ที่เป็นบทสะท้อนปัญหาที่สะสมมานาน ที่ไม่ได้เกิดขึ้นในช่วงการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 แต่มันเป็นบทสะท้อนถึงความไม่เท่าเทียมของสังคมไทย

          แม้ว่าความท้าทายที่หนักหนาท่ามกลางความขัดแย้งที่รุนแรง คงต้องกล่าวถึง “สันติวิธีที่มีสติ” สันติวิธีที่เข้าใจความเป็นการเมือง สันติวิธีที่ต้องการความรับฟังจากคนที่ไม่สันติวิธี

• ประเด็น ปฎิรูปสังคม ( การเมือง ) Reform Social (Politic)

          การเคลื่อนไหวของกลุ่มภาคประชาสังคมในจังหวัดชายแดนภาคใต้ จำนวน 23 องค์กร เป็นการเคลื่อยนไหวที่มีหมายมุ่งเพื่อต้องการปฎิรูประบบสังคม การเมือง เพื่อที่จะหาที่ทางในการปรับเปลี่ยนการเมืองการปกครองให้สอดคล้องกับผู้คนในพื้นที่ ซึ่งได้มีความพยายามในการเสนอรูปแบบการปกครองพิเศษให้เกิดขึ้นในพื้นที่ โดยมีการศึกษาวิจัยในพื้นที่ และพยายามดูรูปแบบการเมืองการปกครองในรูปแบบต่างๆภายในประเทศ ถอดบทเรียนจากประเทศต่างๆ เพื่อให้เกิดการปฎิรูปการเมือง เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้คนในพื้นที่ ซึ่งการทำงานท่ามกลางอำนาจที่แข็งและมีโยงใยตะข่ายของระบบราชการได้ทำให้เกิดความท้าทายของผู้คนที่พยายามขับเคลื่อนจำนวนมาก อย่างไรก็ตาม การเคลื่อนไหวเหล่านี้ ก็คงต้องฝ่าวงล้อมของทัศนคติแบบเดิมๆ ดูเหมือนว่าการเมืองในระบบ(สภา) คงไม่สามารถที่จะเอื้ออำนวยให้แก่ผู้คนในท้องถิ่นได้เท่าที่ควร แต่การเมืองของประชาชนคนธรรมดา อาจจะสันติบ้าง ไม่สันติบ้าง

          สถานการณ์การเมืองในกรุงเทพฯดูเหมือนว่า หลายๆฝ่ายต้องการที่จะปฎิรูป ทั้งรัฐธรรมนูญ ที่สร้างปัญหา ตั้งแต่ตอนร่าง จนกระทั้งประชามติ ท่ามกลางรัฐบาลรัฐประหาร และต้องการปฎิรูปสถาบันการเมืองหลักของประเทศจนถึงท้องถิ่น

          รัฐบาลไม่เคยหรือริ่เริมความกล้าหาญที่จะลงมือทำในการปฎิรูปการเมืองของประชาชนคนธรรมดา เพราะว่ามั่วแต่ไปแก้ปัญหาให้แก่ตนเอง จนไม่สามารถเป็นรัฐบาลของคนทั้งประเทศได้ เป็นแค่ได้รัฐบาลของชนชั้นกลางในกรุงเทพฯและชนชั้นกลางในต่างจังหวัดเท่านั้น

          ปัญหาชายแดนภาคใต้จึงไม่สามารถขยับไปข้าหน้าได้ภายใต้การนำของรัฐบาลอภิสิทธิ์ ดูเหมือนว่าจะจริงจังในการแก้ไขปัญหา แต่รัฐบาลอภิสิทธิ์ ได้แต่คอยทำหน้าที่ฟังพร้อมเดินตามระบบราชการและแก้ไขปัญหาในรูปแบบราชการ ซึ่งอาจจะไม่เพียงพอกับสถานการณ์ในปัจจุบัน

          บทสะท้อนหน้าตาของสังคมที่เราอาศัยอยู่ เป็นบทสะท้อนกลับที่เราเองก็รับไม่ได้กับความเป็นจริงทางสังคม เพราะว่าเราละเลยคน(ชนบท)ส่วนใหญ่และเข้าใจถึงความต้องการของพวกเขาน้อยเกินไป พวกเขาก็ต้องการความสงบ พวกเขาก็ต้องการความสะดวกสบาย พวกเขาก็ต้องการความรถไฟที่ดีๆสำหรับการเดินทาง ไม่ต้องถึงรถไฟฟ้ามหานครอย่างคนกรุงเทพฯ

          โจทย์ใหญ่ปัญหาที่เกิดขึ้นภายในสังคมไทย คงต้องอาศัยความกล้าหาญของผู้คนทั้งสังคมที่ต้องฝ่าฟันสิ่งที่เกิดขึ้นในสังคมไทย แม้ว่าวันนี้ โจทย์ใหญ่ของครอบครัวเล็ก สามสิบกว่าครอบครัวในชายแดนภาคใต้ ที่ได้เสียชีวิตในวันที่ 28 เมษายน คงเป็นวันที่พวกเขาจำได้ดีที่สุด เพราะว่า 6 ปี ที่ผ่านมา หัวหน้าครอบครัว พี่ชาย น้องชาย ลูก หลาน ของพวกเขา ได้เคยถูกกล่าวหาว่าเป็น “พวกก่อการร้าย” และโจรกระจอก ที่คิดจะสู้กับเจ้าหน้าที่รัฐที่มีปืนกับแค่มีดพร้าของตน เราจะขบคิดด้วยกันว่า เราจะพยายามให้มีการระลึกถึงวันครบรอบการตายของผู้คนธรรมดาโดยการสังหารของรัฐ และไม่พยายามสร้างวันครบรอบเหตุการณ์ความรุนแรงใหม่ๆเกิดขึ้นอีกในสังคมไทยที่มีความจำสั้นต่อคนธรรมดา