Skip to main content

Abdulloh Wanahmad ; Awanbook

       วิกฤติการณ์ความขัดแย้งในปาตานี ได้ย่างก้าวสู่ปีที่สิบสองในปี พ.ศ. 2559 ซึ่งยังคงเป็นปัญหาที่รัฐบาลไทยยังแก้มิตก ถึงแม้นหลายรัฐบาลจะมุ่งเน้นแก้ปัญหาด้วยนานาวิถีแล้วก็ตาม ถึงกระนั้นความรุนแรงที่ปะทุขึ้นเมื่อปี 2547 นั้น ยังคงผลิดอกออกผลอย่างต่อเนื่อง ที่ได้คร่าชีวิตของผู้คนบนดินแดนแห่งนี้มามิน้อย

       อย่างไรก็ตามความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในปาตานีตลอดระยะเวลาสิบกว่าปีที่ผ่านมานั้น ถือเป็นปรากฏการณ์ที่รัฐบาลไทยเอง มิคาดคิดด้วยซ้ำว่า จะยังมีกลุ่มคนมลายูปาตานีจับอาวุธลุกขึ้นมาต่อสู้กับรัฐไทยได้ถึงเพียงนี้ ด้วยการก่อตั้งขบวนการต่อสู้อย่างมีระบบซ่อนเงื่อนได้อย่างรัดกุม ที่มีปัจจัยทางการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้องในการขับเคลื่อนองค์กรในรูปแบบใต้ดิน

       หลายครั้งที่ปัญหาความรุนแรงในปาตานี ถูกหยิบยกขึ้นมาอภิปรายในนโยบายแห่งรัฐ เพื่อที่จะแก้ไขปัญหาความรุนแรงที่เกิดขึ้น ด้วยการระดมทุ่มงบประมาณในด้านการพัฒนา ด้วยเหตุผลเพื่อต้องการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ให้ดีขึ้น และอีกหลายๆ เหตุผล

       จะยังไรก็ตาม ถึงแม้ปัญหาปาตานีจะถูกหยิบยกอภิปราย ประหนึ่งเป็นการให้ความสำคัญของรัฐบาลกลางกรุงเทพฯ ที่มีต่อความรุนแรงที่กำลังปะทุขึ้นอย่างประปรายในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ความจริงก็เป็นแค่การพัฒนาตามปกติของรัฐบาลกลางที่มีต่อจังหวัดทางภูมิภาคต่างๆ อยู่แล้ว ซึ่งมันมิได้มีความเป็นวิเศษเฉพาะกิจแต่ประการใด จะต่างก็อยู่ที่ชื่อโครงการเท่านั้น ที่คล้องประโยคอย่างสวยหรูเท่านั้น                                                                                                                   

http://th.aectourismthai.com/images/blog/content2/20121012162143.jpg

       ปัญหาปาตานีที่ยังไม่มีใครสามารถคาดการณ์ได้ว่า จะสิ้นสุดลงอย่างไร แต่ในขณะเดียวกันความรุนแรงทางทหารก็ยังปรากฏให้เห็นอยู่เนืองๆ ตามสภาวะแวดล้อมทางการเมือง ณ ขณะนั้นเป็นหลัก

       ตลอดหลายช่วงอายุของปัญหาปาตานี ความรุนแรงที่ได้เกิดขึ้นมา ล้วนเป็นส่วนหนึ่งของบาดแผลทางประวัติศาสตร์ในอนาคต ไม่ว่าความรุนแรงนั้นจะมาจากฝ่ายใด ล้วนเป็นความทรงจำสำหรับสังคมปาตานีไปตลอดกาล

       จากลิ่วล้อทางประวัติศาสตร์ที่เกิดขึ้น ตลอดระยะเวลาหลายทศวรรษที่ผ่านมา ดูเหมือนว่าปัญหาปาตานีจะยังคงดำเนินต่อไปอย่างไม่มีวันจบสิ้น ตราบใดที่รัฐบาลไทยเองยังมีการเล่นแง่หักมุมอยู่ตลอดเวลา โดยเฉพาะในวิถีทางการเมือง ที่ยังคงไม่มีความแน่นอนแห่งความเชื่อมั่นและจริงใจในการที่จะแก้ไขปัญหาชายแดนภาคใต้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง แนวทางหรือนโยบายแห่งรัฐไทยต่อนโยบายการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งตัวแปรสำคัญมิได้อยู่ที่การบันทึกลายลักษณ์อักษรในความร่วมมือที่ผูกมัดสัญญาร่วมกันของทั้งสองฝ่าย ทว่าตัวแปรสำคัญกลับอยู่ที่สภาพแวดล้อมของอุณหภูมิบรรยากาศทางการเมืองส่วนกลางเป็นปัจจัยหลัก ที่มีผลและอิทธิพลต่อการกำหนดนโยบายตามวาระของแต่ละรัฐบาลอีกด้วย

       รัฐบาลไทยยังคงมีท่าทีแข็งกร้าวและเด็ดขาดในส่วนที่เกี่ยวข้องกับบุคคลที่สามหรือจากนานาชาติ ที่จะเข้ามามีบทบาทในการคลี่คลายปัญหาความขัดแย้งในปาตานี ถึงแม้นว่าการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งทางชาติพันธุ์ในต่างประเทศที่บรรลุตามวัตถุประสงค์แห่งสันติภาพนั้น ล้วนมีตัวกลางเข้ามาเกี่ยวข้องทั้งนั้น มิได้เป็นผู้อำนวยการแต่อย่างใด อย่างที่รัฐบาลได้เรียกร้องอยากให้ปัญหาปาตานีอยู่ภายใต้การประสานกันของคนกลางในฐานะผู้อำนวยความสะดวกเท่านั้น ใช่ในฐานะผู้ไกล่เกลี่ยหรือมีอำนาจควบคุมตัดสินกระบวนการเจรจาแต่อย่างใด

       ประกอบกับการเกิดขึ้นของประชาคมอาเซียนที่มีผลในปี 2559 นี้ จะมิได้มีผลต่อการแก้ไขปัญหาความรุนแรงที่กำลังเกิดขึ้นในจังหวัดชายแดนภาคใต้แต่อย่างใด ถึงแม้นความสงบสุขในภูมิภาคอาเซียนคือหมุดหมายที่สำคัญสำหรับอาเซียนมิน้อยไปกว่าการมุ่งหมายแต่เรื่องเศรษฐกิจแห่งการค้าเสรีเท่านั้น ถึงกระนั้นประเทศสมาชิกมิอาจละเมิดเรื่องภายในของประเทศสมาชิกด้วยกันได้ ซึ่งบทบาทของประเทศสมาชิกอยู่บนเส้นละติจูดพรมแดนแห่งการเคารพอธิปไตยและบูรณภาพแห่งดินแดนของแต่ละประเทศ ซึ่งหมายความว่า ความรุนแรงทารทหารที่เกิดขึ้นอย่างยืดเยื้อในประเทศนั้นๆ มิอาจเป็นปัญหาแห่งภูมิภาคร่วมกันได้ ในเมื่อมิอาจก้าวก่ายหรือมีอำนาจในฐานะสมาชิกภาพแห่งประชาคมอาเซียนร่วมกัน

       ฉะนั้น ปัญหาปาตานีจะยังคงดำเนินต่อไปอย่างที่เคยดำเนินอยู่ และรัฐบาลไทยเองก็ยังคงต้องแก้ไขปัญหาเพียงลำพังท่ามความล้มเหลวที่ยังคงต้องเผชิญกับความหวาดกลัวต่อบรรดาสมาชิกอาเซียน ที่เฝ้ามองสังเกตการณ์การดำเนินการของรัฐบาลไทย ต่อการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้หรือปาตานี ที่ยังคงยืดเยื้อและยืดหยุ่นตามช่วงเวลา

       หากการแก้ไขปัญหาความรุนแรงในปาตานีของรัฐไทยยังคงย่ำอยู่กับที่ ตราบนั้นพลเรือนและงบประมาณของชาติจะยังคงรินไหลสู่กองทัพอย่างมากมายมหาศาล ซึ่งส่วนใหญ่จะเน้นหนักไปที่การจัดสรรพัฒนาอาวุธและการจัดส่งและจัดตั้งกองกำลังภาคประชาชนอย่างไม่สิ้นสุด ซึ่งล้วนเป็นยุทธวิธีของกองทัพทุกประเทศที่มักจะใช้วิธีจัดตั้งและติดอาวุธให้กับพลเรือนของประเทศในการช่วยเป็นลิ่วล้อและกันชนให้กับรัฐอีกชั้น ในนามกองกำลังอาสา และอื่นๆ

การที่รัฐไทยยังคงปฏิเสธต่อการเข้ามาขององค์กรระหว่างประเทศในการเข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ไขความขัดแย้งในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ตามที่ฝ่ายขบวนการต่อสู้เพื่อเอกราชปาตานียื่นข้อเสนอไปแล้วก่อนหน้านี้ คงมิอาจคาดการณ์ได้ว่านับตั้งแต่วันที่เสียงปืนแตก เมื่อปี 2547 นั้น จะยุติลงเมื่อใด

ในเมื่อบรรดาประเทศต่างๆ ที่มีความขัดแย้งมานานนับศตวรรษนั้น ล้วนอาศัยกลไกระหว่างประเทศทั้งสิ้น ในการคลี่คลายปัญหา ซึ่งผลสุดท้ายจะลงเอยเช่นใดนั้นถือเป็นอีกเรื่องหนึ่ง แต่อย่างน้อยเป็นการแสดงให้เห็นว่าทั้งสองฝ่ายนั้นต่างมีความจริงใจในการที่จะแก้ไขปัญหาความรุนแรง ที่นับวันจะยิ่งมีความสลับซับซ้อนซ่อนเงื่อนอยู่ตลอดเวลา

เพราะสุดท้ายประชาชนคือผู้ตัดสินในฐานะผู้ที่ต้องเผชิญกับความรุนแรงด้วยตัวเองอยู่ตลอดเวลา จนกว่าวาระสุดท้ายจะมาถึง.