Skip to main content

ผู้บริหาร มอ.ปัตตานี ไม่ติดใจนักศึกษาเคลื่อนค้านโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา ชี้เป็นเป็นสิทธิการแสดงออกต่อสังคม กฟผ. แจงไม่คิดสร้างความแตกแยก ระบุชี้แจงแล้วทุกหมู่บ้าน-ศึกษาผลกระทบคุณภาพอากาศไกลถึง 30 กม.

 

เมื่อวันที่ 27 มกราคม 2559 รศ.อิ่มจิต เลิศพงษ์สมบัติ รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี (ม.อ.ปัตตานี) ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่นักศึกษาในสถาบันการศึกษาหลายแห่งในจังหวัดชายแดนภาคใต้ รวมทั้งนักศึกษาม.อ.ปัตตานี รวมตัวออกมาคัดค้านโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา จังหวัดสงขลา ว่าเรื่องนี้เป็นสิทธิของนักศึกษาหรืออาจารย์ในการแสดงออกต่อปัญหาสังคม เนื่องจากที่ผ่านมาไม่ใช่เฉพาะเรื่องโรงไฟฟ้าเท่านั้น แต่นักศึกษามีการทำกิจกรรมทางสังคมในประเด็นด้านสิทธิที่เกี่ยวข้องกับปัญหาความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้มาโดยตลอด

รศ.อิ่มจิตกล่าวว่า เรื่องโรงไฟฟ้าเทพาถือเป็นประเด็นที่อยู่ในความสนใจของนักศึกษาที่เป็นคนในอำเภอเทพา จังหวัดสงขลา และในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ จึงถือเป็นเรื่องที่พวกเขามีสิทธิสามารถแสดงออกได้อยู่แล้ว

ผู้สื่อข่าวถามว่ามีข่าวว่าการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) เตรียมทำหนังสือร้องเรียนมายังม.อ.ปัตตานี รศ.อิ่มจิตกล่าวว่า ยังไม่เห็นว่ามีหนังสือดังกล่าว อย่างไรก็ตามหากกฟผ. จะทำหนังสือมาก็ควรระบุให้ชัดเจนว่า จะร้องเรียนในประเด็นใด เช่น ความเหมาะสมในการออกมาเคลื่อนไหว หรือความสมดุลของข้อมูลในกิจกรรมที่นักศึกษาจัดขึ้น เป็นต้น ซึ่งหากเป็นเรื่องความสมดุลของข้อมูล อาจต้องลงไปดูว่าในรายละเอียดของเวทีเสวนาว่า มีการเรียกทุกฝ่ายมานำเสนอข้อมูลอย่างรอบด้านหรือไม่ เพราะหากไม่มีการนำเสนอข้อมูลอย่างสมดุล ก็อาจมีผลต่อผู้เข้าร่วมรับฟังที่อาจไม่ได้รับข้อมูลอย่างรอบด้าน

ด้าน นายอนุชาติ ปาละกาวงศ์ ณ อยุธยา ผู้อำนวยการด้านสิ่งแวดล้อม กผฟ. กล่าวว่าอยากให้มองเรื่องการสร้างโรงไฟฟ้าในหลายมุม สิ่งที่เรากำลังทำคือการสร้างโรงไฟฟ้าเพื่อความมั่นคงด้านพลังงานในภาคใต้และความมั่นคงในพื้นที่ เพราะตอนนี้ในพื้นที่มีปัญหา ทำให้คนไม่กล้าเข้าไปลงทุน การมีโรงไฟฟ้าช่วยสร้างงาน สร้างความเจริญด้านเศรษฐกิจอันเป็นรากฐานทางสังคมที่ทำให้เกิดความมั่นคง

นายอนุชาติ กล่าวว่า นโยบายของ กฟผ. ไม่สนับสนุนให้เกิดความขัดแย้ง กฟผ.ได้ลงพื้นที่มาหลายปีเพื่อพูดคุยกับประชาชนในอภเภอเทพา ซึ่งไม่พบความขัดแย้งใด ยอมรับว่าความเห็นต่างยังมี แต่ทาง กฟผ. ได้ดำเนินการชี้แจงให้ทุกหมู่บ้าน แต่ยังมีการให้ข้อมูลที่คลาดเคลื่อนว่า กฟผ. ไม่ศึกษาผลกระทบในจังหวัดปัตตานี หรือจำกัดการศึกษาในระยะรัศมี 5 กิโลเมตร ซึ่งจริงๆ กฟผ. มีการทำแล้ว เช่นการศึกษาคุณภาพอากาศซึ่งทำไกลถึง 30 กิโลเมตร

ส่วนที่มีการพูดว่าคนปัตตานีไม่มีส่วนร่วมในกระบวนการแสดงความคิดเห็นที่ผ่านมา นายอนุชาติ กล่าวว่า ทางกฟผ. ได้มีการเผยแพร่ข้อมูลหลายช่องทางสื่อรวมทั้งบนเว็บไซต์ แม้การจัดเวทีรับฟังความเห็นที่ผ่านมาจะอยู่ในอำเภอเทพา แต่ไม่ได้ปิดกั้นคนปัตตานีในการเสนอความเห็น

“เรายินดีรับฟังทุกความเห็น สามารถส่งตัวแทนมาคุยกันในประเด็นที่เห็นต่าง” นายอนุชาติ กล่าว

....ที่มา http://transbordernews.in.th/home/?p=11488

 
Transborder News คนชายข่าว คนชายขอบ_