Skip to main content
 
สมัชชา นิลปัทม์
นินูรีซัน อูเซ็ง
แผนงานวิทยุกระจายเสียงเพื่อสันติภาพ ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ (DS-Radio4PEACE)

 

พื้นที่สื่อสาธารณะโดยวิทยุชุมชนมีแนวโน้มหดตัวลง

        จากการสำรวจของแผนงานวิทยุเพื่อสันติภาพ โดยศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ (DS-Radio4PEACE) พบว่าภายหลังจากการประกาศของคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (คสช.) ฉบับที่ 15/2557 23/2557 และ 32/2557 ที่มีเนื้อหาครอบคลุมการระงับการออกอากาศของสถานีวิทยุชุมชน ทั่วประเทศ โดยวางข้อกำหนดการออกอากาศใหม่ โดยจะต้องยื่นต่อ คณะกรรมการฯ (กสทช.) ตามข้อบังคับใหม่ ทำให้แต่เดิมที่พื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้เคยมีสถานีวิทยุชุมชน จำนวน  65 สถานี เหลือออกอากาศได้เพียง 16สถานีเท่านั้น คิดเป็นร้อยละ 24.61 โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้

จังหวัดปัตตานี

        สถานีวิทยุชุมชนในจังหวัดปัตตานีเดิมสามารถออกอากาศ 21 สถานี เหลือออกอากาศได้เพียง 6 สถานีคือ1) สถานีวิทยุ 0k สเตชั่น2) สถานีวิทยุเสียงดรุณศาสน์ (สามรถออกอากาศได้เมื่อปลายเดือนกันยายนที่ผ่านมา) 3) สถานีวิทยุจุดทรายขาว  4) สถานีวิทยุตะอาวุลเรดีโอ (เปิดเมื่อ 1 พ.ย.58 ที่ผ่านมา) 5) สถานีวิทยุอัลกุรอานดารุสลาม (เปิดเมื่อ 17 พ.ย.58 ที่ผ่านมา) และ6) สถานีวิทยุสาส์นคุณธรรม (อัรรีซาละห์) (เปิดเมื่อ 4 ม.ค. 59 ที่ผ่านมา) คิดเป็นอัตราส่วนเหลือเพียงร้อยละ 28.57

จังหวัดยะลา

        สถานีวิทยุชุมชนในจังหวัดยะลาเดิมสามารถออกอากาศ 22 สถานี เหลือออกอากาศได้เพียง  5 สถานีคือ1) สถานีวิทยุมัสยิดกลางประจำจังหวัดยะลา2) สถานีวิทยุอิสร็อพ เรดีโอ3) สถานีวิทยุอัฟซาน เรดีโอ (ซึ่งรับสัญญาจากสถานีวิทยุซัวรอกีตอ ศอ.บต. 24 ชม.) 4) สถานีวิทยุมหาวิทยาลัยราชภัฎยะลา 5) สถานีวิทยุชุมชนคริสเตียนยะลา  คิดเป็นอัตราส่วนเหลือเพียงร้อยละ 22.72

จังหวัดนราธิวาส

        สถานีวิทยุชุมชนในจังหวัดนราธิวาสเดิมสามารถออกอากาศ 12 สถานี เหลือออกอากาศได้เพียง  5 สถานีคือ1) สถานีวิทยุอัตตัร เรดีโอ2) สถานีวิทยุอัลฮิยาอุ เรดีโอ3) สถานีวิทยุมือนารอ FM 4) สถานีวิทยุสูงาฆอเลาะ FM 5) สถานีวิทยุคนตากใบ เรดิโอ  คิดเป็นอัตราส่วนเพียงร้อยละ 41.66

          ภายหลังจากการประกาศของคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (คสช.) ดังกล่าว จึงมีผลทำให้พื้นที่ของการสื่อสารผ่านวิทยุชุมชนในฐานะพื้นที่สาธารณะของชุมชนหดตัวลงเหลืออยู่เพียง 1 ใน 4 ของพื้นที่การสื่อสารเดิมทั้งหมด

สถานีวิทยุที่ไม่สามารถออกอากาศได้

จังหวัดปัตตานี

            1.สถานีวิทยุจุดเมืองปัตตานี ได้ดำเนินการในเรื่องต่ออายุใบอนุญาตเรียบร้อยแล้ว แต่มีปัญหาในเรื่องเครื่องส่งจะต้องซื้อใหม่ เพราะเครื่องส่งเดิมเป็นเครื่องส่งที่ไม่ได้มาตรฐานจะต้องปรับลดรัศมีการกระจายเสียงให้ตามระเบียบ กสทช.ที่ได้กำหนดไว้  2.สถานีวิทยุมีเดียสลาตัน ได้ดำเนินการในเรื่องต่ออายุใบอนุญาตและเครื่องส่งซื้อตัวใหม่เรียบร้อยแล้ว แต่มีปัญหาในเรื่องเสาอากาศ ซึ่งหากสามารถแก้ไขปัญหานี้ได้ก็น่าจะได้ออกอากาศในระยะเวลาอันใกล้ 3.สถานีวิทยุเพื่อการศึกษามหาวิทยาลัยฟาฏอนี  ยังไม่ได้ดำเนินการใดๆ

จังหวัดยะลา

           1.สถานีวิทยุศูนย์ฟ้าใส ได้ดำเนินการในเรื่องต่ออายุใบอนุญาตเรียบร้อยแล้ว แต่มีปัญหาเรื่องเครื่องส่งและเสาอากาศ 2.สถานีวิทยุบ้านจันทร์มณี ได้ดำเนินการในเรื่องต่ออายุใบอนุญาตเรียบร้อยแล้ว แต่มีปัญหาเรื่องเสาอากาศที่ต้องรอฝ่ายวิศวกรรรมมาออกแบบเสาส่งและในระหว่างนี้ดำเนินเรื่องการทำ MOU ไปด้วย

จังหวัดนราธิวาส

          1.สถานีวิทยุรือเสาะเรดิโอ ได้ดำเนินการในเรื่องต่ออายุใบอนุญาตเรียบร้อยแล้ว อยู่ในระหว่างการจัดหาเครื่องส่งให้มีรัศมีการกระจายเสียงให้ตามระเบียบกสทช.ที่ได้กำหนดไว้ 2.สถานีวิทยุมัสยิดตาราม ได้ดำเนินการในเรื่องต่ออายุใบอนุญาตเรียบร้อยแล้ว แต่ต้องปรับปรุงเรื่องเครื่องส่งใหม่

        โดยหากสถานีดังกล่าวสามารถที่จะเร่งดำเนินการให้มีการเปิดสถานีได้เสร็จสมบูรณ์ พื้นที่ของการสื่อสารสื่อสาธารณะผ่านวิทยุชุมชน พื้นที่ก็จะขยายตัวเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 33.84 โดยเหลือพื้นที่เพียงแค่ 1 ใน 3ของพื้นที่สาธารณะที่เคยมีอยู่เดิมเท่านั้น

 

สถานีวิทยุที่ไม่สามารถออกอากาศได้และมิได้ดำเนินการใดๆ

จังหวัดปัตตานี

          1) สถานีวิทยุเตราะบอน2) สถานีวิทยุเพื่อการศึกษาสะพานม้า3 )สถานีวิทยุเพื่อการศึกษา รร.ศาสนูปถัมภ์ (บานา) 4) สถานีวิทยุเพื่อการศึกษามหาวิทยาลัยฟาฏอนี 5) สถานีวิทยุอัลกุรอานมหาวิทยาลัยฟาฏอนี 6) สถานีวิทยุ Suwara Majlis (คณะกรรมอิสลามประจำจังหวัดปัตตานี)

จังหวัดยะลา

          1) สถานีวิทยุคนพร่อนสตาร์เรดีโอ2) สถานีวิทยุชุมชนคนนิบง3) สถานีวิทยุเสียงเด็กกำพร้า (นัสเซอร์)

จังหวัดนราธิวาส

          1) สถานีวิทยุอำเภอจะแนะ

ตารางแสดงจำนวนสถานีวิทยุชุมชนจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ยังคงเหลือออกอากาศได้

จังหวัด

จำนวนสถานี (เดิม)

จำนวนสถานี (คงเหลือ)

คิดเป็นสัดส่วน (ร้อยละ)

ปัตตานี

21

6

28.57

ยะลา

22

5

22.72

นราธิวาส

12

5

41.66

รวม

65

16

24.61

 

ความพยายามเพื่อให้ได้รับการอนุญาตเพื่อออกอากาศ

          ความวิตกกังวลที่มีต่อสมาชิกในเครือข่ายวิทยุชุมชนหลายสถานีที่ไม่สามารถออกอากาศได้ ราวกลางเดือนสิงหาคม 2558ทางเครือข่ายจึงได้จัดการหารือภายในกลุ่มนักจัดรายการวิทยุจำนวน  12 คน ก่อนที่จะตัดสินใจจัดโครงการประชุมเชิงปฏิบัติการ “เพื่อนช่วยเพื่อนเพื่อการกระจายเสียงสันติภาพ” ในกลางเดือน กันยายน 2558 ที่ผ่านมา เพื่อให้สมาชิกเครือข่ายได้เข้ามามีส่วนร่วมในการช่วยเหลือสมาชิกที่ยังไม่ได้รับใบอนุญาตออกอากาศให้สามารถออกอากาศได้ ผ่านการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์ในการดำเนินการเอกสารและตรวจสอบข้อมูล ติดตามความก้าวหน้าในการดำเนินการต่อ กสทช. ซึ่งทำให้หลายสถานีมีความมั่นใจในการดำเนินการจนสามารถออกอากาศได้จำนวนหนึ่ง (ดู https://www.youtube.com/watch?v=J5MCwQEmn-M)

เดือนรอมฎอน : เวลาทองของคนวิทยุชุมชน

            แม้การประกาศของคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (คสช.) ฉบับที่ 15/2557 23/2557 และ 32/2557 ที่มีเนื้อหาครอบคลุมการระงับการออกอากาศของสถานีวิทยุชุมชนทั่วประเทศ แต่กระนั้นในช่วงเวลาในห้วงเดือนรอมฎอนของทุกปีตั้งแต่ปี  2557เป็นต้นมา สถานีวิทยุชุมชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ จะได้รับการผ่อนปรนให้สถานีวิทยุชุมชนออกอากาศเป็นกรณีพิเศษโดยที่นายสถานีจะต้องยื่นคำร้องโดยตรงต่อ ผู้บังคับการหน่วยเฉพาะกิจ ซึ่งมีหน้าที่กำกับดูแลความสงบในพื้นที่ในพื้นที่นั้น เพื่อให้สถานีวิทยุชุมชนสามารถรับใช้ชุมชนในฐานะของเครื่องมือในการสร้างบรรยากาศในเดือนอันสงบสุข สันติและเป็นอาณัติสัญญาณที่สำคัญให้ประชาชนทั่วไปได้ประกอบศาสนกิจได้อย่างสมบูรณ์ โดยได้รับการอนุญาตให้ออกอากาศได้เป็นกรณีพิเศษเวลา30 วัน

          โดยแผนงานได้จัด โครงการสันติรอมฎอนแห่งการใคร่ครวญ เพื่อประชุมระดมสมองเครือข่ายนักจัดรายการวิทยุในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยเฉพาะผ่านงานเสวนาหัวข้อ “สันติรอมฎอนแห่งการใคร่ครวญ” ณ ห้องประชุมอิหม่ามอัลฆอซาลี วิทยาลัยอิสลามศึกษา           มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี เมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2558 มีนักจัดรายการวิทยุในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เข้าร่วมประมาณ 40 คน โดยมีตัวแทนจากวิทยุกระจายของรัฐ เจ้าหน้าที่ความมั่นคง เข้าร่วมรับฟังความเห็นและสนทนา

          ผลจากการจัดงานนักจัดรายการวิทยุได้ข้อสรุปถึง 7ประเด็นที่ควรสื่อสารหรือจัดทำขึ้นในช่วงเดือนรอมฎอน ซึ่งสามารถสรุปได้เป็นข้อๆ ดังนี้

          1.ผลิตรายการวิทยุที่ถ่ายถอดเรื่องราวที่ดีๆ ในเดือนรอมฎอน 2.ให้จัดอบรมนักจัดรายการวิทยุในพื้นที่ โดยเชิญผู้เชี่ยวชาญในพื้นที่มาจัดอบรม3.ผลิตรายการรับเรื่องร้องทุกข์ของประชาชน โดยนักจัดรายการต้องลงพื้นที่ด้วย4.ให้มีรายการให้ความรู้ที่เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์ในพื้นที่ 5.วางรูปแบบรายการวิทยุที่เอื้อต่อการรณรงค์การทำความดีในเดือนรอมฎอน 6.ประชาสัมพันธ์ถึงความสำคัญของเดือนรอมฎอนและความสำคัญของการอ่านคัมภีร์อัลกุรอาน 7.อยากให้มีรายการวิทยุการดูแลสุขภาพในเดือนรอมฎอน

          นอกจากนี้ในช่วงเดือนรอมฎอนดังกล่าวยังได้ทำการเยี่ยมสถานีวิทยุในเครือข่ายอย่างต่อเนื่องอีกด้วย คือ วิทยุมัสยิดกลางยะลา จ.ยะลา, วิทยุ ม.อ.ปัตตานี จ.ปัตตานี และวิทยุ อัตตัรกียะอิสลามิยะห์ จ.นราธิวาส อย่างไรก็ดี เครือข่ายสถานีวิทยุย่อมคาดหวังว่าการได้กลับมาออกอากาศนอกช่วงเวลาเดือนอันประเสริฐจะกลับมาเป็นความจริงอีกครั้ง

 

เทคโนโลยีสื่อใหม่ (New Media) : คำตอบของอนาคต

          สถานีวิทยุ ศอ.บต.  เดิมมีคลื่นความถี่ 2 คลื่น คลื่นที่จัดรายการภาคภาษาไทย คลื่นความถี่ 103.50 MHz และภาคภาษามลายู 91.75 MHz ต่างถูกปิดตามประกาศของคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (คสช.) ฉบับที่ 15/2557 23/2557 และ 32/2557 ตั้งแต่พฤษภาคม 2557 ปีที่ผ่านมา ประเด็นของ ศอ.บต.. ชี้ให้เห็นข้อสังเกตบางประการว่า แม้แต่หน่วยงานสำคัญในการแก้ไชปัญหาชายแดนภาคใต้ ต่างก็ประสบกับปัญหาดังกล่าวในการออกอากาศเช่นกัน

          แม้ศอ.บต. จะต้องการสร้างเป็นสถานีวิทยุหลักตั้งขึ้นมาใหม่ โดยทางสถานีได้ติดต่อสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ( กสทช.) ส่วนกลางเพื่อขออนุญาตให้ครอบคลุมทั้ง 3 จังหวัดและ 4 อำเภอของจังหวัดสงขลา ได้แก่ อำเภอเทพา สะบ้าย้อย นาทวี และ จะนะ ซึ่งทางกสทช.ได้รับเรื่องเพื่อพิจารณา แต่ผลสรุปก็ไม่อนุญาต เนื่องจากกสทช.ต้องการพัฒนาวิทยุเป็นระบบดิจิตอล คือเป็นระบบที่จะกำหนดความถี่ขึ้นมาใหม่  ศอ.บต..จึงแก้ปัญหาด้วยการเช่าคลื่นวิทยุเพื่อให้ออกอากาศได้จึงเช่า 2 คลื่น ได้แก่ สถานีวิทยุวิถีไทย  คลื่นความถี่ 91.05 MHz จัดรายการเป็นภาคภาษาไทยและสถานีวิทยุอัฟซาน คลื่นความถี่ 91.25 MHz จัดรายการเป็นภาคภาษามลายู ขณะนี้สามารถออกอากาศได้ตลอด 24 ชม.ทั้งสองคลื่น ตั้งแต่เดือนกันยายนที่ผ่านมา ส่วนรูปแบบการจัดรายการเป็นไปตามระเบียบกสทช.ที่ได้กำหนด

          ความพยายามในการฝ่าข้อจำกัดในระยะเปลี่ยนผ่านของระบบอนาล็อกสู่ระบบดิจิตอล รวมถึงภาวะเปลี่ยนผ่านในทางการเมืองเช่นนี้ แผนงานฯ ได้ พูดคุยกับ “บุญส่ง บุญล้อม” เป็นผู้เชี่ยวชาญวิศวกรไฟฟ้าสำนักสารสนเทศและประชาสัมพันธ์ (ศอ.บต.) อีกหนึ่งผู้ที่ทำงานด้านสื่อของภาครัฐที่สามารถพัฒนาเทคโนโลยีจากวิทยุระบบอนาล็อกเป็นอีกทางเลือกหนึ่งของผู้ฟังคือ Radio Applications ของ ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ตอบสนองต่อการสื่อสารในกลุ่มผู้ที่ใช้มือถือสมาร์ทโฟนทั้งระบบ Andriod และ I.OS.พร้อมเปิดเผยขั้นตอนการติดตั้ง Radio Applications เพื่อฝ่าข้อจำกัดบางประการของสถานการณ์วิทยุชุมชนที่หดตัวลงในขณะนี้

          ความพยายามที่จะฝ่าข้อจำกัดเพื่อที่จะส่งเสียง ข้อมูลข่าวสารที่สำคัญต่อภาคประชาชนออกไป ทำให้วิศวกรที่ดูแลด้านงานกระจายเสียงพยายามที่จะหาทางออกใหม่ๆ เพื่อฝ่าข้อจำกัดอันนี้ บุญส่งชี้ว่าปัจจัยหลักในการที่จะทำแอพพลิเคชั่นเพราะว่าทางสถานีศอ.บต. เป็นแค่วิทยุชุมชนที่สามารถกระจายเสียงได้ไม่เกิน 500 วัตต์ ซึ่งสถานีวิทยุศอ.บต. มีเครือข่ายทั้งสามจังหวัดและ 4 อำเภอของจังหวัดสงขลา โดยไม่สามารถที่จะกระจายเสียงครอบคลุมทุกพื้นที่  จึงริเริ่มที่จะสร้างแอพพลิเคชั่นเพื่อให้สามารถครอบคลุมทุกพื้นที่ โดยใช้ระยะเวลา 6 เดือน ในการศึกษาเรียนรู้ และสามารถการติดตั้งแอพพลิเคชั่นจนประสบความสำเร็จ

          บุญส่งได้อธิบายให้เห็นถึงการพัฒนาเทคโนโลยีในลักษณะ Radio Applications สมาร์ทโฟนทั้งระบบ Andriod และ I.OS. ติดตั้งแอพพลิเคชั่นบนมือถือสามารถใช้งานได้แล้ว ซึ่งจะเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่ผู้ฟังสามารถฟังวิทยุบนมือถือได้และสามารถฟังได้ทั่วโลกอีกด้วย เพียงมีโทรศัพท์มือถือระบบ Andriod และ I.OS. ก็สามารถดาวน์โหลดโปรแกรมได้ หรือติดตั้งแอพพลิเคชั่นได้ในมือถือ เพียงเข้าโปแกรม play สโตร์ ค้นหา SBPAC  radio แล้วกดติดตั้ง ดาวน์โหลดก็สามารถติดตามรับฟังได้เลย ในเบื้องต้นของการสำรวจ บุญส่งกล่าวว่าในขณะนี้ได้รับการตอบรับไม่มากนักเนื่องจากคนในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ยังไม่เข้าใจการใช้ Radio Applications ฟังวิทยุบนโทรศัพท์ มือถือ แต่เชื่อว่าในอนาคตข้างหน้าผู้คนใช้โทรศัพท์มือถือทั้งสองระบบเพิ่มขึ้น การติดตั้งแอพพลิเคชั่นอาจจะเป็นทางเลือกใหม่ ที่สะดวกและได้รับความสนใจเพิ่มขึ้น

        การที่สถานีวิทยุ ศอ.บต.. เปิดพื้นที่ให้สถานีวิทยุที่สนใจต้องการใช้พื้นที่ในการสื่อสารผ่านแอพพลิเคชั่น ไม่ว่าจะเป็นสถานีวิทยุที่ยังไม่สามารถออกอากาศได้และสถานีวิทยุที่สามารถออกอากาศได้แล้ว ต้องการพื้นที่ในการสื่อสารผ่านแอพพลิเคชั่น โดยมีสถานีวิทยุ ศอ.บต.  เป็นแม่ข่ายในการกระจายเสียงผ่านระบบแอพพลิเคชั่นผ่านมือถือ ซึ่งถือว่าเป็นทางเลือกใหม่ที่นำเอาเทคโนโลยีมาตอบสนองความต้องเพื่อฝ่าข้อจำกัดในห้วงเวลาเช่นนี้

 

การพัฒนาเนื้อหาวิทยุเพื่อสนับสนุนงานสันติภาพยังคงจำเป็น

        การพัฒนาเครือข่ายและผลักดันให้พื้นที่การกระจายเสียงสามารถกลับมากระจายเสียงได้ใกล้เคียงกับภาวะปกติ เป็นภารกิจที่เร่งด่วน อย่างไรก็ตามการพัฒนาในระยะต่อไปหลังจากที่สถานีวิทยุส่วนใหญ่สามารถกลับมาออกอากาศได้ คือ การพัฒนาศักยภาพของผู้ผลิตรายการ เนื้อหาการพัฒนารูปแบบและเนื้อหาของรายการวิทยุเพื่อสันติภาพ เพื่อเสริมสร้างบรรยากาศ สนับสนุนกระบวนการสร้างสันติภาพที่กำลังดำเนินอยู่ให้สามารถขับเคลื่อนไปได้อย่างราบรื่น รวมถึงการเตรียมความพร้อมเข้าสู่ระบบวิทยุดิจิตอลในอนาคต