Skip to main content
 

7 องค์กรนักศึกษา-ภาคประชาชนยื่นจดหมายถึงแม่ทัพภาค 4 ค้านโรงไฟฟ้าเทพา เสนอให้เวทีรับฟังที่ผ่านมาเป็นโมฆะเหตุไม่ให้ข้อมูลชาวบ้านก่อน เผยชุมชนแตกแยกหนัก-เกิดเหตุระเบิด

 
 

เมื่อวันที่ 25 มกราคม 2559 เวลา 14.30 น. ที่กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า(กอ.รมน.ภาค 4 สน.) ค่ายสิรินธร อำเภอยะรัง จังหวัดยะลา ตัวแทนองค์กรภาคีเครือข่ายประชาชนจังหวัดชายแดนภาคใต้ปกป้องสิทธิชุมชนและสิ่งแวดล้อมเพื่อสันติภาพ(PermaTamas) ตัวแทนเครือข่ายประชาสังคมเพื่อสันติภาพ(คปส.) ตัวแทนเครือข่ายนักศึกษามหาวิทยาลับสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี เพื่อความเป็นธรรม ตัวแทนสหพันธ์นิสิตนักศึกษาเยาวชนนักเรียนปาตานี (PerMAS) มูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม(MAC) เครือข่ายอาสาสมัครผู้ช่วยทนายความที่ชายแดนภาคใต้(SPAN) เครือข่ายสตรีปกป้องสิทธิมนุษยชน และองค์กรเครือข่ายสิทธิมนุษยชนปาตานี(HAP) ร่วมกันยื่นจดหมายเปิดผนึกถึง พล.ท.วิวรรธน์ ปฐมภาคย์ แม่ทัพภาคที่ 4 ในฐานะผู้อำนวยการ กอ.รมน.ภาค 4 สน. เพื่อขอให้นำปัญหาโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา บรรจุเป็นวาระของกระบวนการสันติสุขเพื่อลดภัยแทรกซ้อนยิ่งโหมไฟใต้ โดยมี พลโทมณี จันทิพย์ รองแม่ทัพภาคที่ 4 เป็นตัวแทนรับจดหมายฯ

พลโทมณีกล่าวกับคณะที่เข้ายื่นจดหมายว่า ปัญหาทุกอย่างที่อาจกระทบต่อกระบวนการสันติสุขของรัฐ เป็นเรื่องที่กองทัพภาคที่ 4 ให้ความสำคัญอยู่แล้ว แต่สำหรับเรื่องโรงไฟฟ้าเทพาไม่อยากให้ถูกขยายไปรวมกับเรื่องความมั่นคง แต่อย่างไรจะนำเรื่องนี้รายงานต่อแม่ทัพภาคที่ 4 ต่อไป

นาย ตูแวดานียา ตูแวแมแง ผู้ประสานงาน PermaTamas กล่าวว่าภายหลังการยื่นจดหมายเปิดผนึกแล้ว พวกเราได้สะท้อนสถานการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นว่า เหตุการณ์ความรุนแรงครั้งล่าสุดในอำเภอเทพา ที่เกิดเหตุระเบิด 2 ลูกนั้น มีเป้าหมายทำร้ายกลุ่มนักการเมืองท้องถิ่นที่มีส่วนได้ส่วนเสียกับโครงการโรงไฟฟ้าเทพา และมีความพยายามสร้างความแตกแยกในชุมชน ด้วยการยิงข่มขู่ชาวบ้านในยามวิกาล จนทำให้ชาวบ้านในเทพาเกิดความกังวลว่า หากเหตุการณ์รุนแรงมากขึ้นอาจจะไม่มีความปลอดภัย ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อบรรยากาศการสร้างสันติสุขของรัฐ

นายตูแวดานียา กล่าวต่อว่า ต้องการให้รัฐบาลสั่งยกเลิกเวที ค.1 ค.2 และ ค.3 ที่ผ่านมา เพราะในขั้นตอนการรับฟังความคิดเห็นดังกล่าว ชาวบ้านยังไม่ได้รับรู้ข้อมูลอย่างรอบด้านก่อนตัดสินใจ และมีการจำกัดรัศมีผลกระทบเพียง 5 กิโลเมตรเท่านั้น โดยควรเปิดโอกาสให้ชาวบ้านรับรู้ข้อมูลจากนักวิชาการที่น่าเชื่อถือ และพาชาวบ้านไปลงพื้นที่ผลกระทบจากโรงไฟฟ้าแม่เมาะ จังหวัดลำปาง เพื่อให้สามารถตัดสินใจบนข้อมูลที่ถูกต้อง

“ข้อมูลวิชาการจากหลากหลายแหล่งระบุชัดว่าผลกระทบจากโรงไฟฟ้าเทพามีรัศมีมากกว่า 100 กิโลเมตร แต่ กฟผ.กลับบอกชาวบ้านว่าผลกระทบมีเพียง 5 กิโลเมตร ไม่ว่าควันพิษในอากาศ สารแคดเมียม สารพิษจะตกค้างในทะเล ไอความร้อน กระแสน้ำที่กระทบต่อระบบนิเวศป่าชายเลน การกัดเซาะชายฝั่ง ซึ่งไม่ใช่แค่เทพาหรือหนองจิกเท่านั้น แต่มันจะฟุ้งหรือกระจายไปถึงนราธิวาส การที่ชาวบ้านหลายพื้นที่ลุกขึ้นมาคัดค้าน จึงเป็นความชอบธรรมในการปกป้องฐานทรัพยากรตามสิทธิชุมชน” นายตูแวดานียา กล่าว

ด้านนายคอนดูล ปาลาเร่ ประธานชมรมอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มหาวิทลายลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี กล่าวว่า การที่นักศึกษาได้ออกมาแสดงพลังร่วมกันว่าไม่เห็นด้วยต่อโครงการโรงไฟฟ้าเทพา ตามที่ได้ถูกนำเสนอในสื่อมวลชนนั้น ได้กระตุ้นประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้รวมถึงพื้นที่นอกอำเภอเทพาในจังหวัดสงขลา ให้ตื่นตัวถึงผลกระทบที่อาจเกิดจากโรงไฟฟ้าถ่านหินมากขึ้น ซึ่งในฐานะนักศึกษาขอยืนยันต่อไปว่า จะใช้ข้อเท็จจริงและข้อมูลวิชาการเดินหน้าคัดค้านโครงการโรงไฟฟ้าเทพาต่อไป

ทั้งนี้ในจดหมายเปิดผนึกที่ยื่นถึงแม่ทัพภาค 4 ระบุว่า มหันตภัยจากโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพาและโครงการท่าเทียบเรือสำหรับโรงไฟฟ้าเทพา จะใช้พื้นที่ตำบลปากบาง อำเภอเทพา จังหวัดสงขลาเกือบ 3,000 ไร่ และพื้นที่ทะเลอีก 15 กิโลเมตร เพื่อเป็นที่ตั้งของโครงการ จะส่งผลกระทบในวงกว้าง แต่กลับมีการศึกษาผลกระทบเพียงรัศมี 5 กิโลเมตร โดยไม่มีการศึกษาผลกระทบในพื้นที่จังหวัดปัตตานีแม้แต่น้อย ทั้งที่มีผลกระทบร้ายแรงในทุกด้าน ทั้งการทำลายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม การทำลายวัฒนธรรม วิถีชุมชนและประมงพื้นบ้าน การทำลายศาสนาอันดีงาม การทำลายสุขภาพ และสร้างความฉ้อฉล มีการใช้อำนาจอิทธิพลมาผลักดันโครงการ ขณะที่ประชาชนไม่ได้รับผลประโยชน์ใดๆ เลยนอกจากมลพิษ และความแตกแยกในชุมชน ในจดหมายระบุด้วยว่า โครงการดังกล่าวยังส่งกระทบโดยตรงต่อกระบวนการสร้างสันติสุขในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ดังนั้นจึงขอให้ กอ.รมน.ภาค 4 สน. นำปัญหาดังกล่าวบรรจุเป็นวาระของกระบวนการสร้างสันติสุขชายแดนใต้และพิจารณาสั่งยกเลิก เพื่อป้องกันไม่ให้กระทบต่อบรรยากาศของกระบวนการฯ สันติสุข ตามนโยบายของความมั่นคงแห่งชาติ —————-

....ที่มา http://transbordernews.in.th/home/?p=11460

Transborder News คนชายข่าว คนชายขอบ_