Skip to main content

อุสตาซอับดุชชะกูรฺ บินชาฟิอีย์  (อับดุลสุโก  ดินอะ) 

 

ด้วยพระนามของอัลลอฮฺ ผู้ทรงเมตตากรุณาเสมอขอความสันติสุขจงมีแด่ศาสนทูตมุฮัมมัดและผู้เจริญรอยตามท่านและสุขสวัสดีแด่ผู้อ่านทุกท่าน

29 ธันวาคม 2558 เวลา 9.30 น. ศาลอาญาได้อ่านคำพิพากษาศาลฎีกายกฟ้องเจ้าหน้าที่ตำรวจ 5 นายในคดีกักขังหน่วงเหนี่ยว และลักทรัพย์ทนายสมชาย นีละไพจิตร ทำให้คนทำงานด้านสิทธิมนุษยชน สันติภาพชายแดนใต้และประชาชนชายแดนใต้และแน่นอนครอบครัวของท่านรู้สึกเสียใจและผิดหวังอย่างยิ่งต่อกระบวนการยุติธรรมไทย โดยเฉพาะต้นทางของกระบวนการยุติธรรม คือ เจ้าหน้าที่ตำรวจในฐานะพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบคดีในการสืบสวนสอบสวนและหาพยานหลักฐาน ซึ่งศาลฎีกาชี้ว่าหลักฐานที่พนักงานสอบสวนนำส่งศาลไม่มีความน่าเชื่อถือ และไม่มีเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องยืนยันความถูกต้องของพยานหลักฐานที่ส่งศาล

การตัดสินดังกล่าวศาลฎีกาได้สร้างบรรทัดฐานใหม่ในสังคมไทย คือการยืนยันว่า ครอบครัวผู้ถูกบังคับสูญหายไม่มีสิทธิในการดำเนินการเพื่อเรียกร้องความยุติธรรมแทนผู้สูญหายได้ เนื่องจากไม่มีพยานหลักฐานว่าผู้สูญหายได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิตจนมิอาจดำเนินการได้ด้วยตนเอง

การที่ศาลอาญาไม่รับคำร้องญาติในครั้งนี้ไม่ต่างความรู้สึกของญาติเหยื่อตากใบ 78 ศพที่ยื่นขอให้เพิกถอนคำสั่งศาลจังหวัดสงขลาในคดีไต่สวนการตายที่ระบุผู้ตาย 78 คนเสียชีวิตเพราะขาดอากาศหายใจ โดยเจ้าหน้าที่ที่สลายการชุมนุมปฏิบัติราชการตามหน้าที่

จากทีผู้เขียนได้ร่วมเสวนาตลอด11 ปี โดยเฉพาะโครงการเวทีเสวนายุติการทรมาน  ยุติอาชญากรรม  คือ ยุติความอยุติธรรมในเวทีผู้ได้รับผลกระทบได้สะท้อนความไม่ยุติธรรมที่เขาได้รับจาการซ้อมทรมานทั้งที่ประเทศไทยโดยรัฐ ได้ให้สัตยาบันอนุสัญญาต่อต้านการทรมานและการปฏิบัติหรือการลงโทษอื่นที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรี (Convention against Torture and Other Cruel, Inhuman or Degrading Treatment or Punishment: CAT) หรืออนุสัญญาต่อต้านการทรมานฯ ในวันที่ 2 ตุลาคม 2550  แต่จากเหตุการณ์ความขัดแย้งในพื้นที่  จังหวัดชายแดนภาคใต้ ก่อให้เกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชน การจับกุมตัวผู้ต้องสงสัย การสอบสวนด้วยวิธีที่รุนแรง ในหลายกรณีมีการทรมานหรือการปฏิบัติที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรี (การทรมาน)  เพื่อให้ผู้ต้องสงสัยยอมรับสารภาพ หรือให้ข้อมูลแก่เจ้าหน้าที่ การกระทำเหล่านี้เป็นการกระทำที่ผิดต่อสัตยาบันที่ได้ให้ไว้ตามอนุสัญญาต่อต้านการทรมานฯในขณะที่ผู้ใหญ่จากความมั่นคงก็ยอมรับเพียงแต่ขอความเห็นใจจากผู้เข้าร่วมประชุมว่าผู้กระทำเป็นเจ้าหน้าที่นั้นส่วนน้อยเท่านั้นและทางหน่วยเหนือได้ลงโทษไปแล้วและผู้ใหญ่ในหน่วยความมั่นคงรับปากว่าจะไม่ให้เกิดขึ้นอีกแต่หากเกิดขึ้นอีกนั้นจะจัดการขั้นเด็ดขาด

นี่คือภาพสะท้อนจากเวทีเสวนาที่ผู้เขียนได้รับที่สรุปตรงกันว่าชาวบ้านยังคงได้รับความไม่ยุติธรรมที่เป็นรูปธรรมตลอดมาทั้งหนักบ้าง  น้อยบ้าง ทั้งที่เป็นข่าวและไม่เป็นข่าว

ผู้เขียนได้มีโอกาสฟังการบรรยายของ นายอนุกูล อาแวปูเตะ ประธานศูนย์ทนายความมุสลิมประจำจังหวัดปัตตานี ซึ่งเป็นทนายในพื้นที่ที่กรุณาเล่าถึงประสบการณ์การทำงานด้านนี้ ซึ่งท่านกรุณาอธิบายให้ผู้เขียนและผู้ร่วมสัมมนาได้ฟังพอสรุปใจความได้ว่า “ ปัญหาความไม่เป็นธรรมเป็นเรื่องใหญ่ในจังหวัดชายแดนภาคภาคใต้ ซึ่งเป็นข้อเท็จจริงที่ต้องยอมรับ โดยเฉพาะคดีตากใบแต่ความไม่เป็นธรรมเป็นเพียงนามธรรมเท่านั้น และกรอบของความไม่เป็นธรรมใหญ่มาก เช่น ความไม่เป็นธรรมเชิงโครงสร้าง ความไม่เท่าเทียมทางสังคม ทางเศรษฐกิจ และทางการเมือง การปฏิบัติที่ไม่เหมือนกันต่อผู้ที่มีวิถีวัฒนธรรมต่างกัน นับถือศาสนาต่างกัน หรือต่อคนต่างเชื้อชาติ แต่ความไม่เป็นธรรมที่เห็นเป็นรูปธรรมที่สุดก็คือการถูกกล่าวหาและดำเนินคดีโดยไม่ได้กระทำความผิดจริง เป็นความไม่เป็นธรรมในกระบวนการยุติธรรม ซึ่งมองเห็นเป็นรูปธรรม และเป็นความเจ็บปวดที่บาดลึกลงไปในหัวใจ ทั้งต่อตนเองและญาติพี่น้อง เพื่อนฝูง และหากความไม่เป็นธรรมนี้เกี่ยวกับเชื้อชาติ ศาสนา ก็จะขยายวงกว้างไปอีก    

 ถึงแม้คนของหน่วยความมั่นคง  รัฐหรือรัฐบาลจะยอมรับในข้อเท็จจริงนี้ การแก้ปัญหาก็เป็นเพียงนามธรรมเช่นเดียวกัน  ไม่ได้ปรากฏการแก้ปัญหาในกระบวนการยุติธรรมอย่างเป็นรูปธรรม และสุดท้ายก็ต้องยอมรับในระบบว่าประเทศไทยเป็นระบบกล่าวหา หากถูกกล่าวหาโดยเจ้าหน้าที่ก็มีสิทธิที่จะปฏิเสธต่อสู้คดีในชั้นศาล เพราะปลายทางของคดีอยู่ที่ศาลจะพิจารณาตัดสิน โดยไม่ได้พูดถึงว่าสิ่งที่เขาสูญเสียไปในระหว่างการพิจารณาคดีกับความผิดพลาดของเจ้าหน้าที่นั้น รัฐจะชดเชยอย่างไร และจะแก้ปัญหาอย่างไรไม่ให้เกิดขึ้นอีกในอนาคต   ทั้งหมดนี้เป็นการเล่าสู่กันฟังในฐานะที่อยู่ในวงการและมีประสบการณ์ในคดีความมั่นคงและทนายความเป็นวิชาชีพหนึ่งที่มีหน้าที่ในการปกป้องสิทธิของผู้ที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม ท่านได้อธิบายต่อว่า “ เจ้าหน้าที่ไม่อาจที่จะปฎิเสธทนายความได้ เพราะรัฐธรรมนูญกำหนดให้คดีในศาลจะต้องมีทนายในการแก้ต่าง โดยเฉพาะคดีความมั่นคงเป็นคดีที่มีโทษหนัก ย่อมต้องให้ทนายความเข้าไปมีบทบาทตั้งแต่แรกในเบื้องต้น

นอกจากนี้มีความรู้สึกไม่สบายใจเป็นอย่างมาก ที่มีรายงานข่าวจากฝ่ายความมั่นคงว่า ภายหลังที่มีคำพิพากษาคดีตากใบ เหตุการณ์ความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ จะยิ่งหนัก และผู้พิพากษาที่พิจารณาคดี รวมทั้งอัยการ เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องจะถูกหมายหัวจากผู้ก่อความไม่สงบ  เพราะคดีตากใบเป็นเพียงคดีหนึ่งของอีกหลาย ๆ คดีที่เกี่ยวกับความมั่นคง แม้ความไม่เป็นธรรมจะเป็นเหตุของความไม่สงบ  แต่คำพิพากษาของศาลมันไม่ใช่ผลที่ทำให้มีเหตุการณ์รุนแรง เพราะปัจจัยที่ทำให้มันรุนแรง ไม่รุนแรง ทรง ๆ ทรุด ๆ ไม่รู้จริง ๆ มาจากสาเหตุอะไร หากจะบอกว่าผลของคำพิพากษาในคดีตากใบ ทำให้เหตุการณ์มีความรุนแรงขึ้น แล้วหลังเหตุการณ์ตากใบที่เกิด จนศาลมีคำพิพากษา ปี ๒๕๕๒ ในระหว่างรอคำพิพากษาแล้วเหตุใดเหตุการณ์ยังเกิดขึ้นอยู่เรื่อย ๆ  และจะอธิบานได้อย่างไรว่าในอีกหลาย ๆ คดีที่ศาลให้ความปรานีพิพากษายกฟ้องจำเลยแล้ว เหตุการณ์ความรุนแรงก็ยังคงเกิดขึ้น  นอกจากนี้ในกรณีที่ศาลพิพากษายกฟ้องจำเลยแล้วปล่อยตัวไป น่าจะเป็นที่พอใจของผู้ก่อความไม่สงบ แต่เหตุการณ์ก็ยังเกิดขึ้นอีก สุดท้ายจะอธิบายอย่างไร ในคดีที่จำเลยถูกจับกุมดำเนินคดีและต้องถูกขังระหว่างพิจารณา เมื่อศาลพิพากษายกฟ้องปล่อยตัวไปแล้ว ก็ถูกฆาตรกรรมโดยผู้ก่อความไม่สงบอีกเช่นเดียวกัน”

ภาพข่าวที่ผู้เขียนได้เห็นวันที่บรรดาสตรีทั้งสูงอายุและวัยรุ่น หรือเป็น ญาติผู้เสียชีวิตในคดีตากใบเดินทางไปยื่นคัดค้านและขอความเป็นธรรมจากคำสั่งศาลกรณีไต่สวนการตายของผู้เสียชีวิต 78 คนในเหตุการณ์สลายการชุมนุมที่หน้า สภ.ตากใบ จ.นราธิวาส ในวันจันทร์ที่ 29 มิ.ย.2552  ที่ศาลอาญา กรุงเทพฯ  กับภาพข่าว วันที่ 29 ธันวาคม 2558 เป็นภาพการต่อสู้ที่พวกเขายังมีความหวังในกระบวนการยุติธรรมไทย แต่การที่ศาลไม่รับคำร้อง และถ้าเหตุการณ์ความไม่ยุติธรรมยังคงดำรงอยู่ ตลอดทั้งพวกเขาผิดหวังเชิงประจักษ์กับกระบวนการศาลไทยหลายๆครั้งเมื่อไร อาจจะผลักให้พวกเขา   ชาวบ้านและแนวร่วมไม่ยอมรับและปฏิเสธกระบวนทางกฏหมายและกระบวนการยุติธรรมไทยในที่สุดก็เป็นได้ 

นางอังคณา นีละไพจิตรกล่าวว่า ดิฉันในฐานะครอบครัว จึงกลับมายังจุดตั้งต้นอีกครั้ง ในฐานะผู้ไม่มีสิทธิในการเรียกร้องความเป็นธรรมแทนสมชาย นีละไพจิตร และนี่จะเป็นจุดเริ่มต้นการเดินทางครั้งใหม่ในการทวงถามความจริงและความเป็นธรรมแทนครอบครัวผู้สูญหายทุกคน

สำหรับคดีทนายสมฃาย นางอังคณา ที่ต่อสู้มา 11 ปี กล่าวไว้ในครั้งหนึ่งว่า “แม้กระบวนการยุติธรรมจะมิอาจคืนชีวิตให้ทนายสมชายแต่กระบวนการยุติธรรมก็ไม่อาจปฏิเสธความรับผิดชอบในการคืนความยุติธรรมแก่เขา”

วันนี้ ณ จุดเดิม ดิฉันขอถามหาความรับผิดชอบต่อกรณีการบังคับสูญหายสมชาย นีละไพจิตร ไปยังรัฐบาลไทย สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรมสอบสวนคดีพิเศษ และกระบวนการยุติธรรมไทยอีกครั้ง ดิฉันขอเน้นย้ำว่าการบังคับสูญหายเป็นอาชญากรรมต่อมวลมนุษยชนชาติ เป็นอาชญากรรมต่อเนื่องที่ไม่มีอายุความ และเหยื่อและครอบครัวมีสิทธิในการทราบความจริง และความยุติธรรม

นางอังคณา  นีลไพจิตเชื่อมั่นว่าถ้าวันนี้ทนายสมชายสามารถรับรู้ถึงสิ่งที่เกิดขึ้น เขาจะไม่เสียใจ แต่จะภาคภูมิใจในสิ่งที่ครอบครัว และบรรดากัลยาณมิตรได้ร่วมกันผลักดันให้การบังคับสูญหายเป็นประเด็นสาธารณะ และเพื่อร่วมมือกันสร้างกลไกสำคัญในการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากอาชญากรรมร้ายแรงนี้

ท้ายนี้ ดิฉันขอขอบคุณบรรดากัลยาณมิตร สหายร่วมอุดมการณ์ สื่อมวลชน รวมถึงพี่น้องประชาชนทุกท่านสำหรับกำลังใจที่ยิ่งใหญ่ที่นำพาดิฉันและครอบครัวมาถึงจุดนี้ จุดที่เราจะไม่ยอมแพ้ จุดที่เราจะไม่ก้มหัวให้อำนาจอธรรม และจะมีกำลังใจในการก้าวเดินต่อไปเพื่อความยุติธรรมสำหรับบุคคลทุกคนด้วยความเชื่อมั่นในคุณค่า และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์[1]

ท้ายสุดคำตัดสินคดีทนายสมชาย สะท้อนต้นทางของกระบวนการยุติธรรมไทยและปัญหาความไม่เป็นธรรมชายแดนใต้ก็จะยิ่งแก้ยากขึ้นขนาดนางอังคณา  นีลไพจิต ยังทำได้แค่นี้แล้วคนชายแดนใต้ละ