Skip to main content

พุทธ-มุสลิมร่วมค้านโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา ชี้เป็นความรู้สึกร่วมพลเมือง อดีตแกนนำ P.N.Y.S แฉวิชามารใช้กลไกปกครองป่วน-ครอบงำชุมชน-ผู้นำศาสนา

เมื่อวันที่ 23 มกราคม 2559 นางสาวลม้าย มานะการ ผู้ประสานงานเครือข่ายชาวพุทธเพื่อสันติภาพ ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่ขบวนนักศึกษาในจังหวัดชายแดนภาคใต้นับพันคนร่วมกันแสดงพลังคัดค้านโครงการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา และท่าเรือขนส่งถ่านหิน อำเภอเทพา จังหวัดสงขลา ว่า ไม่ใช่เรื่องโรงไฟฟ้าเทพาเพียงอย่างเดียวที่ทำให้นักศึกษาและประชาชนลุกขึ้นมาเคลื่อนไหวคัดค้าน แต่ปัจจัยสำคัญอยู่ที่รัฐกำลังขาดความชอบธรรมในการตัดสินใจนโยบายด้านพลังงานทั้งระบบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสถานการณ์พื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ประชาชนตกอยู่ในภาวะแย่อยู่แล้ว จึงไม่เห็นด้วยที่รัฐจะผลักดันโรงไฟฟ้าถ่านหิน ซึ่งยิ่งจะเป็นผลด้านลบต่อสถานการณ์ของพื้นที่

นางสาวละม้ายกล่าวว่า การออกมาคัดค้านเนื่องจากยังไม่มีความมั่นใจว่ารัฐจะมีมาตรการจัดการผลกระทบอย่างมีประสิทธิภาพ อีกทั้งที่ผ่านมาในเวทีรับฟังความคิดเห็น ค.1 ค.2 และ ค.3 ไม่ได้เปิดโอกาสให้ประชาชนมีโอกาสแสดงความคิดเห็นอย่างทั่วถึง ทั้งที่ปัตตานีเป็นพื้นที่ที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบเช่นกัน ดั่งเช่นกรณีปัญหาหมอกควันไฟป่าจากอินโดนีเซีย ได้ส่งผลกระทบด้านสุขภาพต่อประชาชนอย่างรุนแรง ดังนั้นจะทำอย่างไรให้ประชาชนเชื่อมั่นว่าจะมีระบบจัดการที่มีประสิทธิภาพจริง

นางสาวลม้าย กล่าวต่อว่า แม้การขับเคลื่อนงานสันติภาพของภาคประชาสังคมในพื้นที่ยังมีช่องว่างระหว่างกันอยู่บ้าง แต่กับการเคลื่อนไหวของนักศึกษาในครั้งนี้ เกิดขึ้นภายใต้ความรู้สึกว่าเป็นหน้าที่ของพลเมือง จึงทำให้ทุกคนพร้อมใจออกมาคัดค้านโรงไฟฟ้าเทพาเป็นจำนวนมาก โดยที่ไม่สนใจว่าเป็นงานของใคร แต่ละคนมาจากไหน หรือสู้ได้หรือไม่ก็ตาม

นายตูแวดานียา ตูแวแมแง ผู้อำนวยการสำนักปาตานีรายาเพื่อสันติภาพและการพัฒนา (LEMPAR) ในฐานะผู้ประสานงานเครือข่าย PERMATAMAS กล่าวว่า ปรากฏการณ์การเคลื่อนไหวของน้องๆ นักศึกษาครั้งนี้ เป็นพลวัตรของขบวนการนักศึกษาชายแดนใต้ ที่แสดงให้เห็นว่าปัจจุบันนักศึกษาได้ลงไปทำงานชุมชนและมีปฏิสัมพันธ์กับชาวบ้านมากขึ้น จึงทำให้เกิดการเรียนรู้ปัญหาในหลากหลายมิติ ที่ไม่ใช่เฉพาะประเด็นการเรียกร้องความยุติธรรมหรือปัญหาความขัดแย้งในพื้นที่เท่านั้น

นายตูแวดานียา กล่าวว่าสำหรับพื้นที่อำเภอเทพาที่กำลังมีโรงไฟฟ้าถ่ายหินเกิดขึ้น อาจไม่ใช่พื้นที่ความมั่นคงที่มีปัญหากระทบระหว่างรัฐกับชุมชนมากนัก แต่สิ่งที่นักศึกษาได้รับฟังปัญหาจากชาวบ้านนั้น ทำให้รับรู้ความจริงว่า รัฐกำลังพยายามรวบรัดโครงการนี้ให้เกิดขึ้น โดยที่ไม่มีการรับฟังความเห็นของประชาชนอย่างทั่วถึง รวมถึงในชุมชนกำลังมีปัญหาความขัดแย้ง เพราะกลไกรัฐที่สนับสนุนการสร้างโรงไฟฟ้าได้อาศัยเครือข่ายการปกครอง กลุ่มการเมืองท้องถิ่นและผู้นำศาสนาที่ล้วนมีความสัมพันธ์กับรัฐ เข้าไปครอบงำชาวบ้านด้วยวิธีการต่างๆ

นายตูแวดานียา กล่าวต่อว่า แต่ในยุคปัจจุบัน ชาวบ้านส่วนใหญ่มีโอกาสได้รับรู้ข้อเท็จจริงจากหลายช่องทาง ทั้งข้อมูลวิชาการและด้านผลกระทบ จึงไม่ทำให้ถูกครอบงำทั้งหมด แต่ด้วยสถานการณ์ปัจจุบันชาวบ้านกำลังต่อสู้อย่างโดดเดี่ยวอย่างไม่มีความหวัง และกำลังกลายเป็นประเด็นอ่อนไหวต่อความมั่นคง เพราะที่ผ่านมาในกระบวนการพูดคุยสันติสุข รัฐบาลย้ำอยู่เสมอถึงการพัฒนาพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ว่า ต้องเป็นการพัฒนาที่ได้รับการยอมรับจากทุกฝ่าย ดังนั้นการการผลักดันให้เกิดโรงไฟฟ้าถ่านหินในพื้นที่ ซึ่งประชาชนส่วนใหญ่คัดค้าน จึงเป็นโยบายการพัฒนาที่ย้อนแย้งกับนโยบายการแก้ปัญหาความขัดแย้งในพื้นที่ จึงกังวลว่าหากรัฐไม่กลับทบทวนเรื่องโรงไฟฟ้าเทพา ประเด็นนี้อาจกลายเป็นเงื่อนไขใหม่ของปัญหาความขัดแย้งในพื้นที่

....ที่มา http://transbordernews.in.th/home/?p=11437 

Transborder News คนชายข่าว คนชายขอบ_