Skip to main content

รวมพลังนักศึกษา ม.อ.ปัตตานีนับพัน ค้านโรงไฟฟ้าเทพา ชี้ผลกระทบกระจายทั่วชายแดนใต้ แถลงการณ์ประกาศ 4 จุดยืน ศูนย์เฝ้าระวังฯ หวั่นกระทบสันติภาพ

เมื่อวันที่ 22 มกราคม 2559 เวลา 13.00 น. ที่ตึก 58 อาคารเรียนรวม มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี (ม.อ.ปัตตานี) เครือข่ายนักศึกษา ม.อ.ปัตตานี เพื่อความเป็นธรรม ร่วมกับเครือข่ายประชาชนจังหวัดชายแดนภาคใต้ปกป้องสิทธิชุมชนและสิ่งแวดล้อมเพื่อสันติภาพ(PermaTamas) จัดกิจกรรม “ปลุกพลังนักศึกษา หยุดโรงไฟฟ้าถ่านหิน ต่อลมหายใจอีกครั้ง” ที่เป็นการเปิดพื้นที่ให้กับนักศึกษาเข้าร่วมการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ว่า ไม่เห็นด้วยกับโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา จังหวัดสงขลา ขนาด 2,200 เมกะวัตต์ ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) โดยได้รับความสนใจจากนักศึกษา เครือข่ายภาคประชาชน และชาวบ้านกว่า 1,000 พันคน เข้าร่วมกิจกรรมครั้งนี้

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เวลาประมาณ 13.00 น. ที่ด่านความมั่นคงบริเวณช่วงเลี้ยวเข้าเมืองใกล้ห้างบิ๊กซี สาขาปัตตานี ได้มีเจ้าหน้าที่ทำการสกัดกั้นรถกระบะ และจักรยานยนต์ พร้อมด้วยกลุ่มประชาชนที่เดินทางมาจาก อำเภอเทพา จังสงขลา โดยมีเป้าหมายเข้าร่วมเวทีค้านโรงไฟฟ้าถ่านหินที่ ม.อ.ปัตตานี มีการตรวจยึดใบขับขี่ และกักไม่ให้เดินทางต่อ ซึ่งใช้เวลาเจรจากันราว 1 ชม. จึงยอมปล่อยให้เดินทางต่อเมื่อเลยเวลา 14.00 น.ไปแล้ว

ทั้งนี้ กิจกรรมเริ่มต้นด้วยการเสวนาสว่างภายใต้เงาดำ หัวข้อ “บทบาทนักศึกษาและประชาชนกับมหัตภัยร้ายโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา” ที่มีนักวิชาการ ตัวแทนภาคประชาสังคม และตัวแทนนักศึกษา ร่วมการเสวนา

นายดิเรก เหมนคร ผู้ประสานงานเครือข่ายพัฒนาเมืองเทพา กล่าวในวงเสวนาว่า พื้นที่ถูกกำหนดให้ก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพามีคนประมาณ 3 พันคน มีมัสยิดสองแห่ง มีกุโบร์ มีปอเน๊าะ มีวัดหนึ่งแห่ง มีความอุดมสมบูรณ์ พื้นที่เช่นนี้หรือที่ควรนำมาทำโรงไฟฟ้าถ่านหิน รวมทั้งปกติผังเมืองกำหนดให้พื้นที่อำเภอเทพาเป็นสีเขียว สร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินไม่ได้ แต่รัฐบาลมีการใช้อำนาจตาม มาตรา 44 เพื่อให้ทำโรงไฟฟ้าถ่านหินได้ เป็นการใช้อำนาจที่ไม่ชอบธรรม ในการพยายามทำทุกอย่างเพื่อให้สร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน จึงต้องการถามกลับว่าการกระทำแบบนี้เป็นสิ่งที่ถูกต้องชอบธรรมหรือไม่

ด้านนาย คอนดูล ปาลาเร่ ประธานชมรมอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มอ.ปัตตานี กล่าวว่า โรงไฟฟ้าถ่านหินเทพามีขนาด 2,200 เมกะวัตต์ ทำไมจึงไม่มีการศึกษาผลกระทบต่อเนื่องในพื้นที่จังหวัดปัตตานีซึ่งเป็นเขตติดต่อกับพื้นที่ของโรงไฟฟ้า เพราะทะเลอำเภอเทพากับทะเลปัตตานีนั้น เป็นท้องทะเลเดียวกัน เป็นป่าชายเลนผืนเดียวกัน และกระแสลมสามารถพัดควันลอยมาถึงกันได้ การไม่มีการศึกษาผลกระทบในลักษณะนี้ ถือเป็นเรื่องที่ไม่เป็นธรรม จึงอยากเรียกร้องต่อนักศึกษา หรือเหล่าปัญญาชนให้ออกมาร่วมกันแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ต่อกรณีโรงไฟฟ้าเทพา เพื่อร่วมกันสร้างสังคมที่เป็นธรรม ให้สมดั่งปนิธานของมหาวิทยาลัยที่ว่า ประโยชน์ของเพื่อนมนุษย์เป็นกิจที่หนึ่ง

ส่วนนาย มูฮัยมิง อาลี อุปนายกองค์การนักศึกษา มอ.ปัตตานี บอกว่า แม้วันนี้ฝนจะตกและเป็นวันศุกร์ที่หลายคนต้องไปละหมาด แต่เมื่อมาถึงห้องประชุมแล้ว ปรากฏว่ามีนักศึกษาเต็มห้อง จึงรู้สึกดีใจมากที่ทุกคนมาร่วมกันค้านโรงไฟฟ้าถ่านหินที่จะสร้างหายนะต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ซึ่งก่อนหน้านี้ที่จังหวัดนครศรีธรรมราช นักศึกษามหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์เคยออกมาคัดค้านโรงไฟฟ้าถ่านหิน เคยคัดค้านบริษัทเชฟรอนให้ออกจากพื้นที่ไปแล้ว วันนี้นักศึกษา มอ.ปัตตานี ก็จะทำเช่นนั้น เนื่องจากหากมีโรงไฟฟ้าถ่านหินขนาดใหญ่แล้วต้องย้าย กุโบร์ มัสยิด ปอเน๊าะ ซึ่งเป็นที่ดินวากัฟ ย่อมเป็นสิ่งที่พี่น้องมุสลิมรับไม่ได้

ขณะที่นางสาว อิห์ซาน นิปิ จากมหาวิทยาฟาฎอนี จังหวัดยะลา กล่าวว่า นักศึกษาฟาฎอนีได้ไปทำค่ายที่อำเภอเทพา ในพื้นที่จะก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน ได้พบว่าที่นั่นมีความอุดมสมบูรณ์มาก เมื่อลงไปในคลองสามารถจับปลากระบอกด้วยมือเปล่า เพราะมีปลาอุดมสมบูรณ์ มีป่าชายเลนที่สมบูรณ์ มีสวนยาง มีทะเลที่สวยงามและอุดมสมบูรณ์ แต่ กฟผ.และฝ่ายสนับสนุนกลับบิดเบือนให้ข้อมูลต่อสังคมว่าอำเภอเทพาเหมือนทะลทราย แห้งแล้งและยากจน ซึ่งเป็นการกล่าวเท็จอย่างน่ารังเกียจ เนื่องจากข้อเท็จจริงแล้วหากมีโรงไฟฟ้าถ่านหินเกิดขึ้น อาจจะส่งผลกระทบด้านสุขภาพของประชาชนในพื้นที่ สิ่งแวดล้อมจะเสื่อมโทรม ดังนั้นการปกป้องชุมชนจึงเป็นหน้าที่ของเรา ที่ต้องออกมาปกป้องสังคมไม่ให้ถูกทำลายจากถ่านหินสกปรก

สำหรับนาย ตูแวดานียา ตูแวแมแง แกนนำภาคประชาชนบอกว่า หากมีโรงไฟฟ้าถ่านหินเกิดขึ้น วิถีชุมชนและวิถีวัฒนธรรมจะถูกทำลายจากผลกระทบที่จะเกิดขึ้น และจะเป็นเงื่อนไขสำคัญที่จะมีผลต่อกระบวนการสร้างสันติภาพได้ เนื่องจากเหตุความไม่สงบสร้างความเครียดให้กับชาวบ้านมากพออยู่แล้ว ทำไมจึงยังพยายามให้เกิดมลพิษ น้ำเสียจากโรงไฟฟ้าถ่านหินมาให้คนปัตตานีอีก โรงไฟฟ้าถ่านหินเทพาจะปล่อยมลพิษออกมาจำนวนมากแบบไม่เลือกฝ่าย ไม่ใช่กระทบคนหลักสิบหลักร้อย แต่จะกระทบคนเป็นแสน ซึ่งถือว่าจะเป็นปัญหาที่สาหัสกว่าปัญหาเหตุความไม่สงบมาก เพราะแม้จะใช้เทคโนโลยีก็กรองมลพิษได้ไม่เกิน 90 เปอร์เซ็น มลพิษที่รอดออกมาอาจทำให้เป็นมะเร็งในระยะยาว อีกทั้งการที่รัฐใช้อำนาจตาม พรบ.ความมั่นคงฯ มาควบคุมสถานการณ์ ประชาชาจะออกมาคัดค้านดรงไฟฟ้าถ่านหินมากขึ้น เชื่อว่าในที่สุดอาจมีการนำ พรบ.ฉุกเฉินกลับมาใช้ รวมถึงกรณีการเกิดระเบิดที่อำเภอเทพาเมื่อไม่กี่วันนี้ อาจเป็นการส่งสัญญานให้กับฝ่ายความมั่นคงก็เป็นได้ ซึ่งเชื่อไม่เป็นผลดีต่อกระบวนการสันติภาพเลย

ภายหลังเสร็จสิ้นเวทีเสวนาดังกล่าว ตัวแทนนักศึกษาได้อ่านแถลงการณ์แสดงจุดยืนคัดค้านโครงการโรงไฟฟ้าเทพา 4 ข้อ 1. เวทีแสดงความคิดเห็น ค.1 ค.2 และ ค.3 ที่จัดขึ้นไม่มีความชอบธรรม เพราะไม่เปิดโอกาสให้ประชาชนในพื้นที่ผลกระทบ ซึ่งไม่ใช่แค่รัศมี 5 กิโลเมตร รวมถึงปัตตานี นราธิวาส และสตูล ได้นำเสนอความคิดเห็น 2.ลำพังสถานการณ์ความขัดแย้งถึงตายด้วยอาวุธตลอดกว่า 10 ปีที่ผ่านมา ก็หนักหนาสาหัสพออยู่แล้ว และถ้ามีโรงไฟฟ้าเชื่อว่าจะยิ่งเป็นการโหมไฟใต้มากกว่าการพัฒนาอย่างแน่นอน 3.เครือข่ายฯ จะพยายามถึงที่สุดตามแนวทางสันติวิธี เพื่อเป้นการหยุดโครงการโรงไฟฟ้าเทพา 4.กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน(กอ.รมน.) จะต้องนำปัญหาโรงไฟฟ้าและท่าเทียบเรือบรรจุเป็นวาระ เพื่อคลี่คลายป้องกันความไม่พอใจของประชาชนต่อกลไกอำนาจรัฐที่เกี่ยวข้อง เพื่อไม่ให้ปัญหากลายเป็นน้ำผึ้งหยดเดียวทำลายบรรยากาศการพูดคุยเพื่อสันติสุขชายแดนใต้

จากนั้นในเวลาประมาณ 15.00 น. นักศึกษา ม.อ.ปัตตานีกว่า 1 พันคน ได้ตั้งขบวน พร้อมถือธงและป้ายผ้าสีเขียวที่เขียนข้อความคัดค้านโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา และร่วมกันเดินออกจากประตูมหาวิทยาลัยไปตามถนนรูสะมิแล ผ่านวงเวียนหอนาฬิกา มุ่งหน้าไปยังลานพระบรมรูปรัชกาลที่หน้า บริเวณหน้าศาลากลางจังหวัด เพื่อเป็นการแสดงออกอย่างสันติ ต่อการคัดค้านโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา

ส่วนประเด็นการออกมาเคลื่อนไหวของนักศึกษาในครั้งนี้ นายรอมฏอน ปันจอร์ บรรณาธิการศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ กล่าวว่า เนื่องด้วยพื้นที่อำเภอเทพา ที่เป็นพื้นที่ก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินและท่าเทียบเรือ ถือเป็นพื้นที่ความมั่นคงของรัฐที่มีการใช้ พรบ.ความมั่นคงฯ และเป็นพื้นที่รอยต่อกับจังหวัดปัตตานีที่มีการใช้ พรก.ฉุกเฉินฯ และกฏอัยการศึก จึงถือเป็นพื้นที่เปราะบางทางความมั่นคง ซึ่งประชาชนที่ออกมาเคลื่อนไหวทางการเมืองย่อมมีความสุ่มเสี่ยงกว่าพื้นที่อื่นของประเทศ ดังนั้นการออกมานำการเคลื่อนไหวของนักศึกษากว่า 1,000 คนในวันนี้จึงมีความน่าสนใจ เนื่องจากที่ผ่านมาการเคลื่อนไหวของนักศึกษาจะอยู่ในประเด็นเรื่องสิทธิมนุษยชน การเรียกร้องความเป็นธรรม หรือเรื่องสิทธิการกำหนดชะตากรรมของคนในพื้นที่เองเท่านั้น ซึ่งเมื่อมีการเคลื่อนไหวในประเด็นโรงไฟฟ้า จึงทำให้เกิดการเชื่อมต่อกับนักวิชาการ และภาคประชาสังคม ซึ่งอาจทำให้ประเด็นปัญหาเหล่านี้ถูกผนวกรวมเป็นเรื่องเดียวกันได้

นายรอมฏอน ปันจอร์ กล่าวอีกว่า แม้รัฐบาลในขณะนี้จะไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง แต่ในแนวทางแก้ปัญหาความขัดแย้งของพื้นที่ ค่อนข้างมีความหวังกับกระบวนการพูดคุยสันติสุขของรัฐ ที่กำลังอยู่ในขั้นตอนการสร้างความไว้วางใจระหว่างกัน ด้วยการสร้างความมั่นคง ความปลอดภัยให้แก่ประชาชน คำถามที่เกิดขึ้นคือ โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินที่จะนำมาเป็นเครื่องมือพัฒนาพื้นที่นี้ มีความสอดคล้องต่อแนวทางการสร้างสันติสุขแก่พื้นที่หรือไม่ เพราะการเคลื่อนไหวคัดค้านโรงไฟฟ้าถ่านหินมีแนวโน้มจะแหลมคมขึ้น และอาจนำไปสู่การเผชิญหน้าในอนาคต ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ไม่ควรเกิดขึ้นในห้วงสถานการณ์การสร้างความไว้วางใจ ตนจึงคิดว่า กอ.รมน. และ รัฐบาล ควรย้อนทบทวนว่าในเวลานี้เราต้องการแก้ปัญหาอะไรอะไรก่อนหลัง และควรเปิดรับฟังความคิดเห็นประชาชนในเรื่องต่างๆ อย่างไรที่จะเป็นผลดีต่อการสร้างสันติสุขของรัฐที่กำลังดำเนินอยู่

....ที่มา http://transbordernews.in.th/home/?p=11417 .
สำนักข่าว Transborder News คนชายข่าว คนชายขอบ_