Skip to main content
โดย โซรยา จามจุรี 
หัวหน้า ฝ่ายส่งเสริมและเผยแพร่ สำนักส่งเสริมและการศึกษาต่อเนื่อง ม.อ.ปัตตานี
เครือข่ายผู้หญิงภาคประชาสังคมเพื่อสันติภาพชายแดนใต้ (Civic Women)
 

เวทีเสวนาเรื่อง ‘เหลียวหลัง แลหน้า มนุษย์+ธรรม ชายแดนใต้’ ที่มัสยิดกลาง จ.สงขลา เมื่อวันที่ 31 มกราคม วานนี้ จัดโดยสภาเครือข่ายช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม สำนักจุฬาราชมนตรี ผู้หญิง 3 คนที่ร่วมเสวนาพูดคุย คือ โซรยา จามจุรี อัญชนา หัมมิหน๊ะ และนูรยีลัน หะยีอาบูบากา โดยมีมีฐปณีย์ เอียดศรีไชย จากทีวีช่อง 3 มาดำเนินรายการ ขอบคุณฐปณีย์ ที่ไม่เคยปฏิเสธงานพี่น้องมุสลิม และบทบาทของเธอ รายงานข่าวทางมนุษยธรรมที่ผ่านมาน่าชื่นชมมาก ทั้งข่าวปัญหาลูกเรือประมงไทยที่อินโดฯ ปัญหาโรฮิงญา เป็นต้น

สำหรับเวทีวันนี้ ตอนหนึ่ง ตนเองได้เสนอให้เห็นความทุกข์ยากลำบากของกลุ่มคนประมาณ 2,000 ครอบครัวในชายแดนใต้ ที่ต้องได้รับความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมจากคนในสังคม คนกลุ่มนี้ต้องนับว่าเป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ความไม่สงบด้วยเช่นกัน แต่ไม่อยู่ในเกณฑ์การช่วยเหลือเยียวยาจากรัฐ ดังนั้น จึงเป็นหน้าที่ของประชาชน ที่ต้องยื่นมือมาช่วยเหลือกันเอง ประกอบด้วย ครอบครัวผู้ต้องขัง 456 ครอบครัว, ครอบครัวที่ไม่ถูกรับรองการเสียชีวิตว่ามาจากสถานการณ์ฯจากเจ้าหน้าที่ 3 ฝ่ายจำนวนราว 1,000 ครอบครัว, ครอบครัวในกลุ่มที่ถูกซ้อมทรมาน 146 ครอบครัว, ครอบครัวที่มีสมาชิกเสียชีวิตจากการปะทะกับเจ้าหน้าที่/ถูกวิสามัญ 325 ครอบครัว ครอบครัวที่มีสมาชิกในครอบครัวถูกฆ่านอกระบบ 20 ครอบครัว (ข้อมูลตัวเลขสามกลุ่มหลัง มาจากการเก็บข้อมูลขององค์กรด้านสิทธิ คือ กลุ่มด้วยใจ ที่นำเสนอบนเวที)

สำหรับกลุ่มผู้ได้รับผลกระทบทั่วไป ที่เจ็บตายจากสถานการณ์ความไม่สงบ อยู่ในการช่วยเหลือเยียวยาจากรัฐอยู่แล้ว ไม่น่าเป็นห่วงเท่ากลุ่มแรก ซึ่งสมาชิกในครอบครัว มีความคับแค้นขมขื่นใจสูง เพราะรู้สึกว่าตนเองถูกซอเล็ม (อธรรม) และอยู่ในฐานะยากลำบากกว่ามาก การช่วยเหลือจากคนภายนอก ก็เข้าถึงคนกลุ่มนี้ยาก เพราะยังรู้สึกหวาดระแวง และมีทัศนคติที่ไม่ดีต่อคนกลุ่มนี้ ทั้งๆที่ควรนับว่าลูกเมียของคนเหล่านี้ เป็นผู้บริสุทธิ์ ที่ควรได้รับการดูแลจากสังคม โดยเฉพาะเด็กๆที่ต้องได้รับการศึกษา ไม่หมดอนาคตไปเสียก่อนเมื่อพ่อตาย หรือติดคุก

อีกเรื่องหนึ่งคือ เราจะก้าวข้ามพรมแดนทางศาสนา เชื้อชาติ ภาษา และวัฒนธรรม ในการช่วยเหลือทางมนุษยธรรมได้หรือไม่ มุสลิมต้องไม่ช่วยเฉพาะมุสลิม แต่ช่วยศาสนิกอื่นที่ทุกข์ยากด้วยเช่นกัน ยิ่งในสถานการณ์ที่มีความหวาดระแวง ต่อต้านมุสลิมมากขึ้น ในระยะหลังของคนในสังคมไทย เรายิ่งต้องสร้างความเข้าใจ และแสดงให้เห็นภาพลักษณ์ที่ดีของมุสลิม ผ่านการหยิบยื่น/เป็นผู้ให้แก่คนไทยที่ทุกข์ยาก ไม่ว่าเขาจะเป็นใคร นับถือศาสนาใดก็ตาม ซึ่งเป็นการแสดงออกที่เป็นรูปธรรมมากที่สุด

คิดว่า นี่เป็นโจทย์ที่ท้าทายของการทำงานทางมนุษยธรรมในบริบทปัจจุบัน

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง มุสลิมไทยรวมตัวสร้างเครือข่ายเพื่อมนุษยธรรม