Skip to main content

‘อสนียาพร  นนทิพากร’

ในขณะที่รัฐบาลไทยกำลังเดินหน้าพูดคุยสันติสุข (Dialogue to foster Harmony) กับกลุ่มผู้คิดต่างจากรัฐ โดยมีการรวมกลุ่มของฝ่าย “มารา ปัตตานี” เป็นการร่วมมือกันของกลุ่มก่อความไม่สงบในภาคใต้ของไทย 6 กลุ่มด้วยกัน ได้แก่ แนวร่วมปฏิวัติแห่งชาติมลายูปาตานี (บีอาร์เอ็น), แนวร่วมอิสลามปลดปล่อยปาตานี (บีไอพีพี), องค์การปลดปล่อยสหปาตานี (พูโล) 3 กลุ่ม, ขบวนการมูญาฮิดีนอิสลามปาตานี (จีเอ็มไอพี)

ในขณะเดียวกันนักวิชาการ กลุ่มแนวร่วมขบวนการยังถกเถียงกัน และชี้ให้เห็นว่าปัญหา จชต. เป็นความขัดแย้งกันด้วยอาวุธ (Armed conflict) จะเป็นไปตามที่มีการชี้นำหรือไม่?

ความหมายของ “การขัดกันด้วยอาวุธภายในประเทศ” เป็นการต่อสู้ภายในรัฐระหว่างกองกำลังรัฐบาล กับกองกำลังต่อต้านรัฐบาล หรือระหว่างกลุ่มกำลังต่างๆ ที่ยังมิได้จัดตั้งรัฐบาล

องค์ประกอบหลักสำคัญ ซึ่งเป็นกฎหมายระหว่างประเทศที่จะดูว่าเป็น “การขัดกันด้วยอาวุธภายในประเทศ” หรือไม่? อย่างไร? มีการพิจารณาจากประเด็นหลักๆ ดังนี้ คือ

            1) มีการจัดตั้งองค์กร

            2) มีการบังคับบัญชา

            3) มีการควบคุมพื้นที่

            4) มีการปฏิบัติการโจมตีอย่างต่อเนื่องและพร้อมเพรียง

องค์ประกอบย่อย (ระดับความรุนแรงของการต่อสู้)

            1) การใช้กองทัพปราบปราม

            2) การเจรจากับกลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรง

            3) การให้องค์กรระหว่างประเทศ หรือประเทศอื่นเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้อง

            4) การมีผู้เสียชีวิต และได้รับบาดเจ็บจำนวนมาก

            5) การก่อความเสียหายต่อทรัพย์สินบ่อยครั้ง และสร้างความเสียหายเป็นวงกว้าง

องค์ประกอบย่อย “การมีกองกำลังติดอาวุธที่ต่อต้านรัฐบาล” ดูที่การแสดงให้เห็นว่า มีสายการบังคับบัญชา,  มีความสามารถปฏิบัติการอย่างเป็นระบบ,  มีการส่งกำลังบำรุงในระดับหนึ่ง, มีวินัยในระดับหนึ่ง และสามารถปฏิบัติตามพันธกรณีขั้นพื้นฐานของกฎหมายสงคราม เช่น การถืออาวุธ การโจมตีโดยเปิดเผย ไม่โจมตีทำลายประชาชนที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง ความสามารถที่จะเจรจาต่อรองอย่างเป็นเอกภาพ

กระทรวงการต่างประเทศได้ทำการชี้แจงเมื่อเดือนกันยายน 2554 โดยกล่าวในตอนหนึ่งว่า ปัญหา จชต. ไม่เป็นความขัดแย้งกันด้วยอาวุธ (Armed conflict) ด้วยเหตุผลที่ว่า

            1) ไม่มีกลุ่มใดรับผิดชอบต่อเหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้น

            2) ผู้ก่อเหตุปฏิบัติในทางลับไม่เปิดเผย

            3) ไม่มีหลักฐานว่ามีการบังคับบัญชาทางทหาร

            4) ไม่มีพื้นที่ใดถูกควบคุมโดยกลุ่มหนึ่งกลุ่มใด

            5) เหตุการณ์ส่วนใหญ่เป็นอาชญากรรมทั่วไป

เพราะฉะนั้นหากจะมีการชี้นำของคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเพื่อทำการสื่อไปยังองค์กรระหว่างประเทศเพื่อต้องการให้เห็นว่า ปัญหา จชต. เป็นความขัดแย้งกันด้วยอาวุธ (Armed conflict) ไม่เป็นความจริงแต่ประการใด เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในพื้นที่ จชต. มิได้เป็นการขัดกันด้วยอาวุธภายในประเทศ (Internal Armed conflict) หรือ การขัดกันด้วยอาวุธที่มิใช่ระหว่างประเทศ (Non Internal Armed conflict) แต่เป็นเพียงการรักษาความสงบเรียบร้อย และเป็นการบังคับใช้กฎหมายภายใต้กฎหมายอาญาภายในประเทศ (Domestic Criminal Law) เท่านั้น

----------------------