Skip to main content
 ดอเลาะฮ ซาและฮ
เครือข่ายปัญญาชนมุสลิมติดตามการคัดสรรจุฬาราชมนตรีคนที่ 18
 
 
สังคมมุสลิมในประเทศไทยเดินทางเข้าสู่ทางแพร่งของการเลือกสรร “ผู้นำสูงสุด” อีกครั้งจากการอสัญกรรมของนายสวาสดิ์ สุมาลยศักดิ์’ จุฬาราชมนตรีคนที่ 17 นำสู่สภาวการณ์แห่งความแปรปรวนการแบ่งฝักแบ่งฝ่ายและการเปิดสนามแห่งการขัดกันฉันท์พี่น้องของคนในศาสนาเดียวกัน การสรรหาผู้ที่จะมาดำรงตำแหน่งผู้นำสูงสุดคนใหม่ของพี่น้องชาวไทยมุสลิมในครั้งนี้ กระทรวงมหาดไทยได้กำหนดวันสรรหาในวันที่ 16 พฤษภาคม 2553 นี้ ภายใต้กระบวนการและขั้นตอนที่แล้วเสร็จภายในหนึ่งวัน โดยมีผู้มีสิทธิ์ในการเสนอชื่อและผู้เข้ารอบสุดท้าย 3 คน คือกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทยจำนวน 36 คน ทำหน้าที่คัดสรร และมีคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดเป็นผู้ลงคะแนนคัดเลือกกว่า 740 เสียง
 
ความเคลื่อนไหวของกลุ่มผู้ที่คาดว่าจะได้รับการเสนอชื่อและกลุ่มผู้ให้การสนับสนุนเริ่ม กระบวนการที่จะทำให้ฝ่ายของตนได้รับการคัดสรรและได้รับคะแนนเสียงจากคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด การได้มาของ‘ผู้นำกิจการศาสนาอิสลามสูงสุดของประเทศไทย’ ถูกวางกรอบกติกาว่าในทางปฏิบัติไม่ควรหาเสียง แต่เลือกใช้การเดินสายแนะนำตัว พฤติกรรมที่แสดงออกเริ่มมีการป้ายสี ตีกันคู่แข่ง ถอดถอนสิทธิ์ฝ่ายตรงข้าม แบ่งขั้ว ออกเดินสาย ขายฝัน ลั่นวาจา สัญญาว่าจะตอบแทน บางจังหวัดผู้ว่าฯเรียกประชุม ซักซ้อม ทำความเข้าใจ ประธานคณะกรรมการอิสลามอิสลามประจำจังหวัดบางเรียกรวมตัว บางจังหวัดมีคำตอบอยู่แล้วว่าจะเทคะแนนให้ใคร ทั้งหมดล้วนแล้วแต่เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นจริงในโค้งสุดท้ายก่อนการคัดสรรอย่างเป็นทางการโดยมีกระทรวงมหาดไทยกำหนดและทำหน้าที่ควบคุมการคัดสรรและการลงคะแนนให้เดินตามกรอบกติกาที่กำหนด
 
จนมีบางฝ่ายเสนอว่าควรการมีองค์กรตรวจสอบการคัดเลือกในครั้งนี้ โดยควรเชิญหรือตั้งองค์กรที่ทำหน้าที่คล้ายกับ “มูลนิธิองค์กรกลางเพื่อประชาธิปไตย” (P Net) มาร่วมตรวจสอบ หากการคัดเลือกนั้นไม่โปร่งใส พบเรื่องที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ซื้อเสียงหรือสัญญาว่าจะให้ อาจฟ้องศาลได้หรือไม่
 
คำถามที่สำคัญคือ ทำไมการได้มาของ “จุฬาราชมนตรี” ไม่ใช้ระบบการคัดสรรในแบบอิสลาม หากแต่เลือกใช้กติกาตามระบบประชาธิปไตย ซึ่งอิสลามมีวิธีการในแบบของตัวเองแต่ไม่ได้ถูกนำมาใช้และเป็นไปได้อย่างไรที่ตัวแทนปวงชนมุสลิมไทยใช้อำนาจที่ได้มาจากปวงชนทั้งหมด แต่ปวงชนทั้งหมดไม่มีสิทธ์ที่จะเลือกเขาผู้นั้นได้โดยตรง โดยการออกเสียงเป็นเพียงสิทธิเฉพาะคณะกรรมการอิสลามประจังหวัดเพียง 700 กว่าคนที่เป็นตัวแทน ทั้งที่ตัวแทนเหล่านั้นเกือบครึ่งไม่จบแม้กระทั่งปริญญาตรี หรือไม่ผ่านการวัดฐานความรู้ด้านศาสนา บางส่วนไม่ได้ซักถามหรือรับฟังชาวบ้านและผู้นำชุมชนด้วยซ้ำว่าปวงชนต้องการผู้นำแบบใดและปัญหาใดที่อยากให้ท่านจุฬาฯ คนใหม่ได้ช่วยเหลือแก้ไข
 
เป็นไปได้อย่างไรที่นักวิชาการ ผู้นำในแวดวงต่างๆ ทั้งทางการเมือง ภาคธุรกิจและภาคอื่นๆ ที่มีความรู้ ความเข้าใจและรู้จักสังคมมุสลิมไทยอย่างลึกซึ้งอีกหลายร้อยหลายพันคน ไม่ว่าจะเป็นศาตราจารย์ คณาจารย์ อุลามะห์ อุสตาส บาบอจนกระทั่งปัญญาชนและประชาชนทั่วไป ไม่สามารถแม้แต่จะออกเสียงในการเลือกผู้นำที่จะส่งผลต่ออนาคตและชะตากรรมของเขาในอีกหลายปีข้างหน้า
 
วัยวุฒิและระยะเวลาการดำรงตำแหน่ง
 
ในขณะที่กระแสโลกต้องการผู้นำที่อยู่ในวัยกลางคน (บารัค โอบามาเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีบริหารประเทศและจักวรรดิอเมริกา ตอนอายุ 48 ปี เมื่อปี 2009 ,รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงงบประมาณของประเทศเบลเยี่ยมดำรงตำแหน่งในขณะอายุ 29 ปีส่วนศาสดามูฮำหมัด ซึ่งทำหน้าที่เป็นผู้นำการเผยแผ่และชี้ขาดประเด็นศาสนารับตำแหน่งเป็น “นบี” ศาสนทูตเมื่ออายุ 40 ปี) สวนกับกระแสและค่านิยมในการเลือกผู้นำมุสลิมไทย ที่ยังยึดอยู่กับหลักคิดในเรื่องของความแก่พรรษาและระดับความอาวุโส โดยส่วนมากผู้ที่เป็นตัวเลือกและคาดว่าจะถูกเสนอชื่อในวันคัดสรร หลายท่านมีอายุไม่ต่ำกว่า 60 ปีแทบทั้งสิ้น อีกทั้งหลายกระแสยังเชื่อว่า “ยิ่งอาวุโสยิ่งดี” คนวัยกลางคนที่มีศักยภาพและความสามารถจึงถูกกันออกไปจากการเป็นผู้นำปัญหาคือ อายุสัมพันธ์อย่างไรกับศักยภาพในการบริหารองค์กรศาสนา กับการอาสารับหน้าที่นำพาสังคม จำเป็นหรือไม่และสำคัญเพียงใดที่ผู้นำควรจะมีอายุมากๆ ท่านคิดว่าผู้นำมุสลิมไทยผู้กุมทิศทาง ควบคุมจังหวะการก้าวเดินและชี้นำการแก้ไขปัญหาของมุสลิมทั้งประเทศควรจะเป็นคนในช่วงวัยใด  
 
เรื่องการดำรงตำแหน่งตลอดชีวิตของผู้ดำรงตำแหน่งจุฬาฯ ที่ถูกระบุใน พ.ร.บ.การบริหารองค์กรศาสนาอิสลาม พ.ศ. 2540 เป็นอีกประเด็นที่ยังคงถูกท้าทายและตั้งข้อสงสัยว่า ผู้นำทางศาสนาควรรับตำแหน่งจนสิ้นชีพหรือไม่ แล้วถ้ายังไม่สิ้นชีพแต่ไม่สามารถปฏิบัติงานได้จะทำอย่างไร องค์กร ลูกหลาน ลูกศิษย์และคนใกล้ชิดควรเอาเอกสิทธิ์ของท่านไปใช้งานได้หรือไม่ เพราะในอดีตเคยปรากฏการณ์ว่าลูกหลานและบริวารเคยนำอำนาจหน้าที่ของท่านไปใช้แทนในนามของจุฬาราชมนตรี ที่นอนเตียงและไม่สามารถปฏิบัติงานได้จริงโดย นำลายเซ็นหรือความเป็นเลขานุการไปใช้ในกิจการต่างๆ
 
สังคมจะได้รับผลกระทบอย่างไรจากเงื่อนไขระยะเวลาการดำรงตำแหน่งตลอดชีวิตที่ตั้งขึ้น ในประเด็นนี้นักวิชาการระดับปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยอิสลามมาดีนะห์ Islamic University of Madina ประเทศซาอุดิอารเบีย เคยตั้งคำถามและซักค้านในสภาผู้แทนฯ ในการพิจารณากฎหมายดังกล่าวว่า ในประเด็นนี้อย่างมีนัยยะสำคัญว่า กติกาเช่นนี้  “มันไม่กินกับปัญญา” ในยุคนี้ที่มุสลิมไทยจะต้องมีผู้นำแบบไร้วาระและกรอบเวลา อิสลามไม่ได้บอกว่า ผู้นำทุกประเทศ ทุกยุค ทุกสมัยจะต้องดำรงตำแหน่งในแบบที่เรียกว่า “ตลอดชีวิต” ทั้งยังให้ความเห็นว่าศักยภาพในการบริหารองค์กรด้านศาสนาและย่อมมีการเมืองภายนอกเข้ามาเกี่ยวข้อง ควรมีระยะเวลาในการดำรงตำแหน่งที่สัมพันธ์กับภาระงาน การทำหน้าที่ กำลังกาย กำลังสติปัญญาและช่วงเวลาที่ความรู้และประสบการณ์อยู่ในช่วงที่โลดแล่นได้อย่างดีที่สุดและสังคมไม่ควรผูกติดกับสังขารของผู้นำในการก้าวไปข้างหน้า ยิ่งในช่วงที่โลกผันผ่านและเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ผู้นำยิ่งต้องก้าวทันความทันสมัยและทราบถึงความซับซ้อนของปัญหาสังคมและความก้าวหน้าของนวัตกรรม
 
ความสับสนต่ออำนาจหน้าที่
 
ปัจจุบันบทบาทและหน้าที่ตามกฎหมายของจุฬาราชมนตรีอยู่แค่เพียง 4 ข้อ คือ ให้คำปรึกษาและเสนอความเห็นต่อทางราชการเกี่ยวกับกิจการศาสนาอิสลาม, มีอำนาจแต่งตั้งผู้ทรงคุณวุฒิเพื่อให้คำปรึกษาเกี่ยวกับบัญญัติแห่งศาสนาอิสลาม, มีหน้าที่ออกประกาศแจ้งผลการดูเดือนเพื่อกำหนดวันสำคัญทางศาสนาและออกประกาศเกี่ยวกับข้อวินิจฉัยตามบัญญัติแห่งศาสนาอิสลาม ดูเหมือนว่าหน้าที่ตามกฎหมายที่ระบุใน พรบ.ฯ ปี 2540 มีอยู่อย่างจำกัดยกเว้นหน้าที่ในข้อสุดท้ายคือ “การออกประกาศเกี่ยวกับข้อวินิจฉัยตามบัญญัติแห่งศาสนา” ซึ่งมีอำนาจกว้างขวางเพราะครอบคลุมในทุกมิติของความเป็นศาสนิกตั้งแต่เกิดจนตายและครอบคลุมเชื่อมโยงทั้งเรื่องการเมือง เศรษฐกิจ สังคม ความขัดแย้งและผลประโยชน์ แต่บทบาทหน้าที่อื่นๆ ของจุฬาฯ ในทางพฤตินัยและหน้าที่เป็นที่คาดหวัง หรือที่สังคมมุสลิม ระบบราชการและภาคเอกชนเลือกใช้งานจุฬาฯ มีมากกว่าที่กฎหมายกำหนดมากยิ่งนัก
 
ผู้นำอย่างท่านมักถูกใช้ให้เป็นประธานที่ประชุม นำการขอพรในงานบุญ เป็นประธานเปิดงานโรงเรียน จนกระทั้งงานที่เกี่ยวข้องกับการเกิด การตาย แม้กระทั่งงานโกนผมไฟ และอีกทั้งยังมีภารกิจที่มองไม่เห็นและเป็นงานจร ตั้งแต่รับรองความโปร่งใสความถูกต้องตามหลักการอิสลามของสถาบันการเงิน และงานที่มักไม่มีใครสนใจ อาทิ การสำรวจตรวจสอบการจัดซื้ออาหารที่จะต้องเป็นอาหารฮาลาล (ที่อนุมัติตามหลักการศาสนา) แก่นักโทษมุสลิมทั้งคดีความมั่งคงและคดีทั่วไปในเรือนจำ การพิจารณาการรับรองระบบการผลิตอาหารของโรงงานอุตสาหกรรมหรือที่ไกลแม้กระทั่งในห้องครัวของฐานขุดเจาะน้ำมันกลางทะเล ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นภารกิจที่ตกหนักอยู่บนบ่าของผู้นำแทบทั้งสิ้น
 
คำถามสำคัญคือเราต้องการผู้นำการบริหารองค์กรภาคศาสนาหรือเราต้องการผู้นำทางจิตวิญญาณ ต้องการทำหน้าเป็นที่ปรึกษาพระมหากษัตริย์เหมือนจุฬาฯในอดีต หรือเป็นได้เพียงที่ปรึกษากระทรวง ทบวง กรมต่างๆ หรือแค่ต้องการเป็นประธานเปิดงานเมาลิด งานแต่งงานของครอบครัวชนชั้นสูงที่เชิญท่านหรืองานโกนผมไฟลูกบุคคลสำคัญ
 
หรือผู้นำคนใหม่ควรก้าวทันโลก รับทราบและเข้าใจปัญหาใหม่ๆ โดยสามารถนำหลักการศาสนามาวิเคราะห์ กลั่นกรองวินิจฉัย ให้คำตอบแก่สังคม เช่น การละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา การละเมิด Software ของนายบิลเกตเจ้าของผู้ผลิต ที่ผู้ใช้ละเมิดลิขสิทธิ์เขาอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน ปัญหาความเป็นธรรมในเรื่องการเข้าถึงสวัสดิการทางสังคม ทุกเรื่องศาสนาอิสลามต้องมีคำตอบ ผู้นำมุสลิมไทยยังต้องมีหน้าที่ในการชี้ชัด สร้างความกระจ่างในทางคุณธรรมและชี้นำสังคมให้อยู่ในกรอบกติกา
 
จุฬาราชมนตรีคนใหม่กับปัญหาชายแดนใต้
 
จุฬาราชมนตรีคนต่อไปควรต้องมีบทบาทนำในการแก้ไขปัญหาชายแดนใต้ เพราะเป็นปัญหาทางความคิดและการตีความหลักการศาสนาที่ส่งผลในทางปฏิบัติโดยใช้ความต่างของศาสนามาเป็นข้ออ้าง มุสลิมบางส่วนเลือกใช้ความรุนแรงเข้าจัดการกับปัญหา ปัญหาชายแดนใต้เป็นปัญหาเชิงอุดมการณ์ที่เกี่ยวข้องกับศาสนาอิสลามและความเป็นมุสลิมโดยตรง รวมทั้งเป็นปัญหาที่ถูกตั้งข้อสงสัยทั้งในเรื่องความชอบธรรมของเจ้าหน้าที่และการกระทำของผู้ก่อการ และความโปร่งใสและการได้ประสิทธิผลในการละลายงบประมาณของภาครัฐ แต่การแก้ไขปัญหาที่ผ่านมากลับมอบให้ฝ่ายทหารและฝ่ายความมั่งคงของรัฐรับไปดำเนินการเป็นตัวหลัก โดยให้เหตุผลว่าใช้นโยบาย “การเมืองนำการทหาร” ใช้กองกำลังปิดล้อม ตรวจค้น กดดันหมู่บ้าน จับแบบเหมารวม ผู้ต้องสงสัยถูกจับกุมจองจำอยู่ในกระบวนการยุติธรรมโดยขาดผู้นำองค์กรศาสนาที่เอาใจใส่มาดูแลแก้ไขปัญหา นโยบายเหล่านี้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่ามีแต่จะทำให้ประชาชนเห็นใจผู้ก่อความไม่สงบ และสร้างความชอบธรรมให้ผู้ก่อการในการใช้ความรุนแรงตอบโต้ เป็นวงจรปัญหาที่ไม่มีที่สิ้นสุด การเสียชีวิตของ พล.ต.อ.สมเพียร เอกสมญา เป็นตัวอย่างที่เห็นได้ชัดว่าเป็นผลมาจากการตอบโต้อันเนื่องมาจากนโยบายการปราบปรามที่ใช้ความรุนแรงในการแก้ไขปัญหา การคัดสรรเพื่อให้ได้มาซึ่งจุฬาราชมนตรีในฐานะผู้นำมุสลิมในประเทศไทยจึงไม่ใช่เรื่องเฉพาะ เรื่องของคนใน“ศาสนาอิสลาม” แต่เพียงอย่างเดียว แต่เป็นเรื่องของสันติภาพของคนไทยทั้งประเทศ
 
สุภาษิตอาหรับ บทหนึ่งกล่าวไว้ว่า“อัตตัดบีรุฮ นิซฟุล มาอี้ซาตี้” ความว่า “การพิจารณาใคร่ครวญและการคำนึงถึงผลในบั้นปลาย คือ ครึ่งหนึ่งของการดำรงชีวิต” ฉะนั้นการคัดสรรจุฬาราชมนตรีคนที่ 18 ของคณะกรรมการกลางฯ ทั้ง “38 คน” (ให้เหลือเพียง 3 คนสุดท้าย) และการลงคะแนนลับพร้อมสิทธิ์ในการเสนอชื่อ “ผู้ควรได้รับการคัดสรร” โดยคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด ทั้ง 700 กว่าคน จึงควรจะเป็น “การเลือกอย่างใคร่ครวญและการคำนึงถึงผลในบั้นปลาย” ด้วยปัญญา วิจารณญาณและวิสัยทัศน์ของท่านผู้มีสิทธิ์ลงคะแนนต่อผู้นำคนดังกล่าว จะเป็นภารกิจสำคัญในการวาดแผนที่อนาคตของมุสลิมไทยไปแล้วครึ่งหนึ่ง อีกครึ่งหนึ่งรอผู้ที่ได้รับการคัดสรรนั้นมาร่วมกำหนดชะตากรรมและสร้างสรรค์การทำงานเพื่อสังคมภาพรวมต่อไป
 
ความคาดหวังของประชาคมมุสลิมไทย
 
ทุกฝ่ายในสังคมการเมืองมุสลิมย่อมเห็นพ้องว่า การมีผู้นำที่ดีย่อมนำมาซึ่งกระบวนการบริหารจัดการสังคมอย่างมีประสิทธิภาพ และยิ่งวิธีการและมาตรการเหล่านั้น วางอยู่บนหลักการทางศาสนาและห่วงใยต่อเรื่องความรับผิดชอบทางศีลธรรมแล้ว ย่อมสามารถจุดประกายสร้างความหวังต่อการดำรงอยู่อย่างสันติในสังคมไทย ที่กำลังเผชิญปัญหาความแตกต่างทางความคิดและอุดมการณ์ทางการเมือง การเมืองภาพรวมของประเทศย่อมมีส่วนบดบังความสนใจต่อการมีผู้นำคนใหม่ของประชาคมมุสลิม เพราะหากบ้านเมืองอยู่ในภาวะปกติคงมีการพิจารณา วิพากษ์วิจารณ์ ตรวจสอบและระดมความคิด ความเห็นผ่านเวทีวิชาการอย่างเข้มข้นมากกว่านี้ เพราะตำแหน่งดังกล่าวมีส่วนสำคัญต่อศักยภาพและประสิทธิภาพของสังคมมุสลิมไทยโดยภาพรวม
 
การลงคะแนนคัดสรรจุฬาฯในครั้งนี้ แม้จะได้ใครคนหนึ่งมาเป็นผู้นำ หลายๆ คนก็ยังไม่กล้าที่จะคาดหวัง เพราะสำคัญตรงที่ระบบและโครงสร้างที่เป็นอยู่ยังเป็นงานในลักษณะของอาสาสมัคร หลายครั้งเป็นเรื่องหน้าตาทางสังคม เรื่องของพรรคพวกกลุ่มเดียวกัน โดยบริหารองค์กรศาสนาเป็นงานรอง ไม่ใช่ทำโดยอาชีพ เช่นเดียวกับระบบราชการ ที่มีทั้งงบประมาณ อำนาจทางกฎหมาย และโครงสร้างการบริหารจัดการที่แน่นอนชัดเจน ตรวจสอบได้(ของชาวพุทธมี “สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ” แต่ของมุสลิมทำไมไม่มีองค์กรในลักษณะดังกล่าวบ้าง) อีกทั้งภาระงานทางศาสนาไม่ใช่แหล่งที่ทำให้เกิดรายได้ หากแต่มีรายจ่ายทางสังคมให้ต้องเป็น “มือบน” ในหลายๆ สถานการณ์ ความโปร่งใสในการจัดการ ทั้งเรื่องการแต่งตั้งคัดเลือกคณะทำผู้ดำรงตำแหน่งในฝ่ายต่างๆ และการจัดการเรื่องงบประมาณของสำนักจุฬาฯ ประเด็นต่างๆ ล้วนแล้วแต่อยู่ในความสนใจของคนในสังคม จึงเป็นธรรมดาที่จะมีทั้งผู้ที่การยอมรับ คาดหวังต่อการทำงานและการบริหารงานของผู้นำคนใหม่และอีกหลายคนที่สิ้นหวังและไม่คาดหวังเลย เพราะหลายๆ เรื่องในสังคมมุสลิมไทยไม่ถูกแก้ไข และได้รับการวางเฉยจากผู้นำเหมือนหลายๆ เหตุการณ์ในอดีตที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการแก้ไขปัญหาความไม่สงบในพื้นที่ชายแดนใต้ ปัญหายาเสพติดในหมู่ประชาชนมุสลิม ปัญหาสังคมอื่นๆ ที่เกิดกับแรงงาน สตรีและเยาวชนมุสลิมในพื้นที่ต่างๆ
 
ผู้นำมุสลิมกับประชาชนชาวไทย
 
ประชาชนชาวไทยที่ไม่ใช่มุสลิมอย่าเพิ่งคิดว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องนอกสายตาหรือควรอยู่นอกความสนใจและคิดว่าเป็นเรื่องกิจการภายในเฉพาะมุสลิมจึงควรวางตัวและไม่ควรก้าวล่วง เพราะท่านเองก็ไม่สามารถปฏิเสธได้ว่ามุสลิมในประเทศแห่งนี้มีส่วนทั้งที่เป็นกลุ่มชนที่ร่วม “สร้างสรรค์ประเทศ” ร่วมกับท่าน หรือเป็นชนกลุ่มน้อยที่ใหญ่ที่สุดที่ร่วม “สร้างปัญหา” ทั้งเรื่องความมั่งคง การเมืองและการแข่งขันในด้านต่างๆ การได้มาและการมีผู้นำของพวกเราจึงสำคัญไม่เฉพาะมุสลิมไทยหากแต่สำคัญสำหรับชาวไทยทุกคนไม่ว่าจะนับถือศาสนาใด ต้องร่วมจับตามอง..เพราะเราก็เป็นชาวไทยเหมือนกันที่การกระทำของชนกลุ่มเรา ย่อมส่งผลต่อกันและกันไม่ใช่หรือ