Skip to main content

จรัญ มะลูลีม

วิธีการแก้ปัญหาสามจังหวัดภาคใต้

          ต่อไปนี้จะได้นำเสนอแนวทางในการแก้ปัญหาสามจังหวัดภาคใต้ โดยอยู่บนพื้นฐานของหลักวิชา ข้อกฎหมาย ข้อเท็จจริง และความต้องการของชาวไทยมุสลิม

          โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบริเวณสามจังหวัดภาคใต้เสริมสร้างความเข้าใจและการยอมรับในลักษณะพหุนิยมของสังคมไทย

          ทุกฝ่ายจะต้องยอมรับว่าสังคมไทยในปัจจุบันทุนี้ประกอบด้วยประชาชนที่หลากหลายทางศาสนาวัฒนธรรม แต่ละกลุ่มทางศาสนาวัฒนธรรมต่างก็มีความสำนึกในเอกลักษณ์ของกลุ่มตนและประสงค์ที่จะดำรงตนเองบนเอกลักษณ์ดังกล่าว

          อันที่จริงแล้วการยอมรับว่าสังคมไทยประกอบด้วยกลุ่มชาติพันธุ์หลายกลุ่มนี้ไม่ใช่เป็นเรื่องใหม่ หรือเป็นเรื่องแปลก พหุสังคมเป็นลักษณะของสังคมสมัยใหม่เกือบทุกสังคมในโลกและเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นตั้งแต่สมัยโบราณแล้ว ที่เป็นเช่นนี้เนื่องจากว่ากลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ในโลกนี้ต่างก็ยืนอยู่ ยึดมั่นและผูกพันกับชาติพันธุ์ของตนเองอย่างไม่เสื่อมคลาย ต่างก็หวงแหนเสียดายในเอกลักษณ์ของตนเองและพยายามปกป้องทุกวิถีทางเพื่อที่จะสืบทอดเอกลักษณ์ดังกล่าว ชั่วลูกชั่วหลาน

          เมื่อแต่ละกลุ่มยึดมั่นในเอกลักษณ์ทางชาติพันธุ์อย่างมั่นคง เช่นนี้แล้ว จึงปรากฏเป็นข้อเท็จจริงในประวัติศาสตร์ว่าถ้าประเทศใดไม่ยอมรับในความหลากหลายทางสังคมของคนในชาติมักจะประสบกับปัญหาความขัดแย้งระหว่างชาติพันธุ์เสมอ แต่ในทางตรงกันข้ามถ้าประเทศใดยอมรับในความหลากหลายทางสังคม ปัญหาความขัดแย้งทางชาติพันธุ์จะบรรเทาเบาบางและคลี่คลายในที่สุด

          ด้วยเหตุผลดังกล่าวข้างต้น จึงเป็นการสมควรอย่างยิ่งที่ประเทศไทยจะต้องยอมรับให้เกียรติและส่งเสริมความหลากหลายหรือความเป็นพหุนิยมทางสังคม อันเป็นพื้นฐานสำคัญในการแก้ปัญหาทางชาติพันธุ์ที่กำลังเกิดขึ้นในบริเวณสามจังหวัดภาคใต้เพื่อให้บรรลุถึงวัตถุประสงค์ดังกล่าว รัฐอาจจะต้องดำเนินการในเรื่องต่างๆ อย่างน้อยดังต่อไปนี้

          1. จัดการให้มีกระบวนการศึกษา และการขัดเกลาทางสังคมในเรื่องพหุนิยมอย่างกว้างขวางลึกซึ้งและต่อเนื่องในรูปต่างๆ ทั้งที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการ ทั้งในระดับล่างและระดับบนทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค และท้ายที่สุดให้มีการอบรมข้าราชการ หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐให้มีความเข้าใจและยอมรับในหลักการพหุนิยมโดยดุษฎีกระบวนการขัดเกลาดังกล่าวนี้อาจจะต้องกระทำกันอย่างกว้างขวางและลึกล้ำ นอกจากจะต้องดำเนินการในสถาบันการศึกษา และสถาบันการเมืองการปกครองแล้ว อาจจะต้องใช้สื่อทุกประเภทและปฏิบัติอย่างต่อเนื่อง

          2. ให้มีการตรวจสอบด้านกฎหมายและระเบียบข้อบังคับของราชการว่ายังมีเนื้อหาสาระที่เป็นการบั่นทอน ละเมิด กีดกัน ลำเอียง หรือขัดแย้งกับหลักพหุนิยมหรือไม่อย่างไร ถ้ามีก็ควรจะต้องมีการแก้ไขปรับปรุงให้ถูกต้องเหมาะสมตามกระบวนการขั้นตอนต่อไป ตัวอย่างเช่น การบังคับใช้กฎหมายอิสลามเพื่อให้ครอบคลุมผู้นับถือศาสนาอิสลามในทุกพื้นที่ หรือการยินยอมให้ข้าราชการ หรือพนักงานทั้งในองค์กรของรัฐและเอกชนสามารถแต่งกายตามข้อบังคับทางศาสนาได้อย่างกว้างขวางในขณะปฏิบัติงานเหล่านี้เป็นต้น

          3. ให้มีการขจัดอคติและการกีดกันทางสังคมที่เกิดขึ้น เนื่องจากความแตกต่างในเอกลักษณ์ทางชาติพันธุ์และศาสนาทั้งในภาครัฐและเอกชนโดยการกำหนดมาตรการทางกฎหมายอย่างเป็นรูปธรรมและชัดเจน และมีบทกำหนดโทษอย่างชัดเจนและเป็นรูปธรรม

          4. ให้รักษาความเสมอภาคในเรื่องของการใช้เอกลักษณ์หรือสัญลักษณ์หรือความสำคัญทางศาสนาในสังคม เช่น พิธีกรรมของรัฐ วันสำคัญทางศาสนา สัญลักษณ์ของชาติหรือสถาบันเหล่านี้เป็นต้น

          ควรมีการจัดตั้งสำนักงานศาสนาอิสลามแห่งชาติให้เป็นหน่วยงานของรัฐเทียบเท่ากรม เพื่อบริหารงานเกี่ยวกับกิจการศาสนาอิสลามอย่างทั่วถึงและครบวงจร

          ศาสนาอิสลามมีกิจกรรมทั้งทางโลกและทางธรรมรอบด้าน ซึ่งจำเป็นจะต้องได้รับการกำกับดูแลจากรัฐ เช่น เรื่องเกี่ยวกับพิธีฮัจญ์ ศาสนสมบัติภาษีศาสนา อาหารและผลิตภัณฑ์ฮาราล ทะเบียนเอกสารเกี่ยวกับศาสนาเหล่านี้ เป็นต้น

          ปัจจุบันนี้มีฝ่ายศาสนาอิสลามอยู่ในกรมการศาสนาก็จริงอยู่ แต่เป็นหน่วยงานที่เล็กเกินไปไม่เพียงพอในการที่จะกำกับดูแลกิจกรรมของศาสนาอิสลามให้ราบรื่นเรียบร้อย  อีกทั้งยังมีกิจการอีกหลายด้านเกี่ยวกับศาสนาอิสลามที่ยังไม่ได้รับการกำกับดูแลจากฝ่ายของรัฐ หรือกระทำอย่างไม่ทั่วถึงเช่น เรื่องศาสนสมบัติ ทะเบียนเอกสารเกี่ยวกับครอบครัวมรดก ทะเบียนสมรสและการหย่าร้างเป็นต้น

          รัฐพึงส่งเสริมให้มุสลิมสามารถดำรงตนในศาสนาอิสลามอย่างครบถ้วนบริบูรณ์โดยการออกกฎหมาย จัดตั้งองค์กร จัดหาบุคลากร ตลอดจนงบประมาณที่จำเป็น  อย่างน้อยที่สุดในเรื่องดังต่อไปนี้

          1. ศาลชะรีอะฮ์หรือศาล หรือกระบวนการพิจารณาคดีเกี่ยวกับครอบครัวและมรดก ตามหลักกฎหมายอิสลาม โดยให้มีเขตอำนาจครอบคลุมได้ทุกพื้นที่ อีกทั้งยังมีผลบังคับใช้ได้ทั่วไปทั้งในพื้นที่และนอกพื้นที่ และทั้งในศาลและนอกศาล

          2. ธนาคารอิสลาม รัฐอาจจะดำเนินการเองหรือส่งเสริมเอกชนจัดตั้งธนาคาร สหกรณ์ หรือระบบการเงินที่สอดคล้องกับหลักการเงินในศาสนาอิสลามอย่างทั่วถึงและครอบคลุม

          3. สถานที่ละหมาดในองค์กรของรัฐ ให้หน่วยงานของรัฐสำรองพื้นที่หนึ่งแห่งเพื่ออำนวยความสะดวกให้เจ้าหน้าที่หรือผู้มาติดต่อที่เป็นมุสลิมได้ประกอบพิธีละหมาดเมื่อถึงกำหนดเวลา

          4. สถาบันการศึกษาศาสนาอิสลาม การศึกษาศาสนาเป็นภาคบังคับสำหรับมุสลิม มุสลิมทุกคนมักจะศึกษาเรื่องของศาสนาอิสลามตลอดชีวิตนับตั้งแต่เยาว์วัย ดังนั้น จำเป็นที่สังคมจะต้องจัดการศึกษาในรูปแบบและระดับชั้นต่างๆ เพื่อสนองความต้องการในทางศาสนาดังกล่าว

          ในด้านของรูปแบบนั้น อาจจะส่งเสริมสถาบันการศึกษาของเอกชน หรือโรงเรียนพิเศษของชุมชนหรืออาจจะบรรจุเป็นหลักสูตรพิเศษในสถาบันศึกษาของรัฐก็ได้

          ส่วนในด้านของระดับชั้นนั้นประกอบด้วยระดับต้น ระดับกลาง และระดับสูง ซึ่งอาจจะบรรจุแทรกอยู่ในหลักสูตรทางการศึกษาของชาติ ซึ่งมีระดับชั้นอย่างครบถ้วนสมบูรณ์อยู่แล้วส่งเสริมให้มีพรรคการเมืองมุสลิมประชาธิปไตย

          พรรคการเมืองเป็นที่รวมของบุคคลที่มีอุดมพการณ์หรือความเชื่อทำนองเดียวกันเพื่อที่จะดำเนินงานทางการเมือง เพื่อประโยชน์ของกลุ่มตนและประเทศชาติโดยรวม

          ดังนั้น ในประเทศต่างๆ จำนวนมากได้มีพรรคการเมืองของชนกลุ่มน้อย หรือกลุ่มชาติพันธุ์หรือกลุ่มอาชีพ เช่น พรรคคริสเตียนเดโมแครตพรรคของชาวจีน พรรคกรรมกร หรือพรรคคอมมิวนิสต์ เป็นต้น

          พรรคดังกล่าวนี้เป็นช่องทางในการต่อสู้ในทางการเมืองอย่างถูกต้องชอบธรรม โดยไม่ต้องไปก่อตั้งขบวนการใต้ดินหรือสมาคมลับอะไรอีก

          มุสลิมในประเทศไทย มีความต้องการ มีปัญหาและมีแนวคิดในทางการเมือง และต้องการที่จะมีส่วนร่วมในทางการเมืองบนเอกลักษณ์ของตนเอง

          ดังนั้น จึงน่าที่รัฐจะส่งเสริมให้มีการจัดตั้งพรรคการเมืองมุสลิมประชาธิปไตยเพื่อดำเนินงานทางการเมืองเหมือนกับพรรคอื่นๆ โดยทั่วไป

กำหนดสามจังหวัดภาคใต้เป็นเขตปกครองพิเศษ

          เนื่องจากสามจังหวัดภาคใต้มีปัญหาเฉพาะที่ไม่เหมือนกับปัญหาโดยทั่วไป นั่นคือปัญหาความขัดแย้งทางเอกลักษณ์อย่างรุนแรง

          ดังนั้น ในการแก้ปัญหาจำเป็นจะต้องใช้วิธีการกระบวนการหรือพระราชบัญญัติพิเศษ ที่แตกต่างจากที่อื่นบ้าง

          ซึ่งนั่นคือการจัดตั้งให้เป็นเขตปกครองพิเศษดังรายละเอียดในตอนต่อไป

หมายเหตุ: ตีพิมพ์เผยแพร่ครั้งแรกที่ มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 30 เม.ย. - 6 พ.ค. 2553