ทำไมเด็กยุคนี้ต้องคิดเป็น
หากเรามองย้อนกลับไปในอดีตเมื่อเริ่มการจัดการศึกษาในระบบของไทย การจัดการเรียนการสอนที่ยังขาดเครื่องไม้เครื่องมือในการเรียนการสอนของครู กระดานชนวนเป็นอุปกรณ์สำคัญในการเรียนรู้ของนักเรียนแต่ละคน นักเรียนแต่ละคนก็จะถือกระดานชนวนเพื่อใช้ในการฝึกเขียนฝึกอ่าน อ่านได้แล้ว จำได้แล้วก็ลบแล้วเขียนบทเรียนต่อ ๆ ไป ดังนั้นการเรียนในยุคนี้ เน้นการจำและนำไปสู่การปฏิบัติได้ ยุคถัดมา หนังสือเรียนได้เข้ามาเป็นสื่อการเรียนรู้ที่สำคัญ ครูเปิดหนังสือฝึกอ่านให้กับนักเรียน ทำแบบฝึกหัดในสมุด จดบันทึกและเก็บไว้ได้ ซึ่งความจำอาจจะมีความจำเป็นลดลง แต่ทักษะการอ่าน ทักษะการเรียนเป็นสิ่งสำคัญ
ในยุคปัจจุบันและที่กำลังจะก้าวข้ามผ่านพ้นไป เป็นยุคที่หนังสือเรียนมีบทบาทน้อยลงไป เพราะความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีสารสนเทศ นักเรียนในยุคต่อไปอาจจะไม่ต้องใช้หนังสือหรือสมุด แต่เขาสามารถอ่านได้จากทุกทีทุกเวลา ประการสำคัญคือ ข้อมูลจำนวนมหาศาลจะวิ่งมาหาเขาเอง ในขณะเดียวกันเขาเองอาจจะกลายเป็นเจ้าของความรู้ที่เผยแพร่ไปยังผู้อื่นอีกด้วย
โจทย์การจัดการเรียนรู้สำหรับคนในยุคนี้จึงจำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงไป จากเดิมในยุคแรกที่ต้องท่องจำมาเป็นการถูกใช้ให้อ่านเยอะๆ เพื่อจะได้รู้เยอะๆ ในยุคต่อมา และในยุคปัจจุบันที่ไม่ใช่แค่อ่านเยอะๆ แต่จะต้องคัดสรร คัดเลือก และประยุกต์ใช้เป็น ทั้งนี้เนื่องจากการเข้าถึงแหล่งความรู้ต่าง ๆ ทำได้ง่ายและรวดเร็ว ขณะเดียวกันการผลิตและเผยแพร่ความรู้ก็ทำได้สะดวกและง่ายดายขึ้น การอ่านเยอะๆ จะไม่สามารถทำให้คนๆ หนึ่งดำเนินชีวิตไปสู่ความสำเร็จได้ เพราะความรู้ที่สามารถเข้าถึงได้ง่ายนั้นจำเป็นต้องมีการตรวจสอบอย่างถ้วนถี่เสียก่อน หากขาดกระบวนการนี้เราอาจจะตกเป็นเครื่องมือของคนอื่นในการสร้างความวุ่นวายให้เกิดขึ้นในสังคมโดยไม่รู้ตัวก็เป็นไปได้
โลกปัจจุบันเป็นยุคของเครือข่ายสังคม ที่เมื่อมีประเด็นอะไรน่าสนใจจะมีการแชร์ข้อมูลออกไปอย่างรวดเร็ว ซึ่งหลายกรณีมีการแชร์จนไม่สามารถหาต้นตอที่มาที่ไปของข้อมูลดังกล่าวได้ และยังสร้างความเสียหายให้กับผู้ที่ปฏิบัติตามข่าว หรือบางครั้งผู้ที่อยู่ในข่าวก็ได้รับความเสียหายจนไม่สามารถลบล้างข้อมูลดังกล่าวได้
ตัวอย่างข่าวที่มีการแชร์กันอย่างแพร่หลายโดยไม่ได้มีการตรวจสอบข้อเท็จจริงและนำไปสู่การเป็นกระแสความสนใจของคนในสังคมได้ในเวลาที่ไม่นานนัก เช่น ข่าวการออกข้อสอบเข้าโรงเรียนอนุบาลสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่มีการพูดคุยกันถึงความยากของข้อสอบ จนกระทั่งท้ายที่สุดฝ่ายที่เกี่ยวข้องต้องออกมาชี้แจงว่าขอความดังกล่าวไม่เป็นความจริง
ข่าวการนำงูทะเลมาทำลูกชิ้น ซึ่งทำให้หลายคนพะอึดพะอมกับการกินลูกชิ้นไประยะหนึ่ง ซึ่งความจริงภาพกับข้อมูลที่นำเสนอเป็นคนละชุดกัน
หรืออีกกรณีเกี่ยวกับการมีส่วนผสมจากหมูในเครื่องดื่ม ซึ่งเป็นข่าวที่มีการนำเสนอ มีการชี้แจง แต่ก็กลับมาเป็นข่าวได้อีกไม่รู้กี่ครั้งในเครือข่ายสังคม ทั้งจากสาเหตุการตื่นตระหนกต่อข่าวและการขาดวิจารณญาณในการบริโภคข่าวของคนในยุคปัจจุบัน
ทักษะการคิดจึงเป็นทักษะที่จำเป็นสำคัญคนในยุคนี้ และจำเป็นจะต้องมีการเตรียมการจัดการศึกษาเพื่อรองรับความเปลี่ยนแปลง ดังที่ในประเทศสหรัฐอเมริกาได้เกิดการรวมตัวของภาคส่วนวงการนอกการศึกษาที่ประกอบด้วยบริษัทเอกชนชั้นนำขนาดใหญ่ อย่างเช่น บริษัทแอปเปิ้ล บริษัทไมโครซอฟท์ บริษัทวอล์ดิสนีย์ องค์กรวิชาชีพระดับประเทศ และสำนักงานด้านการศึกษาของรัฐได้รวมตัวและก่อตั้งเป็นเครือข่ายองค์กรความร่วมมือเพื่อทักษะการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 (Partnership for 21st Century Skills) หรือเรียกว่า เครือข่าย P21 ซึ่งเครือข่ายเห็นว่า การจัดการศึกษาในศตวรรษที่ 21 จำเป็นต้องได้รับการพัฒนาทักษะที่เพิ่มเติมจากคนในศตวรรษที่ 20 และ 19 เด็กและเยาวชนจำเป็นต้องมีทักษะการเรียนรู้และนวัตกรรม ซึ่งมีองค์ประกอบคือ 3R4C คือ 3 R ได้แก่ Reading (การอ่าน), การเขียน(Writing) และ คณิตศาสตร์ (Arithmetic) และ 4C ได้แก่ Critical Thinking (การคิดวิเคราะห์), Communication (การสื่อสาร), Collaboration (การร่วมมือ) และ Creativity (ความคิดสร้างสรรค์) รวมถึงทักษะชีวิตและอาชีพ และทักษะด้านสารสนเทศสื่อและเทคโนโลยี และการบริหารจัดการด้านการศึกษาแบบใหม่
ทั้งนี้แนวคิดดังกล่าวสอดคล้องกับแนวทางการจัดการศึกษาของไทยที่กำหนดไว้ในหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พศ.2551 ซึ่งได้กำหนดสมรรถนะสำคัญของผู้เรียนไว้ 5 ประการ คือ 1) ความสามารถในการสื่อสาร 2) ความสามารถในการคิด 3) ความสามารถในการแก้ปัญหา 4) ความสามารถในการใช้ทักษะชีวิต และ 5) ความสามารถในการใช้เทคโนโลยี ทั้งนี้สมรรถด้านความสามารถในการคิด หลักสูตรได้กำหนดไว้ว่า เป็นความสามารถในการคิดวิเคราะห์ การคิดสังเคราะห์ การคิดอย่างสร้างสรรค์ การคิดอย่างมีวิจารณญาณ และการคิดเป็นระบบ เพื่อนำไปสู่การสร้างองค์ความรู้หรือสารสนเทศเพื่อการตัดสินใจเกี่ยวกับตนเองและสังคมได้อย่างเหมาะสม
แนวโน้มความจำเป็นของทักษะการคิดข้างต้นสอดคล้องกับหลักการอิสลาม ทั้งนี้ อัลลอฮฺ (ซ.บ) ทรงเรียกร้องให้บ่าวของพระองค์ทำการพินิจ ใคร่ครวญ (ตะดับบุร) จากบรรดาโองการต่าง ๆ ในอัลกุรอานที่พระองค์ทรงประทานลงมา ดังปรากฏในอัลกุรอานที่ว่า
كِتَابٌ أَنزَلْنَاهُ إِلَيْكَ مُبَارَكٌ لِّيَدَّبَّرُوا آيَاتِهِ وَلِيَتَذَكَّرَ أُوْلُوا الْأَلْبَابِ
ความว่า “คัมภีร์ (อัลกุรอาน)ที่เราได้ประทานลงมาให้แก่เจ้าซึ่งมีความจำเริญ เพื่อพวกเขาจะได้พินิจพิจารณาโองการต่างๆ ของอัลกุรอานและเพื่อปวงผู้มีสติปัญญาจะได้สำนึก” (ศอด : 29)
อีกทั้งอัลลอฮ์ (ซ.บ) ทางแย้งต่อคนที่ไม่ทำการใคร่ครวญต่ออัลกุรอาน ดังที่ปรากฏในอัลกุรอานที่ว่า
أَفَلَمْ يَدَّبَّرُوا الْقَوْلَ أَمْ جَاءهُم مَّا لَمْ يَأْتِ آبَاءهُمُ الْأَوَّلِينَ
ความว่า “พวกเขามิได้พิจารณาพระดำรัสดอกหรือ? หรือว่าได้มีมายังพวกเขาสิ่งที่มิได้มีมายังบรรพบุรุษของพวกเขารุ่นก่อน ๆ” (อัลมุอ์มินูน : 68)
การนำเอาเรื่องราวต่าง ๆ มาพินิจพิจารณา ใคร่ครวญเพื่อเป็นอุทาหรณ์ในการดำเนินชีวิตเป็นสิ่งที่ได้รับการสนับสนุนให้กระทำ ดังปรากฏในอัลกุรอานที่ว่า
وَلَوْ شِئْنَا لَرَفَعْنَاهُ بِهَا وَلَـكِنَّهُ أَخْلَدَ إِلَى الأَرْضِ وَاتَّبَعَ هَوَاهُ فَمَثَلُهُ كَمَثَلِ الْكَلْبِ إِن تَحْمِلْ عَلَيْهِ يَلْهَثْ أَوْ تَتْرُكْهُ يَلْهَث ذَّلِكَ مَثَلُ الْقَوْمِ الَّذِينَ كَذَّبُواْ بِآيَاتِنَا فَاقْصُصِ الْقَصَصَ لَعَلَّهُمْ يَتَفَكَّرُونَ
“และหากเราประสงค์แล้ว แน่นอนเราก็ยกเขาขึ้นและ ด้วยบรรดาโองการเหล่านั้น แต่ทว่าเขาคงมั่นอยู่กับดิน และปฏิบัติตามความใคร่ใฝ่ต่ำของเขา ดังนั้นอุปมาของผู้นั้น จึงดั่งอุปไมยของสุนัขหากเจ้าขับไล่มัน มันก็จะหอบแลบลิ้นห้อยลง นั่นแหละคือ อุปมากลุ่มชนที่ปฏิเสธบรรดาโองการของเรา ดังนั้นเจ้าจงเล่าเรื่องราวเหล่านั้นเถิด เพื่อว่าพวกเขาจะได้ใคร่ครวญ” อัล-อะอฺรอฟ :176
จากความสำคัญและการสนับสนุนจากหลักการของศาสนาอิสลาม จึงเป็นภาระหน้าที่สำคัญของการจัดการศึกษาในสถานศึกษาอิสลามที่จะต้องเพิ่มการให้ความสำคัญต่อการพัฒนาทักษะการคิดของผู้เรียน แต่ทั้งนี้ทักษะการคิดไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะให้เกิดขึ้นกับผู้เรียนได้ หากยังคงรูปแบบการจัดการเรียนในแบบเดิม ๆ ที่ผ่านมา ครูผู้สอนจำเป็นต้องแสวงหารูปแบบการสอนที่มีประสิทธิภาพเพื่อสร้างคุณลักษณะดังกล่าวให้เกิดกับผู้เรียน
อะไรคือคิดเป็น
ราชบัณฑิตยสถานให้คำนิยามการคิดไว้ว่า “ทำให้ปรากฏเป็นรูป หรือประกอบให้เป็นรูปหรือเป็นเรื่องขึ้นในใจ ใคร่ครวญ ไตร่ตรอง คาดะคะเน คำนวณ มุ่ง จงใจ ตั้งใจ” ซึ่งจะเห็นว่าสิ่งดังกล่าวเป็นสิ่งที่เป็นนามธรรม ไม่สามารถจับต้องได้ แต่ทั้งนี้เมื่อนำมาสู่เป้าหมายในการจัดการเรียนการสอนจึงจำเป็นต้องวัดจากสิ่งที่ปรากฏจากพฤติกรรมของผู้เรียนที่แสดงออกมา ซึ่งเรียกว่า ทักษะการคิด ทั้งนี้ ราชบัณฑิตยสถาน ได้ให้ความหมายไว้ว่า เป็นความชำนาญในการคิดใคร่ครวญอย่างละเอียดรอบคอบในเรื่องราวต่าง ๆ อย่างมีเหตุผล โดยหาส่วนดี ส่วนบกพร่อง หรือ จุดเด่นจุดด้อยของเรื่องนั้น ๆ แล้ว เสนอแนะสิ่งที่ดีสิ่งที่เหมาะสมนั้นอย่างยุติธรรม นอกจากนี้สำนักคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานได้ให้ความหมายทักษะการคิดวิเคราะห์ ไว้ว่า เป็นการระบุเรื่องหรือปัญหา การจำแนกแยกแยะ การเปรียบเทียบข้อมูลอื่น ๆ และตรวจสอบข้อมูลอย่างชำนาญหรือหาข้อมูลเพิ่มเติมเพื่อให้และแม่นยำเพียงพอแก่การตัดสินใจ
ความคิดเป็นกระบวนการทางสมองที่มนุษย์ใช้จัดการกับข้อมูลข่าวสารที่ได้รับ ด้วยการจำแนกองค์ประกอบ, ความเหมือน-ความแตกต่าง, การเชื่อมโยงความสัมพันธ์ รวมไปถึงการสรุปอ้างอิงอย่างใช้เหตุผล เป็นกระบวนการภายในสมองที่ไม่สามารถมองเห็นได้ แต่อาจแสดงความคิดเห็นเหล่านั้นออกมาด้วยการกระทำที่แสดง เช่น การพูด การเขียน เป็นต้น ซึ่งสามารถนำทักษะการคิดมาออกแบบเชิงระบบ
ความคิดเป็นกระบวนการทางสมองที่มนุษย์ใช้จัดการกับข้อมูลข่าวสารที่ได้รับ ด้วยการจำแนกองค์ประกอบ ความเหมือน ความแตกต่าง การเชื่อมโยงความสัมพันธ์ รวมไปถึงการสรุปอ้างอิงอย่างใช้เหตุผล เป็นกระบวนการภายในสมองที่ไม่สามารถมองเห็นได้ แต่อาจแสดงความคิดเห็นเหล่านั้นออกมาด้วยการกระทำที่แสดง เช่น การพูด การเขียน เป็นต้น ทักษะการคิด หมายถึง ความสามารถในการคิดในลักษณะต่าง ๆ ซึ่งเป็นองค์ประกอบของกระบวนการคิดที่สลับซับซ้อน ทักษะการคิดสามารถจัดแบ่งออกเป็นประเภทใหญ่ๆ ได้ 2 ประเภท คือ
1. ทักษะพื้นฐาน (basic skills) หมายถึง ทักษะการคิดที่เป็นพื้นฐานเบื้องต้นต่อการคิดในระดับที่สูงขึ้นหรือซับซ้อน ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นทักษะการสื่อความหมายที่บุคคลทุกคนจำเป็นต้องใช้ในการสื่อสารความคิดของตน ได้แก่ ทักษะการสื่อความหมาย (communication skills) ทักษะการคิดที่เป็นแกนหรือทักษะการคิดทั่วไป (core or general thinking skills)
2. ทักษะการคิดขั้นสูง หรือทักษะการคิดที่ซับซ้อน (higher order or more complexed thinking skills) หมายถึง ทักษะการคิดที่มีขั้นตอนหลายชั้นและต้องอาศัยทักษะการสื่อความหมายและทักษะการคิดที่เป็นแกนหลายๆ ทักษะในแต่ละขั้น ทักษะการคิดขั้นสูงจึงจะพัฒนาได้เมื่อเด็กได้พัฒนาทักษะการคิดพื้นฐานจนมีความชำนาญพอสมควรแล้ว
การพัฒนาทักษะการคิดสำหรับผู้เรียน
การทักษะการคิดของผู้เรียนเหมือนเป็นเรื่องใหม่สำหรับการศึกษาของไทย แต่ในความจริงแล้วการพัฒนาทักษะการคิดเป็นเป้าหมายสำคัญที่ซ้อนเร้นอยู่ในการจัดการศึกษา ในการสอนของครูมาตั้งแต่อดีตแล้ว เพียงแต่สิ่งเหล่านั้นไม่ได้ปรากฏในหลักสูตรและการวัดประเมินผลในอดีต พิจารณาได้จากการที่ครูจะชื่นชมกับนักเรียนที่สามารถตอบคำถามได้อย่างฉะฉาน คิดสร้างสรรค์ ทำสิ่งต่าง ๆ เพิ่มเติมจากที่ได้สอนไปได้ ในขณะสอนครูจะรู้ว่าเด็กคนไหนเรียนรู้ได้เร็วหรือช้า ซึ่งเด็กกลุ่มที่มีทักษะการคิดที่ดีมักจะตั้งคำถามหรือคิดด้วยคำถามว่า “อย่างไร” มากกว่าด้วยคำถามว่า “อะไร” เป็นเด็กที่มีทักษะการคิดที่ดีจะสามารถต่อยอดความรู้ เรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ ได้ดีกว่าเด็กทั่วไป ทักษะการคิดถึงเป็นเครื่องมือสำคัญในการสร้างองค์ความรู้ใหม่
ในการจัดการเรียนการสอน ครูผู้สอนคือผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมทักษะการคิดของผู้เรียน ความสำเร็จของการพัฒนาทักษะการคิดขึ้นอยู่กับรูปแบบการจัดการเรียนการสอนของครู ตลอดจนเทคนิค วิธีการที่ครูเลือกใช้ ครูจึงจำเป็นต้องเลือกกิจกรรมที่มีความเหมาะสม สอดคล้องกับความต้องการของผู้เรียน ตลอดจนสามารถกระตุ้นให้ผู้เรียนได้เรียนรู้ ค้นคว้าและลงมือปฏิบัติ เพื่อให้เกิดทักษะที่กำหนดไว้
การจัดการเรียนการสอนที่มุ่งการพัฒนาทักษะการคิด จะต้องเป็นการจัดประสบการณ์เรียนรู้ที่เน้นกระบวนการมากกว่าเนื้อหาสาระวิชา โดยมุ่งให้เกิดผมสัมฤทธิ์กับผู้เรียนใน 3 ด้าน คือ
1. ด้านความรู้ (Knowledge) แบ่งออกเป็น 2 ประเภทคือ 1) เนื้อหาสาระของวิชานักคิด คือ สาระวิชาที่ผู้เรียนต้องเรียนรู้ ประกอบด้วยเครื่องมือช่วยคิด กระบวนการคิด ทักษะการคิด และ 2) ความรู้บูรณาการ คือ สาระเรื่องราวต่าง ๆ ที่เป็นสภาพการณ์ที่กำหนดสภาพแวดล้อมรอบตัว ปัญหาในชีวิตประจำวัน ที่ถูกนำมาคิด ซึ่งเนื้อหาจะเป็นสาระของวิชาใดก็ได้ จึงเป็นความรู้เชิงบูรณาการ
2. ด้านกระบวนการ (Process) คือ กระบวนการจัดการเรียนการสอนเพื่อพัฒนาทักษะการคิดที่เน้นการฝึกปฏิบัติจริง มุ่งสร้างผู้เรียนให้เกิดทักษะชีวิต
3. เจตคติ (Attitude) คือ คุณลักษณะผู้เรียนที่พึงประสงค์อันเกิดจากการเรียนรู้ในรายวิชาต่าง ๆ เช่น วินัย ความรับผิดชอบ ความขยัน การมีน้ำใจ เป็นต้น
การจัดการเรียนการสอนที่เน้นกระบวนการจำเป็นต้องอาศัยการออกแบบการจัดการที่ดี เพราะความล้มเหลวในการออกแบบคือความล้มเหลวในการเรียนรู้ของผู้เรียนไปด้วย การสอนแบบเดิม ๆ ที่ครูใช้ความพยายามในการอธิบายให้กับนักเรียนได้เข้าใจวิธีการคิดเพื่อให้ได้มาซึ่งคำตอบหรือการขยายต่อยอดความรู้ที่ได้รับไปนั้นเป็นสิ่งที่ทำให้เกิดขึ้นได้ยาก ขณะเดียวกันเมื่อการสอนต้องการพัฒนาทักษะการคิดของผู้เรียนก็ไม่ได้หมายความว่าการสอนดังกล่าวจะต้องแยกออกจากการสอนในเนื้อหาวิชาเรียนปกติ เพราะการพัฒนาทักษะนี้จะต้องบูรณาการร่วมอยู่กับการจัดการเรียนรู้ปกติ แต่การจัดการเรียนรู้ดังกล่าวนั้นต้องเอื้อต่อการพัฒนาทักษะการคิดของผู้เรียนด้วย เพราะทักษะดังกล่าวก็จะส่งผลกลับไปยังประสิทธิภาพการเรียนเนื้อหาวิชาดังกล่าวด้วยเช่นกัน
การปรับเปลี่ยนการสอนเพื่อการพัฒนาทักษะการคิดของผู้เรียนนั้นจะต้องประกอบด้วย 3 องค์ประกอบหลัก คือ
1. การสอนเพื่อการคิด (teaching for thinking)
จะต้องประกอบด้วยการกำหนดกลยุทธ์การสอน กิจกรรมการเรียนรู้ของนักเรียน และสื่อการเรียนรู้ ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะต้องเข้าไปมีส่วนส่งเสริมผู้เรียนในการคิด กระบวนการนี้จัดขึ้นเพื่อสร้างโอกาสให้กับผู้เรียนในการฝึกและใช้การคิดของพวกเขา โดยปกติการกระตุ้นการคิดส่วนใหญ่ของครูจะใช้การถามคำถาม และคำถามที่แตกต่างกันก็จะทำให้เห็นถึงระดับการใช้ความคิด คำถามจำนวนหนึ่งที่ครูถามในห้องเรียนเป็นการถามขั้นพื้นฐานที่ผู้เรียนตอบออกมาระดับของการนำเสนอข้อมูลที่ครูได้สอนไป เช่น ประเทศไทยมีกี่จังหวัด ใครเป็นนายกคนปัจจุบัน เป็นต้น คำถามเหล่านี้ไม่มีผลต่อการพัฒนาทักษะการคิดมากนัก ครูควรเลือกใช้คำถามที่กระตุ้นความคิดของผู้เรียนให้มากกว่านี้ เช่น คุณเห็นด้วยหรือไม่กับ..... บอกเหตุผลให้ฟังหน่อยได้ไหมว่า ทำไม เป็นต้น นอกจากประเด็นการตั้งคำถามในชั้นเรียนของครูแล้ว การสร้างความรับผิดชอบและการกระตุ้นให้เกิดการแสดงความคิดเห็นของผู้เรียนในชั้นเรียนก็เป็นสิ่งสำคัญ ซึ่งมีวิธีการที่ทำได้ไม่ยาก เช่น การจัดให้นักเรียนเกิดการแลกเปลี่ยนความเห็นกันภายในกลุ่ม การสร้างสถานการณ์ต่าง ๆ เพื่อให้ผู้เรียนได้ร่วมกันคิดและแก้ไขปัญหา กิจกรรมการเรียนในชั้นเรียนจะเป็นกลไกสำคัญที่จะทำให้ผู้เรียนเกิดการคิด เช่น การที่ครูออกแบบกิจกรรมให้นักเรียนได้อ่านหนังสือแล้วนำไปสู่การเล่าเรื่อง การอภิปราย การเขียน การร่วมกันแก้ไขปัญหา การโต้วาที เหล่านี้จะพัฒนาทักษะการคิดของนักเรียนได้อย่างมีประสิทธิภาพ
2. การสอนสำหรับการคิด (teaching of thinking)
หมายถึง ส่วนที่เกี่ยวกับทักษะและกระบวนการที่จะช่วยให้ผู้เรียนมีความสามารถในการจำแนก แยกแยะได้อย่างเป็นระบบ กระบวนการนี้เกี่ยวข้องโดยตรงกับยุทธศาสตร์การสอนของที่จะต้องระบุถึงทักษะการคิดที่ต้องการในการสอนครั้งนั้น ๆ ซึ่งต้องเริ่มต้นตั้งแต่การเตรียมเนื้อหาที่จะสอน เช่น เมื่อครูต้องการฝึกทักษะการคิดเปรียบเทียบ ครูก็จะต้องเตรียมเนื้อหาเพื่อการเปรียบเทียบทั้งในส่วนที่เหมือนกันและส่วนที่แตกต่างกัน และให้นักเรียนในชั้นเรียนได้อภิปรายกันสำหรับการเปรียบเทียบประเด็นดังกล่าว กิจกรรมการเรียนก็อาจออกแบบโดยเริ่มจากการที่ครูนำเสนอประเด็น โจทย์ที่ใช้ในการเปรียบเทียบ และให้ผู้เรียนได้ทำการสังเกตและบรรยายในสิ่งที่ตนเองเห็น ให้ผู้เรียนได้ทำการเปรียบเทียบในส่วนที่เหมือนกันและจดบันทึกไว้ จากนั้นให้ผู้เรียนจดบันทึกอีกครั้งสำหรับส่วนที่แตกต่างกัน จากนั้นให้นักเรียนกำหนดหลักเกณฑ์เพื่อใช้ในการเปรียบเทียบ สรุปส่วนสำคัญที่เป็นความแตกต่างและความเหมือน ซึ่งเมื่อเสร็จสิ้นกระบวนการจัดการเรียนรู้แล้ว ครูควรมีการสะท้อนผลกลับไปยังผู้เรียนเกี่ยวกับทักษะใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นจากการทำกิจกรรมในครั้งนั้น สำหรับในการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนนี้ครูสามารถใช้เทคนิคต่าง ๆ เพื่อช่วยในการพัฒนาทักษะการคิดของผู้เรียนได้ เช่น การใช้กราฟฟิก แผนผังองค์กร การใช้ mind map เป็นต้น
3. การสอนเกี่ยวกับการคิด (teaching about thinking)
กระบวนการนี้เป็นให้ความสำคัญกับการช่วยเหลือผู้เรียนให้พวกเขาตระหนักกับการใช้ความคิด การกำหนดวิธีการคิดของพวกเขาเอง ผู้เรียนจะต้องตื่นตัวเกี่ยวกับการรับรู้ว่าพวกเขารู้อะไรบ้างแล้ว และยังไม่รู้อะไรอีกบ้าง และค้นหาว่าความรู้อะไรบ้างที่จะช่วยพวกเขาเองในการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น และความรู้อะไรที่สามารถนำไปใช้ในการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นของพวกเขาที่ผ่านมา ผู้เรียนอาจจะเกิดคำถามกับตัวของเขาเองก็ได้ว่า อะไรคือไอเดียหลักของเรื่องนั้น ๆ
บทสรุป
ในวันที่ทุกคนสามารถเข้าถึงแหล่งความรู้ได้อย่างรวดเร็วในทุกที่ทุกเวลา การพยายามป้อนเนื้อหาจำนวนมากมายให้กับนักเรียน ก็จะไม่สามารถการันตีได้ว่าพวกเขาจะเป็นคนเก่งและอยู่รอดได้ในยุคปัจจุบัน ในขณะที่อีกด้านหนึ่ง ทักษะการคิดคือหัวใจสำคัญที่จะทำให้เกิดความรู้ใหม่ๆ ขึ้นในตัวของผู้เรียน และยังเป็นเครื่องมือสำคัญที่ทำให้การเรียนรู้ของพวกเขาเกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่ทักษะการคิดของผู้เรียนก็จำเป็นต้องได้รับการพัฒนาไปพร้อม ๆ กับการเรียนรู้เนื้อหาวิชาต่าง ๆ และนี้คือจุดสำคัญที่ครูจะต้องปรับเปลี่ยนการสอน