จากกรณีที่ทางจังหวัดปัตตานี ร่วมกับศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ เตรียมผลักดันก่อสร้างพุทธมณฑลในที่ดินงอกของแผ่นดิน ที่ตั้งอยู่ ม.6 ต.รูสะมีแล อ.เมือง จ.ปัตตานี ใกล้กับมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี จนเกิดกระแสต่อต้านในสังคมโซเชียลในขณะนี้ โดยมีหลายฝ่ายทั้งนักวิชาการ ผู้นำศาสนา ออกมาให้ความเห็นที่หลากหลายถึงความไม่เหมาะสม จนเป็นที่ถกเถียงกันในวงกว้าง
จริงๆ แล้วมองว่า การที่มีนักวิชาการหรือนักการเมืองออกมาพูด คิดว่า เร็วเกินไปที่จะออกมา คิดว่า เมื่อทราบเรื่องการสร้างพุทธมณฑลแล้ว ควรเข้าไปทำความเข้าใจกับข้าราชการผู้ใหญ่ก่อน เพื่อขอทราบรายละเอียด และเมื่อทราบรายละเอียดแล้ว จะคิดยังไง จะพูดคุยกันแบบไหน ก็มาพูดคุย ตกลง ทำความเข้าใจกันให้ชัดเจน ดีกว่าจะรีบออกมาพูด
นายรักชาติ สุวรรณ์ ตัวแทนเครือข่ายชาวพุทธเพื่อสันติภาพ และรองประธานสภาประชาสังคมชายแดนใต้ เปิดเผยเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวนี้ว่า การที่จะสร้างพุทธมณฑลที่ จ.ปัตตานี น่าจะเป็นการเปิดโอกาสในการเผยแพร่ศาสนากัน ในส่วนของศาสนาพุทธเองที่เป็นพุทธมณฑลก็ดี เป็นวัดก็ดี ก็เป็นสิ่งยึดเหนี่ยวจิตใจของชาวพุทธที่อยู่ในพื้นที่ แล้วถ้ามาตีความว่าดินแดนแห่งนี้ต้องฟังเสียงคนส่วนใหญ่ ตนมองว่าแล้วเสียงของคนส่วนน้อยจะไม่มีคนฟังเลยใช่หรือไม่ ถ้าชาวพุทธจะสร้างสิ่งยึดเหนี่ยวจิตใจ สร้างจุดรวมใจของชาวพุทธใน 3 จังหวัด ตนคิดว่าอย่างน้อยๆ ก็น่าจะรับฟัง น่าจะเปิดโอกาส
ถ้ามาคิดอีกแบบหนึ่งว่า ดินแดน 3 จังหวัดนี้เป็นปัตตานีดารุสลาม ก็ต้องยอมรับว่าใช่ แต่ในขณะเดียวกัน ในดินแดนปัตตานีดารุสลามก็ควรที่จะเปิดโอกาสให้แก่คนต่างศาสนิกที่จะได้มีศาสนสถานเป็นสิ่งยึดเหนี่ยวจิตใจของพี่น้องในพื้นที่ด้วยเช่นกัน ยกตัวอย่างในประเทศมุสลิมเองอย่าง บรูไน ซึ่งเป็นดารุสลามก็มีศาลเจ้า ก็ยังอนุญาตให้สร้างตามศาสนากิจของแต่ละเชื้อชาติ แต่ละผู้ที่นับถือศาสนาแตกต่างกันไป
นายรักชาติ สุวรรณ์ ยังเปิดเผยว่า พระภิกษุสงฆ์ก็ดี ผู้นำศาสนาอิสลามก็ดี หรือนักวิชาการพุทธ-มุสลิม ตนคิดว่ากลุ่มคนเหล่านี้น่าจะมาพูดคุยกันถึงความเป็นไปได้ เรามีการพุดคุยเรื่องสันติภาพ ซึ่งก็มีการพูดคุยกันอยู่บ่อย แต่ทำไมเราไม่คุยถึงปัญหาต่างๆ ที่มีอยู่ในพื้นที่ ซึ่งมันก็เป็นฐานของสันติภาพ หรือสันติสุขเช่นกัน และหากมีการเดินขบวนประท้วงกันจะไม่ดีแน่นอนต่อเหตุการณ์ในพื้นที่ แต่ถ้ามาคุยกันความพอใจมันอยู่ตรงไหน มาถอยกันดูว่าความเป็นไปได้อย่างไร
ส่วนตามข่าวที่มีการแก้ปัญหาโดยการเปลี่ยนชื่อตนมองว่ายังไม่ชัด ยังไม่ใช่ทางออก แต่แก้ปัญหาโดยการมานั่งคุยกันว่าควรได้ระดับไหนก็น่าจะดี อย่างน้อยๆ ต้องฟังเสียงคนในพื้นที่ด้วย นอกจากฟังเสียงคนกลุ่มใหญ่ที่นับถือศาสนาอิสลามแล้ว ก็ควรจะฟังเสียงของชาวพุทธในพื้นที่ด้วยเช่นเดียวกันว่าสิ่งที่เขาอยากจะได้เป็นเพราะอะไร มีความจำเป็นต่อจิตใจเขาขนาดไหน เรื่องนี้สำคัญ
ที่ ต.ตาเซ๊ะ อ.เมือง จ.ยะลา มีเนื้อที่หลายร้อยไร่ที่เป็นโปรเจกต์ใหญ่ของพี่น้องมุสลิมที่กำลังจะสร้าง มีตัวแทนจากต่างประเทศที่เป็นมุสลิมมาดูสถานที่เรียบร้อยแล้ว พี่น้องพุทธไม่มีใครคัดค้าน เพราะถือว่าแล้วแต่ต่างศาสนิก ที่จะทำในหน้าที่ของตนเองที่จะเผยแผ่ศาสนา ถ้ามองมุมกลับที่ชาวพุทธจะมาสร้างแล้วมาเกิดข้อครหา บอกว่าสร้างไม่ได้ก็คงต้องมาคุยกัน ตนมองว่าประเด็นของศาสนาไม่ใช่ประเด็นของการสร้างความแตกแยก รัฐเองโดยเฉพาะท่านเลขา ศอ.บต. และท่านผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี ก็คงหนักใจพอสมควร และควรออกมาชี้แจงให้ประชาชนทราบให้เกิดความเข้าใจในทิศทางเดียวกัน ไม่ใช่ต่างฝ่ายออกมาพูด
นักวิชาการ ผู้นำศาสนาก็พูดกันคนละทาง ชาวบ้านจะสับสน อยากให้ลองฟังพี่น้องชาวพุทธบ้างในการอยู่ในพื้นที่ ความจริงแล้วมิติของศาสนาไม่เกี่ยวข้องกับความขัดแย้ง ไม่น่าจะดึงมาเกี่ยวข้องต่อความขัดแย้งในพื้นที่ ไม่มีวาระอื่นซ่อนเร้นน่าจะให้สร้าง เช่น ไม่มีวาระทางการเมืองซ่อนเร้น สร้างไปแล้วดูเป็นเมืองพุทธ ไม่น่าจะใช่จุดนั้น น่าจะทำได้ อาจจะให้เล็กลง หรือเปลี่ยนสถานที่ แต่ถ้าไม่ให้สร้างเลยตนคิดว่าหนักใจ กรณีที่นักวิชาการมองว่ามัสยิดมีการสร้างในทุกจังหวัด ตนมองว่าทุกชุมชนมีมัสยิด ที่ จ.เชียงใหม่ ซึ่งเป็นชุมชนชาวพุทธชาวล้านนา แต่เขาก็ให้มีมัสยิดเพราะมีชาวมุสลิมอยู่
ส่วนกรณีมีการพูดคุยสันติภาพระหว่างรัฐบาลไทยกับกลุ่มมาราปาตานี ตนยอมรับว่า มีผลกระทบบ้างโดยเฉพาะเรื่องการไว้ใจของการอยู่ร่วมกันในพื้นที่ พอมีกระแสคัดค้านแบบนี้สิ่งที่น่าวิตกก็คือ จะทำชาวพุทธเกิดความไม่ไว้ใจในการจะพูดคุย เพราะว่าแค่คนกลุ่มน้อยในพื้นที่จะสร้างศาสนสถานก็ยังโดนกีดกัน แล้วความไว้เนื้อเชื่อใจจะไปได้ขนาดไหน ต่อไปอาจจะมีเขตปกครองพิเศษ เขตปกครองตนเองก็แล้วแต่ ซึ่งไม่ใช่เอกราช ถ้าเป็นเช่นนั้นจริงๆ ตนมองว่าคนพุทธอาจจะหนักใจในเรื่องนี้ ถ้าพูดคุยกันแล้วสามารถสร้างได้ตามความเหมาะสม ความสบายใจ ระหว่างพุทธ-มุสลิมที่จะสามารถคุยได้ต่อเนื่องน่าจะดีขึ้น
ขอขอบคุณ MGR Online (เอกรักษ์ ศรีรุ่ง)