Skip to main content

โดย อุสตาซอับดุชชะกูรฺ บินชาฟิอีย์  (อับดุลสุโก  ดินอะ) 

ด้วยพระนามของอัลลอฮฺ ผู้ทรงเมตตากรุณาเสมอขอความสันติสุขจงมีแด่ศาสนทูตมูฮัมมัด

ความหมายของ "เมาลิด"

         "เมาลิด" เป็นคำนามในภาษาอาหรับที่เกี่ยวกับเวลาและสถานที่ ซึ่งหากจะแปลความหมายในประโยคใดๆ ที่เกี่ยวกับเวลาหรือสถานที่นั้น ย่อมขึ้นอยู่กับส่วนขยายภายในประโยค เช่น เรากล่าวว่า "เมาลิดของท่านศาสนฑูตมูฮัมมัด คือ เมืองมักกะฮ์ ประเทศซาอุดิอารเบีย"  ซึ่ง คำว่า "เมาลิด" ในประโยคนี้ หมายถึง สถานที่เกิดของท่าน จะแปลว่าเกิดไม่ได้

         แต่ถ้าเรากล่าวว่า "เมาลิดของท่านศาสนฑูต คือ วันจันทร์ เดือนรอบีอุลเอาวัล ปีช้าง" จะแปลความหมายของ "เมาลิด" ในที่นี้ เป็นวันเกิด

    

         ”เมาลิด” เป็นพิธีกรรมหรือกิจกรรมของพี่น้องมุสลิม ส่วนหนึ่งเพื่อเป็นการรำลึกถึงท่านศาสนฑูตมูฮัมหมัด นิยมทำกันในวันเกิดหรือเดือนเกิดของท่าน

            ท่านเกิดในวันที่ 12 เดือนรอบีอุ้ลเอาวัล (เดือนที่ 3) ก่อนฮิจเราะห์ศักราช 53 ปี หรือในปี ค.ศ. 570 ณ มหานครมักกะห์ ประเทศซาอุดิอาระเบีย

            ปัจจุบัน พิธี/กิจกรรมดังกล่าวนิยมทำกันทั้งที่บ้านและที่มัสยิด แต่มีมุสลิมบางกลุ่มที่ไม่เห็นด้วยและคัดค้านเพราะถือว่าไม่ใช่หลักการศาสนาเป็นสิ่งที่ประดิษฐ์ขึ้นใหม่หรืออุตริกรรม ท่านศาสนฑูตเองก็ไม่เคยแนะนำให้ทำ ความคิดเห็นที่ขัดแย้งนี้มีมาช้านานแล้วในโลกมุสลิม แต่การทำเมาลิดก็มีการปฏิบัติกันมาอย่างต่อเนื่องมากกว่าหลายร้อยปีในประเทศมุสลิม

            ตามทัศนะผู้เขียนหากมันเป็นพิธีกรรมทางศาสนาแน่นอนเป็นอุตริกรรมเพราะศาสนพิธีศาสนากำหนดชัดเจนแต่หากเป็นกิจกรรมเพื่อเป็นการรำลึกถึงท่านศาสนฑูตมูฮัมหมัดและนำแบบอย่างท่านมาปฏิบัติเป็นเรื่องควรหนุนเสริม  อย่างไรก็แล้วแต่ทัศนะที่แตกต่างด้านวิชาการเป็นเรื่องปลีกย่อยไม่ควรนำมาทะเลาะ

         การจัดงานเมาลิดระดับชาติในประเทศมุสลิม มุ่งเน้นไปถึงพิธีการสดุดีท่านศาสนฑูตมูฮัมหมัด มีการอ่านร้อยแก้วร้อยกรองเกี่ยวกับชีวประวัติของท่าน มีการจัดเลี้ยงอาหารแก่ประชาชนอย่างทั่วถึง มีการจัดวิชาการด้านนิทรรศการและการบรรยายของนักวิชาการ เพื่อเผยแพร่จริยวัตรด้านต่าง ๆ ของท่านศาสนฑูมูฮัมหมัด  และการจัดงานลักษณะนี้หลีกเลี่ยงสิ่งที่เป็นข้อห้าม โดยเฉพาะกิจกรรมบันเทิงและกิจกรรมร่วมกันระหว่างหญิงกับชายยาก เท่าที่เคยจัดมา

กำเนิดเมาลิดกลางในไทย

         สำหรับประเทศไทยซึ่งไม่ใช่ประเทศมุสลิม (Non Muslim) ที่มีประชากรมุสลิมเพียงประมาณ 8 % มีการทำเมาลิดมานานแล้วเช่นกันโดยเป็นการทำตามบ้านและมัสยิดในชุมชน โดยการจัดในระดับ ชาติเพิ่งมีมาประมาณ 60 กว่าปีที่ผ่านมา

       ฮัจยีไฟซอล บินซำซุดดีน ผู้รู้ด้านประวัติเมาลิดแห่งประเทศไทยบอกเล่าถึงประวัติงานเมาลิดกลางในประเทศไทยว่า หลังจากสิ้นสุดตำแหน่งจุฬาราชมนตรีในสายท่านเฉกอะหมัดคือ ท่านจุฬาราชมนตรี “สอน อะหมัดจุฬา” ใน ปี พ.ศ. 2479 ก็ไม่มีการสานต่อตำแหน่งจุฬาราชมนตรี สังคมมุสลิมในยุคนั้นเป็นช่วงที่มีปัญหามากโดยเฉพาะปัญหาความวุ่นวายที่เริ่มก่อตัวขึ้นอีกครั้งในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ประกอบกับความไม่แน่นอนของการบริหารประเทศในระบอบประชาธิปไตยที่มีการเปลี่ยนแปลงมาเพียง 4 ปี คือในปี พ.ศ. 2475 รวมถึงเจ้าหน้าที่รัฐและผู้บริหารประเทศบางคนมีอคติต่อมุสลิม

         อย่างไรก็ดี มุสลิมที่จบการศึกษาจากประเทศอียิปต์ และมีบทบาททางสังคม ทั้งบางส่วนเคยเข้าร่วมกับคณะราษฎรทำการปฏิวัติใน ปี พ.ศ. 2475  มุสลิมกลุ่มดังกล่าวซึ่งเล็งเห็นวิกฤตที่กำลังเกิดขึ้นกับพี่น้องมุสลิม ได้พยายามฟื้นฟูสถานภาพ โดยริเริ่มจัดงานเมาลิดในระดับชาติจึงเกิดขึ้นโดยใช้ชื่อว่า “ เมาลิดินนบี” โดยนำเอาแนวคิดทางศาสนาเข้ามาโดยปรับวิธีการจากประเทศอียิปต์ที่คนกลุ่มนี้เคยไปร่ำเรียนมา

         งาน“เมาลิดกลาง” ครั้งแรกในประเทศไทยจัดขึ้นในปี 2480 โดยมี ฮัจยีอับดุลเลาะห์ การีมี เป็นประธาน จัดขึ้นที่หอประชุมกรมศิลปากร ครั้งที่ 2 ปี 2481 มี นายเล็ก นานา เป็นประธาน จัดขึ้นที่บ้านของเขาเอง ครั้งที่ 3 ปี  2482 มี นายเล็ก นานา เป็นประธาน จัดขึ้นที่โรงเรียนอำนวยศิลป์

       อย่างไรดี การงานเมาลิดกลางมีอันต้องยุติลงชั่วคราว เนื่องจากนโยบายชาตินิยมในยุคจอมพล ป. พิบูลสงคราม มีการออกประกาศรัฐนิยม 12 ฉบับ ทำให้เกิดผลกระทบอย่างรุนแรงต่อมุสลิมทั่วประเทศ โดยเฉพาะคำสั่งที่ให้นำพระพุทธรูปไปประดิษฐานในมัสยิดทุกมัสยิด รวมทั้งการที่คนมุสลิมต้องเปลี่ยนชื่อมาเป็นชื่อไทยและการห้ามเรียนกุรอานด้วย

         นายแช่ม พรหมยงค์ มุสลิมหนึ่งในคณะราษฎร ปี พ.ศ. 2475 ได้รับมอบหมายให้คุมกำลังบางส่วนของเสรีไทยเพื่อต่อต้านกองทัพญี่ปุ่นในระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง และมีภารกิจพิเศษคือ ปฏิบัติการใด ๆ ที่สามารถต่อต้านแนวคิดรัฐนิยมของจอมพล ป. พิบูลสงคราม เนื่องจากในขณะนั้น จอมพล ป. ประกาศตัวเข้าข้างฝ่ายญี่ปุ่นในสงครามเอเชียมหาบูรพา ได้ร่วมกับ นายบรรจง ศรีจรูญ หนึ่งในอีกคนของคณะราษฎรที่เป็นมุสลิม  เชิญผู้นำมุสลิมจากทั่วประเทศหารือ เพื่อจัดรวมพลังมุสลิมขึ้นในนามของงานเมาลิดซึ่งเคยจัดมาและได้หยุดไป

         งานเมาลิดครั้งที่ 4  จึงถูกจัดขึ้นในปี พ.ศ. 2486 โดยมี นายบรรจง ศรีจรูญ เป็นประธาน โดยจัดขึ้นที่พระราชอุทยานวังสราญรมย์ ถือเป็นงานเมาลิดที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในยุคนั้นเพราะมีผู้นำศาสนาและพี่น้องมุสลิมจากทั่วประเทศเข้าร่วม

        ทั้งนี้เพื่อเป็นการแสดงพลังให้ จอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้รับรู้ถึงพลังของพี่น้องมุสลิม และ นายแช่ม พรหมยงค์ ได้เชิญหลวงวิจิตรวาทการ มาเป็นประธานเปิดงาน ทั้งนี้ เนื่องจากหลวงวิจิตรเป็นต้นคิดในการเอาพระพุทธรูปไปประดิษฐานในมัสยิด

       ก่อนการเปิดงานมีการกล่าวอารัมภบทถึงความอยุติธรรมที่พี่น้องมุสลิมใน 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ได้รับและมีการเรียกร้องให้ยกเลิกความคิดการประดิษฐานพระพุทธรูปในมัสยิด ซึ่งก็ได้รับความสำเร็จอีกทั้งยังสร้างความประหวั่นให้กับ จอมพล ป. พิบูลสงคราม อีกด้วย 

      จากนั้นไม่นาน จอมพล ป. พิบูลสงคราม ก็พ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ส่วน นายแช่ม พรหมยงค์ ได้รับพระราชทานโปรดเกล้าฯ จากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 8 ให้เป็นจุฬาราชมนตรีคนแรกในสายซุนหนี่ ในปี 2488

        หลังจากนั้น งานเมาลิดินนบี ถูกจัดขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดย ครั้งที่ 5 ได้จัดขึ้นอีกใน ปี พ.ศ. 2487 มี นายประวิติ ศรีจรูญ เป็นประธาน จัดขึ้นที่สำนักงานมุสลิมสภา ถนนราชดำเนิน ครั้งที่ 6 ปี พ.ศ. 2488 มี นาย ประวิติ ศรีจรูญ เป็นประธาน จัดขึ้นที่สำนักงานมุสลิมสภา ถนนราชดำเนิน  และงานเมาลิดินนบี ครั้งที่ 7-9 มีนายนิพนธ์ สิงห์สุมาลี เป็นประธาน จัดขึ้นที่พระราชอุทยานสราญรมย์  

       หลังจากปี พ.ศ. 2493 การจัดงานเมาลิดระดับชาติก็ได้หยุดไป เนื่องจาก จอมพล ป. กลับมามีอำนาจอีกครั้ง เหลือเพียงงานเมาลิดตามบ้านและมัสยิดในชุมชนต่าง ๆ ยังเป็นที่นิยมปฏิบัติกันต่อ ๆ มา แต่เป็นไปเฉพาะในด้านพิธีกรรมไม่ได้มีกิจกรรมสังคมอื่น ๆ จอมพล ป. พยายามจะลดบทบาทและอำนาจของมุสลิมในสังคม โดยเฉพาะมรดกที่ทิ้งไว้จนถึงปัจจุบันคือ   หน้าที่ของจุฬาราชมนตรีที่เคยเป็นถึงที่ปรึกษาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ถูกลดอำนาจลงเป็นเพียงแค่ที่ปรึกษากรมการศาสนา โดยเริ่มตั้งแต่สมัยอาจารย์ ต่วน สุวรรณศาสตร์ ในปี พ.ศ. 2492 

        หลังการลงจากอำนาจของ จอมพล ป. งานเมาลิดกลางถูกริเริ่มอีกครั้งในปี 2504 โดยการรวมตัวของผู้นำและองค์กรศาสนา เมาลิดินนบี ถูกจัดขึ้นโดยใช้ชื่อว่า “ งานเมาลิดส่วนกลาง” โดยมีคุณหญิงแสงดาว สยามวาลา เป็นประธาน ที่สวนลุมพินี ถือเป็นการจัดงานระดับชาติ ครั้งที่ 10 (เนื่องจากงานเมาลิดระดับชาติหยุดไปกว่า 10 ปี ตั้งแต่ พ.ศ. 2493 คนรุ่นหลังที่ไม่ทราบที่มาที่ไปจึงได้นับการจัดงานครั้งนี้เป็นครั้งที่ 1 และรายงานต่อ ๆ กันมา แต่โดยความเป็นจริงแล้วต้องนับการจัดงานครั้งนี้เป็นครั้งที่ 10 )

        ในปี พ.ศ. 2506 อาจารย์ต่วน สุวรรณศาสตร์ ได้กราบบังคมทูลเชิญพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เป็นองค์ประธานในพิธี และพระองค์ท่านได้ทรงรับการกราบบังคมทูลของท่านจุฬาราชมนตรีมาเป็นองค์ประธานในพิธีตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2506 เป็นต้นมา นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณและความปลื้ม ปิติยินดีเป็นล้นพ้นต่อพสกนิกรชาวไทยมุสลิม

        นับแต่ ปี พ.ศ. 2504 เป็นต้นมา งานเมาลิดส่วนกลางได้ถูกจัดมาอย่างต่อเนื่องไม่เคยขาด ได้มีการเปลี่ยนชื่อเป็น “ งานเมาลิดกลาง” ใน ปี พ.ศ. 2515- 2522 และได้เปลี่ยนชื่ออีกครั้งเป็น “งานเมาลิดกลางแห่งประเทศไทย” ตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2525 จนถึงปัจจุบัน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ได้เสด็จฯ มาเป็นองค์ประธานในพิธี ในปีใดที่ไม่สามารถเสด็จฯมาได้ก็จะให้ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ และในระยะหลังตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2521 ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร เป็นผู้แทนพระองค์ตลอดมาจนถึงปัจจุบัน

       เนื่องจากงานเมาลิดกลางเป็นงานระดับชาติที่พี่น้องมุสลิมจำนวนมากมาเที่ยวและร่วมกิจกรรม อีกทั้งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเป็นองค์ประธานในพิธี สถานที่สำหรับจัดงานจึงมีความจำเป็นที่จะต้องให้เหมาะสมและเพียงพอที่จะรองรับผู้มาร่วมงานได้ ดังนั้นการจัดงานจึงต้องใช้สถานที่ที่สามารถรองรับผู้คนได้จำนวนมาก เช่น ลุมพินีสถาน สนามกีฬาหัวหมาก สนามกีฬาแห่งชาติ และจาก ปี พ.ศ. 2529 ได้ใช้สวนอัมพรมาจนถึงปัจจุบัน

       กิจกรรมหลักในงานเมาลิดกลางฯประกอบด้วย การตัมมัตกุรอานของเยาวชน พิธีการสดุดีท่านศาสดามูฮำหมัดซอลลั้ลลอฮู่อาลัยฮิว่าซัลลัม พิธีการรับเสด็จ ทดสอบกอรี กิจกรรมเยาวชน สัมมนาวิชาการ รวมถึงออกร้านขายสินค้านานาชนิด หัวใจของ “เมาลิด” และอยู่คู่กับงานมาตั้งแต่เริ่มคือ การทดสอบกอรี (การทดสอบการอ่านพระมหาคัมภีร์อันกุรอาน) โดยมีวัตถุประสงค์หลักคือ เพื่อคัดผู้แทนไปทดสอบกอรีระดับนานาชาติที่ประเทศมาเลเซีย ซึ่งนักกอรีของประเทศไทยสามารถทำชื่อเสียงให้กับประเทศ ถึงขั้นได้ตำแหน่งชนะเลิศ

        อย่างไรก็ดีในช่วงหลัง การทดสอบกอรีได้รับความสนใจจากผู้เข้าร่วมงานลดลง โดยมีคนเข้าฟังการทดสอบน้อยมาก ขณะที่ร้านค้ากิจกรรมบนเวทีที่เป็นความบันเทิง หรือการแสดงวัฒนธรรมพื้นบ้านและขับลำนำนาซีร  กลับได้รับความสนใจมาก ซึ่งถือเป็นรูปธรรมความแตกต่างของงานเมาลิดในประเทศไทยกับในประเทศมุสลิมอื่นๆ 

       สำหรับประธานจัดงานฯ  ถือเป็นผู้มีอำนาจเบ็ดเสร็จตัดสินใจในการจัดงานแต่ละปี เดิมถูกคัดสรรจากผู้เป็นที่ยอมรับของสังคมในยุคนั้น ๆ โดยมีจุฬาราชมนตรีเป็นประธาน แต่บางครั้งบางปีแทบจะหาคนมาเป็นประธานจัดงานไม่ได้เนื่องจากสภาวะเศรษฐกิจตกต่ำหรือสถานการณ์บ้านเมืองไม่อำนวย บางคนจึงต้องช่วยเป็นมากกว่าหนึ่งครั้ง แต่เนื่องจากการเปลี่ยนตัวประธานปีต่อปี ทำให้งานขาดการสานต่อแม้ว่าจะจัดมา 50-60 ครั้งแล้วก็ตาม

      กระทั่งมีการเปลี่ยนแปลงพระราชบัญญัติการบริหารองค์กรศาสนาอิสลาม พ.ศ. 2540 และนำมากำหนดใช้ใน ปี พ.ศ. 2542 โดยมีการตั้งคณะกรรมการอำนวยการจัดงานฯ ซึ่งประกอบด้วย คณะกรรมการกลางอิสลามฯ และประธานอิสลามประจำจังหวัดทั่วประเทศ เป็นผู้เลือกประธานจัดงานเมาลิดกลางฯ แทนที่จะเป็นองค์กรศาสนาหรือจุฬาราชมนตรีเหมือนที่ผ่าน ๆ มา ซึ่งการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว ก่อให้เกิดปัญหาขัดแย้งถึงขั้นไม่ยอมรับผลการเลือกตั้งและมีการฟ้องร้องเป็นคดีความจนถึงทุกวันนี้

สำหรับชายแดนใต้

            สำหรับทัศนะที่ทำได้ กิจกรรมดังกล่าวนิยมทำกันทั้งที่บ้านและที่มัสยิด ในขณะที่องค์การบริหารท้องถิ่น อำเภอ จังหวัด จัดกิจกรรมกรรมคล้ายๆเมาลิดกลางแห่งประเทศไทย แต่ด้วยงบประมาณน้อยกว่าจะมีการจัดใหญ่เล็กตามกำลังของงบประมาณ

            ข้อเสนอแนะผู้เขียน การจัดกิจกรรมเมาลิดนบีเป้าหมายหลักคือการนำแบบอย่าง วิถีชีวิตศาสนฑูตมูฮัมมัดมาเป็นแนวการดำเนินชีวิตไม่ว่า ศาสนพิธี การเมือง เศรษฐกิจ  สังคม  การศึกษา จรรยามารยาทดังนั้นการจัดกิจกรรมควรคำนึงถึงเป้าหมายให้มากที่สุดมากว่าพิธีกรรมในอดีตแต่มิได้หมายความว่าห้ามอนุรักษ์แนวการจัดในอดีตแต่ควรปรับเปลี่ยนให้เท่าทันกับยุคโลกาภิวัฒน์และสถานการณ์ในพื้นที่และโลก

ส่วนหนึ่งเรียบเรียงข้อมูลจาก http://www.maolidthai.com/subindex.php?page=show&id=10

.....