Skip to main content

วิทยานิพนธ์หัวข้อ "การปฏิบัติการข่าวสาร, ข่าวลือ และแบบแผนพฤติกรรมฝูงชนวุ่นวาย : กรณีศึกษาเปรียบเทียบเหตุการณ์โจรนินจาและเหตุการณ์จับนาวิกโยธินในภาคใต้ของประเทศไทย" ของคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งศึกษาโดย กิ่งอ้อ เล่าฮง มหาบัณฑิตคณะรัฐศาสตร์ และผู้สื่อข่าวสายการเมืองของหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ อธิบายภาพของ "ขบวนการสร้างข่าวลือ" ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้เอาไว้อย่างน่าสนใจ

          โดยในบทที่ 4 เรื่องการปฏิบัติการข่าวสารและแพร่กระจายของข่าวสาร ระบุสาระสำคัญตอนหนึ่งว่า "หลายต่อหลายครั้งการปฏิบัติการข่าวสารสามารถเข้ามามีอิทธิพลในการสร้างความหวาดกลัวและตื่นตระหนกให้แก่ผู้คนในสังคมสามจังหวัด แม้ว่าข่าวสารจะเกิดขึ้นง่ายๆ และบ่อยๆ โดยไม่สามารถทราบที่มาหรือต้นตอของข่าวลือได้อย่างชัดเจนก็ตาม

          ความเป็นจริงที่เกิดขึ้นคือ ทุกครั้งเมื่อเกิดเหตุการณ์ความไม่แน่นอน ความสับสน และไม่มีคำชี้แจงที่เชื่อถือได้ การปฏิบัติการข่าวสารในลักษณะของข่าวลือจะถูกใช้เป็นเครื่องมือที่ทรงประสิทธิภาพในการทำลายล้างฝ่ายตรงข้าม หรือเพื่อลดความน่าเชื่อถือของหน่วยงานงานราชการในพื้นที่ได้ดีที่สุด หากพื้นที่ใดมีความขัดแย้งสูง อยู่ในสภาวะอึดอัด คลุมเครือ ไม่ชัดเจน ไม่มีข่าวสารเข้าไปสนองความอยากรู้ของผู้คน ข่าวลือที่แพร่เข้ามาจะถูกส่งและแพร่กระจายไปอย่างรวดเร็วและกว้างขวาง เนื่องจากผู้รับข้อมูลกำลังตกอยู่ในภายใต้อิทธิพลของอารมณ์"

          ปัญหาสำคัญที่กิ่งอ้อค้นพบในงานวิจัยก็คือ  "ช่วงแรกที่มีข่าวสารในลักษณะข่าวลือแพร่สะพัดออกไป เจ้าหน้าที่รัฐและหน่วยที่เกี่ยวข้องตั้งรับเหตุการณ์ดังกล่าวไม่ทัน และไม่สามารถแก้ไขสถานการณ์อันคลุมเครือนั้นได้อย่างทันท่วงที ทั้งๆ ที่มีหลายช่องทางที่ควรจะเข้าไปชี้แจงตั้งแต่ข่าวสารในลักษณะของข่าวลือเริ่มเกิดขึ้นแล้ว"

          และนั่นได้นำไปสู่ผลลัพธ์ประการหนึ่งที่เป็นเป้าหมายของขบวนการสร้างข่าวลือ ก็คือการปลุกระดมมวลชนให้กลายเป็นฝูงชนต้านอำนาจรัฐ!

                "การทำให้ฝูงชนที่เข้าร่วมชุมนุมแสดงพฤติกรรมรุนแรงนั้น นอกจากจะมีการใช้ข่าวลือเป็นเครื่องมือที่ทำให้เกิดการแพร่ระบาดทางอารมณ์แล้ว การกระตุ้นต้นทุนเดิม เช่น ความรู้สึกคับแค้น เกลียด กลัวทหาร ตำรวจ และไม่ได้รับความยุติธรรมจากเจ้าหน้าที่รัฐ เป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลให้ฝูงชนแสดงพฤติกรรมก้าวร้าว เนื่องจากมีความรู้สึกเดิมว่า ตนเองเป็นชาวบ้านที่ถูกกระทำและไร้อำนาจในการต่อรองใดๆทั้งสิ้น  ดังนั้นการรวมตัวกันเพื่อสร้างอำนาจให้เข้มแข็งจึงเป็นสิ่งจำเป็นมาก

                นอกจากนี้เมื่อฝูงชนมีเอกภาพทางใจในทิศทางเดียวกัน การระบาดทางอารมณ์จะยิ่งขยายตัวอย่างมีศักยภาพอย่างยากที่จะควบคุม และหากมีการปลุกเร้าร่วมด้วย ความรุนแรงที่เกิดขึ้นจะขยายวงกว้าง"